ThaiPublica > คอลัมน์ > การแชร์ความเจ็บปวดทำให้คนแปลกหน้ารักกัน

การแชร์ความเจ็บปวดทำให้คนแปลกหน้ารักกัน

24 สิงหาคม 2020


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เคยสงสัยกันไหมครับว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนแปลกหน้าที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนหันหน้ามาเชื่อใจกันและร่วมมือร่วมใจกันได้

หนึ่งในปัจจัยสำคัญนั้นก็คือความเจ็บปวดที่พวกเขาพึ่งจะประสบมาร่วมกันมา

จากผลการวิจัยของ Brockets Bastian, Jolanda Jetten และ Laura J. Ferris นักจิตวิทยาสามคนจากออสเตรเลีย พบว่า ในการนำเอาคนแปลกหน้าเข้ามาในห้องทดลองแล้วสั่งให้พวกเขาเหล่านี้ 1) เอามือลงไปแช่ในถังน้ำที่เต็มไปด้วยน้ำแข็ง และ 2) ให้กินพริกสดที่เผ็ดมากๆ พร้อมๆ กัน

ปรากฏว่าคนแปลกหน้าพวกนี้ หลังจากที่พวกเขาได้มีประสบการณ์ร่วมเจ็บร่วมแสบมาด้วยกันและพร้อมๆ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น พวกเขาต่างก็มีความรู้สึกว่าคนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่เพิ่งเจอประสบการณ์เจ็บปวดมาเหมือนกัน เป็นคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ และเป็นคนที่ถ้าได้ลงมือทำกิจกรรมอะไรด้วยกันแล้ว คนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ร่วมเจ็บปวดมาด้วยกันก็จะไม่หักหลังเขา

เมื่อเทียบกับคนใน control group ที่ไม่ได้มีประสบการณ์แชร์ความเจ็บปวดด้วยกันมาก่อน โดยทั้งสามได้ทำการพิสูจน์โดยการให้คนที่โดนสุ่มให้เจ็บร่วมกันก่อนและคนที่อยู่ใน control group เล่นเกมเศรษฐศาสตร์ และพบว่าคนที่เจ็บร่วมกันมาก่อนมักจะให้ความร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายมากกว่าคนที่ไม่เคยเจ็บร่วมกันมาก่อน

งานวิจัยชิ้นนี้จึงอธิบายได้ว่าทำไมสังคม SOTUS และวัฒนธรรมรับน้องยังคงอยู่ได้ในสังคมของเรา เพราะการสร้างปรากฏการณ์ หรือ engineer ความเจ็บปวดร่วมกันระหว่างคนแปลกหน้าขึ้นมาสามารถทำให้คนที่แชร์ความเจ็บปวดเหมือนๆ กันเหล่านี้มีความรู้สึกผูกพันกับคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์ร่วมได้

ซึ่งก็เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างกลุ่มคนที่มีความรู้สึกแน่นแฟ้นและไม่ทิ้งกัน ทั้งๆ ที่จริงแล้วพวกเขาอาจจะไม่ได้มีความคิดหรืออุดมการณ์ที่คล้ายกันเลย เพียงแต่พวกเขามีความผูกพันที่เกิดขึ้นมาเพียงเพราะความเจ็บปวดที่ต่างคนต่างแชร์กันเท่านั้นเอง

และพอพวกเขาสร้างกลุ่มที่ insiders คือคนที่เจ็บมาด้วยกัน และ outsiders คือคนที่ไม่ได้เจ็บมาด้วยกัน โอกาสที่คนในกลุ่ม หรือ insiders พวกนี้จะไม่ยอมรับฟังเหตุผลของคนนอกกลุ่ม หรือ outsiders เพียงเพราะ “มันไม่เคยเจ็บอย่างเรามันไม่เข้าใจเราหรอก” ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และก็สามารถส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์การคิดแบบติดกลุ่ม (groupthink) ขึ้นได้ง่ายๆ เช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม
Bastian, B., Jetten, J. and Ferris, L.J., 2014. Pain as social glue: Shared pain increases cooperation. Psychological science, 25(11), pp.2079-2085.