สตง.ลำดับขั้นตอนการแก้ไขสัญญาก่อสร้างตึก – ปรับลดความหนาผนังปล่องลิฟต์จาก 30 เหลือ 25 ซม. ยันผ่านการตรวจ-รับรองตามระเบียบและกฎหมายถูกต้องทุกขั้นตอน ด้าน DSI ขอศาลฝากขังผู้ต้องหาปมนอมินี 4 รายแล้ว
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 เวลา 10.12 น. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ออกแถลงข่าว ชี้แจงขั้นตอนการบริหารสัญญา กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) บางจุด และการแก้ไขสัญญา ว่า ตามที่ปรากฏข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) ของอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของอาคาร และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมานั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอเรียนชี้แจงว่า ในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานแห่งใหม่ สตง. ได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับจ้างออกแบบ (กิจการร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด) ผู้รับจ้างก่อสร้าง (กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) และผู้รับจ้างควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด)
สำหรับกรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างก่อสร้าง พบว่า แบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน กล่าวคือ ขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบ ทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สตง. จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ดังนี้
1. ผู้รับจ้างก่อสร้างมีหน้าที่โดยตรง ตามสัญญาที่ต้องดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามข้อกำหนด และเงื่อนไขสัญญารวมทั้งเอกสารแนบท้ายสัญญา (แบบรูปและรายการละเอียด ฯลฯ) โดยผู้รับจ้างก่อสร้างรับรองว่าได้ตรวจสอบ และทำความเข้าใจแบบรูป และรายการละเอียด ซึ่งในกรณีดังกล่าวผู้รับจ้างก่อสร้าง พบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับงานสถาปัตยกรรมภายใน จึงได้สอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างควบคุมงาน
2. ผู้รับจ้างควบคุมงาน ในฐานะตัวแทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือ (Request For Information: RFI) เพื่อสอบถาม/ขอความเห็นไปยังผู้รับจ้างออกแบบ ซึ่งทั้งผู้รับจ้างออกแบบและผู้รับจ้างควบคุมงานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามสัญญาจ้าง
3. ผู้รับจ้างออกแบบ ให้ความเห็นตามหนังสือ (RFI) โดยกำหนดรายละเอียดการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์ (CORE LIFT) จากความหนา 0.30 เมตร เป็น 0.25 เมตร บริเวณด้านทางเดินและเพิ่มปริมาณเหล็กเสริมให้มั่นคงแข็งแรงตามหลักการทางวิศวกรรม พร้อมจัดทำรายการคำนวณ และลงนามรับรอง เพื่อให้ความกว้างช่องทางเดินถูกต้องตามกฎหมายกำหนด (กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522) และสอดคล้องกับรูปแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน แล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน
4. ผู้รับจ้างควบคุมงานแจ้งรายละเอียดการปรับแก้ของผู้รับจ้างออกแบบ เพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างดำเนินการจัดทำแบบขยายสำหรับการก่อสร้างตามความเห็นของผู้รับจ้างออกแบบ โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบความถูกต้อง และส่งให้ผู้รับจ้างออกแบบพิจารณา และรับรองความถูกต้องของแบบที่จัดทำแล้วส่งกลับมายังผู้รับจ้างควบคุมงาน ทั้งนี้ ผู้รับจ้างควบคุมงานโดยวุฒิวิศวกรได้ตรวจสอบและลงนามรับรองอีกครั้ง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 165 วรรคสอง
กรณีดังกล่าว ผู้รับจ้างก่อสร้างได้เสนอราคารายการงานที่เปลี่ยนแปลง โดยมีราคาลดลงเป็นจำนวนเงิน 515,195.36 บาท (ห้าแสนหนึ่งหมื่นห้าพันหนึ่งร้อยเก้าสิบห้าบาทสามสิบหกสตางค์) รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสนอขอแก้ไขวงเงินในสัญญาจ้างตามจำนวนเงินดังกล่าว โดยผู้รับจ้างควบคุมงานได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ถูกต้องตามที่ผู้รับจ้างก่อสร้างเสนอ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา
5. ผู้รับจ้างควบคุมงาน รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดข้างต้นเสนอมายังคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้างเพื่อพิจารณาให้ความเห็น
6. คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างก่อสร้าง เสนอความเห็นต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในฐานะผู้ว่าจ้างเพื่อพิจารณาอนุมัติการแก้ไขสัญญา ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 97 และมาตรา 100 ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 165
7. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของรายการ โดยไม่เพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพัน ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2564 ข้อ 20 (1)
8. คู่สัญญาลงนามการแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้าง โดยนำแบบรูปและรายการละเอียดที่แก้ไข เพื่อเป็นเอกสารอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา
ผังขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสัญญา (กรณีการแก้ไขสัญญา) ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ. 2564 ปรากฏตามเอกสารแนบด้านล่าง
จากนั้นในเวลา 13.00 น.ของวันนี้ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคและโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แถลงความคืบหน้า คดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 3 คดี แต่เกี่ยวกับตึก สตง.ถล่มจะเป็น คดีพิเศษที่ 32/2568 คือกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (นอมินี) ของกิจการร่วมค้าที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกิดเหตุถล่มหลังจากมีเหตุแผ่นดินไหวฯ
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด โดยนายจาง (ZHANG) ได้ประกอบธุรกิจต้องห้ามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บัญชี 3 ความคืบหน้าพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับ และจับกุมผู้ต้องหาได้ครบถ้วนแล้วตามหมายจับประกอบไปด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) นายจางฯ กรรมการนิติบุคคล ในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการ หรือ ต้องได้รับอนุญาตก่อน และเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น
นายโสภณฯ นายประจวบฯ และ นายมานัสฯ ผู้ถือหุ้นสัดส่วนคนไทย ในความผิดฐานร่วมกันให้ความช่วยเหลือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าวในธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ไปขออำนาจศาลในการฝากขังเรียบร้อย คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน
นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษในการดำเนินคดีเกี่ยวกับมาตรฐานของวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็ก และปูนที่อาจไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ รวมถึงกรณีการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และการกระทำความผิดเกี่ยวกับการสมยอมในการเสนอราคาหรือฮั้วประมูลด้วย
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอขอบคุณเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนข้อมูล การบูรณาการร่วมกันในการดำเนินคดีพิเศษดังกล่าว ประกอบไปด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มา ณ โอกาสนี้