วีซ่าสภาพภูมิอากาศเผยโฉมเป็นครั้งแรกของโลก หวังช่วยเหลือชาวตูวาลูที่เกาะกำลังจมสู่มหาสมุทร

แม้จะพยายามดิ้นรนต่อสู้และหาทางแก้ไขในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าท้ายที่สุดแล้ว เกาะตูวาลูคงจะจมหายลงใต้น้ำและหลงเหลืออยู่แต่ในความทรงจำเท่านั้น ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/global-development/2019/may/16/one-day-disappear-tuvalu-sinking-islands-rising-seas-climate-change

เกาะเล็กๆ ชื่อตูวาลู (Tuvalu) ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ประเทศขนาดจิ๋วที่มีพื้นที่เพียง 25 ตารางกิโลเมตร (เกาะภูเก็ตมีพื้นที่ 543 ตารางกิโลเมตร ) แห่งนี้ อาจจะหายสาบสูญไปจากแผนที่โลกภายในเวลาอีกไม่กี่สิบปี

เพื่อช่วยเหลือประชากรของตูวาลู ออสเตรเลียจึงลงนามในสนธิสัญญาทวิภาคีกับตูวาลู เพื่อให้ชาวตูวาลูสามารถย้ายถิ่นฐานไปยังออสเตรเลียโดยได้รับสถานะถิ่นที่อยู่ถาวร อาจเรียกได้ว่านี่เป็นการเสนอให้วีซ่าสภาพภูมิอากาศเป็นครั้งแรกของโลก

ตูวาลูเป็นประเทศหมู่เกาะเล็กๆ เดิมเป็นที่รู้จักกันในชื่อหมู่เกาะเอลลิซ อยู่ระหว่างฮาวายกับออสเตรเลีย ประกอบด้วยเกาะปะการัง 9 เกาะที่กระจายตัวเป็นแนวยาวประมาณ 676 กิโลเมตร พื้นที่รวมเพียง 25.14 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในโลก

สหประชาชาติยังจัดให้ตูวาลูอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุดด้วย เนื่องจากมีขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 10,643 คน (ตามตัวเลขสำมะโนประชากรที่รวบรวมในปี 2022) ทรัพยากรธรรมชาติไม่อุดมสมบูรณ์และมีข้อจำกัดในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังประสบปัญหาภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง

นอกจากนั้น ตูวาลูยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของตูวาลูมีความสูงจากทะเลเพียง3-4 เมตร ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพราะโลกร้อนจึงเป็นปรากฎการณ์ที่คุกคามการดำรงอยู่ของประเทศอย่างร้ายแรง

ต่อสู้อย่างสิ้นหวัง

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 พื้นดินส่วนใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในตูวาลูจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปัจจุบัน

แม้จะดูไร้ความหวังแต่ตูวาลูก็ไม่ย่อท้อ พยายามดิ้นรนต่อสู้กับคลื่นและลมมาโดยตลอด มีการริเริ่มโครงการปรับเปลี่ยนชายฝั่งตูวาลู (Tuvalu Coastal Adaptation Project) ในปี 2017 เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยตูวาลูเป็นประเทศแรกในแปซิฟิกที่เข้าถึงเงินทุนสภาพภูมิอากาศจากกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund)

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียวและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ด้วยงบประมาณ 36 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงการป้องกันชายฝั่งในพื้นที่สำคัญของตูวาลู และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดอย่างเทคโนโลยี LIDAR ซึ่งติดตั้งบนเครื่องบินเพื่อเก็บข้อมูลมาใช้งาน

ต่อมา รัฐบาลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ช่วยสนับสนุนเฟสที่สองของโครงการนี้ โดยงานก่อสร้างเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน 2024 แต่สถานการณ์ก็เลวร้ายลงทุกที ในช่วงเวลาที่น้ำขึ้น 40% ของเมืองหลวงจะจมอยู่ใต้น้ำ

นอกจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ตูวาลูยังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น บ้านเรือนริมทะเลถูกคลื่นซัดทำลาย และเส้นทางคมนาคมสำคัญถูกน้ำทะเลท่วมเป็นประจำ และหาดทรายก็หดหายไปเรื่อยๆ น้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปในแหล่งน้ำจืดและพื้นที่การเกษตร ทำให้การปลูกพืชเป็นไปได้ยากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ภายใน 50 ถึง 100 ปีข้างหน้า ประเทศนี้คงไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยอีกต่อไป แต่คนท้องถิ่นหวั่นเกรงว่ามันอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น

เป็นอมตะในโลกเสมือน

เมื่อค่อนข้างแน่ใจแล้ววันหนึ่งข้างหน้า ดินแดนทางกายภาพของตูวาลูอาจจะไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยอีกแล้ว และตูวาลูอาจจะหายไปจากแผนที่โลก ในปี 2022 ระหว่างการประชุมสภาพภูมิอากาศโลก (COP27) ที่อียิปต์ ไซมอน โคฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม การสื่อสาร และการต่างประเทศของตูวาลู จึงประกาศแผนการให้โลกรับรู้ว่า

"เราจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ดำรงอยู่แบบดิจิทัลในเมตาเวิร์ส"

ตูวาลูวางแผนจะจำลองประเทศของตนทั้งหมดไว้ในเมตาเวิร์ส โดยเริ่มต้นจากเกาะขนาดเล็กชื่อเตอาฟูลิกูเป็นลำดับแรก ตูวาลูเชื่อว่าการเข้าสู่โลกเสมือนจะเป็นการรักษาแผ่นดิน มหาสมุทร วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของตูวาลูจากการทำลายล้างของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเอาไว้ได้ ด้วยการสร้างแผนที่ บันทึกเอกสารประวัติศาสตร์ บันทึกการปฏิบัติทางวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้านและอื่นๆ เอาไว้ในโลกเสมือน และกลายเป็นประเทศดิจิทัลประเทศแรกของโลก

แม้ว่าการประกาศของตูวาลูจะได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก แต่ยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน อีกทั้งมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและกฎหมายมากมาย

แต่โครงการนี้ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังของการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาชนชาวตูวาลูที่จะไม่ยอมให้วัฒนธรรม จิตวิญญาณ และอัตลักษณ์ของตนจมหายไปกับเกลียวคลื่น

ยื่นมือช่วย

ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่ได้ละเลยสถานการณ์ที่เลวร้ายของเกาะขนาดเล็กแห่งนี้แต่อย่างใด ทั้งคู่ต่างเสนอให้พลเมืองจากตูวาลูยื่นขอวีซ่าเพื่อจะได้รับโอกาสมีถิ่นที่อยู่ถาวรในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เพียงแต่รูปแบบวีซ่าของสองประเทศนี้มีความแตกต่างกัน

วีซ่าของนิวซีแลนด์เป็นวีซ่าประเภทพิเศษที่นิวซีแลนด์กำหนดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองจากประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกบางประเทศได้รับถิ่นที่อยู่ถาวรในนิวซีแลนด์ เรียกว่าวีซ่าประเภท The Pacific Access Category (PAC)

พลเมืองจากตูวาลู คิริบาส ตองกา และฟิจิ ที่มีอายุครบ 18 ปี จะมีสิทธิ์ย้ายถิ่นฐานไปอาศัย ทำงาน และศึกษาต่อในนิวซีแลนด์อย่างถาวรได้ด้วยวีซ่านี้โดยใช้วิธีการจับสลาก

ครั้งแรกของโลก

ขณะที่วีซ่าของออสเตรเลียกลับมีความโดดเด่นต่างจากวีซ่าของนิวซีแลนด์ เนื่องจากถือเป็นวีซ่าสภาพภูมิอากาศ (Climate-change Visa) ที่ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียเห็นว่าการมอบวีซ่าประเภทนี้เป็นการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการอพยพเนื่องจากสภาพอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ

แม้ว่าออสเตรเลียจะมีโควต้าการมอบวีซ่าให้ชาวตูวาลูด้วยการสุ่มรายชื่อเพียง 280 รายในแต่ละปี แต่การเปิดรับสมัครรอบแรกในวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็มีผู้คนหลั่งไหลมาลงทะเบียนมากมาย รวมแล้วมีชาวตูวาลูมากกว่าหนึ่งในสามของประเทศที่ยื่นสมัครขอวีซ่าเพื่ออพยพไปยังออสเตรเลียอย่างถาวร

วีซ่านี้มีชื่อเต็มว่า วีซ่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งสหพันธ์ฟาเลพิลิ (Falepili Union climate change visa)  ถือเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาทวิภาคีระหว่างออสเตรเลียและตูวาลู ซึ่งลงนามวันที่  9 พฤศจิกายน 2023 และมีผลบังคับใช้จริงเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2024

ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงทางกฎหมายฉบับแรกในโลกที่รับรองว่าสถานภาพรัฐของตูวาลูจะคงอยู่ถึงแม้แผ่นดินจะจมหายจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากเดิม และมีการจัดสรรวีซ่าชนิดพิเศษประจำปีสำหรับชาวตูวาลูสูงสุด 280 คน เพื่ออาศัย เรียน ทำงาน และเข้าใช้ระบบสาธารณสุขของออสเตรเลียได้ทันทีหลังได้รับวีซ่า   

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการถือกำเนิดของวีซ่าสภาพภูมิอากาศจะแสดงให้เห็นถึงความงดงามด้านมนุษยธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างแท้จริงที่ต้องได้เห็นการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานด้วยความสิ้นหวังเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แทนที่จะเป็นการโยกย้ายเพื่อไปสร้างชีวิตใหม่ด้วยความเต็มใจ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นเสมือนสัญญาณเตือนสำหรับโลก ที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน และน่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้โลกตื่นตัวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.bbc.com/news/articles/cvg9750vvwxo

https://www.nytimes.com/2025/06/27/climate/climate-visa-tuvalu.html

https://www.euronews.com/next/2022/11/23/tuvalu-is-recreating-itself-in-the-metaverse-as-climate-change-threatens-to-wipe-it-off-th

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%95%E0%B8%B9%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B9

ซีรี่ย์ Adaptation รับมือโลกเดือด……