ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจทั่วโลกตอบสนองมาตรการภาษีของทรัมป์อย่างไร

สำรวจทั่วโลกตอบสนองมาตรการภาษีของทรัมป์อย่างไร

3 เมษายน 2025


ที่มาภาพ:เพจเฟซบุ๊ก The White House

การประกาศระบบภาษีศุลกากรระดับโลกที่เข้มงวดของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ต่อสินค้าที่นำเข้าจากประเทศคู่ค้า รวมทั้งพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดบางรายได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากทั่วโลก และต่างตอบสนองด้วยความโกรธและความสิ้นหวัง โดยให้คำมั่นว่าจะจัดเก็บภาษีตอบโต้ และยุติมาตรการที่เตรียมจะใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

เมื่อเวลา 16.00 น. ตามเวลากรุงวอชิงตัน สหรัฐฯซึ่งตรงกับเวลา 03.00 น. ของวันที่ 3 เมษายนตามเวลาไทย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้(reciprocal tariffs) ซึ่งกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าพื้นฐาน(baseline)ไว้ที่ 10% และขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสูงสุดเป็นมากกว่า 50% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากบางประเทศ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของบรรทัดฐานการค้าโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

อัตราภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน ขณะที่ “ภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บในอัตราที่เท่ากัน”(reciprocal tariffs) สำหรับบางประเทศจะเริ่มในวันที่ 9 เมษายน

ทรัมป์ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป 20% แต่เม็กซิโกและแคนาดาพ้นจากการประกาศเมื่อวันพุธ แต่ยังคงต้องเสียภาษีนำเข้า 25% ที่บังคับใช้ในช่วงต้นปีนี้

  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้กว่า 180 ประเทศ ยกระดับสงครามการค้าครั้งใหญ่
  • ปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศและการค้าของสหรัฐฯ ที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษนั้นรวดเร็วและรุนแรง โดยตลาดเงินและตลาดทุนโลกตอบสนองอย่างรวดเร็วและรุนแรง นักลงทุนถอนเงินออกจากหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นของบริษัทอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ขณะเดียวกันภาษีศุลกากรที่พุ่งสูงทำให้ผู้บริโภคกังวลว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในอนาคต และภาคอุตสาหกรรม ค้าปลีก ผู้บริโภค และยานยนต์ต่างก็ได้รับผลกระทบ

    สำหรับการตอบสนองของประเทศต่างๆ มีดังนี้

    จีนจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาด

    จีนประกาศตอบโต้หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐทั้งหมด เป็น 54% ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ต้องปรับความสัมพันธ์ครั้งใหญ่และยกระดับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศที่เป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

    กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุในแถลงการณ์เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีว่า “จีนคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนักแน่น และจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง”

    กระทรวงพาณิชย์ของจีนเรียกร้องให้สหรัฐฯ “ยกเลิกภาษีทันที” พร้อมเตือนว่าภาษีนี้ “เป็นอันตรายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก” และจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

    กระทรวงฯ ประณามการกระทำดังกล่าวที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของความพยายามของทรัมป์ในการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศให้กลายเป็น “การรังแกอยู่ฝ่ายเดียว” พร้อมทั้งเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีศุลกากรและ “แก้ไขความขัดแย้งกับคู่ค้าอย่างเหมาะสมผ่านการเจรจาที่เท่าเทียมกัน”

    กระทรวงฯ กล่าวว่า “ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า และไม่มีทางออกสำหรับลัทธิคุ้มครองการค้า”

    “สหรัฐฯ ได้กำหนดภาษีศุลกากรที่เรียกว่า ‘ภาษีตอบโต้’ reciprocal tariffs โดยอิงจากการประเมินตามความเห็นของตนเองและฝ่ายเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ และสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิและผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” แถลงการณ์ระบุ

    ทรัมป์เมื่อวันพุธได้เพิ่มภาษีที่เรียกว่า “reciprocal tariffs” 34% จากภาษี 20% ที่มีอยู่เดิมสำหรับสินค้าที่นำเข้าจากจีนไปยังสหรัฐ นับตั้งแต่กลับมามีอำนาจในเดือนมกราคม ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมด 2 งวด งวดละ 10% ซึ่งทำเนียบขาวกล่าวว่ามีความจำเป็นเพื่อหยุดยั้งการไหลเข้าของเฟนทานิลที่ผิดกฎหมายจากจีนไปยังสหรัฐ

    จีนตอบสนองต่อการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวอย่างรวดเร็วแต่ไม่รุนแรง โดยกำหนดภาษีตอบโต้สินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐหลายประเภท รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันก็ดำเนินการกับบริษัทอเมริกันบางแห่งและเพิ่มการควบคุมการส่งออก

    ภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 54% ที่ทรัมป์กำหนดให้เก็บกับจีนนั้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดไว้ และอาจเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์และมูลค่าการค้าระหว่างสองเศรษฐกิจได้อย่างสิ้นเชิง หลังจากพึ่งพากันมานานหลายทศวรรษ

    ความท้าทายสำหรับธุรกิจที่มีห่วงโซ่อุปทานที่หยั่งรากลึกในจีนนั้นมีมากมายหลายเท่า และขณะนี้ต้องดิ้นรนอย่างหนัก เนื่องจากไม่เพียงแต่ต้องเผชิญการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่สูงเกินคาดจากสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย เนื่องจากบริษัทจีนและบริษัทข้ามชาติบางแห่งได้ย้ายการผลิตไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชีย เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีที่มีอยู่ แต่การจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของทรัมป์ต่อประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ประกาศเมื่อวันพุธจะส่งผลกระทบต่อจีนเช่นกัน โดยเวียดนามจะต้องเผชิญกับการจัดเก็บภาษี 46% และสินค้าของกัมพูชาจะถูกจัดเก็บภาษี 49%

    เบน ชวอลล์ จากบริษัท STG Consultants ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน แก่บริษัทต่างๆ เกี่ยวกับกลยุทธ์ในจีนและเอเชีย กล่าวกับ CNN ว่าห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมไม่สามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบเกิดขึ้นเร็วได้ และที่ผ่านมา 6 เดือนเขาทำงานเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อช่วยให้ลูกค้าวางแผนย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน และมองว่าน่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายของทำเนียบขาว

    แต่การที่ทรัมป์เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งบริษัทหลายแห่งย้ายการผลิตบางส่วนออกจากจีนไป ทำให้สิ่งที่คำนวณไว้ทั้งหมดเปลี่ยนไป

    “ตอนนี้มันเหมือนกับว่ามีคนคว่ำโต๊ะ และผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร” ชวอลล์กล่าว พร้อมคร่ำครวญถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างรวดเร็วของสหรัฐ ซึ่งทำให้วางแผนล่วงหน้าได้ยาก “ทุกคนจะอยู่ในจีนหรือย้ายกลับจีน ดังนั้นผู้ชนะในเรื่องนี้จริงๆ ก็คือจีน”

    ทรัมป์เก็บภาษีนำเข้าเวียดนาม 46% กระทบ Nike-American Eagle

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ หันมาผลิตสินค้าในเวียดนามตั้งแต่รองเท้าผ้าใบไปจนถึงโซฟา ขณะเดียวกันก็ย้ายการผลิตบางส่วนหรือทั้งหมดออกจากจีน

    เวียดนาม ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางใต้ของจีนกลายเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับบริษัทต่างๆ ที่พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขยายเป้าหมายภาษีนำเข้า บริษัทเหล่านี้จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป

    ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะจัดเก็บภาษีนำเข้าจากเวียดนาม 46% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ทั่วโลกที่ประกาศเมื่อวันพุธ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ และของเล่นสูงขึ้นในไม่ช้า และบริษัทบางแห่งอาจส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับผู้บริโภค ภาษีศุลกากรต่อเวียดนามจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน

    จีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นๆ เป็นเวลากว่าสองทศวรรษ แต่เม็กซิโกแซงหน้าจีนในฐานะแหล่งส่งออกอันดับหนึ่งในปี 2566 ปัจจุบันจีนเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่เป็นอันดับสองของสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าสินค้า 438,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 ตามข้อมูลของรัฐบาลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ

    สำหรับบริษัทที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศต่างๆ ที่พึ่งพาในการผลิตและลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้ากับจีน เวียดนามก็กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมเช่นกัน การนำเข้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 136,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 เพิ่มขึ้นประมาณ 19% จากปี 2566

    ญี่ปุ่นจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็น

    ญี่ปุ่นกล่าวว่าการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ “ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง” และจะตรวจสอบผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและจะดำเนินการ “ทุกมาตรการที่จำเป็น” รวมถึงให้การสนับสนุนกระแสเงินสด

    โยชิมาสะ ฮายาชิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวประจำวันว่า “เราจะจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาพิเศษและให้การสนับสนุนด้านการจัดการเงินสดและการจัดหาเงินทุนโดยเร็ว”

    ฮายาชิกล่าวว่าเขาจะไม่เปิดเผย “รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังพิจารณาอยู่” เมื่อถูกถามว่าญี่ปุ่นกำลังพิจารณาถึงการใช้อนุญาโตตุลาการโดยองค์การการค้าโลกหรือจะเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้หรือไม่

    นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะกล่าวว่า “ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนกับสหรัฐฯ มากที่สุด ดังนั้นเราจึงไม่แน่ใจว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่ที่ [วอชิงตัน] จะจัดเก็บภาษีศุลกากรแบบเดียวกันกับทุกประเทศ”

    โยจิ มูโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐว่า “ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง” และกล่าวว่า ญี่ปุ่นยังคงพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลทรัมป์พิจารณาใหม่ “ผมได้แจ้งไปแล้วว่ามาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรฝ่ายเดียวที่สหรัฐฯ ดำเนินการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง และผมขอเรียกร้องอีกครั้งให้วอชิงตันอย่าใช้มาตรการดังกล่าวกับญี่ปุ่น” มูโตะกล่าวกับผู้สื่อข่าว

    หุ้นในโตเกียวมีปฏิกิริยาในทางลบ โดยดัชนี Nikkei ร่วงลง 4% ในช่วงหนึ่ง แตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นยังเตรียมรับมือกับการส่งออกที่จะตกต่ำ Goldman Sachs กล่าวว่าการจัดเก็บภาษีจะมีผลกระทบ “อย่างมีนัยสำคัญ” ต่อผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่น เนื่องจากยานยนต์คิดเป็นมากกว่า 30% ของการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐอเมริกา

    สหภาพยุโรปกำลังสรุปมาตรการตอบโต้ชุดแรก

    สหภาพยุโรปเตรียมมาตรการตอบโต้การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกลุ่มอียู 20% ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถือเป็น “การโจมตีเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่”

    สหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเมื่อปีที่แล้ว สหภาพยุโรปเป็นตลาดเดียวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ แซงหน้าแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ จากตัวเลขของสำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ(United States Census Bureau)

    “การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทั่วโลกของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่รวมถึงสหภาพยุโรป ถือเป็นการโจมตีเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ ดิฉันรู้สึกเสียใจอย่างมากต่อการตัดสินใจครั้งนี้” นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี และเสริมว่าภาษีนำเข้าจะส่งผลกระทบ “ทันที”

    “เราต้องตระหนักถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงนี้ เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ความไม่แน่นอนจะทวีความรุนแรงขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น” ฟ็อน แดร์ ไลเอินกล่าวที่เมืองซามาร์คันด์ ประเทศอุซเบกิสถาน ในระหว่างการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป-เอเชียกลาง

    “ธุรกิจทุกขนาดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะต้องประสบปัญหาตั้งแต่วันแรก ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงระบบราชการที่ยุ่งยาก ต้นทุนในการทำธุรกิจกับสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก” ฟ็อน แดร์ ไลเอินกล่าว

    แม้สหภาพยุโรปต้องการที่จะประสานกับสหรัฐฯ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า แต่ฟอน เดอร์ เลเยนกล่าวว่า “ยุโรปพร้อมที่จะตอบสนอง”

    “ขณะนี้เรากำลังสรุปมาตรการตอบโต้ชุดแรกเพื่อตอบโต้ภาษีเหล็ก และตอนนี้เรากำลังเตรียมการตอบโต้เพิ่มเติมเพื่อปกป้องผลประโยชน์และธุรกิจของเราหากการเจรจาล้มเหลว” ฟ็อน แดร์ ไลเอินกล่าว

    เมื่อเดือนที่แล้ว สหภาพยุโรปตอบสนองต่อการเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมของทรัมป์ด้วยการประกาศมาตรการตอบโต้ต่อสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มูลค่าสูงถึง 26,000 ล้านยูโร (28,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งรวมถึงภาษีเรือ เบอร์เบิน และมอเตอร์ไซค์

    ทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ต่างมีส่วนได้ส่วนเสียมากมายในข้อพิพาททางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในปี 2567 สหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อสินค้ายุโรปรายใหญ่ที่สุด โดยมีสินค้านำเข้าตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ยาและรถยนต์ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอุปกรณ์โทรคมนาคม ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของสหภาพยุโรป ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว ตามตัวเลขของสหรัฐฯ

    “ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้สร้างงานหลายล้านตำแหน่ง” ฟ็อน แดร์ ไลเอินกล่าว “ผู้บริโภคในมหาสมุทรแอตแลนติกได้ประโยชน์จากราคาที่ลดลง ธุรกิจได้ประโยชน์จากโอกาสที่มากมาย ซึ่งนำไปสู่การเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

    อย่างไรก็ตาม ฟ็อน แดร์ ไลเอินกล่าวว่าระบบการค้าโลกมี “ข้อบกพร่องร้ายแรง”

    “ดิฉันเห็นด้วยกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่ว่าคนอื่นกำลังใช้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ปัจจุบันอย่างไม่เป็นธรรม และพร้อมที่จะสนับสนุนความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ระบบการค้าโลกเหมาะสมกับความเป็นจริงของเศรษฐกิจโลก” ฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าว “การใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือแรกและเครื่องมือสุดท้ายจะไม่ช่วยแก้ไขได้”

    ฟ็อน แดร์ ไลเอินย้ำว่าสหภาพยุโรปพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐอเมริกา แต่ยุโรปต้องยืนหยัดเพื่อตัวเอง

    “ดิฉันรู้ว่าพวกคุณหลายคนรู้สึกผิดหวังกับพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของเรา ใช่ เราต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยุโรปมีทุกสิ่งที่จำเป็นในการฝ่าฟันพายุนี้ไปได้ เราอยู่ในสถานการณ์นี้ร่วมกัน หากคุณเผชิญหน้ากับใครคนใดคนหนึ่ง คุณก็ต้องเผชิญหน้ากับพวกเราทุกคน

    แคนาดายันสู้ด้วยมาตรการตอบโต้

    แคนาดาไม่ได้อยู่ในลิสต์การเก็บภาษีนำเข้าล่าสุด แต่ยังต้องเสียภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม 25% รวมถึงรถยนต์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเที่ยงคืนตามเวลาตะวันออก นายกรัฐมนตรีมาร์ก คาร์นีย์กล่าวว่าเขาจะ “ต่อสู้กับภาษีนำเข้าเหล่านี้ด้วยมาตรการตอบโต้” และ “สร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม G7”

    คาร์นีย์กล่าวว่าทรัมป์ “สงวนองค์ประกอบสำคัญหลายประการของความสัมพันธ์ของเราไว้” แต่ชี้ว่าภาษีนำเข้า 25% ก่อนหน้านี้ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่าเป็นการลงโทษสำหรับการไม่ดำเนินการมากพอที่จะหยุดการไหลของเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่

    ฟลาวิโอ โวลเป ประธานสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของแคนาดา โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่าผลลัพธ์นั้น “เหมือนกับการหนีเสือไปปะจระเข้”

    ด้านเม็กซิโก เช่นเดียวกับแคนาดา เม็กซิโกได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรชุดล่าสุด แต่ยังต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้จากทรัมป์ ซึ่งประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบอม กล่าวเมื่อวันพุธว่า จะไม่ดำเนินการตอบโต้ภาษีศุลกากร แต่จะประกาศ “โครงการที่ครอบคลุม” ในวันพฤหัสบดีแทน

    อินเดียกำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าอัญมณี เครื่องประดับ ยา และชิ้นส่วนรถยนต์

    อินเดียต้องประสบกับการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอินเดียทั้งหมดที่นำเข้ามายังสหรัฐในอัตรา 26% ทรัมป์ได้เน้นว่าอินเดียนั้น “เข้มงวดมากมาก” กับการจัดเก็บภาษีของประเทศ และกล่าวว่าการจัดเก็บภาษี 26% ดังกล่าวเป็น “ภาษีศุลกากรแบบที่เรียกเก็บในอัตราที่เท่ากันแต่ลดให้แล้ว (discounted reciprocal tariff)” จากอัตราภาษี 52% ที่อินเดียจัดเก็บ

    เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังวิเคราะห์ผลกระทบของการจัดเก็บภาษีดังกล่าว “มีผสมปนเปกันไปและไม่ใช่เรื่องเสียหายสำหรับอินเดีย” เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์กล่าวกับสื่อของอินเดีย

    ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินการอย่างหนักเพื่อเจรจาเรื่องการลดหย่อนภาษี สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าเกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์และอัญมณีและเครื่องประดับมูลค่ากว่า 9,000 ล้านดอลลาร์อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีใหม่นี้ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและไอที อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีสำหรับอินเดียที่จนถึงขณะนี้ อุตสาหกรรมยาซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียได้รับการยกเว้นภาษี

    ปัจจุบัน สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับอินเดียจำนวน 46,000 ล้านดอลลาร์ และทรัมป์ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าภาษีศุลกากรดังกล่าวจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่า ภัยคุกคามนี้จะได้รับการแก้ไข รายงานระบุว่า อินเดียกำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 23,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงอัญมณี เครื่องประดับ ยา และชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อเอาใจทรัมป์และลดภาษีศุลกากรลง แต่ยังไม่มีข้อตกลงการค้าใด ๆ ที่ชัดเจน

    ออสเตรเลียจวกไม่ใช่การกระทำของมิตร

    นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี แห่งออสเตรเลียกล่าวว่า แม้จะไม่มีใครได้รับข้อตกลงที่ดีกว่าออสเตรเลีย แต่ระบบภาษีศุลกากรใหม่นี้ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นพันธมิตร

    ออสเตรเลียรอดพ้นจากระบบภาษีศุลกากรใหม่ของทรัมป์ได้เพียงเล็กน้อย โดยเสียภาษีเพียง 10% เท่านั้น แต่อัลบาเนซีวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการดังกล่าว “ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างถึงภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ ภาษีศุลกากรแบบโต้ควรจะจะเป็นศูนย์ ไม่ใช่ 10%” อัลบาเนซีกล่าว “การเก็บภาษีศุลกากรของฝ่ายบริหารไร้เหตุผล และขัดต่อพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างสองประเทศของเรา นี่ไม่ใช่การกระทำของมิตร”

    นายกรัฐมนตรีอัลบาเนซีกล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะไม่กำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้ต่ออเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 0% ทั้งขาเข้าและขาออก และกล่าวว่าในท้ายที่สุด ประชาชนชาวอเมริกันจะต้องแบกรับภาระภาษีศุลกากรของทรัมป์

    แร่ธาตุที่สำคัญบางส่วนที่ส่งมาจากออสเตรเลียซึ่งไม่มีในสหรัฐฯ จะได้รับการยกเว้นจากระบบภาษีศุลกากรใหม่นี้

    นิวซีแลนด์ชี้ผู้บริโภคสหรัฐต้องซื้อของแพงขึ้น

    นายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซอน แห่งนิวซีแลนด์กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า นิวซีแลนด์ถือว่าดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพราะถูกจัดเก็บภาษีนำเข้า 10% แต่กล่าวว่าภาษีศุลกากรและสงครามการค้า “ไม่ใช่ทางออก”

    “มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าราว 900 ล้านดอลลาร์จากผู้ส่งออกของนิวซีแลนด์ ซึ่งน่าเศร้าที่ภาษีนี้จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ” นายกรัฐมนตรีลักซอนกล่าว “ท้ายที่สุดแล้ว ภาษีเหล่านี้ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ต้องจ่ายราคาสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว และส่งผลให้เกิดแรงกดดันทั่วโลก”

    นายกรัฐมนตรีลักซอนกล่าวว่า เขาจะหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ี่กล่าวหาว่านิวซีแลนด์จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 20% “เราไม่เข้าใจว่าตัวเลขดังกล่าวคำนวณมาอย่างไร”

    สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่เติบโตเร็วที่สุดของนิวซีแลนด์ โดยเติบโตเป็นอันดับสองในปี 2567 แซงหน้าออสเตรเลียและรองจากจีน การส่งออกของนิวซีแลนด์ไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าเกิน 9 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2567 โดยสินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ เนื้อสัตว์ นม และไวน์ ภาษีศุลกากรใหม่นี้อาจส่งผลให้ผู้ส่งออกของนิวซีแลนด์ต้องจ่ายถึง 900 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์

    รัฐบาลทรัมป์เก็บภาษีประเทศยากจนที่สุดในโลก

    ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกหลายประเทศต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าสูงสุดที่ทรัมป์กำหนดเมื่อวานนี้

    เลโซโทในแอฟริกาใต้ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงสุด 50% โดยเลโซโทจัดอยู่ในอันดับที่ 22 ของโลกในฐานะประเทศที่ยากจนที่สุด โดยส่งออกเพชรและเสื้อผ้าเป็นหลัก โดยสหรัฐอเมริกาเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่เลโซโทส่งออกไปมากที่สุด

    ส่วนกัมพูชาถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา 49% ซึ่งสูงเป็นอันดับสอง แม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศกัมพูชาส่งออกสินค้าไปมากที่สุด

    มาดากัสการ์ในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนเป็นอันดับ 9 ของโลก จะต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าแบบ reciprocol tariff ในอัตรา 47% โดยส่วนใหญ่ส่งออกวานิลลา กานพลู และเสื้อผ้า โดยสหรัฐอเมริกาเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มาดากัสการณ์ส่งออกไปมากที่สุด

    เรียบเรียงจาก

  • China vows to counter Trump’s ‘bullying’ tariffs as global trade war escalates
  • Europe prepares countermeasures to Trump’s tariffs, calling them a ‘major blow to the world economy’
  • Live updates: Trump’s sweeping new tariffs send global stocks plunging as U.S. allies plan reaction
  • Trump tariff global reaction – country by country