เจาะลึกจากซากถึงซาก ตึก สตง. ‘ปทุมธานีถึงจตุจักร’ ผลสอบกรมบัญชีกลาง (ซ้ำๆ) 11 ครั้ง สตง. ‘สร้างทิพย์’ เบิกเงินฝากแบงก์เกือบ 3,000 ล้าน ชี้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอ ครม. – รัฐสภาทุกปี วนอยู่ที่เดิม สะท้อนระบบตรวจสอบที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ต่อจากตอนที่แล้วมหากาพย์ตึก สตง. 18 ปี จากซากถึงซาก ‘ปทุมธานี’ ถึง ‘จตุจักร’
จาก 18 ปีที่แล้ว ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ริเริ่ม 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2551–2552 เป็นเงิน 135.38 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ จังหวัดปทุมธานี ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณตั้งแต่ปี 2553–2554 จำนวน 357.32 ล้านบาท
ทั้งสองโครงการไม่สามารถสร้างเสร็จ การดำเนินงานล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงาน แต่มีการเบิกเงินและนำฝากธนาคาร โดยไม่ได้นำเงินไปจ่ายค่าดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด จนในที่สุดก็ต้องหยุดดำเนินการ โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) สั่งยกเลิกโครงการก่อสร้าง “สถาบันธรรมาภิบาล” และโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ (ปทุมธานี) พบว่าเข้าข่ายก่อให้เกิดความเสียหาย ปรากฎอยู่ในรายงานการตรวจสอบ สตง. ประจำปีงบประมาณ 2562 จึงให้ สตง. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีรายงานใดๆ ออกมาให้ประชาชนรับทราบ
เมื่อมีการยุติโครงการ แต่ในปีงบประมาณ 2563 สตง. ได้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่อีกครั้ง โดยที่ประชุม คตง. มีมติเห็นชอบให้ สตง. ทำเรื่องเสนอ ครม. ขอเปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างอาคารในอดีต 4 รายการ จาก 2 โครงการข้างต้น ครม. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่ สตง. เสนอ โดยให้เปลี่ยนแปลงงบฯ เหลือ 2 รายการ มาเป็น “1. รายการค่าก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่จตุจักร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บรรจุอยู่ในแผนก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2563–2566 วงเงิน 2,560 ล้านบาท และ 2. รายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บรรจุอยู่ในแผนก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2563–2566 วงเงิน 76.8 ล้านบาท”
……
หากย้อนกลับไปดูผลการตรวจสอบ สตง. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554–2565 ซึ่งจัดทำโดยกองตรวจสอบภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำเสนอที่ประชุม ครม. รับทราบทั้งสิ้น 11 ครั้ง เพื่อเสนอต่อรัฐสภา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 “คณะผู้ตรวจสอบ” จากเจ้าหน้าที่ในกรมบัญชีกลาง และให้คณะผู้ตรวจสอบทำรายงานผลการตรวจสอบส่งให้คณะกรรมการกำกับการตรวจสอบ, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, สภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี รับทราบ และดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป รวมทั้งให้นำรายงานดังกล่าวเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
การรายงานผลตรวจสอบ 11 ครั้ง เริ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองโดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี โดยนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น นำรายงานการตรวจสอบ สตง. ประจำปีงบประมาณ 2554–2555 ส่งให้หัวหน้า คสช. รับทราบเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ซึ่งในรายงานการตรวจสอบ สตง. ปี 2554–2555 ระบุว่าการจัดซื้อจัดจ้างการออกแบบอาคาร สตง. 2 โครงการข้างต้น อาจไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ดังนี้
1. การจ้างผู้ให้บริการออกแบบโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาล ระยะที่ 2 วงเงิน 12.28 ล้านบาทโดยวิธีคัดเลือกแบบจำกัดข้อกำหนดนั้น “ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 106 (3)” ซึ่งในประเด็นนี้ สตง. ชี้แจงว่า สตง. ได้อนุโลมใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับพัสดุมาโดยตลอด ในกรณีการจ้างผู้ให้บริการออกแบบโครงการนั้น คณะกรรมการดำเนินการจ้างฯ ได้พิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นโดยยึดประโยชน์ของทางราชการแล้ว ส่วนข้อกำหนดไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของการแข่งขันแต่อย่างใด เพียงให้คำนึงถึงความเหมาะทางด้านประโยชน์ใช้สอย และสถาปัตยกรรมเป็นสำคัญ ทำให้การก่อสร้างดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเป็นประโยชน์ต่อราชการ
2. การจ้างออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ (ปทุมธานี) วงเงิน 25.80 ล้านบาท อาจทำให้ สตง. ไม่ได้ผู้เสนองานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด จึงแนะนำให้คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศเชิญชวน เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างในลักษณะสองมาตรฐาน
ประเด็นนี้ สตง. ชี้แจงคณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลางว่า วัตถุประสงค์ของการก่อสร้างได้เน้นให้การออกแบบอาคารมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ไทย ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักในการจัดหาผู้ออกแบบ อย่างไรก็ตาม สตง. ได้กำชับคณะกรรมการให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงในเหตุการณ์ที่ผ่านมา
ปี 2556 ตรวจพบ สตง. ตั้งงบฯ ก่อสร้างอาคาร แต่ไม่เบิกจ่าย
ในช่วง 8 ปี ที่รัฐบาล คสช. บริหารประเทศ กระทรวงการคลังได้จัดทำรายงานการตรวจสอบ สตง. เสนอ ครม. ไปทั้งหมด 7 ครั้ง เริ่มจากสมัยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้รายงานการตรวจสอบ สตง. ปีงบประมาณ 2556 เสนอ ครม. รับทราบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 โดยคณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ได้ตรวจพบโครงการก่อสร้างอาคารของ สตง. มีการเบิกจ่ายเงินล่าช้า และไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ สตง. ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณในแต่ละปีดังนี้
1. โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ วงเงิน 338.95 ล้านบาท สตง. ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ ในปีงบประมาณ 2551–2556 วงเงิน 134.49 ล้านบาทมาแล้ว ประกอบไปด้วย
- งานก่อสร้างอาคารอำนวยการได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่ยังไม่ได้เบิกจ่ายงบฯ ที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯ แต่กลับไปใช้เงินเหลือจ่ายจากปีก่อนจำนวน 56.86 ล้านบาท มาใช้ในการก่อสร้าง
- งานก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ระยะที่ 2 ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง และยังไม่ได้เบิกจ่ายงบฯ
2. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. ที่ปทุมธานี วงเงิน 66.50 บาท สตง. ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ มาแล้ว 51.50 ล้านบาท ยังไม่ได้ก่อสร้าง และเบิกจ่ายงบฯ
3. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ วงเงิน 988 ล้านบาท ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ มาแล้ว 282.32 ล้านบาท ยังไม่ได้ก่อสร้าง ยังไม่ได้เบิกจ่ายงบฯ
4. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. ระยะที่ 2 วงเงิน 500 ล้านบาท ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ มาแล้ว 75 ล้านบาท ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง และยังไม่ได้เบิกจ่ายงบฯ
เบิกงบฯ ค้างท่อปี 2551 จ่ายค่าก่อสร้างตึก 58 ล้าน
ต่อมา นายอภิศักดิ์ได้นำรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ปีงบประมาณ 2557 เสนอที่ประชุม ครม. รับทราบเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 โดยคณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ยังคงเกาะติดการตรวจงบฯก่อสร้างอาคารของ สตง. ทั้ง 4 โครงการต่อ พบว่า การเบิกจ่ายเงินยังไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด และไม่สอดคล้องกับงบฯ ที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯ ในแต่ละปี อย่างเช่น โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ได้มีการก่อสร้างอาคารอำนวยการเสร็จเรียบร้อย ยังไม่ได้เบิกจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯ แต่ใช้เงินเหลือจ่ายของปีงบประมาณ 2551 จำนวน 58.32 ล้านบาท มาจ่ายค่าก่อสร้าง
ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.ที่ปทุมธานี ได้รับจัดสรรงบฯ มาตั้งแต่ปี 2552–2553 แต่เพิ่งมาเริ่มลงมือก่อสร้างในปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายวงเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯ 5.08 ล้านบาท การโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. ทั้งเฟส 1–2 ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบฯมาแล้ว 357.32 ล้านบาท แต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง และยังไม่มีการเบิกจ่ายเงิน
นอกจากนี้ คณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ได้ตรวจพบว่า สตง. เพิ่งจะเริ่มศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “EIA” ในปีงบประมาณ 2556 หลังจากโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ได้รับการจัดสรรงบฯมาตั้งแต่ปี 2551–2552 ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 มาตรา 47 ดังนั้น สตง. จึงดำเนินการจ้างที่ปรึกษามาจัดทำรายงาน EIA ให้แล้วเสร็จ ก่อนดำเนินการก่อสร้างต่อไป
กรมบัญชีกลาง ‘เอ๊ะ’ สตง. อุบงบค้างท่อฝากแบงก์เกือบ 2,000 ล้าน
วันที่ 17 เมษายน 2561 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น นำรายงานการตรวจสอบ สตง. ประจำปี 2558 เสนอที่ประชุม ครม. รับทราบ โดยครั้งนี้คณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง เริ่มตรวจหาสาเหตุสำคัญที่ทำให้ สตง. เบิกจ่ายงบล่าช้า พบว่าเกิดจากการบริหารงบประมาณไม่เป็นไปตามแผนงบประมาณ ทำให้มีเงินเหลือสะสมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550–2558 เหลือเป็นจำนวนมาก สตง.ได้นำเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯไปฝากธนาคาร 1,988 ล้านบาท บัญชีเงินฝากประจำ 1,000 ล้านบาท และในบัญชีออมทรัพย์ 988 ล้านบาท
รายงานการตรวจสอบ สตง. ปีงบประมาณ 2558 ได้ยกตัวอย่าง โครงการจัดซื้อจัดจ้างของ สตง. ส่วนกลางที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 90 โครงการ แต่ดำเนินการได้เพียง 47 โครงการ คิดเป็น 52.22% ของโครงการทั้งหมด โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ และโครงสร้างอาคารที่ทำการ สตง. ทั้งเฟส 1–2 ซึ่งได้รับการจัดสรรงบฯ มาแล้ว แต่ไม่มีการเบิกจ่ายงบฯ นอกจากนี้ คณะผู้ตรวจสอบกรมบัญชีกลางยังตรวจพบอาคารอำนวยการภายใต้โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้งาน และมีค่าใช้จ่ายจากการเสื่อมสภาพ และดูแลรักษา
10 ปี งบค้างท่อฝากแบงก์ 2,945 ล้าน
จากนั้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 นายอภิศักดิ์ ได้นำรายงานการตรวจสอบ สตง. ปีงบประมาณ 2559 เสนอที่ประชุม ครม. รับทราบ โดยคณะผู้ตรวจสอบได้ตรวจพบการบริหารจัดงบประมาณของ สตง. ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด และตรวจพบว่า มีการเก็บรักษาเงินเหลือจ่ายสะสมจำนวนมากไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550–2559 มียอดคงค้างประมาณ 2,945.73 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณเหลือจ่าย 1,953.68 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณสะสม 992.05 ล้านบาท
ส่วนการตรวจสอบงบฯ โครงการก่อสร้างอาคารในปี 2559 สตง.ได้รับจัดสรรงบฯ ในปีงบประมาณ 2551–2554 และปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 492.70 ล้านบาทนั้น ได้มีการดำเนินการและเบิกจ่ายเงินเพียงบางส่วน โดยโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลยังดำเนินการไม่เสร็จ แต่มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่บางส่วนในอาคารอำนวยการเป็นที่เก็บเอกสาร ถือเป็นการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลอาคาร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552–2559 จำนวน 22.65 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 3.04 ล้านบาท ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่นั้น ได้มีการหาสถานที่ก่อสร้างแห่งใหม่เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกันในวันที่ 13 มีนาคม 2560
‘สถาบันธรรมาภิบาล’ ไม่คืบ เหตุทับที่ดินสาธารณประโยชน์
วันที่ 22 ตุลาคม 2562 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น นำรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ประจำปี 2560 เสนอ ครม. รับทราบ โดยคณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ตรวจพบโครงการก่อสร้างอาคารที่ สตง. ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ ประจำปีงบประมาณ 2551–2554 และ 2557 จำนวน 492.70 ล้านบาท เอาไว้ฝากธนาคาร แต่ยังไม่ได้ดำเนินโครงการ และเบิกจ่ายเงินภายในปีที่ได้รับจัดสรร เนื่องจากการดำเนินงานล่าช้า และไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดดังนี้
1. โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาล ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ ในปีงบประมาณ 2551–2552 และ 2557 จำนวน 135.38 ล้านบาท ได้มีการเบิกเงินเอาไปฝากธนาคารไว้ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ส่วนในปีงบประมาณ 2552 ได้มีการก่อสร้างอาคารอำนวยการเสร็จแล้ว โดยใช้เงินเหลือจ่ายสะสม (งบฯเหลื่อมปี) 58.32 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2554 ใช้เงินเหลือจ่ายสะสม 12.28 ล้านบาท ไปจ่ายค่าออกแบบก่อสร้าง ส่วนอาคารอำนวยการที่สร้างเสร็จแล้วนำมาใช้เก็บเอกสาร ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552–2560 มีค่าใช้จ่ายในการดูแลอาคารอำนวยการ 25.71 ล้านบาท โดยในปีนี้คณะผู้ตรวจสอบพบว่า โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลอยู่ระหว่างการติดตามเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ (พื้นที่ก่อสร้างสถาบันฯ) กับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. โครงการก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ สตง. ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบฯในปีงบประมาณ 2553–2554 จำนวน 357.32 ล้านบาท ได้มีการเบิกเงินเอาไปฝากธนาคาร แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ต่อมาในปีงบประมาณ 2553 ได้นำเงินเหลือจ่ายสะสม 26.30 ล้านบาท ไปจ่ายค่าออกแบบก่อสร้างอาคาร และได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท. เป็นเวลา 14 ปี 5 เดือน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 แต่ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่า 11.25 ล้านบาท เพราะยังไม่ได้ดำเนินการ ต่อมาได้มีการทำบันทึกแนบท้ายเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการเช่าเป็น 15 ปี โดยค่าเช่าในปีงบประมาณ 2560 รฟท. ยกเว้นค่าเช่าให้ แต่ให้ไปเริ่มจ่ายตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป
ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ประจำปี 2562 นั้น คณะกรรมการกำกับการตรวจสอบ ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้ตรวจสอบจากกรมบัญชีกลาง จึงมีความเห็นเพิ่มเติม “กรณีที่ผลการตรวจสอบ สตง. พบว่ามีการดำเนินการที่เข้าข่ายเป็นการก่อให้เกิดความเสียหาย ตามมาตรา 85 วรรค 2 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ให้แจ้งให้ สตง. ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย สำหรับโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ และโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่ ที่พบว่าเข้าข่ายก่อให้เกิดความเสียหาย กรณีที่มีการจ่ายค่าออกแบบก่อสร้าง และการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เกี่ยวกับการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ซึ่งไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์”
ยกเลิก ‘สถาบันธรรมาภิบาล’ ไปสร้างตึก สตง. แห่งใหม่จตุจักร
วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ดร.อุตตม นำรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ประจำปี 2561 เสนอที่ประชุม ครม. รับทราบ โดยคณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ยังคงตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ ในปีงบประมาณ 2551–2554 และ 2557 มาแล้ว 492.70 ล้านบาท ซึ่งทาง สตง. ได้เบิกเงินดังกล่าวนำเงินไปฝากธนาคารไว้ แต่ยังไม่ได้ดำเนินโครงการ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวภายในปีที่ได้รับจัดสรร เนื่องจากการดำเนินงานล่าช้า ไม่เป็นตามแผนงานที่กำหนด เหมือนกับรายงานปีก่อนๆ ที่มีข้อเสนอแนะให้ สตง. เร่งรัดดำเนินโครงการ และเบิกจ่ายเงิน ซึ่งจากการตรวจสอบในปีงบประมาณ 2561 พบว่ายังไม่มีความคืบหน้าทั้งในการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงิน ดังนี้
1. โครงการก่อสร้างสถาธรรมาภิบาล ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ ในปีงบประมาณ 2551–2552 และ 2557 จำนวน 135.38 ล้านบาท สตง. ได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวนำไปฝากธนาคาร โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินโครงการ ต่อมาในปีงบประมาณ 2562 ได้มีการก่อสร้างอาคารอำนวยการแล้วเสร็จ โดยใช้เงินเหลือจ่ายสะสม 58.32 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2554 ใช้เงินเหลือจ่ายสะสมจ่ายค่าออกแบบก่อสร้างไป 12.28 ล้านบาท โดยมีการใช้อาคารอำนวยการที่สร้างเสร็จเป็นที่เก็บเอกสาร ซึ่งเป็นการใช้ประโยชนไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอาคาร ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552–2561 เป็นเงิน 29.22 ล้านบาท
สาเหตุที่ สตง. ก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงาน เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการนี้ติดปัญหาเรื่องการเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์กับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สตง. ได้มีการพิจารณาทบทวนแล้วว่า “จะไม่ดำเนินการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลต่อ แต่จะนำรูปแบบอาคารประชุม และฝึกอบรมไปออกแบบก่อสร้างร่วมกับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ (จตุจักร)”
2. โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯในปีงบประมาณ 2553–2554 มาแล้ว 357.32 ล้านบาท ทาง สตง. ได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากธนาคาร โดยที่ยังไม่ได้นำไปจ่ายค่าก่อสร้าง แต่มีการนำเงินในส่วนนี้ไปจ่ายค่าออกแบบงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ (จตุจักร) 26.30 ล้านบาท ต่อมาได้มีการทำสัญญาเช่าที่ดินของ รฟท. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 เป็นเวลา 14 ปี 5 เดือน โดยในปีงบประมาณ 2560–2561 แต่ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าที่ดินให้ รฟท. 11.25 ล้านบาท และ 27.57 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อมา มีการทำบันทึกแนบท้ายสัญญา โดยมีการขยายระยะเวลาในการเช่าเป็น 15 ปี และให้เริ่มจ่ายค่าเช่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ส่วนค่าเช่าในปีงบประมาณ 2560–2561 ที่ สตง. ติดค้าง รฟท. นั้นได้รับการยกเว้น จากนั้นในปีงบประมาณ 2561 สตง. ได้ดำเนินการจ้างออกแบบอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่วงเงิน 73.50 ล้านบาท ส่วนแบบเก่าที่เคยใช้เงินเหลือจ่ายสะสมไปจ้างออกแบบไว้จนเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 ปรากฏว่าไม่ได้ใช้
ยกเลิกสัญญาทำ EIA-ยกเลิกก่อสร้าง ‘สถาบันธรรมาภิบาล’
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้รายงานผลการตรวจสอบ สตง. ให้ที่ประชุม ครม. รับทราบถึงการบริหารโครงการก่อสร้างอาคารของ สตง. ที่ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯในปีงบประมาณ 2551–2554 และ 2557 จำนวน 492.70 ล้านบาท ที่ สตง. ไปเบิกเงินเอามาฝากธนาคารไว้ โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และเบิกจ่ายเงินภายในปีที่ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ เนื่องจากการดำเนินการมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด โดยคณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ได้แนะนำเหมือนกับปีงบประมาณที่ผ่านมา คือ เร่งรัดให้ผู้บริหาร สตง. เข้ามากำกับดูแลการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จและเป็นไปตามแผนงานโดยเร็ว รวมทั้งแนะนำให้ สตง. กำหนดแนวทางในการบริหารความเสี่ยง กรณีสิ้นสุดสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท. และระยะเวลาในการเช่าที่ดิน จากการตรวจสอบในปีงบประมาณ 2562 สตง. ก็ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด รวมทั้งระบบการควบคุมภายในของครุภัณฑ์ยังไม่เหมาะสมเพียงพอ ดังนี้
1. โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯในปีงบประมาณ 2551–2552 และ 2557 มาจำนวน 135.38 ล้านบาท ได้มีการเบิกเงินนำไปฝากธนาคารไว้ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ต่อมาในปีงบประมาณ 2552 ได้มีการก่อสร้างอาคารอำนวยการเสร็จแล้ว โดยมีการนำเงินเหลือจ่ายสะสม 58.32 ล้านบาท ไปจ่ายค่าก่อสร้าง ส่วนในปีงบประมาณ 2554 นำเงินเหลือจ่ายสะสมไปจ่ายค่าออกแบบก่อสร้าง 12.28 ล้านบาท หลังก่อสร้างอาคารอำนวยการเสร็จ ก็ใช้เป็นพื้นที่เก็บเอกสาร ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ต่อมาในปีงบประมาณ 2557 สตง. เพิ่งว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ของโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาล โดยใช้เงินเหลือจ่ายสะสม 1.20 ล้านบาท เบื้องต้นได้มีการจ่ายเงินงวดแรกให้บริษัทที่ปรึกษาไป 0.24 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ปรากฏว่าที่ดินที่ สตง. ใช้ก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลยังเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จึงไม่สามารถจัดทำรายงาน EIA เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบได้ ทาง สตง. จึงยุติการจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559
สำหรับอาคารอำนวยการที่สร้างเสร็จแล้วใช้เป็นที่เก็บเอกสารนั้น มีค่าใช้จ่ายในการดูแลทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552–2562 จำนวน 31.90 ล้านบาท เฉพาะปีงบประมาณ 2562 มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอาคาร 3.23 ล้านบาท โดย สตง. ได้มีการพิจารณาทบทวนแล้วว่า “จะไม่ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถาบันธรรมาภิบาลต่อ แต่จะนำรูปแบบอาคารประชุมและการฝึกอบรมไปออกแบบก่อสร้างร่วมกับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ (จตุจักร) แต่ยังคงใช้ประโยชน์จากอาคารอำนวยการต่อไป จนกว่า สตง. จะสามารถเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารได้”
ทั้งนี้ ในระหว่างปีงบประมาณ 2562 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้อนุมัติตัดรายงานค่าออกแบบก่อสร้าง 12.28 ล้านบาท ออกจากการบันทึกรายการบัญชีงานระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ
2. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ สตง. ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯในปีงบประมาณ 2553–2554 มาแล้ว 357.32 ล้านบาท สตง. ได้เบิกเงินจำนวนนี้ไปฝากธนาคาร แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ต่อมาในปีงบประมาณ 2553 ได้นำเงินเหลือจ่ายสะสม 26.30 ล้านบาท ไปจ่ายค่าออกแบบก่อสร้างอาคารดังกล่าว ณ ที่ทำการหมวดการทางลาดหลุมแก้ว และหมวดการทางปทุมธานี ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี แต่ไม่ได้ใช้แบบดังกล่าว เนื่องจากเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. ใหม่ โดยมีการทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 เป็นเวลา 14 ปี 5 เดือน แต่ยังไม่ได้มีการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ รฟท. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 และ 2561 จำนวน 11.25 ล้านบาท และ 27.57 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินโครงการ ต่อมา สตง. และ รฟท. ได้มีการทำบันทึกแนบท้ายสัญญา เปลี่ยนระยะเวลาในการเช่ามาเป็น 15 ปี เริ่มจ่ายค่าเช่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป ส่วนค่าเช่าที่ติดค้าง รฟท. 2 ปี ได้รับการยกเว้น
ต่อมาในระหว่างปีงบประมาณ 2561 สตง. ได้ดำเนินการจ้างผู้ให้บริการออกแบบอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ในวงเงิน 73 ล้านบาท และผู้ว่าการ สตง. ได้อนุมัติให้ตัดรายการออกแบบก่อสร้างอาคารที่เคยใช้เงินเหลือจ่ายสะสม 26.30 ล้านบาท จ่ายค่าจ้างออกแบบอาคารที่เสร็จเรียบร้อยมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ก่อสร้างอาคารใหม่ จึงไม่ได้ใช้แบบก่อสร้างดังกล่าว นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2562 สตง. ได้จ่ายค่าเช่าที่ดินให้ รฟท. ไป 25.01 ล้านบาท และได้ดำเนินการออกแบบเรียบร้อยแล้ว โดยมีการจ่ายเงินค่าออกแบบไปแล้ว 3 งวด รวม 51.10 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 4 จำนวน 21.90 ล้านบาท จ่ายในปีงบประมาณ 2563
จากการที่คณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารของ สตง. ทั้ง 2 โครงการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 จนถึงปีงบประมาณ 2562 โดยคณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลางมีคำแนะนำให้ สตง. เร่งดำเนินโครงการก่อสร้าง และเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบฯ แต่ สตง. ก็ยังไม่ดำเนินการตามคำแนะนำของคณะผู้ตรวจสอบของกรมบัญชีกลางแต่อย่างใด
เสนอ ครม. รายงานผลตรวจสอบซ้ำๆ
ต่อมา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ นำรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ประจำปี 2563 เสนอที่ประชุม ครม. รับทราบ โดยคณะผู้ตรวจสอบทำรายงานเสนอคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบเหมือนปีงบประมาณที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างอาคารที่ได้รับจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ ในปีงบประมาณ 2551–2554 และ 2557 รวมเป็นเงิน 492.70 ล้านบาท สตง. นำไปฝากธนาคาร เนื่องจากยังไม่ได้ก่อสร้าง ได้แก่
1. โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ ในปีงบประมาณ 2551–2552 และ 2557 มาแล้ว 135.38 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารที่จังหวัดชลบุรี ยังไม่มีการก่อสร้างอาคารสถาบันธรรมาภิบาล แต่มีการนำเงินเหลือจ่ายสะสม 58.32 ล้านบาท ไปจ่ายค่าก่อสร้างอาคารอำนวยการที่สร้างเสร็จแล้วในปีงบประมาณ 2552 ปัจจุบันใช้เป็นที่เก็บเอกสาร โดยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอาคารตั้งแต่ก่อสร้างจนถึงปีงบประมาณ 2563 เป็นเงิน 36.01 ล้านบาท
ในปีงบประมาณฯ 2554 สตง. ได้นำเงินเหลือจ่ายสะสม 12.28 ล้านบาท ไปจ่ายค่าออกแบบก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ ระยะที่ 2 โดยในระหว่างปีงบประมาณ 2562 ผู้ว่า สตง. ได้อนุมัติให้ตัดรายการค่าออกแบบก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติออกไป ตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้นำรูปแบบอาคารประชุม และฝึกอบรบไปออกแบบก่อสร้างรวมกับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ พร้อมสิ่งประกอบ ณ ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เขตจตุจักร แต่ สตง. ยังคงใช้ประโยชน์จากอาคารอำนวยการต่อไปจนกว่าจะสามารถเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ได้ โดย สตง. ยังคงดำเนินการเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่ยังไม่มีแผนบริหารจัดการที่ชัดเจน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอาคารมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี
ต่อมา สตง. ได้รับความเห็นชอบจาก คตง. ให้ทำเรื่องเสนอ ครม. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ สตง. เปลี่ยนแปลงรายการ หรือโอนงบฯ ก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ 338.95 ล้านบาท และงบฯ ควบคุมงานก่อสร้างสถาบันฯ อีก 5.96 ล้านบาท มาสมทบกับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ พร้อมสิ่งประกอบ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
2. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ พร้อมสิ่งประกอบเดิม สตง. ได้รับการจัดสรรเงินจากสำนักงบฯ ในปีงบประมาณ 2553–2554 รวม 357.32 ล้านบาท และได้เบิกเงินนำไปฝากธนาคาร เนื่องจากยังไม่ได้ก่อสร้าง ต่อมาในปีงบประมาณ 2553 สตง. ได้นำเงินเหลือจ่ายสะสม 25.80 ล้านบาท ไปจ่ายค่าออกแบบก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ บนพื้นที่ 15 ไร่ ตั้งอยู่ในตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี แต่ไม่ได้ใช้แบบดังกล่าว เพราะมีการย้ายสถานที่ก่อสร้างมาอยู่ที่จตุจักร และในปีงบประมาณ 2561 ผู้ว่า สตง. ได้อนุมัติตัดรายการค่าออกแบบก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. ที่จังหวัดปทุมธานีออกไป เนื่องจากหมดประโยขน์ทางเศรษฐกิจจากการย้ายสถานที่ก่อสร้าง ทาง สตง. ได้มีการจ้างออกแบบอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ พร้อมสิ่งประกอบ บนพื้นที่ของการรถไฟฯ บริเวณจตุจักร และได้มีการทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท. 15 ปี เริ่มนับเวลาเช่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – วันที่ 30 กันยายน 2576 โดยคณะผู้ตรวจสอบจากกรมบัญชีกลาง มีความเห็นว่า สัญญาเช่าดังกล่าวอาจทำให้ สตง. มีความเสี่ยงกรณีการสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากสัญญาเช่าข้อ 13 ระบุว่า “เมื่อสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้เช่าต้องเลิกใช้ประโยชน์ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สิน และบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ให้เช่าภายในกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่วันที่การเช่าสิ้นสุดลง และส่งมอบที่ดินคืนให้กับผู้ให้เช่าในสภาพที่เรียบร้อย ซึ่ง สตง. ได้แจ้งว่าการทำสัญญาเป็นไปตามรูปแบบของ รฟท. ทำเช่นเดียวกับที่ทำกับส่วนราชการอื่น”
สรุปรายงานสอบข้อเท็จจริง 11 ครั้ง สร้าง ‘ทิพย์’ โยกเงินสร้างตึก สตง. แห่งใหม่ จตุจักร
นอกจากนี้ สตง. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำเรื่องเสนอ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ขอโอนงบฯ ก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติตามที่กล่าวข้างต้น 2 รายการ และขอโอนงบฯก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ (ปทุมธานี) 2 รายการ มาสมทบ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ (จตุจักร) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบวงเงิน 2,560 ล้านบาท และเตรียมไว้จ่ายค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่อีก 76.80 ล้านบาท
หลังจาก ครม. มีมติให้โอนงบฯ ดังกล่าว สตง. ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ (จตุจักร) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 2,560 ล้านบาท ประกาศผู้ชนะในวันที่ 15 กันยายน 2563 และได้ทำสัญญากับผู้รับจ้างในช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 วงเงินตามสัญญา 2,136 ล้านบาท และได้มีการจ้างบริษัทควบคุมงานโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ ด้วยวิธีคัดเลือก วงเงิน 76.80 ล้านบาท โดย สตง. ได้ดำเนินการคัดเลือกเสร็จและทำสัญญาว่าจ้างในปีงบประมาณ 2564 วงเงินตามสัญญา 74.65 ล้านบาท
ส่วนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบ ตามรายงานการตรวจสอบ สตง. ประจำปีงบประมาณ 2562 ให้ แจ้ง สตง. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาล และโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ (ปทุมธานี) ที่เข้าข่ายก่อให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากมีการจ่ายค่าออกแบบก่อสร้างอาคาร และจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยน์นั้น ปรากฏว่าในรายงานการตรวจสอบ สตง. ประจำปีงบประมาณ 2563 ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ แต่อย่างใด
จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ประจำปี 2564 เสนอที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 โดยในปีนี้คณะผู้ตรวจสอบจากกรมบัญชีกลาง รายงานผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติว่า สตง. ยังคงติดตามการเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และยังคงมีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวจัดทำเป็น “ศูนย์พัฒนาวิชาชีพตรวจสอบของประเทศ” หากที่ดินดังกล่าวได้รับการเพิกถอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว สตง. จะขอรับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างต่อไป ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบนั้น มีการดำเนินโครงการ และเบิกจ่ายเงินล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงาน
ก่อน ‘ตึกถล่ม’ คลังรายงาน ครม. ผลงานโดยรวมเป็นไปตามสัญญา
ล่าสุดก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 จนทำให้ตึก สตง. ถล่ม นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวการคลัง ได้รายงานผลการตรวจสอบ สตง. ประจำปีงบประมาณ 2565 เสนอที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 รายงานฉบับนี้ได้สรุปความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารของ สตง. ทั้ง 2 โครงการเอาไว้ว่า 1. โครงการก่อสร้างสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ สตง. ได้ติดตามเร่งรัดการเพิกถอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และกำหนดแผนการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยที่ประชุม ครม. วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันที่ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการต่อไป 2. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. แห่งใหม่ (จตุจักร) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ 2 รายการ “ผลการดำเนินงานโดยรวมมีการดำเนินงานเป็นไปตามสัญญา”
นี่คือรายงานผลการตรวจสอบทั้ง 11 ครั้ง ที่ย้ำอย่างต่อเนื่องว่าเบิกเงินล่าช้า โครงการมีความคืบหน้าน้อยมาก แต่ สตง. มีการเบิกจ่ายเงินไปฝากธนาคารอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550–2559 ยอดรวม 2,945.73 ล้านบาท
นี่คือตัวอย่างของ สตง. หน่วยงานอิสระมีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ หรือมีข้อเสนอแนะให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามระเบียบ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นี่คือการตรวจสอบโดยกรมบัญชีกลางและมีข้อเสนอแนะไปถึง สตง. ให้สอบข้อเท็จจริง แต่ไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าแต่อย่างใด และเมื่อมีรายการงานผลการตรวจสอบ สตง. ไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณว่าเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นี่เป็นตัวอย่างของระบบการตรวจสอบที่ล้มเหลวทุกขั้นตอนอย่างสิ้นเชิงของไทย…