ThaiPublica > คอลัมน์ > บทบาทของ identity ในการเปลี่ยนใจคนที่คิดต่างจากเรา

บทบาทของ identity ในการเปลี่ยนใจคนที่คิดต่างจากเรา

10 พฤศจิกายน 2020


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

identity หรือความเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้คุณ “เป็นคุณ” คืออะไรครับ

สำหรับหลายๆคน identity ของคุณก็คืองานที่คุณทำ การเป็นคุณครู เป็นนักเรียน เป็นตำรวจหรือนักวิทยาศาสตร์ แต่ identity ของหลายๆ คนก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับงานที่คุณทำเลย เช่น คนที่เพิ่งมีลูก identity ของเขาคนนั้นก็จะเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีลูกเป็นพ่อหรือเป็นแม่

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ช่วยสร้าง identity ของเราอาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ค่อนข้างซับซ้อนมาก เช่น ความเชื่อที่เรามี หรือแม้แต่สิ่งที่เราเลือกรับประทานในแต่ละวัน

identity เป็นอะไรที่สำคัญมากในชีวิตของคนเรา ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะว่าความรู้สึกว่าเรามี identity ที่เป็นของเราเองสามารถช่วยทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเรามีทั้งความหมายและจุดมุ่งหมายในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

แต่ความรู้สึกว่าเรามี identity ก็มีข้อเสียของมันเช่นเดียวกัน

ข้อเสียของการมี identity อะไรสักอย่างหนึ่งมักจะทำให้เรามีความรู้สึกต่อต้านอย่างรุนแรงกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ identity ของเราสั่นคลอน ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่า identity ของคุณเป็นตำรวจ แล้วมาวันหนึ่งมีคนนำข้อมูลมาให้คุณดูว่าจำนวนตำรวจที่ติดสินบนนั้นมันเยอะมากขนาดไหน

ด้วยเหตุผลที่ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทำให้คุณต้องตั้งคำถามว่าการมี identity ในการเป็นตำรวจเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรกก็คือปรากฏการณ์ self-preservation หรือการปกป้อง identity ของตัวเราเองด้วยการปฏิเสธข้อมูลเหล่านั้นบ้าง หรือการหาข้อมูลอื่นๆ ที่เข้าข้าง identity ของตัวเราเองมาเถียงบ้าง ที่เราต้องทำอย่างนี้ก็เป็นเพราะว่าความรู้สึกถึงการสูญเสีย identity ของตัวเราเองเป็นอะไรที่เจ็บปวดมาก เพราะมันเหมือนกับการสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองทั้งหมด (และด้วยเหตุผลนี้นี่เองที่ทำให้การเอาเหตุผลมาหักล้างกันแทบจะใช้ไม่เคยได้ผลในการปรับความเข้าใจหรือเปลี่ยนใจคนเลย)

แล้วเราควรจะทำอย่างไรบ้าง

คำตอบก็อาจจะมาจากการทำความเข้าใจถึงบทบาทของ identity นั่นเอง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ identity ของคนเรามีผลลบต่อกับการปรับความเข้าใจ หรือการเปลี่ยนใจตัวเราเองหรือคนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็คือการที่คนเรามักจะ “ลด” มิติของ identity ของตัวเราเองหรือคนอื่นๆ จนเหลือแค่มิติเดียว เช่น กลุ่มนี้เด็ก กลุ่มนี้ผู้ใหญ่ กลุ่มนี้คนผิวขาว กลุ่มนี้คนผิวดำ กลุ่มนี้เสรีนิยม กลุ่มนี้อนุรักษนิยม ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมีอะไรอีกเป็นร้อยเป็นพันที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของคนเราแต่ละคน

การลดมิติของ identity ของเราจนเหลือแค่มิติเดียวแล้วไปติดป้ายด้วยการให้ label กับมันอย่างนี้นั้น เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เราลดมิติของสิ่งที่เราจะสามารถเปิดรับความคิดที่ไม่อยู่ในกรอบของมิติ identity ของเราได้

แต่ถ้าเราสามารถลองเลิกคิดว่าตัวเองเป็นกลุ่มเด็ก เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ หรือเป็นกลุ่มอะไรก็ตาม แล้วลองขยาย identity ของตัวเองให้มันใหญ่ขึ้น เช่น เราต่างคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน โอกาสที่เราจะเปิดรับฟังและยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่อยู่ในกรอบของมิติ identity ที่มันใหญ่ขึ้นก็จะเพิ่มมากขึ้นตามๆ กันไป