ThaiPublica > เกาะกระแส > EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนเวียงจันทน์ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนใน CLMVT

EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนเวียงจันทน์ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนใน CLMVT

1 ธันวาคม 2018


EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนในเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยผู้แทนภาครัฐ สปป.ลาว กรรมการและผู้บริหาร EXIM BANK ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทย เป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมคราวน์ พลาซ่า เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยและ สปป.ลาว มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Infrastructure Connectivity) ด้านการเงิน (Financial Connectivity) และด้านพลเมือง (People to People Connectivity) โดยเฉพาะการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกเหนือจากมูลค่าการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว ที่มีอยู่ประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 1 และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของ สปป.ลาว นักลงทุนไทยเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับที่ 3 ที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 1 จาก สปป.ลาว และมีความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน

“ศักยภาพของสปป.ลาวค่อนข้างมีวัตถุดิบธรรมชาติและทรัพยากรมีค่อนข้างสูง ซึ่งสปป.ลาวต้องการจะเป็นแบตเตอรี่เอเชีย ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนจะเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า ประเทศไทยได้ใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนของลาว และที่ไฟฟ้าไทยยังราคาถูก เพราะส่วนหนึ่งเราซื้อจากสปป.ลาว แต่ว่าการซื้อของไทยเราก็คำนึงถึงความมั่นคงด้วย ถ้าเราพึ่งพาต่างประเทศหมด ก็ต้องดูเรื่องความมั่นคงด้วย กระทรวงพลังงานจึงต้องคิดสร้างโรงงานไฟฟ้าในประเทศ ในกรณีที่เกิดการขาดแคลนขึ้น” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวต่อว่าการลงทุนในสปป.ลาวนอกจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว สิ่งที่คนไทยมาลงทุนกันมากคือโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศที่กำลังขยายตัว โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ค่อยดีนัก นักลงทุนไทยเข้ามาช่วยในด้านคมนาคม ถนนหนทาง อีกด้านเช่นโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำ มีคนไทยมาร่วมทำน้ำประปา จ่ายน้ำให้กับทางหลวงพระบาง เป็นต้น

นอกจากนี้ สืบเนื่องจากมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Initiative: ABMI) กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้กระทรวงการเงินของ สปป.ลาว ออกพันธบัตรสกุลเงินบาทเพื่อระดมทุนไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน สปป.ลาว วงเงินรวม 55,500 ล้านบาท โดยออกขายพันธบัตรสกุลเงินบาทแล้ว 8 ครั้งในช่วงปี 2556-2561 วงเงินรวมทั้งสิ้น 45,690 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่สนับสนุนให้ สปป.ลาว สามารถระดมทุนนอกประเทศได้สำเร็จ เป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลัง เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคและเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันของอาเซียน

นายอภิศักดิ์กล่าวต่อว่า การจัดตั้งสำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ในเวียงจันทน์สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับ สปป.ลาว และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายรูปแบบความร่วมมือและพัฒนาบริการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพและหลากหลายมากยิ่งขึ้น นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ EXIM BANK ในการผลักดันการค้าและการลงทุน เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ทั้งสองประเทศ อันจะส่งผลให้รายได้ประชาชาติ การลงทุน การจ้างงาน และความอยู่ดีมีสุขของประชาชนทั้งสองประเทศดีขึ้น นำไปสู่ความใกล้ชิดแน่นแฟ้นและความมั่งคั่งยั่งยืนทางธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของ EXIM BANK ในการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจส่งออก นำเข้า และลงทุน มายาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน สาธารณูปโภค และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปใน สปป.ลาว

“นอกจากการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการไทยและ สปป.ลาว ซึ่งเป็นภารกิจหลักอยู่แล้วนั้น EXIM BANK ต้องเพิ่มภารกิจ เป็น ‘ทูตมิตรภาพทางเศรษฐกิจ’ อีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้ข้อมูลด้านการค้า การลงทุน และกฎระเบียบต่างๆ แก่ผู้ประกอบการไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ กระตุ้นให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของไทยและ สปป.ลาว ภารกิจของ EXIM BANK ใน สปป.ลาว จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป เพื่อให้ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสปป.ลาวมั่นคงและยั่งยืน” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า นับตั้งแต่ EXIM BANK เปิดดำเนินการเมื่อปี 2537 เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า 24 ปีที่ EXIM BANK ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการส่งออก การนำเข้า และการลงทุน โดยเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและมิตรประเทศที่ดีมายาวนานอย่าง สปป.ลาว โดย EXIM BANK ได้สนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการต่างๆ ใน สปป.ลาว รวมทั้งสิ้นกว่า 30,000 ล้านบาทในโครงการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างถนน การลงทุนในโรงไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีการจำหน่ายไฟฟ้ากลับมายังประเทศไทย และอีกหลายโครงการในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า EXIM BANK จัดตั้งสำนักงานผู้แทนในเวียงจันทน์เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมประเทศไทยทำงานกับภาครัฐและเอกชนไทย-สปป.ลาว เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงการขยายธุรกิจเชื่อมโยง CLMVT (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ต่อไปยังประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน ทั้งนี้ สํานักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียงจันทน์จะทำหน้าที่ให้บริการด้านคำปรึกษาแนะนำ ข้อมูลการค้าการลงทุน รวมถึงข้อมูลเชิงลึกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจสามารถเริ่มต้นหรือขยายการค้าการลงทุนในสปป.ลาว ได้อย่างประสบความสำเร็จ ตลอดจนอํานวยความสะดวกในการทําธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนขยายความร่วมมือในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศ ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

ในโอกาสนี้ นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายอุเดด สุวันนะวง ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (LNCCI) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง EXIM BANK กับ LNCCI เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านข้อมูล บริการทั้งทางการเงินและมิใช่การเงิน รวมถึงการร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อขยายโอกาสในด้านการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการลาว

ปัจจุบันสปป.ลาวมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจเล็กที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMVT ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปี 2561-2565 ประมาณร้อยละ 7 ต่อปี สูงที่สุดใน CLMVT และสูงเป็นอันดับต้นของโลก โดยอาศัยจุดแข็งของ สปป.ลาวในการมีพรมแดนติดกับ CLMVT และจีน ทำให้ สปป.ลาว เป็นประตูเชื่อมโยงเครือข่ายพลังงาน เส้นทางคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการค้าของภูมิภาค