ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเปรยปรับ ครม.“ทำใจให้นิ่ง-ทุกตำแหน่งล้วนอนิจจัง”- ปรับเงินเดือนลูกจ้าง รสก.- ป.ตรีแรกเข้า 18,150 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้

นายกฯเปรยปรับ ครม.“ทำใจให้นิ่ง-ทุกตำแหน่งล้วนอนิจจัง”- ปรับเงินเดือนลูกจ้าง รสก.- ป.ตรีแรกเข้า 18,150 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้

22 เมษายน 2025


เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯเปรยปรับ ครม.“ทำใจให้นิ่งไว้-ทุกตำแหน่งล้วนอนิจจัง”
  • ยันเลื่อนคุยสหรัฐ ‘ไม่ช้า’ – พร้อมบินเจรจาด้วยตัวเอง
  • ย้ำเจรจาต้องไม่เทหมดหน้าตัก แต่ทุกฝ่ายต้องวิน-วิน
  • สั่งแก้ระเบียบจ่ายเงินเยียวยาแผ่นดินไหวตามความเป็นจริง
  • มติ ครม.ปรับเงินเดือนลูกจ้าง รสก.- ป.ตรีแรกเข้า 18,150 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้
  • ตกเบิกเยียวยาน้ำท่วม 86,876 ครัวเรือน 782 ล้าน ใน 15 วัน
  • ไฟเขียว ต่อใบขับขี่ออนไลน์ ไม่ต้องทดสอบร่างกาย
  • สกัด ขรก.ทุจริต-ถูกไล่ออก กลับเข้ารับราชการใหม่
  • ตั้ง ‘สมชัย สัจจพงษ์’ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
  • เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี

    สั่งแก้ระเบียบจ่ายเงินเยียวยาแผ่นดินไหวตามความเป็นจริง

    นางสาวแพทองธาร รายงานเรื่องการเยียวยาแผ่นดินไหวตามหลักเกณฑ์กรมบัญชีกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงว่า ตนได้สั่งการผ่านครม. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมบัญชีกลาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการ และกทม. เร่งหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการปรับแก้ไขระเบียบและกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

    นางสาวแพทองธาร เสริมว่า แนวทางดังกล่าวต้องไม่ซ้ำซ้อนกับเงินประกันที่อาคารซึ่งได้รับความเสียหายได้รับจากบริษัทประกันภัย

    แก้ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจต่างด้าวฯ รับ‘New S-Curve’

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ไม่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายฐานการประกอบธุรกิจแห่งอนาคต เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพหรือธุรกิจที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้-ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีขั้นสูง หรือเทคโนโลยีการให้บริการทางออนไลน์ โดยเฉพาะการพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถและศักยภาพด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

    เห็นชอบ MOU แก้มลพิษ ‘ไทย-กัมพูชา’

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอเรื่องบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยความร่วมมือด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือเรื่องการป้องกันและลดผลกระทบจากมลพิษข้ามแดน รวมทั้งมลพิษทางอากาศ น้ำ ขยะมูลฝอย ขยะอันตราย และรูปแบบอื่นๆ ของมลพิษ ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันมลพิษข้ามแดน

    เคาะ 7.4 พันล้าน รับมือภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง 2,478 รายการ

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำเสนอ เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 68 ใช้งบกลางเพื่อการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงปี 68 วงเงิน 7,404.34 จำนวน 2,478 รายการ ผ่านกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงกลาโหม เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล การก่อสร้าง-ปรับปรุงระบบประปา การหาแรงน้ำต้นทุน การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง การติดตั้งระบบสูบน้ำ การขุดลอกคลอง ฯลฯ

    ตกเบิกเงินเยียวยาน้ำท่วม 86,876 ครัวเรือน

    นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอการจ่ายเงินผู้ประสบอุทกภัยช่วงฤดูฝนปี 2567 เพิ่มเติม จำนวน 781.88 ล้านบาทจากงบกลางในปี 2568 เพื่อนำไปใช้จ่ายให้กลุ่มผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 จำนวน 86,876 ครัวเรือน ในพื้นที่ 17 จังหวัด

    FAA เลื่อนไทยเป็น CAT1 – เล็งต่อยอดฮับการบินภูมิภาค

    นางสาวแพทองธาร รายงานว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับรายงานจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.คมนาคมว่า FAA (Federal Aviation Administration) หรือหน่วยงานกำกับด้านการบินของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ยกระดับการบินของประเทศไทยจาก CAT2 หรือระดับ 2 เป็น CAT1 ส่งผลดีต่อประเทศไทยคือ ผู้เดินทางไปอเมริกาของคนไทย จะมีความสะดวกมากขึ้น

    “สายการบินจากประเทศไทยจะได้รับอนุญาตให้บินตรงเข้าอเมริกาได้เลย และทำให้สามารถมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ถูกลง ที่สำคัญทำให้ประเทศไทยพัฒนาสนามบินและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีโอกาสพัฒนาสู่การเป็น aviation hub ของภูมิภาค” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    ยันเลื่อนคุยสหรัฐ ‘ไม่ช้า’ – พร้อมบินเจรจาด้วยตัวเอง

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการเลื่อนการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีประเด็นภาษี โดย นางสาวแพทองธาร ยืนยันว่ามีการเลื่อน และเสริมว่า “ประเทศไทยและทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องคุยกันเรื่องมาตรการอยู่แล้ว พอติดต่อกับทีมล่วงหน้าไป มีสาระสำคัญบางอย่างที่เขาขอกลับมาให้ทบทวนเรื่องที่จะไปเจรจา เดี๋ยวจะมีการนัดกันใหม่อีกครั้ง”

    “ในรายละเอียด อะไร อย่างไร เดี๋ยวให้รองฯ พิชัย ชุณหวชิร เป็นคนแถลง” นางสาวแพทองธาร เสริม

    เมื่อถามว่า นายกฯ จะเดินทางไปเจรจาเองหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เดี๋ยวลองดูระดับของการคุยกันก่อนว่าอย่างไรบ้าง แต่ตัวดิฉันพร้อมอยู่แล้วที่จะไปพูดคุยเจรจา”

    เมื่อถามว่า มีข่าวว่าหลายประเทศเข้าไปเจรจาแล้ว ประเทศไทยช้าเกินไปหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราไม่ได้ช้าเกินไป อเมริกามีเวลาอีก 90 วัน ซึ่งอันนี้เราทบทวนและได้คุยกับทีมเจรจาอย่างไม่เป็นทางการว่าเรื่องไหนบ้างที่เราคุยกัน”

    “อย่างเรื่องภาษีที่เขาเสียเข้ามาแพงเกินไป เราก็ดูว่าจะปรับให้สมเหตุสมผลไหม กับหลายๆ ประเทศด้วย ก็มีเวลาจะปรับ และทีมทำงานอย่างละเอียดพอสมควร ถ้าถามว่าช้าเกินไปไหม ไม่ช้าเกินไปค่ะ”

    ถามต่อว่า หนักใจกับภาวะเศรษฐกิจไทยตอนนี้หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริงๆ แล้วเศรษฐกิจทั่วโลกค่อนข้างลำบากและฝืดเคืองพร้อมกัน เป็นสิ่งที่เราค่อยๆ handle จัดการด้วยความรอบคอบ และพูดคุยอย่างต่อเนื่อง”

    “ถามว่าลำบากใจไหม ทุกคนยังทำงานอยู่ ไม่ทิ้งไปไหน ยังอัพเดท นอกจากนี้ยังมีคนอยู่นอก ครม. ด้วย เป็นนักวิชาการต่างๆ ที่เราปรึกษากันหลายๆ ทาง มีความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน คิดว่าเราก็ทำดีที่สุดในสถานการณ์นี้” นางสาวแพทองธาร ตอบ

    ย้ำเจรจาต้องไม่เทหมดหน้าตัก แต่ทุกฝ่ายต้องวิน-วิน

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จีดีพียังเป็นไปตามเป้าหรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยังหวังว่าตามเป้าอยู่ เดี๋ยวให้ท่านพิชัยแถลงรายละเอียดละกัน”

    คำถาม มีการพูดคุยกับท่านอันวาร์ไปล่าสุด มี unofficial เล็กน้อยที่คุยกันเรื่องการร่วมมือกัน เดี๋ยวที่จะไปกัมพูชาก็คุยกันด้วย เดี๋ยวกลับมาอัพเดท

    เมื่อถามว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาส่งผลกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยอย่างไร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิมอยู่ เดี๋ยวเรารอดูว่าในส่วนที่เราจะปรับปรุงได้จะทำได้แค่ไหนบ้าง แน่นอนว่าเราต้องดูผู้ประกอบการและเกษตรกรที่มีการส่งออกไปว่าจะอย่างไร และการนำเข้าสินค้าจำเป็นของอเมริกาสามารถเพิ่มได้ไหม เพื่อให้วิน-วินทั้งสองฝ่าย อย่างที่บอกไป เราก็ตามเรื่องพวกนี้อยู่ แต่ก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบกาารให้ได้มากที่สุด นั่นคือเป้าหมายอยู่แล้ว”

    เมื่อผู้สื่อข่าวบอกว่า มีข้อสังเกตว่าประเทศไทยยอมอเมริกามากเกินไปจนกระทบกับความสัมพันธ์จีน ทำให้ นางสาวแพทองธาร อธิบายว่า “การเจรจาของเรากับอเมริกา…ถึงเราจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่เราต้องเจรจาเพื่อให้ประโยชน์เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย เราไม่ได้เจรจาเหมือนเป็นประเทศที่เล็กมากต้องยอมทุกอย่างให้เขา มันไม่ได้อยู่แล้ว”

    ทุกประเทศมีความสำคัญเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเข้าไปคุย เราต้องมีมายเซ็ทที่เข้าไปคุยแบบ…เราพร้อมจะให้เขา ถ้าเขาพร้อมจะให้เรา…เสนอซึ่งกันและกันแบบนี้ มันต้องมีมายเซ็ทแบบนี้” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    “ซึ่งก็คุยกับทีมไป ทีมก็เข้าใจว่าการเข้าไปคุยไม่ใช่ว่าเราเทหมดหน้าตักหรืออะไร เพราะผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่มีความสัมพันธ์กับจีนก็มากเช่นกัน ไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศมหาอำนาจ เราอยากให้เป็นอย่างนั้นต่อไป ทั้งสองประเทศเราก็ balance ให้ดี” นางสาวแพทองธาร กล่าว

    เมื่อถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้ทำเรื่องขอเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปช่วยเจรจาหรือยัง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตอนนี้ยังนะคะ แต่ได้ติดต่อแบบไม่เป็นทางการกับทีมทำงาน ไม่ใช่ตัวประธานาธิบดี”

    ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามรายละเอียดการเจรจา นางสาวแพทองธาร จึงมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นผู้แถลงหลังจบการแถลงข่าว

    เปรยปรับ ครม.“ทุกตำแหน่งล้วนอนิจจัง-ทำใจให้นิ่งไว้”

    เมื่อถามถึงกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม และทราบมาว่ามีเรื่องโพลที่ทุกคนให้ความสนใจ จริงๆ แล้วพร้อมรับฟังทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นโพลหรือประชาชนเอง ก็จะนำไปคิด ตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม”

    “จริงๆ แล้วใดๆในโลกล้วนอนิจจัง ไม่ว่าตำแหน่งของทุกอย่าง ตำแหน่งของนายกฯ ก็เช่นกัน ไม่ใช่แค่ตำแหน่งของใครคนใดคนหนึ่ง ตำแหน่งของนายกฯ ก็เช่นกัน เราก็ทำใจให้นิ่งไว้”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า อาจมีการปรับเอาพรรคภูมิใจไทยออกและพรรคพลังประชารัฐเข้าแทน ทำให้นางสาวแพทองธาร อุทาน “อะไรนะ โห คำถามนี้แรงขึ้นมาเลย” จากนั้นกล่าวว่า “ยังไม่มีอย่างนั้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิมอยู่”

    ถามต่อว่า ในอนาคตอาจดึงพรรคพลังประชารัฐเข้ามาร่วมหรือไม่ แม้ก่อนหน้านี้จะบอกว่าไม่จับมือด้วย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ใช่ค่ะ ‘ที่บอกดูหน้าดิฉันนะคะ จะไม่จับมือกับคนทำรัฐประหาร’ อันนี้คือ 2 ปีที่แล้วใช่ไหม พอดีคะแนนมันไม่ถึงก็เลยต้องจับกันหน่อยแล้วตอนนี้ แต่จับมาสักพักแล้วเหมือนกัน ทำไมคำถามนี้ดีเลย์จังเลย (หัวเราะ)”

    ถามต่อว่า ไม่มีผลอะไรกับรัฐบาลใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วมันจะมีอะไรอีกไหม มันจะเป็นยังไงหรอ เล่าให้ฟังบ้างสิ ใครมาดูดวงให้หน่อย”

    เมื่อผู้สื่อข่าวอยากให้นายกฯ ขยายความที่บอกว่า “ทำใจให้นิ่งไว้” โดยนางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทุกๆ คน ทุกอย่างก็ใจนิ่งๆ ไว้ ตอนนี้บอกแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่ได้คิดจะปรับอะไร พอได้คอมเมนต์ได้อะไรมาเราก็ดูว่าอย่างไรบ้าง เพราะตัวดิฉันเองชอบการทำงานเป็นทีม และชอบที่เราสามารถทำงานด้วยกันแบบไม่ต้องสู้กัน ไม่ต้องไฟต์กันในแต่ละกระทรวง ไม่ชอบการแตกความสามัคคี แต่ก็ดูว่าทำดีที่สุดว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจริงๆ เราไปปรับแก้ตอนนั้น แต่มันยังไม่เป็นอะไรก็เดี๋ยวลองคุยกันก่อน”

    ถามต่อเรื่องการทำงานของ ครม. ชุดนี้ และความสามัคคี นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ถือว่ามีความสามัคคีและค่อนข้างที่จะ…มอบนโยบายใดๆ ทุกคนก็พยายามทำอย่างเต็มที่ แต่ก็เข้าใจในหลายกระทรวงที่บางทีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดไว้ บางนโยบายหรือบางอย่างก็ขรุขระบ้าง อันนี้ก็เข้าใจได้”

    ถามต่อว่า เสียงสะท้อนจากพรรคและผลโพลเห็นตรงกันให้ปรับรัฐมนตรี โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่อย่างที่บอกว่ารับฟังทุกความคิดเห็น”

    ผู้สื่อข่าวถามว่า นายทักษิณอาจอยากให้ปรับ ครม. หรือไม่ นางสาวแพทองธาร จึงถามกลับว่า “คุณพ่อให้สัมภาษณ์ว่าอยากปรับ ครม. หรอคะ…อันนี้ถามจริงๆ ไม่ทราบ” เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่าไม่ แต่ท่าทีอาจมีความเห็นต่างระหว่างพ่อ-ลูก ทำให้รัฐมนตรีที่ยืนอยู่ด้านหลังหัวเราะ และจากนั้นนางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อ๋อ มันไม่ไปถึงจุดที่ไม่ยอมหรอกค่ะ เห็นต่างมีไหม มี มีตลอด เห็นด้วยกันก็เยอะ แต่ไม่ไปถึงจุดที่มีปัญหากันแน่นอน”

    นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    ‘พิชัย’ เผยหารือภาษี 2 ส่วน เจรจาภายนอก-ทบทวนภายใน

    ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลให้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องกำหนดกรอบการเจรจาให้ชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

    “คณะทำงานจึงคิดว่าเราควรขยับกำหนดเวลาการไปเยือน จะได้มีการหารือเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนเพิ่มเติม” นายพิชัย ให้ข้อมูล

    นายพิชัย กล่าวต่อว่า แม้การเจรจาจะถูกเลื่อนออกไป แต่กระบวนการที่เกี่ยวข้องยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

    1. ทบทวนและประสานความร่วมมือผ่านหน่วยงานในสหรัฐฯ ผ่านการหารือกับภาคส่วนเอกชนที่เคยได้หารือกันมาก่อนหน้านี้ พร้อมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมการเจรจา
    2. ส่วนของรัฐบาลเอง ก็ต้องมีการปรับตัว โดยเตรียมการพูดคุยระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เพื่อทบทวนกรอบการเจรจา พร้อมเตรียมการช่วยเหลือ ฟื้นฟู และปฏิรูป เพื่อประเมินความเป็นไปได้และความเสี่ยง โดยหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงตั้งรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประเมินสถานการณ์และมาตรการช่วยเหลือ อีกทั้งสร้างการปฏิรูปให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ในด้านหลักเกณฑ์การนำเข้า-ส่งออกผ่านแดน ให้มีความชัดเจน รวดเร็ว โปร่งใสมากขึ้น

    นายพิชัย กล่าวต่อว่า รัฐบาลยืนยันว่าการเตรียมการอย่างรอบด้านจะทำให้ไทยสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐฯ โดยจะวางท่าทีการเจรจาแบบทวิภาคีบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ พร้อมมุ่งสร้างความสมดุลในภาคการค้าไทย-สหรัฐฯ อย่างยั่งยืน และเพื่อให้ภาคธุรกิจส่งออกและนำเข้าในทุกอุตสาหกรรมของไทยได้รับประโยชน์มากที่สุด

    กำหนดการเยือนกัมพูชา 23-24 เม.ย.

    นายจิรายุ รายงานว่า วันที่ 23 – 24 เมษายน 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรีและคณะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ในเวลาประมาณ 08.30 น. และจะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ ในเวลา 09.50 น.

    จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางต่อไปยังวิมานสันติภาพ (Peace Palace) เพื่อเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ โดยในเวลา 10.50 น. นายกรัฐมนตรีและสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาจะร่วมหารือเต็มคณะ ก่อนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารสำคัญต่างๆ และร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดตราสัญลักษณ์ ครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – กัมพูชา ต่อด้วยการแถลงข่าวร่วม ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

    กำหนดการในช่วงบ่ายของวันที่ 23 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปวางพวงมาลา ณ วิมานเอกราช และวางพวงมาลาถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุพระบรมรัตนโกศ หลังจากนั้น เวลา 15.00 น. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จมหารัฐสภาธิการธิบดี ควน โซะดารี ประธานรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และในเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรีจะเข้าเยี่ยมคารวะสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

    ในวันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการสำคัญในการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางกลับประเทศไทย โดยจะถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) เวลาประมาณ 16.20 น.

    กำชับสอบ ตึก สตง.ถล่ม หลัง จนท.ไม่ได้รับความร่วมมือ

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการว่า นายกฯ สั่งการให้มีการสืบสวนสอบสวนถึงสาเหตุ และข้อเท็จจริงของตึก สตง. ถล่ม เพื่อให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดนั้น

    “พบว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเท่าที่ควร” นายจิรายุ กล่าว

    โดยข้อสั่งการมีดังนี้

    • ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการส่งเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถสืบสวนถึงสาเหตุได้โดยเร็ว
    • ขอความร่วมมือกับ สตง. ในการส่งเอกสารทั้งหมด รวมถึงการรายงานผลจากคณะกรรมการตรวจสอบที่พบว่ามีผู้รับจ้างมีการผิดสัญญา แต่ไม่มีการยกเลิกสัญญาในเวลาที่กำหนดตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา
    • ให้กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรธรณี ส่งรายงานผลกระทบจากแผ่นดินไหวในบริเวณ กทม. ให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยด่วน
    • ให้กรมบัญชีกลาง ซึ่งดูแลในเรื่องมาตรฐานในการจัดซื้อจัดจ้างและคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง ร่วมมือในการตรวจสอบ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง และอำนาจในการบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่ทำผิดระเบียบ 
    • ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมตรวจรับการออกแบบการก่อสร้าง รวมทั้งตรวจรับงานในอาคาร สตง. ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจรับตึก สตง. ซึ่งที่ผ่านมาควรจะแยกออกจากกระบวนการสืบสวน
    • ขอให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ  DSI ในการดำเนินการคดีเรื่องมาตรฐานของเหล็กและคุณภาพของปูนที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และการฮั้วประมูลกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

    สั่ง 4 หน่วยงาน ปรับเกณฑ์จ่ายเยียวยาแผ่นดินไหวตามจริง

    นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบในที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า รัฐบาลได้รับข้อร้องเรียนว่า การเยียวยาค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงขอสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมบัญชีกลาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการฯ และกรุงเทพมหานครเร่งหาแนวทาง ที่เป็นไปได้ในการปรับแก้ไขระเบียบหรือหลักเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้สอดคล้องกับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น

    ทั้งนี้ จะต้องไม่ซ้ำซ้อน กับเงินประกันภัยที่ทางอาคารได้รับจากบริษัทประกันภัย เพื่อซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายอยู่แล้ว

    กวดขันนักท่องเที่ยวฟรีวีซ่า ทำผิดกฎหมายไทย

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ​ สั่งการให้ศึกษาถึงความเหมาะสมในปรับมาตรการ Visa free จากการที่รัฐบาลมีมาตรการในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการให้ Visa free กับบางประเทศ เป็นจำนวน 60 วัน และ 90 วันนั้น ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มใช้สิทธิดังกล่าวในการทำผิดกฎหมาย เช่น การอยู่เกินเวลา และการเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย

    นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งกวดขันและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิด รวมทั้งศึกษาและรวบรวมผลกระทบของมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะความเหมาะสมของระยะเวลาในการอยู่ในประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนมาตรการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประเทศ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก

    “ได้ขอให้ทุกกระทรวงช่วยกัน เร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนและท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยรัฐบาลมีความพร้อม ทั้งในเรื่องการดูแลความปลอดภัย และมีมาตรการในการส่งเสริมต่างๆ รองรับเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลังนี้” นายจิรายุ กล่าว

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ฯ และนางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษก ฯร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ไฟเขียวต่อใบขับขี่ออนไลน์-ไม่ต้องทดสอบร่างกาย

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันการขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้ประชาชนต้องมาดำเนินการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายด้วยตนเอง ทุกครั้งที่ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ณ ที่ทำการของนายทะเบียน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก มีภาระค่าใช้จ่าย และจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมา ณ ที่ทำการของนายทะเบียน และไม่สอดคล้องกับการดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และตามนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e – Government)

    นายคารม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

      1. ยกเว้นการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายสำหรับการขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ซึ่งผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถต้องมีอายุไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด หรือ ไม่มีเงื่อนไขด้านสภาพร่างกาย ตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด

      2. กำหนดให้ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ซึ่งมีอายุ และเงื่อนไขของสภาพร่างกาย หรือ เงื่อนไขอื่นตามที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ต้องทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งอย่างน้อยต้องทำการทดสอบความสามารถของปฏิกิริยา และสายตา และผ่านการอบรม

      3. กฎกระทรวงนี้ให้มีผลเริ่มใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตขับรถสามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้มีวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก ลดภาระค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการเดินทางมาติดต่อราชการ และยังคงมาตรฐานในการตรวจสอบ และคัดกรองผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถต่อไป ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยในหลักการ

    แรงงานลดค่าใบรับรองฝีมือช่างไฟเหลือ 100 บาท ถึงสิ้นปี’68

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถที่เป็นหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2559 ได้กำหนดค่าธรรมเนียมการประเมิน เพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้แก่ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือ ลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ (ปัจจุบันมีเพียงสาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เฉพาะสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณชน) ในอัตราครั้งละ 1,000 บาท แต่โดยที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเคยเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถแต่หนังสือรับรองฯ ซึ่งมีอายุ 5 ปี ได้หมดอายุแล้ว และมีผู้ปฏิบัติงานที่ไม่เคยเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถมาก่อน รวมทั้งสิ้นประมาณ 68,500 คน ซึ่งหากไม่มีหนังสือรับรองจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

    ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือ ลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะเข้ารับการประเมิน เพื่อจะได้มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น และมีทักษะในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามมาตรฐาน อันเป็นการลดอันตรายจากการทำงาน รวมทั้งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เข้ารับการประเมินกระทรวงแรงงานจึงเสนอร่างกฎกระทรวงนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการลดค่าธรรมเนียมการประเมิน เพื่อออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้แก่ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือ ลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ (ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เฉพาะสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ) จากครั้งละ 1,000 บาท เป็น ครั้งละ 100 บาท ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมนี้ใช้สำหรับผู้เข้ารับการประเมินในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (ระยะเวลา 10 เดือน) ของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน)

    “กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือ หน่วยงานของรัฐตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่มาขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถทั้งสิ้นประมาณ 68,500 คน ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 61,650,000 บาท แต่จะส่งผลดีทำให้ลดอุบัติเหตุจากผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีความรู้ความสามารถ และสังคมเกิดความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานได้ผ่านการคัดกรองว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านนั้น ๆ แล้ว” นายคารม กล่าว

    มอบพาณิชย์เร่งแก้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการโดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) พิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้างด้าว พ.ศ. 2542 โดยเร่งด่วน เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อไป ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการนำเสนอสภาพปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่มีผลใช้บังคับมาเป็นเวลาเกือบ 25 ปี โดยมีหลักการเป็น “การปกป้อง” ผู้ประกอบการภายในประเทศมากเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้ง ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจแห่งอนาคต โดยเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างก้าวกระโดด และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อัตราการจ้างงาน และจำนวนภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บได้มีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ธุรกิจสตาร์อัพ (Startup) เป็นธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง และมีลักษณะพิเศษในการประกอบกิจการทั้งในเรื่องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และการะดมทุนจากนักลงทุนไทย และนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งกระทบต่อสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ประกอบการที่จะลดน้อยลง เมื่อมีการระดมทุนเพิ่มมากขึ้น ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น

    อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าว รวมถึงประเภทของธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบกิจการ อันส่งผลกระทบต่อการขยายกิจการของธุรกิจสตาร์ทอัพ และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม จึงสมควรมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยเปลี่ยนจาก “การปกป้อง” เป็น “การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน” โดยคำนึงถึงศักยภาพและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจต่าง ๆ ด้วย โดยเร่งด่วน เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพของประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อไป

    ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยกระทรวงการคลัง เห็นว่า การปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ควรคำนึงถึงประเภทของธุรกิจและสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม รวมถึงระดับการพัฒนาของแต่ละประเภทธุรกิจภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย

    ออกประกาศ มท.แก้ไขผังเมืองรวม จ.เพชรบุรี

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2560) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

    นายคารม กล่าวว่า ภายหลังการประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ปรากฏว่านโยบายของรัฐบาลได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกรมทางหลวงแจ้งว่ามีแผนงานพัฒนาระบบโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ (M8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย และแนวเส้นทางโครงการดังกล่าวได้ผ่านพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี มีผลให้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรีฯ ดังกล่าว มีข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ (M8) ได้

    “ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2560) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มเติมข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสาธารณูปโภค และกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการสาธารณูปโภคที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือภายใต้การกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับประเภท ชนิด ขนาด ที่ว่างหรือความสูงของอาคารตามที่กำหนดไว้ในที่ดินตามที่ได้จำแนกไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อรองรับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ การก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ชะอำ (M8) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแผนแม่บทการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทยและรองรับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นส่วนรวม ซึ่ง มท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 และคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว” นายคารม กล่าว

    แก้ ป.วิอาญาฯ ดูแล ‘ไต่สวน-สอบปากคำ’ ผู้เสียหายคดีข่มขืน

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้เสียหาย หรือ พยานจากการนึกถึงความทรงจำ หรือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรงไว้เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหาย หรือ พยานนั้นเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี โดยการกำหนดให้มีสหวิชาชีพร่วม (บุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ) เข้ามามีบทบาทในชั้นการสอบสวน ภายใต้สถานที่ที่เป็นส่วนสัดสำหรับเด็ก ทั้งยังห้ามถามปากคำเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร และยังกำหนดให้สามารถนำสื่อภาพ และเสียงที่ได้บันทึกไว้ในชั้นสอบสวนมาถ่ายทอดในชั้นศาลแทนการเบิกความในชั้นศาล เพื่อป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กนั้น

    อย่างไรก็ตาม หลักการคุ้มครองผู้เสียหาย หรือ พยานจากการนึกถึงความทรงจำ หรือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรงดังกล่าว ไม่ครอบคลุมไปถึงผู้เสียหาย หรือ พยานที่เป็นบุคคลอายุเกิน 18 ปี ซึ่งหากเป็นกรณีผู้เสียหาย หรือ พยานเป็นบุคคลอายุเกิน 18 ปี แม้ว่าการเบิกความในชั้นศาลจะส่งผลร้าย หรือ ผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของบุคคลนั้นอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่สามารถใช้มาตรการใด เพื่อคุ้มครองบุคคลดังกล่าวได้โดยตรง คงใช้ได้แต่มาตรการที่คุ้มครองในด้านอื่น ๆ เช่น การสืบพยาน โดยไม่เผชิญหน้าโดยตรงกับจำเลย ซึ่งแม้ว่าอาจแก้ปัญหาเกี่ยวกับความกลัวเกรงที่ผู้เสียหายมีต่อจำเลยได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสภาพจิตใจของผู้เสียหายจากการต้องนึกถึงข้อเท็จจริงที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจได้

    นายคารม กล่าวต่อว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับ ..) พ.ศ. ..ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับคำร้องทุกข์ การถามปากคำผู้เสียหาย หรือ พยาน การไต่สวนมูลฟ้อง และการพิจารณาและการสืบพยานในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น คดีอนาจาร คดีข่มขืนกระทำชำเรา ฯลฯ หรือ คดีที่มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง เช่น คดีที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว (ทำร้ายร่างกายบุคคลในครอบครัว ฯลฯ) เพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน และผู้เสียหายที่อายุเกิน 18 ปี ได้เช่นเดียวกับการคุ้มครองพยานและผู้เสียหายที่ใช้กับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยกำหนดให้การรับคำร้องทุกข์ การถามปากคำผู้เสียหาย หรือ พยาน ในคดีที่ผู้เสียหาย หรือ พยานในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือ คดีที่มีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรงต้องแยกกระทำเป็นส่วนสัดและจัดให้มีการบันทึกภาพ และเสียงการถามปากคำภายใต้ความยินยอมของผู้เสียหาย หรือ พยาน กำหนดให้ศาลมีอำนาจในการจัดให้มีการถ่ายทอดภาพ และเสียงคำให้การของผู้เสียหาย หรือ พยานที่ได้บันทึกไว้ในขั้นสอบสวน หรือ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของพยานนั้น ในชั้นพิจารณาของศาล (กรณีพยานหรือผู้เสียหายที่มีอายุเกิน 18 ปี ในชั้นการพิจารณาของศาล ยังคงมาปรากฏตัวต่อศาล แต่หากเป็นพยานหรือผู้เสียหายที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี อาจไม่มาศาลได้ หากมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น ป่วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคสี่) ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ

    ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามแนวทางการจัดทำ และการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว

    ปรับเงินเดือนลูกจ้าง รสก.- ป.ตรีแรกเข้า 18,150 บาท เริ่ม 1 พ.ค.นี้

    นายคารม กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (2) ที่ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถดำเนินการเองได้เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้วในเรื่องการปรับค่าจ้างชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ โดยมีหลักเกณฑ์และอัตราการจ่าย รวมทั้งวันที่มีผลใช้บังคับให้เป็นไปตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/ว 9 ลงวันที่ 9 เมษายน 2567 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.พ. รับรอง หากรัฐวิสาหกิจแห่งใดจะไม่ดำเนินการตามแนวทางการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุดังกล่าว ให้รัฐวิสาหกิจสามารถพิจารณาดำเนินการได้ตามแนวทางที่เหมาะสมกับองค์กรแต่ละแห่งได้ ทั้งนี้ กรอบวงเงินในการชดเชยในภาพรวมจะต้องไม่สูงกว่าแนวทางการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับ อัตราแรกบรรจุของทางราชการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

    นายคารม กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับค่าจ้างชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่าย รวมทั้งวันที่มีผลใช้บังคับให้เป็นไปตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/ว 9 ลงวันที่ 9 เมษายน 2567 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับคุณวุฒิที่ ก.พ. รับรอง [เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และหากรัฐวิสาหกิจแห่งใดจะไม่ดำเนินการตามแนวทางการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุดังกล่าว ให้รัฐวิสาหกิจสามารถพิจารณาดำเนินการได้ตามแนวทางที่เหมาะสมกับองค์กรแต่ละแห่งได้

    ทั้งนี้ กรอบวงเงินในการชดเชยในภาพรวมจะต้องไม่สูงกว่า แนวทางการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุของทางราชการที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว ซึ่งในครั้งนี้เป็นการขอความเห็นชอบเฉพาะในส่วนของการปรับค่าจ้างชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบฯ เท่านั้น เช่น ปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างระดับปริญญาตรี อัตราแรกบรรจุไม่ต่ำกว่า 16,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และไม่ต่ำกว่า 18,150 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 อัตราเงินเดือนค่าจ้างที่รวมเงินชดเชยแล้ว ต้องไม่น้อยกว่า อัตราเงินเดือนค่าจ้างของผู้ที่เข้าทำงานใหม่ (คนเก่าต้องไม่น้อยกว่าคนใหม่) ซึ่งกรณีนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ ตามมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 [ส่วนกรณีการปรับอัตราค่าจ้างแรกบรรจุของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นอำนาจคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่สามารถดำเนินการได้เองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 (เรื่อง การกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจ)] โดยรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้โดยใช้งบประมาณของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งและไม่มีผลกระทบต่อภาระงบประมาณ

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (31 มีนาคม 2558) เห็นชอบการปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับรายได้ของพนักงาน และลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามวุฒิการศึกษา และการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 (เรื่อง การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ซึ่งเป็นเรื่องลักษณะเดียวกัน กับเรื่องที่กระทรวงแรงงานเสนอมาในครั้งนี้ โดยในครั้งนั้นเป็นการปรับค่าจ้างชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุเมื่อปี 2557 ที่ได้มีการปรับอัตราแรกบรรจุระดับปริญญาตรีเป็นไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแล้วเห็นด้วย/ไม่ขัดข้อง

    “การปรับค่าจ้างชดเชยให้ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราแรกบรรจุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 1 (1 พฤษภาคม 2567) มีลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ จำนวน 58,655 คน ที่จะได้ปรับค่าจ้างชดเชย โดยรัฐวิสาหกิจต้องจ่ายชดเชย จำนวน 61,164 คน ที่จะได้ปรับค่าจ้างชดเชย โดยรัฐวิสาหกิจต้องจ่ายชดเชยจำนวน 1,159.11 ล้านบาท โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 แล้ว” นายคารม กล่าว

    ตกเบิกเยียวยาน้ำท่วม 86,876 ครัวเรือน 782 ล้าน ใน 15 วัน

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติกรอบวงเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 เพิ่มเติม และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเติม โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยรับงบฯ และจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน เบิกจ่ายในงบเงินอุดหนุน ลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป ตามที่ กระทรวงมหาดไทย เสนอ
    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบกลางฯ ปี 2568 ที่เสนอในครั้งนี้ จำนวน 781.88 ล้านบาท จะนำไปจ่ายให้กับกลุ่มผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 86,876 ครัวเรือน ดังนี้

      1. สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. – 2 พ.ย. 2567 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร และสิงห์บุรี
      2. สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. – 31 ธ.ค. 2567 ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี (เป็นพื้นที่เดิมที่ ครม. เคยอนุมัติไปแล้ว แต่มีการสำรวจพบผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม)

    ทั้งนี้ ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยให้จ่ายเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ทำการนับแต่วันที่ได้รับจัดสรรงบฯ ตามมติ ครม.

    สกัด ขรก.ทุจริต-ถูกไล่ออก กลับเข้ารับราชการใหม่

    นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) สำหรับมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกลับเข้ารับราชการ เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดตามมาตรการดังกล่าวสามารถกลับเข้ารับราชการได้อีก สืบเนื่องจากในปัจจุบันมีผู้กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ได้ขอกลับเข้ารับราชการ เนื่องจากได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550

    ทั้งนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าว ล้างแต่เฉพาะโทษเท่านั้น แต่พฤติกรรมการกระทำผิดวินัยไม่ได้ถูกลบล้าง และหากเป็นการบกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจแก่สังคม จะถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

    โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำเสนอ มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการบรรจุบุคคลผู้ซึ่งเคยออกจากราชการเพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการกลับเข้ารับราชการ ต่อคณะรัฐมนตรีตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือ วางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ โดยถือว่า เจ้าพนักงานของรัฐที่เคยถูกสั่งให้ออกจากราชการ หรือ ออกจากการทำงานในหน่วยงานของรัฐ เพราะกระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการขอกลับเข้ารับราชการ หรือ กลับเข้าทำงานใหม่ในหน่วยงานของรัฐ และไม่ให้พิจารณารับบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการ หรือ บรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐโดยเด็ดขาด พร้อมกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจรับบรรจุเจ้าพนักงานของรัฐกลับเข้าสู่ระบบราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภทและให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

    เห็นชอบ MOU ด้านสิ่งแวดล้อม-มลพิษข้ามแดน ‘ไทย-กัมพูชา’

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยความร่วมมือด้านมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมข้ามแดน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือร่วมกันในการป้องกันและลดผลกระทบจากมลพิษข้ามแดน โดยไม่จำกัดเพียงหมอกควันข้ามแดน แต่รวมถึงมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะมูลฝอย ขยะอันตราย และรูปแบบอื่น ๆ ของมลพิษ รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา โดยบันทึกความเข้าใจฯ ประกอบด้วยขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้

      1) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันมลพิษข้ามแดน
      2) การเพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและจัดการมลพิษ
      3) การดำเนินโครงการวิจัยด้านการจัดการมลพิษข้ามแดนร่วมกัน
      4) การตอบสนองอย่างรวดเร็วเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน
      5) การร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมข้ามแดนอย่างเหมาะสม
      6) การดำเนินการและการติดตามผล ทบทวนความก้าวหน้าเป็นประจำ โดยบันทึกความเข้าใจฯ นี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ทุกฝ่ายลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้

    ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นชอบต่อบันทึกความเข้าใจฯ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว

    จัดงบฯ 7,404 ล้าน ให้ สทนช.แก้ภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วงปี’68

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 ภายใต้กรอบวงเงิน 7,404.34 ล้านบาท

    โดยงบประมาณดังกล่าว จะใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2568 (คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำฯ ปี 2568) จำนวน 2,748 รายการ

    ทั้งนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้นำเสนอมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/2568 และโครงการการบริหารจัดการน้ำฯ ปี 2568 เพื่อเตรียมความพร้อม รองรับสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ เพื่อรองรับฝนทิ้งช่วง ปี 2568 พร้อมส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ รายได้ เพิ่มการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง

    สอดคล้องตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 จำนวน 8 มาตรการ ได้แก่ 1. คาดการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสียงขาดแคลนน้ำพร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง 2. สร้างความมั่นคงนําเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร 3. กำหนดแผนจัดสรรนําและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง บริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญ 4. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ 5. แก้ไขปัญหาน้ำ 6. เสริมสร้างความเข้มแข็งการจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้นํา 7. สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ 8. ติดตามประเมินผลการดำเนินการ

    เพิ่มเติมมาตรการภาษีส่งเสริมรถยนต์โบราณ

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 เรื่องมาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ในหลักการของมาตรฐานภาษีรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่ได้มีการกำหนดประเภทของรถยนต์ และอัตราภาษีสรรพสามิต ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) ได้เสนอไปนั้น โดยในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี ทบทวนมาตราการดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้มีการปรับปรุง เพิ่มเติมในมาตราการดังกล่าวอันเป็นสาระสำคัญ

    โดยมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติของรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ให้ครอบคลุมถึงรถยนต์ที่มีอายุเกิน 100 ปี โดยเพิ่มพิกัดอัตราศุลกากร 97.06 โบราณวัตถุที่มีอายุเกิน 100 ปี โดยกำหนดประเภทรถยนต์ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการภาษีรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ได้แก่ รถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต 06.01 รถยนต์นั่งและ 06.02 รถยนต์นั่ง หรือ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน โดยยกเลิกการกำหนดรถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต 06.03 รถยนต์กระบะ และได้กำหนดรถยนต์ตามพิกัดอัตราศุลกากร. 87.03 สำหรับรถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก รวมถึงสเตชันแวกอน และรถแข่ง (ครอบคลุมรถยนต์โบราณที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปี แต่ไม่เกิน 100 ปี) และพิกัดอัตราศุลกากร 97.06 โบราณวัตถุที่มีอายุเกิน 100 ปี จากเดิมกำหนด รถยนต์ตามพิกัตอัตราศุลกากร 87.03 เฉพาะรถยนต์นั่งเท่านั้น

    นอกจากนี้ อนุญาตให้รถยนต์โบราณ (Classic Cars) ที่นําเข้ามาและมีการบูรณะภายในประเทศ และส่งออกภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่ได้มีการนําเข้าสำเร็จ มีสิทธิได้รับคืนภาษีสรรพสามิตเต็มจำนวนในกรณีส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายด้วย เพื่อให้การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดเต็มศักยภาพและส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

    โดยสรุปสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวคือ

      1. ปรับปรุงประเภทรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการภาษีรถยนต์โบราณ ซึ่ง รถยนต์ที่สามารถเข้ามาตรการภาษีรถยนต์โบราณได้ คือ รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารไม่เกิน 10 คน รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก รวมถึง สเตชั่นแวกอน และรถแข่ง (รถกระบะไม่เข้าร่วมมาตรการนี้)

      2. กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับรถยนต์โบราณ แบ่งเป็น 2 พิกัดคือ กรณีรถยนต์โบราณอายุ ตั้งแต่ 30 ปี แต่ไม่เกิน 100 ปี และกรณี รถยนต์โบราณ อายุเกิน 100 ปี ซึ่งถือเป็นวัตถุโบราณประเภทหนึ่ง

      3. ยกเว้นอากรศุลกากรขาเข้า สำหรับรถยนต์โบราณ ต้องนำเข้าแบบสำเร็จรูปทั้งคัน และต้องมีเอกสารมาแสดง

      4. กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับสินค้ารถยนต์โบราณ ในอัตราร้อยละ 45 ของราคาขายปลีก โดยมีเงื่อนไขเช่น มูลค่ารถไม่ต่ำกว่า สองล้านบาท และมีอายุตั้งแต่30 ปีขึ้นไป โดยนำเข้าแบบสำเร็จรูปทั้งคัน

      5. กรณีรถยนต์โบราณที่นำเข้าและมีการบูรณะภายในประเทศและส่งออกภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้มีการนำเข้า มีสิทธิ์ได้รับเงินคืนภาษีสรรพสามิตเต็มจำนวน ในกรณีส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมาย

    เห็นชอบ MOU สร้างสะพานข้ามแดนไทย-กัมพูชา ณ จุดผ่านแดนบ้านผักกาด

    นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และอนุมัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีเป็นผู้ที่ได้รับการมอบอำนาจเต็ม ในการลงนามในร่างความตกลงฯ และให้กระทรวงการต่างประเทศ ออกหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจดังกล่าวด้วย

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความร่วมมือในการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ โดยร่างความตกลงดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายกัมพูชาด้วยแล้ว ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

      • ตั้งอยู่ในพื้นที่ของฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา โดยฝั่งไทย ตั้งอยู่ที่บ้านผักกาด ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และฝั่งกัมพูชา ตั้งอยู่ที่บ้านปรม อำเภอศาลากราว จังหวัดไพลิน
      • ขอบเขตของโครงการ จะดำเนินการก่อสร้าง (1) สะพานหลักข้ามแม่น้ำ 40 เมตร (2) เชิงลาดสะพาน 20 เมตร
      • ฝ่ายไทย ภาระหน้าที่คือ รับผิดชอบค่าก่อสร้างทั้งหมดของโครงการ ยกเว้นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาษี และค่าธรรมเนียมทุกชนิดในกัมพูชา และควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงออกหนังสือรับรองการทำงานและการตรวจลงตราหนังสือเดินทางเข้า – ออก ประเทศไทย แก่บุคลากรและผู้ติดตามฝ่ายกัมพูชา
      • ฝ่ายกัมพูชา ภาระหน้าที่คือ จัดเตรียมที่ดินในเขตก่อสร้างและรื้อย้ายสาธารณูปโภคพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านสาธารณูปโภค อำนวยความสะดวกในเรื่องการตรวจลงตราหนังสือเดินทางแก่บุคลากรและผู้ติดตามของฝ่ายไทย รวมทั้งยกเว้นภาษีอากร และค่าธรรมเนียมให้กับฝ่ายไทย
      • การจ้างแรงงาน จะว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ วิศวกร และแรงงานที่มีทักษะของบุคลากรฝ่ายไทยเป็นผู้ควบคุมงาน และในส่วนของการก่อสร้างจะว่าจ้างแรงงานกัมพูชา และหากหาแรงงานกัมพูชาไม่ได้จะว่าจ้างแรงงานไทยแทน
      • การบริหารและบำรุงรักษาสะพาน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้มีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการบริหารและบำรุงรักษาสะพาน
      • ระบบการจราจร สะพานมี 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางและทางเดินเท้า โดยจุดเปลี่ยนการจราจรตั้งอยู่ที่บริเวณทางเข้าสะพานของแต่ละประเทศ
      • ระยะเวลาการบังคับใช้ มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างความตกลงฯ ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ร่างความตกลงฯ นี้ กำหนดให้ไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด จึงเห็นควรให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์จากการจัดทำร่างความตกลงฯ ในครั้งนี้ ในการประสานความร่วมมือกับราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไป

    ไฟเขียว MOU รับทุนลดการเผาวัสดุเกษตรลุ่มน้ำโขง 12 ล้าน

    นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation Special Fund: MLCSF) ประจำปี พ.ศ. 2567 (บันทึกความเข้าใจฯ) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้างช้าง ประจำปี พ.ศ. 2567 ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

    นายอนุกูล กล่าวว่า ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษ แม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2567 (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดสำหรับการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติ ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านข้าง (Mekong – Lancang Cooperation Special Fund: MLCSF) ประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนสำหรับการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (A Sustainable supply chain for managing agricultural waste in the Mekong region to Manipulate climate change adaption) เป็นจำนวนเงิน 346,900 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 2,497,500 หยวน หรือ ประมาณ 11.81 ล้านบาท) ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดแนวทางสำหรับการส่งเสริมการลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร การจัดการขยะทางการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรดินเพื่อความยั่งยืน เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศสู่บรรยากาศ จากการจัดการดิน ปุ๋ย และการลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรแบบเปิดในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน MLCSF มาแล้ว จำนวน 3 ครั้ง ในปี 2561 ปี 2563 และปี 2564 รวมจำนวน 12 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 2,832,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 23.66 ล้านหยวน หรือประมาณ 90.48 ล้านบาท)

    ตั้ง ‘สมชัย สัจจพงษ์’ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบ / อนุมัติ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง นางธาราพร สิงหพันธุ์ มหิทธาฟองกุล ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองพัฒนาธุรกิจและศักยภาพที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง นางสาวสลักจิต พงษ์ศิริจันทร์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมสรรพากร ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร) กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    3. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการแก้ไขปัญหาธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการแก้ไขปัญหาธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป มีรายละเอียดดังนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์และติดตามสอดส่องการประกอบธุรกิจ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

    หน้าที่และอำนาจ

      1. พิจารณา ติดตาม ผลการดำเนินงานของส่วนราชการ กรณีมีเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน หรือพิจารณาดำเนินการกรณีที่มีความปรากฏเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดที่อาจเข้าข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่ตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
      2. ประสานงานและบูรณาการในการตรวจสอบพฤติการณ์การกระทำผิดที่อาจเข้าข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่ และเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
      3. เชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐและบุคคล เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล รวมทั้ง จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาติดตามและประเมินผลการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่
      4. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการตรากฎหมาย แก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่และให้ความเห็นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่
      5. แจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับลักษณะของแชร์ลูกโซ่แก่ประชาชนเพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหาย
      6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
      7. ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

    4. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวม 3 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พันจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ดังนี้

      1. นายวิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการ
      2. นายกวิน ทังสุพานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านพลังงาน
      3. นายสมชาย รังษีธนานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    5. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้ง นางแพตริเซีย มงคลวนิช (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยแทน นายจำเริญ โพธิยอด (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) กรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

    6. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ประธานกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 8 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้

      1. รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม
      2. นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร
      3. นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
      4. นายสมศักดิ์ พะเนียงทอง
      5. รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์
      6. ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ
      7. รองศาสตราจารย์ปัทมาวดี โพชนุกูล
      8. รองศาสตราจารย์สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

    7. เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในกรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

    8. เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงแรงงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ภัทรประยูร ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง จัดหางานจังหวัด (ผู้อำนวยการสูง) สำนักงานจัดหางานจังหวัดร้อยเอ็ด กรมการจัดหางาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน (นักวิชาการแรงงานทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    9. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา แทนกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอ ดังนี้

      1. รับทราบกรณี นางกัมเลช มันจันดา พ้นจากตำแหน่งกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในคณะกรรมการสภาการศึกษา
      2. เห็นชอบแต่งตั้ง นายธงชัย ประดับชนานุรัตน์ เป็นกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นในคณะกรรมการสภาการศึกษา แทนกรรมการ ที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากขอลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

    10. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้ง พลอากาศตรี วุฒิน้อยเชี่ยวกาญจน์ เป็นกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แทน พลอากาศตรี นาถวุฒิ หยูทอง กรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

    11. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แทนชุดเดิม ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งสามปี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 จำนวน 6 คน ดังนี้

      1. รองศาสตราจารย์ วีระพงษ์ แพสุวรรณ
      2. นางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต
      3. นายอดิสร เตือนตรานนท์
      4. นางสาวพิมพ์นารา จิรานิธิศนนท์
      5. นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ
      6. ศาสตราจารย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

    12. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ แต่งตั้งนายสมชัย สัจจพงษ์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งเดิม ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

  • พลิกปูมชีวิตราชการ 22 ปี “สมชัย สัจจพงษ์” จากลูกหม้อคลังสู่ตัวเต็งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
  • 13. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้ง นางสาวพิมพ์พร ชีวานันท์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 22 เมษายน 2568 เพิ่มเติม