
อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์
ต่อกรณีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเลื่อนการชำระเงินของบริษัทที่รับสัมปทานใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์คลื่น 900 Mhz
นายชาญชัยกล่าวถึงกรณี คสช.ใช้ ม.44 ออกคำสั่งเลื่อนการชำระเงินของ 3 บริษัทโทรศัพท์ ที่ได้รับสัมปทานใบอนุญาตบริการคลื่น 900 Mhz คิดเป็นมูลค่าสูงถึงแสนล้านบาทว่า ประเด็นนี้คงต้องย้อนกลับไปดูที่เงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ซึ่งระบุว่า บริษัทที่เข้าประมูลงานจะต้องยินยอมชำระเงิน และปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน TOR เช่น เงื่อนไขของการกำหนดราคา, เงื่อนไขของการคิดราคากับผู้ใช้บริการ และอื่นๆ ซึ่งปรากฏรายละเอียดอยู่ในช่วงท้ายของเอกสารตอนยื่นซองประกวดราคา
นายชาญชัยกล่าวต่อว่า การประมูลครั้งนั้น ทั้ง 3 บริษัทใช้เวลาในการเสนอราคากว่า 30 ชั่วโมง เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการโทรศัพท์คลื่น 900 MHz ย่อมแสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้กำไรมหาศาล ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ปรากฏว่าในปี 2561 มีการชงเรื่องถึงรัฐบาล เพื่อขอให้เลื่อนการชำระเงินค่าใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในขณะนั้นตนได้ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ไปแล้ว ไม่ใช่เพิ่งออกมาคัดค้านหลังจากที่ คสช.ออกคำสั่ง มาตรา 44 ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ตนถือว่าเป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาลและผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศด้านอื่นได้มากมาย
“นี่คือคลื่นของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่คลื่นของใครคนใดคนหนึ่ง ที่ผ่านมาก็ คนในรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า เรื่องการเลื่อนชำระเงินเพื่อช่วยเหลือบริษัทมือถือนั้นเอาไว้ทีหลัง แต่ขอช่วยทีวีก่อน แสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการกันมาเป็นปีแล้ว เพียงแต่หาจังหวะที่จะทำ หากไปพิจารณาที่งบดุลของบริษัทมือถือ ผมขอยกตัวอย่าง ผลประกอบการของบริษัท เอไอเอส ช่วงปี 2559 – ปี 2561 พบว่า บริษัทมีกำไรที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 128,000-14,4000 ล้านบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว มีกำไรสุทธิ 3 ปีรวมกันอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเอไอเอสจ่ายค่าสัมปทาน 16,000 ล้านบาท คำถาม คือ กำไรสุทธิมากขนาดนี้ ทำไมบริษัทไม่นำเงินมาลงทุนต่อ เหตุใดรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือบริษัท โดยนำเทคโนโลยี 5G มาเป็นข้ออ้าง เพื่อเลื่อนการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ออกไป โดยไม่ได้คิดดอกเบี้ย แม้แต่ต่างประเทศเองก็ยังผลิตอุปกรณ์มารองรับระบบนี้ไม่จบ ขณะที่รัฐบาลได้นำเอาเรื่องอนาคต ซึ่งยังไม่รู้จะเกิดเมื่อไหร่มาเป็นเงื่อนไขเพื่อลบล้าง TOR ในการประกวดราคาครั้งที่แล้ว ถือเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงชนิดที่ไม่เคยเห็นใครกล้าทำได้ขนาดนี้มาก่อน” นายชาญชัยกล่าว
นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง เคยวินิจฉัย คำสั่ง คสช. ในคดีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ประมาณ 5 พันเมกะวัตต์ ศาลฯ วินิจฉัยว่า “คำสั่งของ คสช.นั้นไม่ใช่อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นเพียงคำสั่งทางปกครอง เพื่อให้นายกฯ และหน่วยงานนำไปปฏิบัติ” ดังนั้น คำสั่ง คสช.ดังกล่าวอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเอไอเอส ทรู หรือดีแทค ที่เสียเงินค่าบริการรายเดือน ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง สามารถยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อดำเนินคดีกับเลขาธิการ กสทช.พ่วงบริษัทและ คสช.ได้
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2019/04/ผลการดำเนินงาน-AIS-THAIPUBLICA-ล.pdf” title=”ผลการดำเนินงาน AIS THAIPUBLICA ล”]
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2019/04/ผลประโยชน์จากสัมปทานมือถือ-L.pdf” title=”ผลประโยชน์จากสัมปทานมือถือ L”]
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2019/04/ศาลปกครองกลางวินิจฉัย-THAIPUBLICA-ล.pdf” title=”ศาลปกครองกลางวินิจฉัย THAIPUBLICA ล”]