
ชาวบ้านท่าโพธิ์ ยื่นฟ้องศาลปกครองระยองเพิ่มอีก 1 คดี หลังบริษัท อิสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด เจ้าของโครงการท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ ยื่นขออนุญาตสร้างเขื่อนแต่นำมาใช้เป็นท่าเทียบเรือแทนการขออนุญาตสร้างท่าเทียบเรือเพื่อไม่ต้องทำอีไอเอ
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนและชาวบ้านโพธิ์รวม 9 คนยื่นฟ้องกรมเจ้าท่า อธิดีกรมเจ้าท่า ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ และอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อศาลปกครองระยอง ในคดีหมายเลขที่ ส. 2/2560ให้ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษา ดังนี้
1. ให้กรมเจ้าท่าและอธิดีกรมเจ้าท่า ระงับการก่อสร้างและการใช้เขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณริมฝั่งแม่น้าบางปะกงเป็นท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าในการประกอบกิจการของบริษัท อิสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด บริเวณหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 1941, 1925, 1931, 24567, 1955, 1957, 1929, 1930, 1956, 7527, 12626, 13609 และ 1941 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามหนังสือสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา เลขที่ คค 0312.3/19.1 ถึงเลขที่ คค 0312.3/19.8 ลงวันที่ 6 มกราคม 2557
2. เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เลขที่ 1/2557, 2/2557, 3/2557, 4/2557, 5/2557, 6/2557, 7/2557, 8/2557, 9/2557 และเลขที่ 10/2557 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 รวม 10 ฉบับที่ออกโดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ รวมถึงการต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าวทุกฉบับทั้ง 3 ครั้งและที่จะมีการต่ออายุเพิ่มเติมในอนาคต
3. เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเลขที่ จ 3-2(5)-12/59 ฉช, จ 3-2(5)-13/59 ฉช, จ 3-2(5)-14/59 ฉช, จ 3-2(5)-15/59 ฉช, จ 3-2(5)-16/59 ฉช, จ 3-2(5)-17/59 ฉช และเลขที่ จ 3-2(5)-18/59 ฉช รวม 7 ฉบับ ที่อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราออกบริษัท อิสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด

นายอัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (เอนลอว์) กล่าวว่า ท่าเรือบ้านโพธิ์เกิดขึ้นจากการใช้ช่องว่างทางกฎหมายโดยบริษัทขออนุญาตกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อน ซึ่งกรมเจ้าท่าไม่ได้อนุญาตหรือปฏิเสธ เพียงแต่มีหนังสือแจ้งว่าไม่ขัดข้องเท่านั้น หลังจากนั้น ทางบริษัทได้ใช้เขื่อนเป็นท่าเรือ นอกจากนี้ แม้ว่าเขื่อนดังกล่าวจะสร้างอยู่ในเขตที่ดินของบริษัทซึ่งเกิดจากความเต็มใจของบริษัทเอง แต่ก็ไม่สามารถอ้างได้ว่าเขื่อนที่ใช้เป็นท่าเรือนี้ไม่ใช่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เพราะถึงอย่างไรเขื่อนกับแม่น้ำบางปะกงก็เชื่อมต่อกัน และบริษัทขุดลอกหน้าท่าเพื่อให้น้ำลึกพอให้เรือจอดเทียบได้ ดังนั้น การก่อสร้างต้องได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าก่อน
นอกจากนี้ เขื่อนที่ขออนุญาตสร้างทั้ง 10 ฉบับนั้น เข้าข่ายที่จะต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอก่อน เพราะทุกเขื่อนมีขนาดหน้าท่ายาวเกิน 100 เมตร และมีพื้นที่เขื่อนมากกว่า 1,000 ตารางเมตรทั้งหมด ซึ่งกระทำของบริษัททั้งหมดนี้ กรมเจ้าท่า อธิดีกรมเจ้าท่า และผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา รับรู้มาโดยตลอด แต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

นายอัมรินทร์กล่าวต่อว่า ผังเมืองในเขตท่าเรือบ้านโพธิ์เป็นพื้นที่สีเขียว คือ ห้ามสร้างโรงงานหรืออนุญาตโรงงานบางประเภท แต่ต้องอยู่ห่างจากตลิ่งอย่างน้อย 500 เมตร ซึ่งอาคารของบริษัทที่อนุญาตประกอบกิจการโรงงานนั้นห่างไม่ถึง
“คดีท่าเรือบ้านโพธิ์นี้มีความสำคัญต่อแม่น้ำบางปะกง เพราะถ้าคดีนี้แพ้ก็อาจจะเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้เกิดท่าเรืออีกจำนวนมากในแม่น้ำบางปะกง”
นายกัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานสมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนและผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า ท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์เป็นโครงการที่ใหญ่มาก ประมาณ 500 ไร่ และเป็นโครงการที่อยู่ลึกจากปากอ่าวมากที่สุดคือประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งชาวบ้านไม่ทราบข่าวเลยจนกระทั่งปี 2555 ที่บริษัทได้ใบอนุญาตครบแล้ว ชาวบ้านไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ตอนนั้นและต่อสู้มาตลอด
“ตอนแรกหลังจากไปดูปัญหาจากอำเภอนครหลวง จังหวัดอยุธยา ก็ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบมาก แต่พอท่าเรือดำเนินกิจการมาประมาณ 2 ปีแล้วชาวบ้านอยู่ไม่ได้ เพราะฝุ่นแป้งมันสำปะหลังเยอะมาก ซึ่งอาจบีบบังคับให้คนอยู่ไม่ได้ก่อนที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโรงงานที่ตอนแรกบอกว่าทำแค่พืชผลทางการเกษตรก็พบว่ามีการขนส่งสารเคมีด้วย ปัจจุบันโครงการเสร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่ผลกระทบก็มากแล้ว ถ้าขยายเต็มพื้นที่หรือมีโครงการอื่นขึ้นอีกจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ไม่มีใครเข้ามาควบคุมดูแลได้เลย” นายกัญจน์กล่าว

ปัจจุบันโครงการท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์เริ่มดำเนินกิจการแล้ว หลังขออนุญาตกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนจำนวน 10 ฉบับ แต่กลับนำมาใช้เป็นท่าเทียบเรือ ทั้งนี้ ตามกฎหมายเขื่อนทั้งหมดต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีไอเอ เนื่องจากหน้าท่ายาวเกิน 100 เมตร และพื้นที่เขื่อนมากกว่า 1,000 ตารางเมตร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัท อิสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด เจ้าของโครงการท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ ได้ยื่นขออนุญาตกรมเจ้าท่าสร้างท่าเทียบเรือจำนวน 6 ฉบับ โดยแต่ละฉบับมีขนาดต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องทำอีไอเอเพียงเล็กน้อย ทั้งที่ท่าเรือทั้ง 6 แห่งอยู่เรียงติดกัน เป็นเหตุให้ชาวบ้านโพธิ์ยื่นฟ้องศาลปกครองระยองเมื่อตุลาคม 2556
สรุปคำพิพากษาศาลปกครองระยองคดีท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์
ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านโพธิ์รวม 16 คนยื่นฟ้องผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์และบริษัท อิสเทิร์น ทีพีเค แค็ปปิตอล จำกัด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.11/2556 ให้ศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาให้เพิกถอน
1. ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ เพื่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ของบริษัท อิสเทิร์น ทีพีเค แค็ปปิตอล จำกัด เลขที่1/2555 ถึง 6/2555 รวม 6 ฉบับ
2. ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (พิเศษ) ท่าจอดเรือ ของ บริษัท อิสเทิร์น ทีพี เค แค็ปปิตอล จำกัด เลขที่ 1/2556 ถึง 6/2556 รวม 6 ฉบับ
3. ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคารของบริษัท อิสเทิร์น ทีพีเค แค็ปปิตอล จำกัด เลขที่ 12/2555, 13/2555, 14/2555, 15/2555, 17/2555, 21/2555, 23/2555, 27/2555, 34/2555, 36/2555, 37/2555 และ 41/2555 รวม 12 ฉบับ
4. ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร และคำสั่งต่ออายุใบอนุญาต ครั้งที่ 1 ของบริษัท อิสเทิร์น ทีพีเค แค็ปปิตอล จำกัด เลขที่16/2555, 18/2555, 19/2555, 20/2555, 22/2555, 24/2555, 25/2555, 26/2555, 31/2555, 32/2555, 33/2555, 35/2555, 38/2555, 39/2555, 40/2555, 42/2555, 43/2555, 44/2555, 45/2555, 46/2555, 47/2555, 48/2555 และ 49/2555 รวม 23 ฉบับ
โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ ส.13/2559 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด