จากกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.)ติดตั้งและเชื่อมโยงระบบตรวจวัดยอดขาย (Point Of Sale : POS) แบบ Online Real-Time กับระบบคอมพิวเตอร์ของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ล่าช้ามานานกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2557 อาจทำให้ทอท.เสียผลประโยชน์ เนื่องจากตามสัญญาทอท.เรียกเก็บค่าตอบแทนจากกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ในอัตรา 15% ของรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากร ส่วนสินค้าปลอดอากรของร้านค้าปลอดอากรที่นำมาส่งมอบให้ลูกค้าที่สนามบิน (Pick Up Counter) ทอท.เรียกเก็บค่าตอบแทนในอัตรา 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่นำมาส่งมอบให้ลูกค้า
จากกรณีที่ติดตั้งระบบ POS ล่าช้า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจกิจการ ร้านค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูมิภาค และจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ อาคาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง (ตามสัญญาเลขที่ ทสภ. 1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 ซึ่งเดิม ทอท. เรียกเก็บค่าตอบแทนในอัตรา 15% ของยอดรายได้จากการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร)
ผลการตรวจสอบของสตง.สรุปในเบื้องต้น พบว่า ในช่วงปี 2553-2558 ท่าอากาศยานบางแห่งแสดงยอดขายไม่ตรงกัน โดยยอดขายตามรายงานของ ทอท. ต่ำกว่ากรมศุลกากรรวมทั้งสิ้น 161.83 ล้านบาท หากคิดคำนวณเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ ทอท. พึงได้รับตามสัญญาในอัตรา 15% ของรายได้จากยอดขาย ทอท. อาจสูญเสียรายได้ 24.27 ล้านบาท ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบ ยังไม่สามารถสอบทานความถูกต้องอย่างชัดเจน แยกข้อมูลรายท่าอากาศยานดังนี้
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยอดขายตามรายงาน ทอท. ต่ำกว่าของกรมศุลกากร ในปี 2553 เป็นเงิน 15.88 ล้านบาท ปี 2554 เป็นเงิน 74.16 ล้านบาท ปี 2555 เป็นเงิน 55.25 ล้านบาท
- ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ยอดขายตามรายงานของ ทอท. ต่ำกว่าของกรมศุลกากร ในปี 2557 เป็นเงิน 8.14 ล้านบาท
- ท่าอากาศยานภูเก็ต ยอดขายตามรายงานของ ทอท. ต่ำกว่าของกรมศุลกากรในปี 2554 เป็นเงิน 8.4 ล้านบาท
ขณะเดียวกันทางนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าทางคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ขอข้อมูลรายได้จากการขายของบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS)จากทอท.เมื่อปี 2558 เพิ่งได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทอท.เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 โดยทางบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ทำหนังสือรายงานข้อมูลรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆในโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิต่อผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.โดยมีรายละเอียดดังนี้
ในช่วงเดือนตุลาคม 2557 ถึงช่วงเดือนมีนาคม 2558 บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด แจ้งรายได้ต่อทอท.มียอดรวมทั้งสิ้น 12,555.43 ล้านบาท ประกอบด้วยยอดขายสินค้าและบริการรวมของร้านค้ากิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ (ไม่รวมสินค้าที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (KPDC) นำมาส่ง) คิดเป็นมูลค่า 5,060.81 ล้านบาท และยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากรของร้านค้าปลอดอากรในเมือง(ดิวตีฟรีในเมือง)ที่ KPDC นำมาส่ง คิดเป็นมูลค่า 7,494.63 ล้านบาท แยกเป็นรายเดือนมีรายละเอียดดังนี้
- วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 KPS รายงานยอดขายสินค้าและบริการ(ไม่นับรวมโครงการส่วนพระองค์) ต่อกรรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกอบด้วย ยอดขายสินค้าและบริการรวมของร้านค้ากิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ (ไม่รวมสินค้าที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (KPDC) นำมาส่ง) คิดเป็นมูลค่า 737.58 ล้านบาท และยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากรของร้านค้าปลอดอากรในเมือง(ดิวตีฟรีในเมือง)ที่ KPDC นำมาส่ง คิดเป็นมูลค่า 1,030.89 ล้านบาท
- วันที่ 11 ธันวาคม 2557 KPS รายงานยอดขายสินค้าและบริการ (ไม่นับรวมโครงการส่วนพระองค์) ต่อกรรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกอบด้วย ยอดขายสินค้าและบริการรวมของร้านค้ากิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ (ไม่รวม KPDC) คิดเป็นมูลค่า 794.10 ล้านบาท และยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากร(KPDC) คิดเป็นมูลค่า 1,173.04 ล้านบาท
- วันที่ 6 มกราคม 2558 KPS รายงานยอดขายสินค้าและบริการ (ไม่นับรวมโครงการส่วนพระองค์) ต่อกรรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกอบด้วย ยอดขายสินค้าและบริการรวมของร้านค้ากิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ (ไม่รวม KPDC) คิดเป็นมูลค่า 860.24 ล้านบาท และยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากร(KPDC) คิดเป็นมูลค่า 1,227.68 ล้านบาท
- วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 KPS รายงานยอดขายสินค้าและบริการ (ไม่นับรวมโครงการส่วนพระองค์) ต่อกรรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกอบด้วย ยอดขายสินค้าและบริการรวมของร้านค้ากิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ (ไม่รวม KPDC) คิดเป็นมูลค่า 892.73 ล้านบาท และยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากร(KPDC) คิดเป็นมูลค่า 1,205.35 ล้านบาท
- วันที่ 3 มีนาคม 2558 KPS รายงานยอดขายสินค้าและบริการ (ไม่นับรวมโครงการส่วนพระองค์) ต่อกรรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกอบด้วย ยอดขายสินค้าและบริการรวมของร้านค้ากิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ (ไม่รวม KPDC) คิดเป็นมูลค่า 879.90 ล้านบาท และยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากร(KPDC) คิดเป็นมูลค่า 1,431.49 ล้านบาท
- วันที่ 2 เมษายน 2558 KPS รายงานยอดขายสินค้าและบริการ (ไม่นับรวมโครงการส่วนพระองค์) ต่อกรรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประกอบด้วย ยอดขายสินค้าและบริการรวมของร้านค้ากิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ (ไม่รวม KPDC) คิดเป็นมูลค่า 896.26 ล้านบาท และยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากร(KPDC) คิดเป็นมูลค่า 1,426.18 ล้านบาท
นายชาญชัย กล่าวต่อว่าหลังจากได้รับข้อมูลทางคณะอนุกรรมาธิการฯ สปท.ได้นำข้อมูลที่ได้รับจากทอท. เฉพาะยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ในช่วง 6 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2558 มียอดรวมทั้งสิ้น 7,494.63 ล้านบาท มาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลรายงานยอดขายร้านค้าปลอดอากรที่บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (ร้านค้า KPI Complex) ทำสรุปรายงานยอดขายของร้านค้าปลอดอากรเสนอต่อผู้อำนวยการส่วนการตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กรมศุลกากร พบว่า ยอดขายสินค้านำเข้าของร้านค้าปลอดอากรในเมืองมียอดรวม 4,956.85 ล้านบาท (ช่วงระยะเวลาเดียวกัน) น้อยกว่ายอดส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่ KPS รายงานต่อผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ประมาณ 2,537.77 ล้านบาท โดย KPI ได้ทำสรุปรายงานยอดขายของร้านค้าปลอดอากรเสนอต่อผู้อำนวยการ ส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บนมีรายละเอียดดังนี้
รวม 6 เดือน KPI ขายสินค้านำเข้าให้กับลูกค้าทั้งสิ้น 355,948 ราย จำนวน 2,064,652 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 4,956.85 ล้านบาท และขายสินค้าที่ไม่ใช้สิทธิด้านภาษีอากรและสินค้าพื้นเมืองให้กับลูกค้า 384,196 ราย จำนวน 2,714,499 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 1,231.62 ล้านบาท

สำหรับรายงานยอดขายสินค้าปลอดอากรของ “ดิวตีฟรีในเมือง” ที่ KPI รายงานต่อผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบคลังสินค้าทัณฑ์บน กรมศุลกากรช่วงปี 2557-2558 นายชาญชัย กล่าวว่า ข้อมูลชุดนี้ตนได้มาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทอท.ยังไม่ได้เชื่อมต่อระบบตรวจวัดยอดขาย แบบ Online Real-Time กับกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ และเป็นช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งในคณะอนุกรรมาธิการฯสปท. จึงอยากทราบข้อมูลที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (KPDC) นำสินค้าปลอดอากรมาส่งมอบให้ลูกค้าผ่าน Pick Up Counter ในสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ปี 2550 -ปัจจุบันมีมูลค่าเท่าไหร่ ตนจึงขอให้ทอท.ส่งข้อมูลดังกล่าวนี้ต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ สปท. เวลาผ่านไปกว่า 1 ปี มีเจ้าหน้าที่ของทอท.ส่งข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการฯ สปท. เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นตนได้นำข้อมูลยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่บริษัท คิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิรายงานต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มาเปรียบเทียบกับข้อมูลของกรมศุลกากรในช่วงระยะเวลาเดียวกัน พบยอดขายสินค้าปลอดอากรที่ KPI รายงานกรมศุลกากรมมีมูลค่าน้อยกว่าข้อมูลสินค้าปลอดอากรที่ KPS แจ้งต่อทอท.ซึ่งเป็นยอดปลายทางประมาณ 2,537.77 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 51.20%
“ข้อมูลที่ผมได้รับจากกรมศุลกากรระบุชัดว่าเป็นยอดขายสินค้านำเข้าที่ KPI รายงานต่อกรมศุลกากร ไม่ใช่ข้อมูลสินค้าคงเหลือในสต็อก เพราะมีการระบุจำนวนลูกค้าที่มาซื้อสินค้าปลอดอากร,จำนวนสินค้าที่ขายและมูลค่าสินค้าที่ KPDC รับไปส่งให้ลูกค้าผ่านจุดส่งมอบสินค้า หรือ Pick Up Counter ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยในหลักการยอดขายสินค้าปลอดอากรของดิวตี้ฟรีในเมืองที่ KPI รายงานกรมศุลกากร ซึ่งเป็นยอดต้นทาง ควรใกล้เคียงกับยอดส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่บริษัทคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิแจ้งต่อทอท. ซึ่งเป็นยอดปลายทาง ยอดไม่น่าแตกต่างกันถึง 51% เหตุใดกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์แจ้งยอดขายกับกรมศุลกากรต่ำ ทั้งๆที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้า การดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการเรียกเก็บค่าตอบแทนที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ต้องจ่ายให้กับทอท.หรือไม่ เป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ สปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสตง.,ทอท.และกรมศุลกากร ต้องตรวจสอบกันต่อไป”นายชาญชัย กล่าว
อนึ่งก่อนหน้านี้น.ส.ชนาลัย ฉายากุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานกฎหมายและเลขานุการบริษัท) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ ทอท. เคยชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ถึงการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากการขายสินค้าปลอดอากรนอกสนามบินที่นำมาส่งมอบผ่าน Pick-up Counter ว่า การส่งมอบสินค้าปลอดอากรเป็นกิจกรรมที่ ทอท. อนุญาตให้ KPS ประกอบกิจการภายใต้สัญญาสัมปทานโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ. ตามสัญญาเลขที่ ทสภ. 1-01/2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2548 ซึ่งเดิม ทอท. เรียกเก็บค่าตอบแทนในอัตรา 15% ของยอดรายได้จากการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร โดย KPS เรียกเก็บค่าตอบแทนผู้ประกอบการรายย่อยในอัตรา 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ ดังนั้น ทอท. จะได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 15% ของรายได้ค่าบริการ 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ (0.45% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ)
ต่อมา คณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. มีมติให้เรียกเก็บค่าตอบแทนในอัตรา 3% ของมูลค่าสินค้าที่ส่งมอบ เนื่องจากเห็นว่า ทอท. จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าการเรียกเก็บค่าตอบแทนในอัตรา 15% ของยอดรายได้จากค่าบริการ 3% ของมูลค่าสินค้าปลอดอากรที่ส่งมอบ ซึ่ง KPS ยินยอมให้ ทอท. เรียกเก็บในอัตราดังกล่าว