ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์
“ในโลกที่แมวมองอาจไม่ต้องเดินทางอีกต่อไป — อัลกอริทึมจะเป็นคนเลือกนักเตะให้คุณ”
ฟุตบอลเปลี่ยนไป…แม้แต่การเฟ้นหา คัดเลือกนักเตะเข้าทีม
หากในอดีต การหานักเตะพรสวรรค์ คือ ศิลปะของแมวมอง(Scout) ที่ต้องบินไปดูฟอร์มดาวรุ่งช้างเผือกท่ามกลางสายฝนในบราซิล หรือสนามท้องถิ่นในกานา แต่วันนี้ AI สามารถสแกนข้อมูลจากแมตช์นับหมื่นนัดทั่วโลกก่อนจะประมวลพฤติกรรมการเคลื่อนไหว การสัมผัสบอล ความเร็วในการตัดสินใจ แล้วแนะนำเป้าหมายที่มีศักยภาพโดยไม่ต้อง “เห็นด้วยตา”
Data is the New Scout
สโมสรที่กล้าปฏิวัติระบบ Scouting ด้วยข้อมูล ได้แก่:
Brentford ยกเลิกระบบแมวมองทั้งหมด ใช้ Data Team คัดเลือกนักเตะ ขณะที่ Brighton & Hove Albion เป็นตัวอย่างที่ดีได้สร้างฐานข้อมูลกลางรวบรวม Performance metrics จากลีกทั่วโลก
ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีก คือ Liverpool ที่ใช้ AI และระบบ Expected Goals (xG) วางแผนการซื้อ-ขายและวิเคราะห์คู่แข่ง
ในบุนเดสลีกา RB Leipzig และ Red Bull Group ได้ ผสานระหว่าง Big Data กับการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา
เพื่อหานักเตะที่ดีที่สุดป้อนสู่ทีม
…ผลลัพธ์ของ AI Scout คือการค้นพบเพชรเม็ดงามในราคาถูก เช่น Kaoru Mitoma จากเจลีกญี่ปุ่น สู่ผู้เล่นคนสำคัญของ Brighton
สโมสร Brighton ใช้ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในการสรรหานักเตะ ไม่อาศัยแค่ “ตาแมวมอง” แบบดั้งเดิมอีกต่อไป
Kaoru Mitoma จาก Kawasaki Frontale ที่ Brighton ตามดูผ่านข้อมูลเชิงลึกระหว่างช่วง COVID โดยไม่มีแมวมองไปดูถึงสนาม
Brighton ใช้ระบบให้คะแนนศักยภาพนักเตะด้วยสีเขียว-เหลือง-แดง แบบ Traffic Light Model ซึ่ง Mitoma ได้ “เขียวทุกช่อง” หมายความว่า Mitoma ได้รับผลการประเมินว่ายอดเยี่ยมในทุกมิติ
บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลของเจ้าของทีม Tony Bloom ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อวิเคราะห์ทั้งการเดิมพันกีฬาและการประเมินนักเตะ
…Bloom มีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์จาก University of Manchester
Bloom และทีมของเขานำโมเดลนี้มาใช้กับ Brighton ทำให้ค้นพบนักเตะที่ Brighton เซ็นในราคาถูกสามารถขายต่อได้ราคาสูง เช่น Alexis Mac Allister: ซื้อ 8.6 ล้านดอลลาร์ ขายให้ Liverpool 48 ล้านดอลลาร์
…นอกจากนี้ Brighton ยังหา Marc Cucurella จากสเปนซึ่งซื้อมาถูกและปั้นขายให้ Chelsea ในราคาแพง เช่นเดียวกับ Moises Caicedo ที่ Brighton หามาจากลีกเอกวาดอร์และซื้อมาร่วมทีมก่อนโชว์ฟอร์มได้ดีและขายให้ Chelsea ด้วยค่าตัวสูงสุดประวัติศาสตร์
Mitoma เองก็มีมูลค่าตลาดเพิ่มจาก 400 ล้านเยน เป็น 7.2 พันล้านเยนในปี 2025
ผู้สนใจโปรดดูบทวิเคราะห์ฟุตบอลของ Kogo Shioya ใน https://www.asahi.com/sp/ajw/articles/15586065
ในบทวิเคราะห์ฟุตบอลของ Kogo Shioya กล่าวถึงมุมมองของ Paul Barber ผู้บริหาร Brighton ว่าพวกเขาพยายามลดความไม่แน่นอนด้วยข้อมูลโดยนำ AI มาใช้ในกระบวนการตัดสินใจเลือกนักเตะเข้าทีม
ระบบใหม่ของการประเมินศักยภาพ
AI ในวงการฟุตบอลไม่ได้ทำงานเพียงแค่คัดนักเตะเท่านั้น แต่ยังวิเคราะห์แนวโน้มการบาดเจ็บจากลักษณะการวิ่งและการฝึกซ้อม ทำนายพฤติกรรมในสนาม เช่น การกดดัน การเล่นในพื้นที่แคบ รวมถึงบริหารจัดการแท็กติก แบบ Real-time ผ่าน Virtual Simulation
บางสโมสร AI เริ่มทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยโค้ช” หรือแม้แต่ “Football Director” แบบเงียบ ๆ
ข้อมูลในฐานะสินทรัพย์ (Data Capital)
วงการฟุตบอลเข้าสู่ยุคที่ “ข้อมูล” คือ ทรัพยากรหลัก สโมสรที่มี Data Infrastructure แข็งแรง เพื่อใช้เปรียบทั้งในการพัฒนา, การซื้อ-ขาย, และการเจรจาทางการเงิน เช่น Man City ใช้ City Football Data Analytics ทดสอบแผนการฝึกซ้อมผ่าน Simulation ก่อนนำไปใช้จริง
ในกัลโช่ซีรีย์อา…AS Roma ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในอิตาลีเพื่อวิจัยพฤติกรรมการตัดสินใจของนักเตะ
ในลาลีกา สเปน บาร์เซโลนา สร้าง Barça Innovation Hub ร่วมกับบริษัท AI และ Sport Tech ระดับโลก
คำถามน่าคิดต่อไป คือ แล้วใครได้เปรียบในเกมนี้?
สโมสรที่มีทุนและโครงสร้างรองรับ AI จะยิ่งทิ้งห่างทีมเล็ก ขณะที่ลีกระดับกลางที่ไม่ลงทุนด้าน Data อาจกลายเป็นเพียง “ตลาดต้นทาง” ให้ทีมใหญ่
ในมุมมองด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะพิเศษอย่างนักฟุตบอล…บรรดานักเตะรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะเล่นให้เข้ากับระบบ มากกว่าการโชว์เดี่ยว
คำถามใหม่ในโลกของฟุตบอลข้อมูล
“เมื่อทุกการตัดสินใจถูกวัดด้วยข้อมูล แล้วความรู้สึกของเกม ความเป็นมนุษย์ และเซนส์ของโค้ช…ยังมีที่ยืนหรือไม่?”
เสียงบางส่วนในวงการโต้แย้งว่า AI ทำให้ฟุตบอลเย็นชาเกินไป — ขาดความลึกทางอารมณ์ ขาดเซอร์ไพรส์ และอาจนำไปสู่ “ฟุตบอลที่คาดเดาได้” เกินไปในอนาคต
แต่ต้องยอมรับความจริงที่น่าเจ็บปวดที่ว่าโลกแห่งการแข่งขันที่ขับเคลื่อนด้วย Efficiency และ Return on Investment … การตัดสินใจด้วยอารมณ์อาจไม่มีที่ยืนอีกต่อไป
นั่นหมายถึง “เสน่ห์” ของฟุตบอลกำลังค่อย ๆ จืดจางลงไป
ในตอนต่อไป เราจะสำรวจภาพใหญ่ของระบบ “ทุนนิยมฟุตบอล” ว่าได้เปลี่ยนกีฬาแห่งมหาชนให้กลายเป็น “สินทรัพย์โลก” อย่างไร และความเหลื่อมล้ำที่ลุกลามถึงรากฐานของเกมลูกหนัง