ThaiPublica > เกาะกระแส > บันทึกภาคประชาชน : “ธงทอง จันทรางศุ” ย้อนรำลึก 23 ต.ค. 2453 สู่ความเงียบงันในวันที่ 14 ต.ค. 2559

บันทึกภาคประชาชน : “ธงทอง จันทรางศุ” ย้อนรำลึก 23 ต.ค. 2453 สู่ความเงียบงันในวันที่ 14 ต.ค. 2559

23 ตุลาคม 2017


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนิน อัญเชิญพระบรมศพสู่พระบรมมหาราชวัง

วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันแห่งการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ วันรุ่งขึ้นประชาชนในชุดสีดำจำนวนมากหลั่งไหลกันมาร่วมพิธีอันเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระบรมมหาราชวัง เพื่อส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยเต็มบริเวณท้องสนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในความทรงจำของประชาชนคนไทย

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เล่าเรื่องราวในวันนั้นพร้อมเรื่องราวประวัติศาสตร์งานพระราชพิธีพระบรมศพในฐานะประชาชนคนหนึ่งของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่

ธงทองเริ่มเท้าความว่า หากย้อนกลับไปดูในทางประวัติศาสตร์ จะพบว่าพระมหากษัตริย์ที่ล่วงรัชกาลแล้ว 9 รัชกาลของพระมหาจักรีบรมราชวงศ์นั้น เพียง 3 รัชกาลเท่านั้นที่สวรรคตนอกพื้นที่พระบรมมหาราชวัง นอกจากนั้น 6 พระองค์ สวรรคตในพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ตั้งแต่แรกสวรรคตทีเดียวสำหรับพระมหากษัตริย์ 6 รัชกาลนั้น การพระราชพิธีก็อยู่ในเขตพระราชฐาน การถวายน้ำสรงพระบรมศพ การประดิษฐานพระบรมศพนั้นก็เป็นงานภายในที่ประชาชนทั้งหลายไม่มีโอกาสได้พบได้เห็นรายละเอียดต่างๆ

กล่าวโดยเฉพาะก็คือ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 เท่านั้นที่สวรรคตในประเทศไทยและนอกพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นสวรรคตที่ประเทศอังกฤษเป็นอีกข้อเท็จจริงหนึ่งซึ่งทำให้เรื่องราวทั้งหมดไม่ได้มีการปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี และเพราะเหตุว่าเป็นเวลาสงครามด้วย จนถวายพระเพลิงแล้วนานปีจึงได้มีการเชิญพระบรมอัฐิกลับมาเมืองไทย บำเพ็ญพระราชกุศล อุทิศถวาย

ย้อนรำลึก 23 ต.ค. 2453

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับและเสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต (ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้) เมื่อสวรรคตวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ซึ่งได้มีการถวายน้ำสรงพระบรมศพในวันรุ่งขึ้น วันที่ 24 ตุลาคม 2453 ในพระที่นั่งอัมพรสถานนั่นเอง จากนั้นอันเชิญพระบรมศพประดิษฐานในพระโกศทองใหญ่ เดินเป็นกระบวนพระบรมราชอิศริยยศจากพระราชวังดุสิตมายังพระบรมมหาราชวัง ใช้เส้นทางถนนราชดำเนินโดยตลอด

ธงทองค่อยๆ บรรยายถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ว่า หนนั้นเป็นวาระที่ประชาชนรับทราบข่าวแล้วได้ไปเฝ้าถวายบังคมพระบรมศพอยู่ข้างทาง กว่าริ้วกระบวนจะเริ่มเดินนั้นก็เป็นเวลาประมาณทุ่มหนึ่งแล้ว เพราะกว่าจะเสร็จพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพ ซึ่งวันนั้นใช้เวลาเดินอยู่ประมาณ 3 ชั่วโมง กว่าจะถึงพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก็ประมาน 4 ทุ่ม เท่าที่ตนเคยได้อ่าน มีเจ้านายที่บันทึกเรื่องนี้ไว้อยู่ 2 พระองค์ พระองค์หนึ่งคือพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือที่รู้จักกันในนาม น.ม.ส. ท่านได้เขียนถึงประสบการณ์ที่ท่านเดินอยู่ในริ้วกระบวนไว้ในเรื่อง “สามกรุง”

อีกองค์หนึ่งคือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเป็นพระธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เวลานั้นท่านยังทรงเป็นเจ้านายชันษาน้อย เป็นหม่อมเจ้า ไม่ได้ทรงมีหน้าที่ในการงานอะไรเลยเวลานั้น ก็ได้เสด็จไปอยู่ริมเส้นทางเดินที่ริ้วกระบวนจะผ่านด้วย สิ่งที่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย หรือท่านหญิงพูน ได้เขียนบันทึกความทรงจำไว้นั้น เป็นข้อมูลชั้นต้นที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้นำไปเขียนในเรื่อง 4 แผ่นดิน เป็นประสบการณ์ของแม่พลอยซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง

“การยาตรากระบวนเชิญพระบรมศพครั้งนั้นเกิดขึ้นในเวลากลางคืน คือเริ่มราวหนึ่งทุ่ม แสงไฟถนนซึ่งในครั้งนั้นมีแล้ว แต่เนื่องจากพระบรมโกศมีความสูงอยู่บนพระยานมาศสามลำคาน และมีพระเศวตรฉัตรกางกั้นด้วย สายไฟฟ้าที่ขึงตลอดแนวถนนต้องตัดลดลง เพราะฉะนั้นแสงไฟฟ้าถนนก็ไม่สว่างตามปกติ สิ่งที่ทุกท่านเขียนไว้เหรือบันทึกไว้ตรงกันก็คือว่า มีการจุดธูปเทียนขึ้นถวายบูชาสักการะ ประชาชนทุกคนเตรียมธูปเทียนมา ในสมัยนั้นเมื่อเวลาริ้วกระบวนยาตราผ่านไป คนก็จุดธูปเทียน แทนที่สว่างด้วยไฟฟ้าสองสว่างก็มีแสงเทียนอยู่รายทางไปโดยตลอด

เวลานั้นเป็นปลายฤดูฝน วันที่ 24 ตุลาคม น.ม.ส. ท่านทรงบันทึกไว้ว่าอากาศร้อนอบอ้าวพอสมควร และเมื่อไปถึงพระบรมมหาราชวังแล้ว หลังจากเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้วฝนก็ตกหนัก นั่นก็เป็นเรื่องราวที่เราเคยอ่านเคยพบ แต่ว่าไม่เคยมีใครได้ทันเห็นเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะเกิดตั้ง 100 กว่าปีมาแล้ว”

สู่ความเงียบงันในวันที่ 14 ต.ค. 2559

“แต่ใครเลยจะนึกว่าเหตุการณ์อันคล้ายกันจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 ตุลาคม ปีที่แล้ว 2559 เมื่อมีประกาศในตอนค่ำวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต”

ธงทองกล่าวว่า เมื่อเสด็จสวรรคต ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าจะมีการเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระบรมมหาราชวังในวันรุ่งขึ้น เพื่อมีพระราชพิธีสรงพระบรมศพ และพระราชพิธีอื่นๆ ต่อเนื่องไปโดยลำดับ โดยที่เราไม่มีใครรู้เหตุนี้ล่วงหน้ามาก่อน เพราะไม่มีใครอยากให้เหตุนี้เกิดขึ้น ทุกคนเมื่อทราบข่าวว่าสวรรคตแล้ว พร้อมกับความโศกเศร้าเสียใจที่เกิดขึ้นทุกคนก็อยากไปกราบถวายบังคมพระบรมศพระหว่างเส้นทางที่ว่านี่

โดยตนเองก็ได้ชักชวนเพื่อนๆ และลูกศิษย์ เพื่อไปกราบถวายบังคมพระบรมศพบริเวณที่ขบวนเชิญพระบรมศพจะเคลื่อนผ่านเช่นกัน ซึ่งตนได้คาดคะเนแล้วว่าจะมีประชาชนมารอถวายบังคมพระบรมศพเป็นจำนวนมาก โดยทราบข้อมูลภายหลังว่ามีจำนวนประชาชนที่มารอถวายบังคมตลอดเส้นทางจากโรงพยาบาลศิริราชไปยังวังหลวงกว่า 5 แสนคน

“วันนั้นทุกคนคงจำได้ว่า วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เรากลับเข้าบ้านไป ถึงแม้เรารู้ข่าวว่าสวรรคตแล้วแต่ทุกคนยังใส่เสื้อสีอยู่ เพราะใส่มาตั้งแต่เช้า ผมเห็นว่าสีชมพูด้วยซ้ำไปนะ คนส่วนใหญ่ในเวลานั้น แต่พอเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ผมออกจากบ้านมาเวลาสัก 8 โมงกว่า บนท้องถนน บนเส้นทางที่ผ่านมาเห็นแต่คนใส่เสื้อสีดำ ที่เราได้ใส่เสื้อสีดำ คือเสื้อผ้าไว้ทุกข์ ไม่ใช่เพราะทางราชการให้แต่งหรอก แต่ว่ามันเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจของเรา และเป็นประเพณีธรรมเนียมบ้านเมืองที่เราถือปฏิบัติมาอย่างนี้”

การนัดหมายในครั้งนั้นระหว่างธงทองและคณะ ได้นัดแนะว่าจะพบกันที่วัดชนะสงคราม ด้วยคิดว่าวัดแห่งนี้ใกล้เส้นทางที่ขบวนพระบรมศพจะเคลื่อนผ่านจากโรงพยาบาลศิริราชมายังถนนอรุณอัมรินทร์ ขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้าเรื่อยมา เขาให้เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เลือกวัดแห่งนี้เป็นสถานที่นัดหมายเพราะมีกุฏิพระพออาศัยได้ โดยได้โทรศัพท์ไปกราบนมัสการขอขอเมตตาท่านไปพักอาศัยตั้งแต่คืนก่อนหน้านั้น

เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ธงทองเล่าถึงปริมาณผู้คนที่ค่อยๆ หนาตาขึ้นทุกๆ ชั่วโมงว่า ผู้คนค่อยๆ ทยอยมากันตั้งแต่เช้า ซึ่งตนมาถึงประมาณ 8.00-9.00 น. ยังสามารถเดินทางได้สะดวก แต่เมื่อถึงเวลาประมาณ 10.00-11.00 น. การจราจรเริ่มติดขัด รวมถึงจำนวนคนก็พลุกพล่านพอสมควร สำหรับช่วงเวลาใกล้เที่ยงก็จะพบว่ารถติดตั้งแต่ลงทางด่วนยมราช ซึ่งลูกศิษย์ของตนบางคนที่นัดกันไว้เดินทางมาในช่วงเวลานี้ก็โทรมาแจ้งว่าไม่สามารถมาได้แล้วเพราะการจราจรติดขัดมาก

“หลังจากหาอะไรใส่ปากใส่ท้อง ก่อนบ่ายโมงก็เข้าไปในบริเวณริมถนน นั่นเป็นถนนที่ชื่อถนนเจ้าฟ้า อยู่บริเวณหน้าหอศิลป์เจ้าฟ้าแต่เลยมาทางสะพานผ่านพิภพลีลาสักหน่อย ไม่ตรงหน้าหอศิลป์นั้นเสียทีเดียว เป็นเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าทางฝั่งพระนคร เราไปเกือบๆ บ่ายโมง ที่บริเวณเกาะกลางถนน คือพื้นที่ที่มีแผ่นดินมีหญ้ามีต้นไม้ให้ร่มเงาคนมหาศาลเต็มพื้นที่แล้ว”

ตอนเราไปกำลังยืนด้วยความงงกันอยู่ว่าจะนั่งตรงไหนได้บ้าง ก็มีตำรวจเขายืนตรงนั้น ก็นึกว่าเขาบอกว่าไม่ได้ ก็ขยับ ให้ไปไหนเราก็จะทำตาม แต่ตำรวจคงนึกไม่ออกว่าคนมากมายมหาศาลจะไปนั่งตรงไหน แต่แน่นอนเราย่อมประเมินสถานการณ์ได้ว่าไม่ควรจะไปนั่งในเส้นทางที่เป็นเส้นทางที่ต้องเตรียมให้มีความกว้างขวางพอสมควรสำหรับขบวนรถจะผ่านได้ ก่อนจะนั่งลงบนพื้นถนนก็มีสำนักข่าวหนึ่ง ช่องโทรทัศน์ช่องหนึ่ง เห็นหน้าผม เขาก็เดินมาสัมภาษณ์ว่ารู้สึกอย่างไร และจนวันนี้ผมก็จำไม่ได้ว่าผมตอบอะไรไป ผมรู้แต่ผมร้องไห้อยู่เท่านั้น

เราลงนั่งตั้งแต่บ่ายโมง พอเรานั่งเขาก็นั่งบ้าง นั่งไปโดยลำดับจากสะพานผ่านพิภพ ตรงนั้นมีเกาะกลางถนน พอไปถึงที่ผมนั่งมันเป็นถนนแล้ว ก็เป็นถนนต่อไปเรื่อยๆ คราวนี้คนที่มาหลังจากผมก็นั่งต่อไปเรื่อยๆ ไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า ภายในเวลาไม่นานก็เต็มแล้ว ผมก็นั่งกับผู้ที่ไปด้วยกัน 7-8 คน ขอบคุณที่เจ้าหน้าที่ก็ดูแลเป็นอย่างดี มีแอมโมเนียมาแจก มีคนคอยช่วยดูแล แน่นอนว่านั่งอยู่นานหลายชั่วโมง

เวลานั้นพื้นถนนร้อนมาก ตอนนั่งไปที่นั่นก็ร้อนวูบเชียว ตอนแรกแดดตรงศีรษะ แต่ก็คล้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ตำแหน่งที่เรานั่งรับแดดอยู่เต็มๆ เพราะเห็นว่าทางฝั่งตรงข้าม อนุสาวรีย์ทหารอาสานั้นเป็นผู้ที่หันหลังให้ดวงตะวัน เราหันหน้ารับพระอาทิตย์อยู่ ก็ไม่เป็นไรยังไงก็อยู่

ก็นั่งอยู่อย่างนั้น ระหว่างนั่งไปก็มีเสียงคุยกันอยู่ตลอด ทุกคนก็ปรับทุกข์กัน หรือว่าพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีเด็กสาวๆ นั่งอยู่ข้างๆ มาสักประมาณบ่ายโมงกว่า ก็ดูเหมือนจะมาจากนครปฐมหรือราชบุรี ผมจำจังหวัดไม่ได้แน่ เขาบอกว่าอยากจะมาเร็วกว่านี้แต่มาไม่ได้เพราะต้องจัดยาให้คุณยายเขาก่อน พอเสร็จเรียบร้อยก็ต่อรถต่อเรือมาที่นี่ มารถหลายทอดกว่าจะมาถึง

เราก็นั่งคุยกันอย่างนั้น ใครมีน้ำติดมือมาขวดหนึ่งก็แบ่งกันรับประทาน ผมก็ขอบคุณเขาแล้วบอกไม่ล่ะ กลัวจะต้องหาห้องน้ำ ไม่ทานเสียดีกว่าถ้าไม่เดือดร้อนจริงๆ ก็อยู่อย่างนั้น บางทีก็เมื่อยก็ลุกขึ้นยืน พอได้ผ่อนคลายอิริยาบถ แต่ก็ไม่ได้ขยับไปไหน ก็ลงนั่งใหม่

พระที่เราไปอาศัยกุฏิท่านที่วัดชนะสงครามท่านก็รู้ธรรมเนียมเดิม ท่านก็จัดธูปเทียนมาให้ แต่พอถึงหน้างานจริงๆ เรารู้ว่าเราจุดไม่ได้หรอก เพราะเหตุว่าเพราะจุดแล้วคนเยอะเสียเหลือเกินอาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ แล้วก็จะไปปักไปวางที่ไหนก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ เป็นพื้นถนนอย่างปัจจุบันก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

สมัยโบราณเขาต้องจุดธูปเทียนแต่สมัยนี้ไม่สามารถปักลงไปบนพื้นถนนได้ ไปอ่านเรื่อง 4 แผ่นดิน มีตอนหนึ่งบรรยายถึงยายพิศส่งธูปเทียนมาให้แม่พลอยจากข้างหลัง ซึ่งในสมัยก่อนผู้คนจะยกมือพนมระหว่างกระบวนผ่าน เสร็จแล้วก็ปักธูปเทียนลงบนถนนที่สมัยนั้นเป็นดิน แต่นั่นเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วก็ไม่เคยทำอีกเลย ไม่เคยมีใครทำ เพราะไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตนอกวังหลวง รัชกาลที่ 6 ก็สวรรคตในวังหลวง รัชกาลที่ 8 ก็ในวังหลวง

พอถึงเวลาใกล้ๆ 17.00 น. ทุกวันนี้ทุกคนรู้ข่าวสารจากโทรศัพท์ของเราได้ ว่าขบวนเชิญพระบรมศพนั้นกำลังออกจากศิริราชไปแล้ว ทุกคนก็ขยับเนื้อขยับตัวให้อยู่ในท่าซึ่งจะกราบได้ ถวายบังคมได้ ผู้ที่อยู่แถวหน้าก็กราบได้ เราอยู่แถวสองแถวสามมานี้กราบไม่ได้ เพราะว่าพื้นที่ไม่มากพอ ก็ตั้งใจยกมือขึ้นถวายบังคม

ยิ่งพอเห็นขบวนรถวิ่งลงมาจากสะพานพระปิ่นเกล้า ความเงียบมันก็เกิดขึ้นทุกคนก็เงียบหมด ไม่มีเสียงใครพูดว่าอะไรอีกแล้ว ทุกคนอยู่ในความเงียบนั้นด้วยกัน จนกระทั่งขบวนรถทั้งหมดนั้นผ่านไป ขบวนวันนั้นยาวนัก ก็มีรถที่ตามเสด็จอยู่ในขบวนจำนวนมาก ผมก็รอจนขบวนทั้งหมดผ่านหมดแล้วก็ลุกขึ้นยืน

ช่วงเดินออกต้องไปช้าๆ ไม่ใช่เพราะผมเดินช้า แต่เพราะคนเยอะเหลือเกิน ตอนมานั้นค่อยๆ มาด้วยกัน แต่ขาออกจากพื้นที่นั้นออกพร้อมกัน คน 5 แสนไปทางทิศไหนต่างคนเดินไขว้กันหมด เพื่อนที่ไปกับผมคนหนึ่ง คุณนฤมล สิงหเสนี ก็แยกกับผมตรงนั้นเลย เพราะเขาบอกจะเดินไปทางถนนพระอาทิตย์ รถเขาจอดไว้แถวๆ นั้นตั้งแต่แรก ส่วนผมก็กลับไปวัดชนะสงคราม ประมาณชั่วโมงหนึ่งจากทางนั้นมาถึงวัดชนะสงครามคนจอแจแน่นมากเลย ได้ดื่มน้ำที่วัดชนะสงครามก็ราว 18.30 น.

แต่ยังไม่กลับ เพราะทราบว่ามีพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพอยู่ เราก็อยู่ที่นั่นดูการถ่ายทอดดูอะไรต่ออะไร จนเสร็จพระราชพิธี ประมาณ 20.00 น. ผมจำเวลาไม่ได้แน่นอน ซึ่งครั้งนั้นได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปถวายน้ำสรงเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ผมก็ทราบข่าวแต่ไม่มีปัญญาจะไป เพราะนึกว่าถ้าไปถวายน้ำสรงที่ศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง พอจะมานั่งอยู่ริมถนนเพื่อจะถวายบังคมพระบรมศพนั้น เห็นจะเดินไปเดินมาไม่ได้แล้ว เพราะผู้คนมากมายเหลือเกิน ก็ตัดสินใจที่จะมาทางถนนเจ้าฟ้าที่ว่านี้ โดยไม่ย้อนไปย้อนมา”

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ภายใต้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

ธรรมเนียมการถวายน้ำสรงพระบรมศพ

การถวายน้ำสรงพระบรมศพตามธรรมเนียมโบราณ โดยทำการสรงที่พระบาท ผู้ที่จะเข้าถวายน้ำสรงได้มีเฉพาะเจ้านายกับข้าราชการผู้ใหญ่ระดับเจ้าพระยาเสนาบดี สำหรับข้าราชการลำดับรอง ระดับพระยา เจ้าคุณ ไม่สามารถเข้าร่วมพีธีดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งแบบธรรมเนียมใหม่ขึ้นอย่างหนึ่ง คือ การให้ประชาชนได้ถวายน้ำสรงเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระฉายาลักษณ์ ปฏิบัติแบบนี้กันมาตั้งแต่งานพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2538 เป็นคราวแรก ต่อเนื่องมาในงานพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และงานพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนมีโอกาสปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณอย่างเดียวกัน โดยในวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ตั้งแต่เวลาเช้าสำนักพระราชวังก็ได้อำนวยความสะดวก จัดพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานไว้ที่ศาลาสหทัยสมาคม แล้วก็มีผู้คนไปต่อแถวจำนวนมาก เพื่อที่จะถวายน้ำสรงพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่านก็ไปปฏิบัติตรงนั้น

อ่านต่อตอนที่ 2 บันทึกภาคประชาชน : ประวัติศาสตร์งานถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่9 การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพระราชาผู้ยิ่งใหญ่