ThaiPublica > คอลัมน์ > รำลึกถึง “ฌอน คอนเนอรี่” ใน “ล่าตุลาแดง” ปากคำประวัติศาสตร์ช่วงท้ายสงครามเย็น

รำลึกถึง “ฌอน คอนเนอรี่” ใน “ล่าตุลาแดง” ปากคำประวัติศาสตร์ช่วงท้ายสงครามเย็น

1 พฤศจิกายน 2020


Hesse004

เซอร์ฌอน คอนเนอรี่ ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Sean_Connery#/media/File:SeanConneryJune08.jpg

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวการจากไปอย่างสงบของ “เซอร์ณอน คอนเนอรี่” (Sir Sean Connery) ดาราระดับตำนานผู้ฝากผลงานอันสุดคลาสสิคในบท “เจมส์ บอนด์” (James Bond) พยัคฆ์ร้าย 007 จนปู่ฌอนกลายเป็นสัญลักษณ์ของสายลับพราวเสน่ห์มากที่สุด

ฌอน คอนเนอรี่ มีชื่อเต็มว่า โทมัส ณอน คอนเนอรี่ เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 1930 ในเอดินเบิร์ก สก๊อตแลนด์

…ปู่ฌอนเริ่มต้นอาชีพนักแสดงตั้งแต่ปี 1954 จนกระทั่งรีไทร์เมื่อปี 2012 ตลอดอาชีพนักแสดงนั้นบรรณานุกรมผลงานการแสดงภาพยนตร์ (Filmography) ของปู่บันทึกไว้ว่า ฌอน คอนเนอรี่ เป็นนักแสดงมืออาชีพอย่างแท้จริง ประจักษ์พยาน คือ รางวัลอันทรงเกียรติจากเวที Academy Award เมื่อปี 1988 ในบทนายตำรวจชาวไอริชที่ต่อสู้กับ อัล คาโปน (Al Capone) โคตรมาเฟียชิคาโกจากหนังเรื่อง The Untouchable (1987)

อย่างไรก็ดีแฟนภาพยนตร์ทั่วโลกจดจำฌอน คอนเนอรี่ ได้มากที่สุด กับภาพของ “เจมส์ บอนด์” สายลับ MI6 หมายเลข 007 ชุดนิยายเรื่องดังของเอียน เฟลมมิ่ง (Ian Fleming)

เซอร์ฌอน คอนเนอรี่ กับตำนานเจมส์ บอนด์ 007 ที่มาภาพ : https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/184F8/production/_98167599_neversayneveragain_getty.jpg

ณอน คอนเนอรี่เปิดตัวสายลับ 007 ครั้งแรก ในตอน Dr. No (1962) ภาพสายลับสุดเนี้ยบ ฉลาด มีรสนิยม แก้สถานการณ์ได้เยี่ยม ทำให้ ภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ติดลมบน และสร้างภาคต่อออกมาอีกสองตอน คือ From Russia with Love (1963) และ Goldfinger (1964)

ณอน คอนเนอรี่ รับบทเป็นเจมส์ บอนด์ ตั้งแต่ปี 1962 จนถึงปี 1983 โดยตอนสุดท้ายที่รับบทเป็นบอนด์ คือ Never Say Never again…รวมทั้งหมด 7 ตอน ที่ปู่ฌอนสวมบทบาทเป็นสายลับ 007

หลังจากนั้น เขาได้ฝากผลงานการแสดงเป็นที่จดจำในหลายเรื่อง โดย The Untouchable ของ ผู้กำกับไบรอัน เดอ พัลมา (Bryan De Palma) ส่งบทนายตำรวจไอริชจิมมี่ มัลโลน (Jimmy Malone) จนคว้ารางวัล The Academy Award for Best Supporting Actor ในปี 1988

ภาพยนตร์อีกเรื่องที่ ณอน คอนเนอรี ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ คือ The Hunt for Red October (1990) ผลงานการกำกับของจอห์น แมคเทียร์เนน (John McTiernan) ซึ่งปู่ฌอนรับบทเป็นกัปตันมาร์โก เรเมียส (Marko Ramius) กัปตันเรือดำน้ำของกองทัพแดงโซเวียต

The Hunt for Red October เป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามทางทะเลในยุคสงครามเย็น ซึ่งทั้งสหรัฐและสหภาพโซเวียตต่างพัฒนากองทัพด้วยการสร้างแสนยานุภาพทางทหารในด้านต่าง ๆ

โครงการพัฒนาเรือดำน้ำ (Submarine) เป็นอีกหนึ่งในโครงการสำคัญของกองทัพเรือทั้งสองประเทศที่ต้องการใช้กองเรือดำน้ำรักษาน่านน้ำและอธิปไตยทางทะเลไว้ รวมทั้งป้องกันการสอดแนมจากข้าศึกที่อาจดำน้ำมายิงขีปนาวุธเมื่อไหร่ก็ได้

ภาพยนตร์เรื่อง The Hunt for Red October ทำให้เราได้เห็นบรรยากาศในช่วงปลายสงครามเย็นระหว่างค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกา และค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นำโดยสหภาพโซเวียต

สงครามเย็นเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง…การต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทำให้ประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 50-90 เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างกลุ่มซ้ายและขวา เกิดสงครามตัวแทนไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม

นอกจากนี้สงครามเย็นยังกระตุ้นให้สองค่ายแข่งขันกันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างยานอวกาศ ส่งมนุษย์ไปโคจรรอบโลก พัฒนาอาวุธให้ทันสมัย

ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เกิดจารกรรมข้อมูลโดยใช้สายลับ ทั้ง CIA และ KGB แทรกซึมในแต่ละฝั่ง

สงครามเย็นกินเวลายาวนานมาสามสิบกว่าปี จนกระทั่งปี 1985 เมื่อนายมิกาอิล กอร์บาเชฟ (Mikael Gorbachev) ขึ้นเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต เขาได้ประกาศนโยบายเปเรสทรอยก้า และกราสน็อต จนกระทั่งนำไปสู่การเจรจาที่มอลต้ากับประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อ เพื่อร่วมกันจัดระเบียบโลกใหม่อีกครั้ง

เซอร์ฌอน คอนเนอรี่ กับบทนายทหารเรือกองทัพแดงโซเวียตใน The Hunt for Red October
ที่มาภาพ : https://m.media-amazon.com/images/

ภาพยนตร์เรื่อง The Hunt for Red October ดูเหมือนจะเป็นหลักฐานบนแผ่นฟิล์มที่สะท้อนยุคปลายสงครามเย็น ที่แม้แต่คนระดับอาจารย์ในกองทัพเรือโซเวียตอย่างกัปตันมาร์โก เรเมียส ยอมที่จะแปรพักตร์ (Defect) โดยแอบนำเรือดำน้ำล่องมาถึงน่านน้ำอเมริกาเพื่อแสดงเจตนาแปรพักตร์และยอมรับว่าพวกเขาต้องการชีวิตที่ดีกว่าในโลกสังคมนิยม

หากเราลองทบทวนวรรณกรรมการแสดงภาพยนตร์ของปู่ฌอน คอนเนอรี่ สมัยที่แสดงเป็น เจมส์ บอนด์ 007 อาจกล่าวได้ว่าบทบาทหลักที่เห็น คือ การต่อสู้กับวายร้ายที่มักมาในฝั่งสังคมนิยโซเวียต เช่น From Russia with Love (1963)

อย่างไรก็ดี ใน “ล่าตุลาแดง” บทของฌอน คอนเนอรี่ กลับแปรเปลี่ยนไปเป็นนายทหารกองทัพแดงแต่ยินดีที่จะแปรพักตร์มาสู่โลกเสรีนิยม

ภายหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็นแล้ว…โลกาภิวัตน์ได้ทำให้โลกแคบลง อุดมการณ์ทางการเมืองดูเหมือนจะมีประชาธิปไตยเพียงหนึ่งเดียว ระบบเศรษฐกิจตลาดเข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลาง

โลกเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ …สามสิบปี หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง หลายประเทศเกิดใหม่ซึ่งแตกออกจากสหภาพโซเวียตกลับพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น เอสโตเนีย ลัตเวีย หรือลิทัวเนีย

ขณะที่คู่ต่อกรรายใหม่ของสหรัฐอเมริกากลับกลายเป็น “จีน” ที่ก้าวขึ้นมาเทียบเคียงกับสหรัฐอเมริกาได้ทุกด้านแล้ว

โลกเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ …โลกยุคใหม่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ เศรษฐกิจดิจิทัลการรบโดยใช้ AI และ Drone มาช่วยต่อสู้… สงครามเปลี่ยนรูปมาสู่สงครามเศรษฐกิจ ผู้คนลืมความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์คอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตยไปหมดแล้ว เหลือเพียงแต่โลกที่เชื่อมโยงกันทุกที่ทุกเวลา

หากเปรียบไปแล้ว 90 ปีในชีวิตของเซอร์ฌอน คอนเนอรี่ นับว่าเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ในฐานะปากคำประวัติศาสตร์ที่เจอเหตุการณ์ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็น โลกาภิวัตน์ จนกระทั่งยุค Covid-19
นับเป็นตัวอย่างที่ดีของมนุษย์คนหนึ่งที่เห็นโลกใบนี้ได้อย่างแจ่มชัด

…ฌอน คอนเนอรี่…เจมส์ บอนด์ 007

Hesse004 : คอลัมนิสต์ออนไลน์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือของ Hermann Hesse นักเขียนชาวเยอรมัน โดย Hesse004 สนใจการศึกษาวิจัยประเด็นคอร์รัปชันในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) นอกจากนี้ยังชอบดูหนังและสารคดีแนวประวัติศาสตร์