ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เล่าต่อว่าเป็นเวลาถึง 337 วัน ที่สำนักพระราชวังได้รับพระราชทานอนุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประชาชนได้เข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยที่จำนวนประชาชนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ที่เป็นวันสุดท้ายของการเปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการะพระบรมศพ ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 5 จนถึงเวลา 02.18 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 110,889 คน
อนึ่ง เดิมที วันที่ 30 กันยายน 2560 ถือเป็นวันสุดท้ายที่ประชาชนจะมีโอกาสได้เข้าถวายสักการะพระบรมศพ แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกำหนดวันสุดท้ายของการกราบถวายบังคมพระบรมศพ ออกไปเป็นถึงเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ซึ่งงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในอดีตประชาชนไม่ได้มีโอกาสได้ร่วมใกล้ชิดอย่างเช่นปัจจุบัน
การมีส่วนร่วมของประชาชนในงานพระบรมศพพระราชาผู้ยิ่งใหญ่
“เวลาที่ผ่านไปนั้น ธรรมเนียมเกี่ยวกับงานพระราชพิธีพระบรมศพให้ประชาชนมีโอกาสหรือมีส่วนไปรู้ไปเห็นไปเกี่ยวข้องไปสนองพระเดชพระคุณมากขึ้นกว่าในอดีต ในอดีตนั้นงานพระบรมศพเริ่มต้นตั้งแต่ท่านสวรรคตในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีการเชิญพระบรมศพจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง กว่าประชาชนจะได้เห็นได้มีส่วนเกี่ยวข้องบางทีก็เลยไปจนถึงงานพระเมรุ จะถวายพระเพลิงด้วยซ้ำไป เพราะพระบรมมหาราชวังสมัยก่อนถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เริ่มต้นเรื่องราว
ธงทองถ่ายทอดเรื่องราว เป็นบันทึกภาคประชาชนอีกหน้าหนึ่งถึงงานพระบรมศพ โดยระบุว่า เรื่องการที่ประชาชนจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวังเพื่อถวายบังคมพระบรมศพนั้นพิ่งเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนไปมีบทบาทอะไรในพระบรมมหาราชวัง ต้องรอจนถึงออกพระเมรุจึงจะมาได้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สวรรคตนั้น โดยที่ทรงเป็นพระปิยมหาราชดังที่ทราบกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานที่ประชุมเจ้านายปรึกษากันก็เห็นควรให้ประชาชนได้เข้ามาถวายบังคมพระบรมศพ แต่ก็ยังกำหนดเพียงแค่เดือนละ 2 วัน คือวันที่ 1 กับวันที่ 15 ซึ่งคนก็มากันมากมาย

ธงทองกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 หลังจากสวรรคต มีประมาณ 5 เดือนเท่านั้นก็ออกพระเมรุ เสด็จสวรรคตเดือนตุลาคม สร้างพระเมรุแล้วถวายพระเพลิงในเดือนมีนาคมถัดมา ไม่ถึงครึ่งปีด้วยซ้ำไป ดังนั้น ถ้านับจำนวนวันแล้วไม่กี่วันเท่านั้นที่ประชาชนได้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคต คาดว่าน่าจะปฏิบัติอย่างเดียวกัน สำหรับรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคตในต่างประเทศก็ไม่มีกรณีที่ประชาชนไปถวายบังคมได้ ครั้นรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเข้าไปถวายบังคมได้สัปดาห์ละ 3 วัน วันอังคาร วันพฤหัส และวันอาทิตย์ ยังเห็นหลักฐานอยู่ในพระราชนิพนธ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ซึ่งท่านเสด็จไปสวิตเซอร์แลนด์หลังจากทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ระยะหนึ่งแล้ว

“วันที่ท่านจะเสด็จไปทรงกราบบังคมลาพระบรมศพเพื่อไปเรียนหนังสือต่อ หรือไปทรงพระอักษรนั้น มีเจ้าหน้าที่กราบบังคมทูลหารือท่านว่าจะงดให้ประชาชนเข้ามาวันนี้ดีไหม เพื่อสะดวกในการที่จะเสด็จไปกราบลาพระบรมศพ ท่านบอกวันนี้เป็นวันของเขาจะไปงดเสียอย่างไรได้ ก็แปลว่าประชาชนได้เข้ามาในคราวนั้น อังคาร พฤหัส อาทิตย์”
แต่วันเวลา 70 ปีที่ผ่านไปในรัชกาลที่ 9 ความสัมพันธ์ ความผูกพัน ระหว่างประชาชนและพระมหากษัตริย์ก็ยิ่งแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนเข้าไปถวายพระบรมศพได้นั้นตั้งแต่แรกๆ เลย แล้วก็ต่อเนื่องมาเกือบปีเต็ม ช่วงท้ายๆ มีประชาชนเข้าไปถวายบังคมต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป จำนวนคนทั้งหมด 12 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล เงินโดยเสด็จพระราชกุศลก็หลายร้อยล้านเต็มที ที่เขานำกันมาคนละ 20 บาท 100 บาท รวมกันได้ 889.54 ล้านบาท


ธงทองกล่าวต่อไปว่า เรื่องการเป็นเจ้าภาพงานในพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ถือเป็นเรื่องใหม่เช่นกัน แต่ก่อนงานพระบรมศพของหลวงผู้ที่จะเป็นเจ้าภาพก็อาจจะมีบ้าง แต่โดยมากก็เป็นเจ้านายโดยส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม แต่การเป็นเจ้าภาพในคราวนี้ได้กว้างขวางแพร่หลายมาก มีคนเป็นเจ้าภาพร่วมหมื่นราย เป็นบุคคลธรรมดาก็ได้ คณะบุคคลก็ได้ นับคร่าวๆ วันหนึ่งมี 4 วาระงาน งานหนึ่งมี 11 เจ้าภาพ รวมเป็น 44 เจ้าภาพต่อวัน และเจ้าภาพหนึ่งก็มีเก้าอี้อำนวยความสะดวกจัดให้พาคณะเข้าไปได้ 50 คน ฉะนั้น เมื่อคูณตัวเลขเข้าไปไม่นับประชาชนที่ไปถวายบังคมโดยการเข้าแถวยาวนั้น ไปเป็นเจ้าภาพก็เยอะอีกเป็นหมื่นจะเป็นแสนด้วยซ้ำไป ตรงนั้นเป็นของที่เราเพิ่งจะได้เห็น
“การวางดอกไม้จันทน์ หรือถวายดอกไม้จันทน์ ผมก็ไม่ทราบว่าจะใช้คำว่าอะไร สำคัญก็คือว่าสิ่งนี้เพิ่งได้เกิดในรัชกาลที่ 9 เหมือนกัน ก่อนหน้านี้ก็ไม่มี เกิดขึ้นครั้งแรกในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่หนนั้นที่ผมนึกออก ซุ้มสำหรับวางดอกไม้จันทน์นี่ก็มีวางอยู่บริเวณโดยรอบท้องสนามหลวง แต่ก็มีเพียงไม่กี่ซุ้ม
แต่ครั้งนี้ด้วยพระมหากรุณาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเห็นว่าผู้คนอยากจะสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มที่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระเมรุมาศจำลอง 85 แห่งทั่วประเทศ ตามจังหวัดต่างๆ และในพื้นที่สำคัญ มุม 4 มุมเมือง บริเวณโดยรอบท้องสนามหลวงที่เป็นหลักๆ และยังมีซุ้มถวายดอกไม้จันทน์อยู่ตามอำเภอและเขตต่างๆ เป็นโอกาสที่ผู้คนทั้งหลายจะได้มีส่วนร่วมในการที่จะสนองพระเดชพระคุณในพระราชพิธีครั้งนี้ รวมทั้งการที่ประชาชนได้ทำดอกไม้จันทน์ถวายในพระราชพิธีฯ นี่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในช่วงชีวิตของเรา แต่ทั้งหมดนี้แสดงหรือประมวลให้เราเห็นได้ว่า ความผูกพัน ความโยงใย ระหว่างประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีความแน่นแฟ้น มีความประจักษ์ชัดเจนมาก แล้วก็แบบแผนและประเพณีต่างๆ นั้นได้มีการปรับไปตามความเหมาะสมของเรื่องราวทั้งหลาย”
พระเมรุมาศ อดีต-ปัจจุบัน

นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระเมรุมาศมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบปัจจุบันเมื่อครั้งสมัยงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยธงทองระบุว่า พระเมรุรุ่นเก่า ย้อนไปถึงอยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนมาถึงรัชกาลที่ 5 พระเมรุนั้นมีขนาดใหญ่โตอย่างที่คนในปัจจุบันจะนึกไม่ถึง เช่น สูง 80 เมตร สูง 100 เมตร ข้างในมีพระเมรุขนาดเล็กอีกองค์หนึ่ง โบราณท่านเรียกว่าพระเมรุทอง
โดยพระเมรุชั้นนอกที่มีความใหญ่โตนั้น โดยมากแล้วเป็นรูปอาคารขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนปราสาท มีฝาเกือบจะรอบทั้ง 4 ด้าน และมียอดเป็นทรงปรางค์ ลักษณะคล้ายปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง แต่ขนาดใหญ่กว่านั้นมาก จะเห็นได้จากหลักฐานภาพถ่ายพระเมรุมาศในช่วงรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5
ธงทองกล่าวต่อไปว่า การสร้างพระเมรุนั้นต้องใช้ทรัพยากร ใช้แรงงานผู้คนมาก ต้องใช้เวลาในการชักลากไม้ ฉะนั้น กว่าจะสะสมข้าวของได้ ไม้ชักลากในต่างจังหวัด ก็ใช้เวลาเป็นแรมเดือนแรมปีกว่าจะสำเร็จมาได้ แต่ก็สร้างด้วยของที่ไม่ถาวร เพราะไม่ถือว่าเป็นมงคลถ้าจะมีพระเมรุอยู่กลางเมืองตลอดไป จะต้องรื้อถอนออกไปเมื่อเสร็จราชการหมดภารกิจแล้ว


“ด้วยพระมหากรุณาในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การสร้างเมรุขนาดใหญ่โตอย่างโบราณที่ว่า เป็นการสิ้นเปลืองมากอยู่ ยุคสมัยบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า ถ้าถึงงานพระบรมศพของพระองค์เองให้ลดขนาดของพระเมรุลง แต่ท่านบอกจะไปลดขนาดของคนอื่นในระหว่างรัชกาลท่านคนเขาจะเอาไปร่ำลือกันว่า ท่านพระองค์นั้นมีผิดอะไรจึงไปลดพระเกรียติยศของท่านลงเสีย ท่านก็บอกเอาไว้ถึงคราวของท่านเองก็แล้วกัน ก็ทรงสั่งไว้ เพราะฉะนั้น พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สร้างขึ้นในตอนต้นรัชกาลที่ 6 นั้นจึงปรับความคิดใหม่ ปรับทรวดทรงใหม่ แทนที่จะไปทรงปราสาทยอดปรางค์ก็เปลี่ยนเป็นทรงบุษบกอย่างที่เราเห็น หลังจากนั้นมาก็ใช้เป็นแนวมาตรฐานสำหรับพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ดี รัชกาลที่ 8 ก็ดี และรัชกาลที่ 9 ด้วย เป็นทรงบุษบกเช่นว่านี้”




มีผู้ที่เทียบสัดส่วนพระเมรุมาศเมื่อครั้งงานพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เทียบโดยภาพถ่ายที่มีคนไปยืนอยู่ตรงฐาน เทียบขนาดดูแล้ว น่าจะสูงประมาณ 45-48 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกันกับพระเมรุมาศองค์ปัจจุบันนี้ ที่มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 50 เมตรเศษ
“ผมคิดว่าประเด็นไม่ได้อยู่ตรงขนาด แต่อยู่ตรงความตั้งใจ ความคิดในการสร้างพระเมรุคือการสร้างสวรรค์ตามความเชื่อของเรา ตามเรื่องไตรภูมิ เรื่องเขาพระสุเมรุ เรื่องของเขาสัตบริภัณฑ์ สระอโนดาต สัตว์หิมพานต์ต่างๆ เหล่านี้เป็นความเชื่อของเราว่าพระเจ้าแผ่นดินเราเมื่อสวรรคตแล้วท่านไปอยู่บนสวรรค์ คำว่าสวรรคตก็แปลว่าการเดินทางไปสวรรค์นั่นแหละ”
ร้อยดวงใจส่วนรวมทุกภาคส่วนสู่งานถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ

การก่อสร้างพระเมรุมาศ นอกจากจะอิงตามคติจารีตนิยมเรื่องสวรรค์ทั้งหลายแล้ว ยังได้การผสมผสานพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เข้าไปด้วย ทั้งในภาพจิตรกรรมที่ประดับอยู่บนพระที่นั่งทรงธรรม การจำลองแปลงนา กังหันน้ำชัยพัฒนา ต้นมะม่วงมหาชนก สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการผสมผสานคติอย่างดั้งเดิมของการสร้างพระเมรุ ผนวกเข้ากับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9
ธงทองระบุว่า การออกแบบผสมผสานคติความเชื่อและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าไปนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เป็นเช่นนี้ แต่เรื่องที่ผสมเข้าไปอาจแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกคราวทุกครั้งไป แล้วแต่เรื่องราวที่จะจัดเข้าไป โดยการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้มีเวลาดำเนินการประมาณ 10 เดือน
“ผมสังเกตไม่เฉพาะแต่การก่อสร้างเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานพระบรมศพฯ ครั้งนี้ การพระราชพิธีถวายพระเพลิงในครั้งนี้ เป็นงานพระราชพิธีที่ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นความเต็มอกเต็มใจอย่างยิ่ง เป็นความปรารถนาที่อยากจะทำเช่นว่านั้น เรื่องจิตอาสาที่พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับสมัครเป็นจิตอาสาเรือนล้านอยู่ในเวลานี้ เขาอาจจะไม่ได้เข้าไปในพื้นที่สนามหลวงเลย เขาอยู่ที่พระเมรุมาศจำลองหรือซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ทั้งหลายทั่วประเทศไป แต่ทุกคนก็ภูมิใจว่าตนเองก็มีส่วนในงานครั้งนี้ อยู่ใกล้อยู่ไกลไม่สำคัญ แต่หัวใจเหมือนกัน ทำงานที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องถึงกัน เป็นอย่างนี้ทุกๆ ขั้นตอนมาตั้งแต่ต้น
ดูข่าวโทรทัศน์เมื่อวานนี้ สวนของใครมีกล้วยเขาจะมาตัดกล้วยไปทำเครื่องสดแทงหยวก ก็รู้สึกปลาบปลื้มเหลือเกิน จะตัดไปหมดสวนก็ไม่ว่า ฉะนั้น การมีส่วนร่วมนั้นเห็นได้ชัด การที่ทุกคนรู้สึกอยากจะมีส่วนร่วม อ่านหนังสือพิมพ์ ในบรรดาเครื่องสดประดับพระจิตกาธานนั้นต้องใช้ถั่ว ไปซื้อถั่วจำนวนมาก พ่อค้าถั่วเขาถามว่าจะเอาไปทำอะไรมาซื้อมากขนาดนี้ พอรู้ว่าจะเอาไปทำอะไรเขาก็ย่อมไม่คิดสตางค์ ขาดเหลือเขาบอกว่าเดี๋ยวคัดอย่างดีให้ มันเป็นอย่างนี้ทุกที่ไป มันเป็นความภูมิใจของทุกคนที่จะได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณ จะมากจะน้อยอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องเป็นสิ่งที่เราเห็นความพร้อมเพรียง ทุกคนทำดีที่สุด เท่าที่ตัวเองจะทำได้”






หลังจากเสร็จงานพระบรมศพฯ แล้ว ถวายพระเพลิงเสร็จสิ้นแล้วก็วันที่ 29 ตุลาคม 2560 ตามกำหนดการเป็นวันสุดท้ายของงาน ตั้งแต่วันที่ 30 ไปเป็นวันออกทุกข์ คือกลับไปแต่งกายเป็นสีสันตามปกติของเรา นี่เป็นธรรมเนียมประเพณี และตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเข้าไปชมพื้นที่ที่เป็นบริเวณพระเมรุมาศได้ ซึ่งเมื่อครั้งงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ก็มีการเปิดให้คนเข้าชม แต่มีกำหนด 15 วันเท่านั้น
ส่งต่อสืบทอดองค์ความรู้
ธงทองกล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากความพร้อมเพรียงกันในเรื่องของความปรารถนาของทุกคนที่พร้อมสนองพระเดชพระคุณแล้ว อีกจุดเด่นคือเป็นโอกาสของการส่งต่อ สืบทอด วิชาความรู้ทั้งหลาย เรื่องหลายอย่างที่เป็นความรู้ของเรา แค่เพียงเรื่องการออกแบบพระเมรุก็ถือเป็นศาสตร์ศาสตร์หนึ่ง ที่มีการศึกษาเรื่องราวของสวรรค์ เขาพระสุเมรุ สัตว์หิมพานต์ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ทั้งสิ้น ซึ่งถ้าไม่มีเหตุเราก็อาจจะไม่ได้ขวนขวายไปประมวลความรู้เหล่านี้มา
“อย่างน้อยเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องพระเมรุก็มีการบันทึกได้มีการเผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ มา ถึงแม้เราจะไม่ได้เห็นด้วยตาของเราเองนะเราก็ได้รับรู้เรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งโชคดีมาก ผมว่าความเป็นชาติของเราส่วนหนึ่งคือการมีวัฒนธรรม การที่เราเข้าใจว่าเราทำอย่างนี้เพราะอย่างนั้น ไม่ใช่เพียงแค่สวยดีเท่านั้น แต่มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง มีเรื่องราวที่อยู่ข้างหลังเรื่องนั้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสหรือเป็นครั้งหนึ่งที่ความรู้เหล่านี้จะได้มีการพูดกัน มีการบอกกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ได้มีการทำ คนที่ไม่รู้ว่าดอกไม้จันทน์ทำอย่างไร เกิดมาไม่เคยทำ มีคนตั้งกี่หมื่นคนกี่แสนคนได้ทำดอกไม้จันทน์ด้วยมือของเขาเอง สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ทั้งสิ้น ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทีเดียวว่า ความรู้เหล่านี้ได้มีการสืบทอดได้มีการถ่ายทอดกัน เครื่องสดแทงหยวก เรื่องงานดอกไม้สดทั้งหลาย สารพัดอย่างความรู้ มหรสพที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผู้แสดงจะจำช่วงเวลานี้ไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านั้นเป็นความรู้ทั้งสิ้น มันประเมินไม่ได้ว่ามีคุณค่ามากมายมหาศาลเพียงใด สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจของทุกคนที่จะนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับงานพระราชพิธีเหล่านี้ และช่วงเวลานี้ เมื่อไทยของเราก็จะเป็นที่จับตาของชาวโลกด้วยเช่นกัน”
พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร
“ตามราชประเพณีโบราณนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ในวันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จมาทรงเก็บพระอัฐิลงพระโกศด้วยพระองค์เอง โดยจะทรงเก็บพระอัฐิอย่างละชิ้นจนครบพระสรีระ สำหรับพระอัฐิของพระมหากษัตริย์นั้น ตามราชประเพณีจะอัญเชิญพระโกศไปประดิษฐาน 2 แห่ง คือ พระโกศที่หนึ่งประดิษฐานที่ “หอเก็บพระอัฐิ” ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และพระโกศที่สองอัญเชิญไปประดิษฐานยัง “วัดประจำพระองค์” ที่ทรงสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ส่วนพระอัฐิที่เหลือก็จะให้พระราชโอรส พระราชธิดา และพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดเก็บไว้บูชา จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะทำการแปรสภาพพระอัฐิให้เป็นพระราชสรีรางคารเพื่อนำไปบรรจุไว้ยังวัดประจำพระองค์”
– ความตอนหนึ่งจากนายเกรียงไกร วิศวามิตร์ ข้าราชการบำนาญอาวุโสของสำนักพระราชวัง เล่าถึงราชประเพณีโบราณการพระราชทานเพลิงพระศพและการบรรจุพระอัฐิ พระราชสรีรางคาร และพระสรีรางคาร ที่ให้สัมภาษณ์ประกอบรายงานข่าวพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของผู้จัดการรายวัน เรื่อง “ฉันจะอยู่ข้างแม่” ณ สุสานหลวงตลอดกาล
สำหรับการเก็บพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารครั้งนี้ จะมีขึ้นภายหลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพฯ ในวันที่ 27 ตุลาคม 2560 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ เชิญพระโกศพระบรมอัฐิและพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร ไปยังพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในวันที่ 28 ตุลาคม 2560 จะมีพิธีพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เลี้ยงพระ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ ขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และในวันที่ 29 ตุลาคม 2560 เป็นการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร
วัดทั้ง 2 แห่งมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยที่วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร เป็นวัดที่ทรงจำพรรษาขณะทรงผนวช ในปี 2499 ส่วนวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถือเป็นสุสานหลวงที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร พระอังคาร พระอัฐิ ของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดา พระนัดดา และพระปนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงพระราชสรีรางคาร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชสรีรางคาร สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยเช่นกัน
- ย้อนกลับไปในอดีตการเก็บรักษาพระบรมอัฐิ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชนนี และพระอัฐิเจ้านายชั้นบรมราชวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระราชทานเพลิงพระศพพระราชวงศ์ชั้นสูงแล้ว จะเชิญพระบรมอัฐิไปบรรจุไว้ ณ ท้ายจระนำพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ (ในพระราชวัง) ส่วนพระอัฐิเจ้านายก็เชิญบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ดุจกัน
ภายในหอพระธาตุมณเฑียร ที่มาภาพ https://th.wikipedia.org/wiki/
- ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเพณีดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี แล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐานไว้ที่พระราชมณเฑียรที่ประทับ พระบรมมหาราชวัง เพื่อจะได้หยิบฉวยติดพระองค์ได้ง่าย (เนื่องจากเวลานั้นยังคงมีสงคราม) และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิในคราวนั้น ชื่อ หอพระธาตุมณเฑียร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลต่อๆ มารวมถึงพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชบุรพการีก็ได้ถูกอันเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ หอพระบรมอัฐิ บนพระราชมณเฑียรสืบต่อกันมาเป็นราชประเพณี
ทั้งนี้ พระอัฐิสมเด็จพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงนั้นบางพระองค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคารพนับถือ เช่น พระอัฐิ ของสมเด็จพระพี่นางเธอทั้งสองพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อถวายพระเพลิงแล้วโปรดให้อัญเชิญพระอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียรเช่นกัน
- ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้ว พระองค์ทรงรำลึกถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี จึงให้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีจากหอพระธาตุมณเฑียรมาประดิษฐาน ณ พระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จึงเป็นธรรมเนียมอัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จนถึงปัจจุบัน
สำหรับวัดที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีดังนี้
รัชกาลที่ 1 ประดิษฐาน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
รัชกาลที่ 2 ประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
รัชกาลที่ 3 ประดิษฐาน ณ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
รัชกาลที่ 4 ประดิษฐาน ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
รัชกาลที่ 5 ประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
รัชกาลที่ 6 ประดิษฐานไว้ที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์
รัชกาลที่ 7 ประดิษฐาน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
รัชกาลที่ 8 ประดิษฐาน ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรวิหาร