ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเทศเอเชียถูกเก็บ “ภาษีทรัมป์” อัตราสูงสุดส่วนเวียดนามตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

ประเทศเอเชียถูกเก็บ “ภาษีทรัมป์” อัตราสูงสุดส่วนเวียดนามตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

6 เมษายน 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : pbs.org

ในบทรายงานของ New York Times เรื่อง ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดจาก “ภาษีทรัมป์” กล่าวว่า กลุ่มแรกคือประเทศที่ “การส่งออกไปสหรัฐอเมริกา” มีสัดส่วนสูงต่อเศรษฐกิจรวมของประเทศ หรือ GDP และเผชิญ “ภาษีทรัมป์ในอัตราที่สูง” เช่น เวียดนามมีสัดส่วน 29% ของ GDP อัตราภาษีใหม่ 46% กัมพูชา 27% ของ GDP อัตราภาษี 49% ไต้หวัน 15% ของ GDP อัตราภาษี 32% ไทย 12% ของ GDP อัตราภาษี 36% มาเลเซีย 12% ของ GDP อัตราภาษี 24% และเกาหลีใต้ 7% ของ GDP อัตราภาษี 26%

กลุ่มที่ 2 คือประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ที่ถูกเก็บภาษีทรัมป์ในอัตราที่สูง เป็นประเทศส่งออกรายใหญ่ แต่เศรษฐกิจโดยรวมเสี่ยงน้อยกว่า เพราะการส่งออกไปสหรัฐฯมีสัดส่วนไม่สูง เทียบกับ GDP เช่น ญี่ปุ่น การส่งออกไปสหรัฐฯ 4% ของ GDP อัตราภาษีใหม่ 24% จีน 2% ของ GDP อัตราภาษี 34% สหภาพยุโรป 3% ของ GDP อัตราภาษี 20% และอินเดีย 2% ของ GDP อัตราภาษี 27%

วิธีคิดคำนวณ “ภาษีทรัมป์”

ส่วนบทความของ New York Times เรื่องอัตราภาษีทรัมป์คิดคำนวณได้มาอย่างไร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากการขาดดุลการค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่มีกับประเทศคู่ค้าแต่ละราย ทรัมป์แถลงว่า อัตราภาษีพิเศษของแต่ละประเทศ เป็นภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariff) ที่ประเทศคู่ค้านั้น ตั้งกำแพงกีดกันสินค้าสหรัฐฯ

ตัวอย่างวิธีคิดคำนวณภาษีพิเศษกับสินค้าจากไทย ตัวเลขปี 2024 ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) สหรัฐฯนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากไทยมูลค่า 63.3 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯส่งออกมาไทย 17.7 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับไทย 45.6 พันล้านดอลลาร์ การขาดดุลการค้ามีสัดส่วน 72% ของการนำเข้าทั้งหมดจากไทย เมื่อหารด้วย 2 จะได้อัตราภาษีต่างตอบแทนของไทยอยู่ที่ 36%

นักเศรษฐศาสตร์ตกใจและวิจารณ์วิธีคิดอัตราภาษีทรัมป์อย่างมาก ประเทศที่สหรัฐฯไม่ได้ขาดดุลการค้ามากหรือสหรัฐฯได้เปรียบดุลการค้า ก็ใช้อัตราพื้นฐานที่ 10% เพื่อแสดงว่ามีการใช้อัตราภาษีกับทุกประเทศ แต่วิธีคิด “ภาษีต่างตอบแทน” ไม่ได้เอาปัจจัยการควบคุมค่าเงิน อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมาตรการกีดกันการค้าของประเทศคู่ค้า มาพิจารณาเลยเหมือนที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯเคยพูดถึงเรื่องนี้มาก่อน แต่กลับใช้วิธีการแบบง่ายๆ มุ่งเป้าไปที่ต่างชาติได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ

Adam Tooze นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า เป็นนโยบายที่ผิดปกติต่อประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ภาษี 49% กับกัมพูชา 48% กับลาว และ 46% กับเวียดนาม ไม่ใช่เพราะประเทศเหล่านี้ กีดกันการนำเข้าจากสหรัฐฯ แต่เพราะเป็นประเทศยากจน ที่สหรัฐฯไม่ได้ผลิตสินค้า ที่มีความหมายต่อพวกเขา จนต้องนำเข้ามา

“อัตราภาษีทรัมป์ไม่ใช่นโยบายการค้าที่จริงจังอะไร เมื่อเจ้านายไม่ชอบการขาดดุลการค้า ทีมงานก็นำเสนอสูตรการคิดที่โง่เขลาออกมา”

ส่วน Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลัง สมัยบิลล์ คลินตัน กล่าววิจารณ์นโยบายภาษีทรัมป์ว่า เหมือนกับความเชื่อ “การสร้างโลก” ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเปรียบเทียบกับชีววิทยา หรือโหราศาสตร์เมื่อเปรียบเทียบต่อดาราศาสตร์

ที่มาภาพ:เพจเฟซบุ๊ก The White House

เอเชียถูกเก็บภาษีทรัมป์สูงสุด

บทความของ asia.nikkei.com เรื่อง เวียดนามเป็นประเทศสูญเสียมากสุดจากภาษีทรัมป์ กล่าวว่า ประเทศในเอเชียถูกเก็บภาษีทรัมป์ในอัตราสูงสุดของโลก มากที่กล่าวที่คาดการณ์ไว้หรือที่เคยหวาดกลัวกัน จีนถูกเก็บอัตรา 54% จากเดิม 20% บวกอัตราเพิ่ม 34% ส่วนกัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา ศรีลังกา บังคลาเทศ ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ล้วนถูกเก็บมากกว่า 30%

นโยบายภาษีทรัมป์ ทำให้เกิดคำถามสำคัญ 3 อย่างแก่ประเทศเอเชีย

    ประการแรก ประเทศเอเชียต้องทำอย่างไร เพื่อเจรจาให้ภาษีลดลง
    ประการที่ 2 หากภาษียังอยู่ในระดับที่ประกาศออกมา ผลกระทบในระยะสั้นจะเป็นอย่างไร ทั้งทางตรงและทางอ้อม
    ประการที่ 3 ประเทศเอเชียต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อลดผลกระทบให้น้อยลง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การที่ประเทศกำลังพัฒนาและยากจนในเอเชีย เป็นเป้าหมายของภาษีทรัมป์ แสดงว่าเป็นประเด็นเรื่องการค้าที่ไม่สมดุลกับสหรัฐฯ การที่จะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น ก็เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะสินค้าสหรัฐฯราคาแพง และหลายประเทศเอเชียมีกำลังซื้อต่ำ เวียดนามเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าใหญ่อันดับ 4 กับสหรัฐฯ ได้พยายามลดภาษีกับสหรัฐฯลงมาแล้ว แต่จะให้เวียดนามอาศัยดุลการค้ามาเป็นเกณฑ์การลดภาษีให้สหรัฐฯ ก็ทำได้ยาก

ที่มาภาพ : Vietnam Investment Review

เวียดนามประสบภาวะเลวร้ายที่สุด

บทความของ nikkei.asia.com กล่าวว่า หากภาษีทรัมป์ยังอยู่ในระดับที่ประกาศออกมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาคได้รับผลกระทบมากที่สุด ความเลวร้ายไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการส่งออกเท่านั้น แต่จะทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะบริษัทที่คิดจะใช้ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งผลิต ในการรับมือกับภาษีทรัมป์ เพื่อให้ตัวเองมีผลตอบแทนการลงทุนมากขึ้น

ส่วนเวียดนามจะเป็นประเทศในภูมิภาค ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์ที่รุนแรงที่สุด เวียดนามเป็น “โมเดล” ของยุทธศาสตร์ “จีนบวก 1” คือการที่บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีน มาที่เวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ แต่ภาษีทรัมป์บั่นทอนยุทธศาสตร์นี้ให้อ่อนแอลงทั้งภูมิภาค

สหรัฐฯเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่สุดของโลก ที่ยากจะหาตลาดนำเข้าอื่นมาชดเชย การบริโภคภายในของจีนก็ไม่สามารถจะดูดซับการผลิตที่ล้นเกินของจีน ทำให้การผลิตจีนคงจะไหลบ่ามาท่วมภูมิภาคนี้ เมื่อการกีดกันการค้าของสหรัฐฯสูงขึ้น

อัตราภาษีทรัมป์จะทำให้สินค้าในสหรัฐฯแพงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในสหรัฐฯอ่อนตัวลง ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเอเชีย โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกรายใหญ่ เช่น เวียดนาม ไทย จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แม้ในระยะสั้น การลดการสูญเสียตลาดการค้าในสหรัฐฯจะทำได้ยาก แต่เอเชียก็กำลังหาทางสร้างประเทศคู่ค้าใหม่ เช่นกลุ่ม EU กำลังเจรจาทำข้อตกลงการค้ากับไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย

ในระยะสั้น ประเทศในเอเชียคงต้องยอมรับสภาพที่ว่า ภาษีทรัมป์ทำให้แนวโน้มการเติบโตของเอเชียลดลง เพราะตลาดการส่งออกหดตัว และการลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัวลง

ปลายเดือนเมษายนนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะไปเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา จีนคงจะแสดงท่าทีชัดเจนว่า ทางภูมิศาสตร์ จีนไม่เพียงอยู่ในจุดศูนย์กลางของเอเชีย แต่จีนจะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และความมั่นคงของภูมิภาคนี้

ภาษีทรัมป์เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน ให้แก่บริษัทอเมริกันและต่างชาติว่า “ยุคโลกาภิวัตน์ได้สิ้นสุดลงแล้ว” วันที่ทรัมป์ประกาศอัตราภาษีใหม่ คือ “วันปลดปล่อย” สหรัฐฯจากสินค้าจากเอเชีย แต่ก็เป็นวันที่เอเชียคงจะบูรณาการกับจีนและภูมิภาคอื่นมากขึ้น

เอกสารประกอบ
Where Trump’s Tariffs Will Hit Hardest, April 3, 2025 nytimes.com
Vietnam will be the biggest loser from Trump’s tariff barrage, April 3, 2025, asis.nikkei.com