ณัฐวุฒิ เพิ่มจิตร นักวิจัยทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

“เยอะ” และ “ยาก” ตลอดจนขาดความเชื่อมโยงกับชีวิตจริง เป็นข้อจำกัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับปัจจุบันที่ใช้มานานกว่า 17 ปี
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายาม “ยกเครื่อง” หลักสูตรอยู่หลายครั้ง โดยล่าสุดก้าวหน้าไปจนถึงขั้นที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในปีการศึกษา 2565 และมีแผนที่ประกาศจะใช้ทั่วประเทศภายในปีการศึกษา 2567
แต่กระนั้นจนถึงวันนี้ยังไม่มีการประเมินผลการทดลองใช้ หรือนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาประกาศใช้ทั่วประเทศตามแผนที่เคยวางไว้
ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของความคืบหน้าการผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ กลับพบว่าสพฐ. เตรียมทดลองใช้หลักสูตรใหม่ ซึ่งก็คือ “หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย ระดับชั้น ป.1-3” ที่พัฒนาขึ้นในช่วงปลายปี 2567 กับสถานศึกษาจำนวนหนึ่งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้แทน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนำไปสู่การเกิดขึ้นของคำถามที่ว่าเหตุใดจึงไม่ขยายผลการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ทั้งที่หลักสูตรดังกล่าวทดลองใช้จริงมาแล้วเกือบ 3 ปี แทนการทดลองหลักสูตรใหม่ และอาจทำให้โรงเรียนหลายแห่งสงสัยว่าต้องเลือกใช้หลักสูตรฉบับใดกันแน่
ก่อนเปิดเทอมใหม่ที่อาจจะทำให้หัวใจว้าวุ่นจากหลักสูตรใหม่นี้ ทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ ชวนผู้อ่านสำรวจจุดเด่นและความก้าวหน้าของหลักสูตรฐานสรรถนะเมื่อเทียบกับหลักสูตรแกนกลางฯ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ผลลัพธ์จากการทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรม และอนาคตของหลักสูตรดังกล่าว ผ่านซีรีย์ “เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่” จำนวน 3 ตอน
เรียนไปใช้ได้จริง
เป้าหมายการเรียนรู้คือ สิ่งที่สังคมคาดหวังให้ครูต้องพาผู้เรียนให้ไปถึง และมักจะมีผลต่อวิธีการสอน และการประเมินผู้เรียนที่ครูจะเลือกใช้ ในขณะที่หลักสูตรแกนกลางฯ เน้นพัฒนาให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาทางวิชาการจำนวนมาก หลักสูตรฐานสมรรถนะกลับคาดหวังให้ผู้เรียนสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ได้จริง
หลักสูตรแกนกลางฯ วิชาสุขศึกษา และพลศึกษา ระดับประถมศึกษาตอนปลาย “อธิบายวิธีการดูแลรักษาระบบสืบพันธุ์ ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบหายใจให้ทำงานตามปกติ วิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอดส์ และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร”1
หลักสูตรฐานสมรรถนะ วิชาสุขศึกษา และพลศึกษา ระดับประถมศึกษาตอนปลาย “ดูแลสุขภาพทางเพศตามช่วงวัย ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ และไม่แสดงพฤติกรรม คุกคามทางเพศผู้อื่นทั้งกายและวาจา ด้วยความเข้าใจในผลเสียหรืออันตรายที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงอันอาจนำไปสู่ปัญหาทางเพศ และผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา”2
จะเห็นได้ว่าเป้าหมายการเรียนรู้ของทั้งสองหลักสูตรแตกต่างกัน
หลักสูตรฐานสมรรถนะคาดหวังให้ครูต้องพัฒนาผู้เรียนให้สามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ “ดูแล” หรือ “ป้องกัน” ตัวเองได้จริง ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยวิธีการสอน และการประเมินที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง ขณะที่หลักสูตรแกนกลางฯ คาดหวังให้นักเรียนเพียงแค่ “อธิบาย” หรือ “วิเคราะห์” เนื้อหา ซึ่งอาจอาศัยเพียงแค่การบอกสอนก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ และไม่รับประกันว่าผู้เรียนจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่อธิบายได้จริง
สิ่งนี้สะท้อนชัดว่าเป้าหมายการเรียนรู้ของหลักสูตรฐานสมรรถนะมีการพัฒนาที่รอบด้านมากกว่าด้านการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีการพัฒนาด้านทักษะ และทัศนคติที่ดี ซึ่งล้วนสำคัญต่อการนำสิ่งที่เรียนไปใช้ได้จริงมากกว่าหลักสูตรแกนกลางฯ อย่างมาก
โดยหลักสูตรฐานสมรรถนะ ครอบคลุมการพัฒนาความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดีถึง 86% ของเป้าหมายทั้งหมด ขณะที่หลักสูตรแกนกลางฯ กว่า 90% เน้นไปที่การพัฒนาด้านความรู้เพียงอย่างเดียว
คู่มือสอนดี
นอกจากนี้เพื่อรับประกันว่าครูทุกคนจะสามารถสอน และประเมินเป้าหมายการเรียนรู้ได้อย่างที่ควรจะเป็น หลายประเทศที่มีการศึกษาที่ก้าวหน้า เช่น ออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ ต่างมีคำแนะนำการสอน หรือ “คู่มือ” ที่เป็นรูปธรรม และเจาะจงกับทุกเป้าหมายการเรียนรู้
การศึกษาของทีดีอาร์ไอ จากงาน Assessing Competency-based Education (CBE) Implementation in Pilot Schools in Thailand สนับสนุนโดย UNICEF Thailand พบว่า หลักสูตรแกนกลางฯ มีข้อจำกัดเรื่องคำอธิบายหลักสูตร โดยเน้นอธิบายเป็นหลักการกว้าง ๆ และไม่ได้เจาะจงกับวิชา เช่น คาดหวังให้ครูจัดการเรียนรู้ด้วย “การเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” หรือ “การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง” แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเนื้อหาในแต่ละวิชาว่าควรสอนอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับหลักการดังกล่าว
ในทางตรงกันข้าม หลักสูตรฐานสมรรถนะมีคำอธิบายหลักสูตรที่เป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกวิชา และเป้าหมายการเรียนรู้ เช่น เรียนรู้เกี่ยวกับการนับจำนวน เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละ และอัตราส่วนในรายวิชาคณิตศาสตร์ มีการแนะนำให้ครูนำสถานการณ์จริง เช่น การคำนวณปริมาณวัตถุดิบตามสูตรอาหาร หรือแนวคิดการสอนเฉพาะศาสตร์ เช่น การใช้บาร์โมเดล มาใช้สอนนักเรียนในเนื้อหาดังกล่าว
หมดยุคเรียนหนัก ลดเวลาในห้องเรียนได้ 1 ปี
จำนวนชั่วโมงเรียนที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาวะของนักเรียน และเวลาที่ครูสามารถใช้เตรียมสอน หรือประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน
ที่ผ่านมาหลักสูตรแกนกลางฯ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่ามีจำนวนชั่วโมงเรียนที่มากเกินไป โดยการเรียนระดับประถมศึกษา 6 ปี หลักสูตรกำหนดให้ใช้เวลาเรียน “ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี” หรือคิดเป็น 6,000 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่ 4,561 ประมาณ 35% หรือมากกว่า 1 ปีครึ่งเลยทีเดียว
หลักสูตรฐานสมรรถนะจึงปรับลดจำนวนชั่วโมงเรียนเหลือ “ไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปี” ในชั้น ป.1- ป.3 และ “ไม่เกิน 900 ชั่วโมงต่อปี” ในชั้น ป.4-ป.6 หรือคิดเป็น 5,100 ชั่วโมงตลอดหลักสูตร ซึ่งแม้จะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD อยู่เล็กน้อย (ประมาณ 12%) แต่ก็ลดลงจากหลักสูตรแกนกลางฯ ประมาณ 15% หรือเทียบเท่า 1 ปีการศึกษา
อีกประเด็นหนึ่งที่หลักสูตรแกนกลางฯ มีข้อจำกัด คือ การกำหนดชั่วโมงเรียนแต่ละวิชาอย่างเข้มงวด และมีชั่วโมงเรียน “วิชาเพิ่มเติม” ที่ให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้อย่างอิสระเพียง 4% ของเวลาเรียนทั้งหมด ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัด “ชั่วโมงเรียนบูรณาการ” ซึ่งเป็นการเรียนผ่านปัญหา หรือสถานการณ์จริง โดยเชื่อมโยงเนื้อหาจากหลายวิชา ได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการแก้ไขปัญหาในโลกจริงมักไม่สามารถระบุว่าต้องใช้องค์ความรู้ใดอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขา หลักสูตรฐานสมรรถนะจึงได้กำหนดให้สถานศึกษาทุกห้องต้องจัดรายวิชาบูรณาการ 25-45% จากเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นการรับประกันว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการพัฒนาให้สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้จริง
โดยสรุปแล้ว หลักสูตรฐานสมรรถนะได้นำเสนอเป้าหมายการเรียนรู้ คู่มือครู และการกำหนดชั่วโมงเรียนแบบใหม่ ที่สามารถแก้ไขข้อจำกัดของหลักสูตรแกนกลางฯ ที่ใช้ในปัจจุบันได้ และน่าจะทำให้การสอนและการประเมินผู้เรียนของครูเอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้จริงได้
แต่สุดท้ายหลักสูตรจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ในบทความต่อไปคณะผู้วิจัยจะนำเสนอการถอดบทเรียนจากโรงเรียนที่กำลังทดลองใช้หลักสูตรนี้
ติดตามบทความต่อไป เปลี่ยนการศึกษาเก่าในโลกใหม่ (2): ห้องเรียนในโลกจริงที่ทดลองใช้แล้ว 3 ปี
หมายเหตุ :
[1] หลักสูตรแกนกลางฯ, หน้า 170 และ 172 ↩︎
[2] หลักสูตรฐานสมรรถนะ, หน้า 85 ↩︎