“ดร.วิเชียร ยงมานิตชัย” ผู้เชี่ยวชาญจุลินทรีย์ ได้ค้นหาจุลินทรีย์จากถั่วเน่า กระเพาะวัว เพื่อเปิดโลกชาวนาใช้จุลินทรีย์สลายซังข้าว ฟื้นฟูดิน ลดฝุ่น PM 2.5 ลดภาวะโลกร้อน

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า “จุลินทรีย์” นอกจากมีโทษแล้ว ยังมีประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ในการฟื้นฟูดิน ลดการเผาในนาข้าวแก้ฝุ่น PM 2.5 และลดปัญหาภาวะโลกร้อน
“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้มีโอกาส พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์ของประเทศไทยอย่าง ดร.วิเชียร ยงมานิตชัย กรรมการ และผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท สยาม อะกริ ซัพพลาย จํากัด หรือ SAS ซึ่งได้พัฒนาจุลินทรีย์เพื่อย่อยสลายตอซังและลดการเผาพื้นที่นา
ดร.วิเชียร จบวิทยาศาสตรบันฑิต สาขาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2517 เรียนต่อปริญญาโท ฟูดเทคโนโลยี (Food Technology) ที่ Mysore University ประเทศอินเดีย ปริญญาโทด้าน Community Health Nutrition in University of Queensland และปริญญาเอกเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่University of Waterloo ประเทศแคนาดา มีความเชี่ยวชาญเรื่องของอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ
เรียกได้ว่า “ดร.วิเชียร” คือผู้เปิดโลกจุลินทรีย์สำหรับเกษตรกร ชาวนา ขณะที่โจทย์ใหญ่ของชาวนาท่ามกลางปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือ การลดการเผา หรือ ห้ามเผา 100 % ทำให้ชาวนาจำนวนมากพยายามจะหาทางออก และจุลินทรีย์สลายซังข้าวคือทางเลือกหนึ่ง
เมื่อไม่นานมานี้ ดร.วิเชียร ในนามของ SAS ได้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้านนวัตกรรมการเกษตร (โครงการเรน) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรแห่งประเทศสหรัฐและดำเนินการโดยองค์การวินร็อคอินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มกิจกรรม “ไม่เผา ๙๙” เสริมสร้างพันธมิตรกับมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานภาครัฐ และธุรกิจ ได้นำจุลินทรีย์มาทดสอบ ตัวอย่างแปลงนาในอำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่สาธิตแห่งแรก และเปิดให้เกษตรกรและบุคคลที่สนใจเข้าเรียนรู้ด้วยตนเอง
ดร.วิเชียร ยังเล่าว่า ได้ทำหน้าที่ค้นหานวัตกรรมที่จะลดการเผาตอซังก่อนปลูกข้าวฤดูกาลใหม่ ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ สร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาระดับประเทศและภูมิภาคในขณะนี้ และนวัตกรรมจุลินทรีย์ยังช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรลดต้นทุนการผลิตอีกด้วยโดยโครงการเรนได้ทดลองผลิตภัณฑ์ Soil Digest ซึ่ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยย่อยสลายตอซังข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการเผา และเพิ่มสารอินทรีย์ในดินให้เปลี่ยนมาเป็นสารอาหารบํารุงดิน
“ต้นเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โครงการเรน มีการจัดเสวนาเพื่อ แก้ปัญหาเรื่องการลดการเผา ทุกประเทศมีปัญหาเหมือนกันหมด ไม่มีใครพูดเรื่องจุลินทรีย์ ผมเป็นคนเดียวที่พูดเรื่องจุลินทรีย์ที่ใช้ในการย่อยสลายตอซังข้าวเพื่อลดปัญหาการเผา คนฟังกว่า 200 คนสนใจ อภิปรายกันกว่า 3 ชั่วโมง จากนั้น ก็มีหน่วยงานทั้งมูลนิธิข้าวขวัญและมูลนิธิชัยพัฒนาสนใจโครงการนี้และเริ่มทำงานด้วยกัน และจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ”
ดร.วิเชียรได้ นำผลิตภัณฑ์ Soil Digest (จุลินทรีย์สำหรับดินอุดมสมบูรณ์) เพื่อปรับโครงสร้างดินให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูก เร่งการย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ ให้กลายเป็นธาตุอาหารไวขึ้น จุลินทรีย์ผลิตสารปฏิชีวนะต้านทานและป้องกันเชื้อก่อโรคในดิน ช่วยลดการใช้ปุ๋ยจากการย่อยปุ๋ยที่ตกค้างให้พืชกลับมาดูดซึมได้ ตรึง N ช่วยให้พืชสีเขียวแข็งแรง และนำมาทดสอบในพื้นนาเกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี
“ผลิตภัณฑ์ Soil Digest ที่นำมาทดลองมีจุดเด่นอันแรกคือ เป็นจุลินทรีย์ที่ปลอดภัย มีแหล่งที่มา โดยการแยกมาจากเศษอาหาร ถั่วเน่า ภาคเหนือ ซึ่งเป็นอาหาร ก็ปลอดภัย นอกจากนี้ยังได้นำจุลินทรีย์อีกตัว มาจากกระเพาะวัว โดยเอามาจากวัวที่สถานีวิจัยกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรที่ทำการวิจัย และได้เจาะกระเพาะ นำน้ำจากกระเพาะมาแยกเชื้อจนได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์”
ทดลอง “จุลินทรีย์” สลายซังข้าวได้ผล
ดร.วิเชียรยังเล่าอีกว่า ได้คัดเอาจุลินทรีย์ธรรมชาติ เพราะหลักการคือถ้าเราไม่รู้ว่าจุลินทรีย์มาจากไหน แล้วเราเอาใส่ไปในสิ่งแวดล้อมมันจะอันตราย เพราะฉะนั้นเราจะวิเคราะห์เลือกเฉพาะตัวที่มีประโยชน์ เนื่องจากจุลินทรีย์ธรรมชาติมีทั้งตัวที่มีประโยชน์ ตัวที่อยู่นิ่งๆ และตัวที่เป็น อันตราย เราต้องวิเคราะห์ดีเอ็นเอเลยว่า ชื่ออะไร นามสกุลอะไร แล้วไปเช็คประวัติว่าเคยก่อโรคหรือไม่ก่อนที่เราจะนำมาพัฒนาต่อ
สำหรับจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ในการย่อยสลายซังข้าวได้ใช้จุลินทรีย์ทั้งหมด 5 ตัว โดย 4 ตัวแรกได้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์และอีกหนึ่งได้คัดเลือกจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ให้สัตว์กินได้ ไปช่วยย่อยในทางเดินอาหาร
ดร.วิเชียร กล่าวว่า ก่อนจะมีการทดสอบที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทดลองจุลินทรีย์ย่อยสลายซังข้าวเมื่อ 3 ปีที่แล้วในแปลงข้าวที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่นั่นปลูกข้าวออร์แกนิกอยู่แล้ว พอใส่จุลินทรีย์ ลงไปช่วยย่อยฟางที่ตกค้าง พอฟางนิ่มก็สามารถไถกลบได้ จุลินทรีย์ย่อยฟางให้นิ่มและเป็นสารอาหารพืช ปรากฏว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 5 %
ส่วนการทดลองในที่นาจังหวัดสุพรรณบุรี ชาวนาได้ทดลองใช้ในพื้นที่นา และสามารถย่อยสลายตอซังข้าวได้ใน 4-5 วัน และสามารถไถกลบและเริ่มทำนานรอบใหม่ได้ใน 7 วัน ขณะที่ตอซังข้าวยังช่วยฟื้นฟูดิน เพราะชาวนาที่ใช้ สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 7 %
นอกจากนี้ชุดจุลินทรีย์ย่อยสลายซังข้าว ยังสามารถกําจัดก๊าซมีเทนได้ ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ถ้าสามารถใช้ลดก๊าซมีเทนได้ 2-3 % ที่ส่งผลต่อปัญหาโลกร้อนได้ด้วย
“เราทำเรื่องนี้ได้สำเร็จในหลายพื้นที่ แต่ในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ปลูกข้าว พยายามทำเรื่องจุลินทรีย์สลายซังข้าวอยู่แต่ยังไม่สำเร็จ”
ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันชาวนาหาทางออกในการลดเผาซังข้าวโดยใช้จุลินทรีย์ แต่ก็พบว่ามีจุลินทรีย์ในท้องตลาดจำนวนมาก ราคาแพง และอาจจะมีประสิทธิภาพไม่ดีพอ บางครั้งพบว่ามีราคาสูงมากซองละ 500-800 บาท จึงอยากทำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพและมีราคาถูก ที่เกษตรกรเข้าถึงได้ เป็นทางออกให้เกษตรกรใช้ลดปัญหาเผาในพื้นที่นาได้ด้วย
ธนาคารจุลินทรีย์มีประโยชน์
ดร.วิเชียร ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญ และหลงใหลในคุณสมบัติของจุลินทรีย์ ปัจจุบันสามารถรวบรวมจุลินทรีย์ได้มากถึง 60 ชนิด อาทิ จุลินทรีย์กลุ่มบาซิลลัส ที่เป็นจุลินทรีย์พลังดีช่วยย่อยได้ดี ไม่เฉพาะอาหาร ของเสียก็ย่อยได้ ลดกลิ่นได้ จุลินทรีย์ชุดนี้นำไปพัฒนาเพื่อบําบัดน้ำเสียในบ้าน โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจุลินทรีย์ในไทย ได้เลือกจุลินทรีย์ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นจุลินทรีย์เพื่อคน สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม เพราะเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน
นอกจากนี้เชื้อจุลินทรีย์บาซิลลัส ยังช่วยลดความเหม็นจากฟาร์มสุกร ชาวบ้านที่มีบ้าน อยู่ใกล้ฟาร์มร้องเรียนและให้แก้ปัญหาด่วนภายใน 7 วัน เรานําจุลินทรีย์ลงไปทดลอง พบว่ากลิ่นลดลงภายใน 2 วัน และกลิ่นหายเด็ดขาดภายใน 4 วัน โดยในตอนแรกใช้กันในฟาร์มเลี้ยงสุกรเอกชน ตอนนี้ขยายไปสู่เครือข่ายฟาร์มสุกรอีกนับพันแห่ง
ดร.วิเชียร บอกว่า จะพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์ ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันรู้จักจุลินทรีย์ในโลกใบนี้น้อยมาก งานวิจัยจะต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้นและดีกว่า เป็นสิ่งที่ทีมงานของเราทำมาโดยตลอดและจะไม่หยุดพัฒนา เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ