
“สามสี่ปีก่อน รัฐบาลถามเราว่า ‘เซ็นทรัล’ เป็นผู้จ้างงานสองแสนกว่าคน แล้วคุณช่วยอะไรในระบบการศึกษาบ้าง ที่ผ่านมาการศึกษาเป็นภาระหน้าที่ของผู้ปกครอง โรงเรียน ระบบการศึกษา…แต่ถ้าถามเรื่องการศึกษา เซ็นทรัลทำมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่เราก็ทำการศึกษาในลักษณะที่ไม่ยั่งยืน สมัยก่อนเวลาทำบุญเพื่อการศึกษาก็ให้หนังสือ ให้ลูกฟุตบอล สร้างห้องสมุด เสร็จแล้วก็กลับมาเลย ไม่เคยดูว่าที่เราทำไปได้ใช้ประโยชน์จริงไหม ห้องสมุดที่สร้าง หนังสือที่ให้ มีคนใช้ไหมไม่รู้”
นี่เป็นบทเรียนการทำธุรกิจเพื่อสังคมมิติการศึกษาเป็นเวลากว่า 30 ปีของกลุ่มเซ็นทรัล ในมุมมองของ “ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส Sustainable Development บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด
จากเดิมที่งานเพื่อสังคมของกลุ่มเซ็นทรัลจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน สร้างรายได้ และอาชีพให้กับท้องถิ่น ผู้ประกอบการและเกษตรกร จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนที่การศึกษากลายเป็นประเด็นที่ถูกเรียกร้องมากขึ้นทั้งจากรัฐบาลและนักเรียน ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการทำงานอย่างไม่ยั่งยืนสู่การทำงานที่ (ต้อง) ยั่งยืน
เป้าหมายของกลุ่มเซ็นทรัลคือ ‘สร้างอาชีพ’ เพื่อให้เด็กนักเรียนที่เรียนจบไปแล้วทุกระดับชั้นมีงานทำ และรู้ว่าตัวเองต้องการประกอบอาชีพด้านใด ถนัดเรื่องอะไร รวมถึงนำหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการตลาดแรงงานไปสอนเด็กนักเรียนเพื่อรองรับว่าเมื่อเรียนจบมาแล้วจะมีงานทำเป็นหลักแหล่ง
“เป้าหมายสูงสุดคือให้เด็กนักเรียนมีโอกาสสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่สิ่งที่เราทำไม่ได้ให้เรื่องการพัฒนาการศึกษาอย่างเดียว แต่เราเสนอความต่อเนื่องและโอกาสทางการศึกษา ให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความต่อเนื่อง”
“ผมเคยเจอนักเรียนคนหนึ่งที่จังหวัดจันทบุรี เรียนหนังสือไม่เก่ง เป็นเด็กเกเร แต่เขาอธิบายการเลี้ยงไก่ได้เป็นฉากๆ หมายความว่าเขาจะมีอาชีพเลี้ยงไก่อย่างมีคุณภาพถึงแม้เขาจะไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือต่อก็ตาม”
วิธีการที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปทำคือพัฒนาหลักสูตรกับโรงเรียนเครือข่าย และร่วมเป็นคณะผู้บริหารหรือบอร์ดโรงเรียนเพื่อให้มีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่ต้องพึ่งกับส่วนกลางของภาครัฐ โดยปี 2562 ได้พัฒนาโรงเรียนไปทั้งสิ้น 4 โรงเรียน ปี 2563 7 โรงเรียน และปี 2564 ตั้งเป้าที่ 15 โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนจิราธิวัฒน์อุปถัมภ์ (Chirathivat School) ที่มีกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้บริหารจัดการเอง

ดร.ชาติชาย กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลไปจับมือกับโรงเรียนอาชีวะ 15 แห่ง ทำวิจัยการตลาดว่าตลาดแรงงานในประเทศไทยต้องการคนเรียนจบอาชีพไหน เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ช่างรถยนต์ ช่างโรบอต ฯลฯ แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีข้อผูกมัดว่าเรียนแล้วต้องเข้าทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัล
ปัจจุบันได้ปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนและระบบการศึกษากว่า 150 โรงเรียนทั่วประเทศ จัดฝึกอบรมและสนับสนุนบุคลากรครูกว่า 4,000 คน และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนกว่า 47,000 คน
“มีโรงเรียนหนึ่งมาขอความช่วยเหลือกับเรา เราถามว่าอยากได้อะไร เขาอยากได้รถบัสรับส่งนักเรียน อยากได้โดม แต่โรงเรียนมีปัญหาว่าเขามีนักเรียน 47 คน อยู่ในข่ายจะถูกยุบรวม แล้วเรามาคิดกันใหม่ว่าปัญหาหลักของโรงเรียนคืออะไร สุดท้ายคือการเพิ่มจำนวนนักเรียนเพื่อให้หลุดพ้นจากการยุบ เขาบอกว่าถ้าอย่างนั้นขอติดป้ายได้ไหมว่าโรงเรียนจะมี ‘กลุ่มเซ็นทรัล’ มาสนับสนุน ปรากฏว่าจากนักเรียน 47 คน ปีเดียวเพิ่มเป็น 70 คนได้”
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ร่วมมือกับเซ็นทรัลจะต้องทำ MOU กับบริษัทเป็นเวลา 5 ปีในการเขียนหลักสูตรร่วมกัน โดยมีเป้าหมายว่าโรงเรียนจะต้องเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนโดยรอบ จนกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ต่อยอดให้โรงเรียนอื่นๆ ได้นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดเป็นเครือข่ายโรงเรียน
ดร.ชาติชาย เล่าถึงอุปสรรคที่เจอระหว่างทำงานด้านการศึกษาว่า “ปัญหาหนึ่งที่เราพบคือ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและคุณภาพการศึกษาได้ ผมเคยเข้าไปโรงเรียนหนึ่ง แล้วเชิญทุกคนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน แต่ผอ.คนนั้นบอกว่าไม่ต้องคุยกับใครหรอก คุยกับผมคนเดียวจบ…ผมก็จบเลย ปิดการสนทนาแล้วกลับเลย เพราะผมถือว่าการพัฒนาการศึกษามันเป็นไปไม่ได้ที่ผู้อำนวยการศึกษาคนเดียวจะพัฒนาการศึกษา สร้างโอกาสในการเรียนรู้ การศึกษาต้องบูรณาการเข้ามา”
ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นผู้อำนวยการโรงเรียนมักจะย้ายบ่อย โดยย้ายไปโรงเรียนขนาดใหญ่ ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนา
ที่สำคัญคือ ปัญหาเรื่องทัศนคติ (mindset) จากประสบการณ์การลงพื้นที่ทำให้เห็นว่าผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่ยังมองแต่ความก้าวหน้าของตัวเองเป็นตัวตั้ง
“ถามว่าเจอผู้บริหารที่เข้าใจกันแค่ไหน ผมเจอน้อย มีไหม มี แต่น้อย บอกได้เลยว่าผู้บริหารการศึกษาไทยก็ยังอยู่ในระบบเดิมกรอบเดิม คือฉันอยากอยู่โรงเรียนใหญ่ขึ้น บางคนทำกับเราไม่ถึงปี ก็ย้ายไป เราจึงต้องทำมา mou ภายหลัง แต่ถ้าเขาจะไปจริงก็ห้ามยาก”
“แต่ผมก็เคยเจอผอ.โรงเรียนที่มาจากโรงเรียนขนาดกลางมาขนาดเล็ก แล้วเขาบอกว่าด็อกเตอร์ไม่ต้องห่วงนะครับ ผมอยู่กับเซ็นทรัลห้าปีแน่นอน คุยกันรู้เรื่อง และเขามีความตั้งใจ ไม่พูดเรื่องงบประมาณเลย แต่เขาเอาโจทย์ เด็กเป็นตัวตั้ง แบบนี้ผมมีความสุข แต่เจอน้อย”
“ประเทศเรายังให้รางวัลความสำคัญคือไปโรงเรียนใหญ่ ซึ่งมันไม่จริง เราเลยเสนออย่างเป็นทางการว่าให้ประเมินความสำเร็จของครูหรือผู้บริหารโรงเรียนจากโครงการที่ทำไหม สมมติคุณเป็นผอ. จะทำโปรเจคหนึ่ง ถ้าสำเร็จได้รางวัล แต่ไม่ได้หมายความว่ารางวัลคือไปโรงเรียนใหญ่ขึ้น สิ่งที่ได้อาจเป็นเรื่องอัตราครูที่เพิ่มขึ้น แรงจูงใจที่มากขึ้น ตำแหน่ง หรือฐานเงินเดือนที่ปรับขึ้นโดยไม่ต้องปรับว่าต้องมีนักเรียนเป็นพันคน”
บทเรียนที่ได้ระหว่างการลงพื้นที่โรงเรียนต่างๆ คือการมองเห็น ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ด้านความเป็นอยู่ ตลอดจนมองว่าการพัฒนาการศึกษาจะต้องใช้ต้นทุนที่สูง ซึ่งแม้แต้ภาคเอกชนขนาดใหญ่อย่างกลุ่มเซ็นทรัลเองยังไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั่วถึง
“สามหมื่นกว่าโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เราก็ทำได้แค่ 150 โรงเรียน เพราะมากกว่านี้ทรัพยากรของเราก็ไม่ไหว ทั้งคน เวลา งบประมาณ การทุ่มเท ความเข้าใจ ตอนแรกเราก็มีปัญหา ทุกคนมาจากส่วนกลางหมด จะไปเยี่ยมโรงเรียนได้กี่ครั้ง เราถึงต้องสร้างระบบ centrality ซึ่งเราเรียกว่า school agent ในแต่ละโรงเรียนที่เขาลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนกันเองด้วย”
ดังนั้นเมื่อพูดถึงปัญหาการศึกษา สุดท้ายจึงกลับมาที่โครงสร้างของการศึกษา โดยดร.ชาติชาย มองว่า จุดที่เป็นปัญหาในระบบการศึกษาคือ “นโยบายการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่องกัน”จากอายุเฉลี่ยของรัฐมนตรีเพียง 9 เดือน ขณะที่การพัฒนาการศึกษาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 9-12 ปีให้เห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง รวมถึงระบบราชการที่ต่างคนต่างเอาผลงานของตัวเองเป็นตัวตั้ง และรื้อนโยบายแบบเดิมออก ตลอดจนปัญหาภาระงานของครูที่มากเกินไป ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ชาติชาย เสริมว่า “เวลาที่เราไปคือเราถามว่าเราเพิ่มงานให้ครูหรือเปล่า ถ้าเพิ่มงานไม่เอา แต่ถ้าครูเข้าใจว่านี่คือโอกาสที่จะพัฒนาโรงเรียนร่วมกัน เพราะทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการคิดและทำ จึงเป็นหัวใจในการทำงาน พวกเราทำงานแบบกัดไม่ปล่อย เราดูแม้กระทั่งว่าฝนตกน้ำท่วม กว่า 150 โรงเรียนของเราได้รับผลกระทบหรือเปล่า หรือโควิด เราดูแลเหมือนลูก เหมือนเราเป็นเจ้าของโรงเรียนจริงๆ”
“ผมเคยพูดเล่นๆ แต่คิดจริงๆ ว่าการปฏิรูปการศึกษาไทยควรจะเป็นวาระแห่งชาติ ผมเชื่อว่าถ้านโยบายการพัฒนาการศึกษาถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 12 ปี ที่ผ่านมาการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษา พอเป็นรัฐมนตรี พับของเก่าออก เพราะต้องการให้เป็นชื่อฉัน”
ในฐานะที่ดร.ชาติชาย เคยเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย สู่หมวกปัจจุบันคือเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ทำให้มองเห็นจุดอ่อนของการศึกษาไทย นำมาสู่การปรับเปลี่ยนเชื่อมโยง ‘ธุรกิจค้าปลีก’ เข้ากับ ‘ปัญหาการศึกษา’ นั่นก็คือการสร้างอาชีพเข้าไปในตลาดแรงงานไทย