ThaiPublica > เกาะกระแส > กฏหมายดัดหลังนักการเมือง ปิดช่อง หนีคดี เปิดทางพิจารณาลับหลัง

กฏหมายดัดหลังนักการเมือง ปิดช่อง หนีคดี เปิดทางพิจารณาลับหลัง

4 สิงหาคม 2017


ทางเลือกกรณี “หนีคดี” อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับ “นักการเมือง” ที่คิดจะไปใช้ชีวิตต่างแดน รอวันคดีความหมดอายุแล้วค่อยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในเมืองไทยอีกต่อไป

ล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวาระ 3 ด้วยคะแนน 176 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง รอขั้นตอนประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

หนึ่งในสาระสำคัญของ พ.ร.ป. ฉบับนี้ คือ มาตรา 24/1 ซึ่ง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง สมาชิก สนช. เป็นประธาน บัญญัติเพิ่มเติม จากร่างเดิมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

มาตรา 24/1 ในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.ป. นี้ เพื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วให้อายุความสะดุดหยุดลง

ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไประหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ

โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 ระบุว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

นั่นเท่ากับว่าเมื่อการนับอายุความต้องถูกแช่แข็ง นักการเมืองที่คิดจะหนีคดีก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต ถือเป็นการดักทางป้องกันไม่ให้นักการเมืองใช้ช่องทางนี้ในการหลบหนีอีกต่อไป

แถมยังล็อกอีกชั้นด้วยมาตรา 26 และ 27 ซึ่ง ระบุว่าให้สามารถพิจารณาคดีลับหลัง กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ซึ่งศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา

อีกทั้งเมื่อศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย และให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลการจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด

จากนี้ บรรดาคดีการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจาก พ.ร.ป. นี้มีผลบังคับใช้จึงจะต้องเข้าเงื่อนไขนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะกับ 4 คดีร้อนทางการเมืองที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้นัดฟังคำพิพากษาในเดือนสิงหาคมนี้ ได้แก่

    1. คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ
    2. คดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
    3. คดีระบายแบบรัฐต่อรัฐของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมช.พาณิชย์
    และ 4. คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

อีกด้านหนึ่ง พ.ร.ป. ฉบับนี้ อาจมีข้อดีที่เป็นคุณต่อนักการเมืองต้องโทษ คือในส่วนของการอุทธรณ์คดี

จากเดิมที่การอุทธรณ์คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่ แต่ในกฎหมายใหม่สามารถใช้ทั้งประเด็น “ข้อเท็จจริง” และ” ข้อกฎหมาย” ในการอุทธรณ์

ขั้นตอนตามมาตรา 59 ระบุว่า “คำพิพากษาของศาล ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา” ทั้งนี้ ในมาตรา 60 กำหนดว่า การอุทธรณ์นั้น จำเลยที่ไม่ได้ถูกคุมขังจะต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในการอุทธรณ์ มิฉะนั้นมีคำสั่งให้ศาลไม่รับอุทธรณ์ หมายความว่านักการเมืองที่หนีคดีก็สามารถยื่นขออุทธรณ์ผ่านทนายความได้

สำหรับการวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกาซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน และได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวนเก้าคน โดยให้เลือกเป็นรายคดี และเมื่อองค์คณะของศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้ว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ส่วนประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตรงบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป. ฉบับนี้ ในมาตรา 67 ที่ระบุว่า “บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดในคดีที่ยื่นฟ้องไว้ก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้”

ประกอบกับการออกมาตีความของ สนช. บางส่วน ทำให้เข้าใจว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลให้สามารถเอาผิดย้อนหลังบรรดานักการเมืองที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงว่า พ.ร.ป. ฉบับนี้ไม่ได้ไปขัดหลักความยุติธรรมสากล เพราะในต่างประเทศก็มีข้อยกเว้นสำหรับคนที่หลบหนีให้สามารถดำเนินการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้เหมือนกัน และ พ.ร.ป. นี้ไม่ได้มีการย้อนหลังสำหรับคดีที่เสร็จสิ้นไปแล้ว ส่วนคดีที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ก็ต้องใช้กระบวนวิธีพิจารณาคดีใหม่

“กรณีที่คดีเดิมยังมีอายุความ ถ้าหนีไปจนหมดอายุความแล้วยังไม่ฟ้อง ก็ถือว่าคดีสิ้นสุด ไม่สามารถไปทำย้อนหลัง หรือคดีที่ศาลตัดสินไปแล้วว่ามีโทษ แต่หลบหนีไปไม่มารับโทษ ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขนี้ เขาก็หนีไปจนกว่าหมดอายุความ การบังคับคดีก็ถือว่ารับโทษไปแล้ว ส่วนนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายปกติ แต่คดีที่อายุความเดิมยังไม่หมด ยังไม่ได้มีการฟ้อง ไม่ว่าจาก ป.ป.ช. หรืออัยการ หรือฟ้องแล้วศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เพราะไม่มีตัวจำเลยมาขึ้นศาล ก็สามารถเดินหน้าต่อไป และเมื่อศาลดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วตามร่าง พ.ร.ป. ใหม่ก็จะไม่มีอายุ” นายมีชัยกล่าว

3 แฟ้มนักการเมืองหลบหนีคดี

สำหรับคดีที่ศาลตัดสินไปก่อนหน้า พ.ร.ป. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ย่อมไม่มีผลกระทบทั้งในแง่การรื้อฟื้นคดีหรืออายุความ แต่ไม่เกี่ยวกับคดีอื่นที่ถูกจำหน่ายไว้ชั่วคราวหลังการหลบหนีคดี ซึ่งปัจจุบันมีนักการเมืองที่หลบหนีคดีอยู่ 3 คนได้แก่

นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปี นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ในคดีทุจริตโครงการบำบัดน้ำเสีย คลองด่าน โดยพบว่ามีการกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านในท้องที่ด้วยวิธีการข่มขู่ รวมถึงออกเอกสารสิทธิพื้นที่สาธารณะโดยมิชอบ และบางพื้นที่ยังเป็นป่าชายเลนซึ่งเป็นที่สงวนอีกด้วย จำนวน 17 แปลง รวมพื้นที่กว่า 1,900 ไร่ ด้วยราคาแสนถูกคือไร่ละประมาณ 40,000 บาท แล้วนำไปขายให้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในราคาไร่ละ 1 ล้านบาท คิดเป็นเงินทั้งหมด 1,900 ล้านบาท

นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาคดี ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 จากกรณีการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. มูลค่า 6,687,489,000 บาท

นายประชา จำเลยที่ 2 ได้มอบฉันทะให้ทนายความมาฟังคำพิพากษา โดยไม่แจ้ง ทำให้ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับและปรับเงินประกัน 2 ล้านบาทเต็มตามสัญญา และให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 10 ก.ย. 2556 โดยพิพากษาจำคุกนายประชาเป็นเวลา 12 ปี

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 2 ปี จากคดี “ทุจริตซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก” จำนวน 33 ไร่ มูลค่ากว่า 772 ล้านบาท ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 100 และ 122, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 86, 91, 152 และ 157 พร้อมออกหมายจับ หลังจากที่นายทักษิณได้เดินทางออกไปนอกประเทศก่อนหน้าจะมีคำตัดสิน

จากการหลบหนีออกนอกประเทศ ทำให้ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์ ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาต่อหน้าศาลได้ ส่งผลให้ศาลต้องจำหน่ายคดี 4 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจาณาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวจำเลย ได้แก่ 1 คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร 2. คดีโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว หรือคดีหวยบนดิน 3. คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลเมียนมา 4,000 ล้านบาท และ 4. คดีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต