ThaiPublica > เกาะกระแส > สถิติ ‘แผ่นดินไหว’ ของไทย 460 ครั้ง ในรอบ 2 ศตวรรษ

สถิติ ‘แผ่นดินไหว’ ของไทย 460 ครั้ง ในรอบ 2 ศตวรรษ

23 เมษายน 2025


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า รวบรวมข้อมูลแผ่นดินไหวจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงเวลาประมาณ 200 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2342 – 2568 (เดือนมีนาคม) เกิดแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทยทั้งหมด 460 ครั้ง โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดบ่อยที่สุดคือเมียนมา 116 ครั้ง ตามด้วย เชียงใหม่ 68 ครั้ง และ เชียงราย 49 ครั้ง

แม้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว-รอยเลื่อนในประเทศไทยจะไม่รุนแรง แต่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินที่เกิดที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นหลัก เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 11 เมษายน 2555 ณ เกาะสุมาตรา ความรุนแรง 8.6 ริคเตอร์ ทำให้ภาคใต้ของประเทศไทยรับรู้แรงสั่นสะเทือน รวมถึงภาคกลางและภาคอีสานในหลายพื้นที่ก็ได้รับแรงสั่นสะเทือน

ทั้งนี้เมื่อไล่เรียง 10 เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สะเทือนไทยรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ศตวรรษ พบว่า ‘เกาะสุมาตรา’ คือพื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยจาก 10 เหตุการณ์รุนแรงที่สุด มีเกาะสุมาตราถึง 7 ครั้ง ตามด้วยเมียนมา 2 ครั้ง และประเทศจีน 1 ครั้ง

16 รอยเลื่อนมีพลังในไทย

ขณะที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวในประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 18 ในปีพ.ศ. 2382 ความรุนแรง 7 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรธรณีได้อัปเดตข้อมูลกลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง จำนวน 16 รอยเลื่อน ซึ่งพบมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย

(1) กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวระนาบ ที่วางตัวขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนระนองแบบเหลื่อมซ้าย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เมื่อปี 2558 ใน จ.พังงา ขนาด 4.5

(2) รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ที่มีความสำคัญมากต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว จ.กาญจนบุรี ขนาด 6.4

(3) รอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และ จ.แพร่ กลุ่มรอยเลื่อนนี้แสดงลักษณะธรณีวิทยาโครงสร้าง และธรณีสัณฐานที่แสดงถึงการเลื่อนตัวครั้งใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.แพร่ ขนาด 6.6

(4) รอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน จัดเป็นรอยเลื่อนปกติ เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเป็นแนวยาว ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2478 บริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาว ขนาด 6.5

(5) รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร แสดงลักษณะของ ผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรง ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.ลำปาง ขนาด 4.9

(6) รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย วางตัวในทิศเหนือ-ใต้ ขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ โดยเอียงเทเข้าหากลางแอ่งทั้งสองด้าน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2533 ที่ จ.เพชรบูรณ์ ขนาด 4.0

(7) รอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก และ จ.กำแพงเพชร มีแนวการวางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2518 ที่ จ.ตาก ขนาด 5.6 ประชาชนรู้สึกได้หลายหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

(8) รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังสูง ทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งสำคัญเมื่อปี 2550 ขนาด 6.3 ในสปป.ลาว ส่งผลกระทบถึง จ.เชียงราย ผนังอาคารหลายหลังเสียหาย กรุงเทพมหานครสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูง

(9) รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.เชียงราย มีการเลื่อนตัวแบบรอยเลื่อนปกติ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2562 ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 4.1 ประชาชนรู้สึกได้ทั่วจังหวัด

(10) รอยเลื่อนแม่ลาว เป็นรอยเลื่อนที่มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่าน จ.เชียงราย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2557 ที่ จ.เชียงราย นับว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบกว่า 50 ปี ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน

(11) รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย มีลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งบอกถึงความมีพลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมาแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุด ปี 2554 ที่ จ.เชียงราย ขนาด 4.1 หลายอำเภอรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

(12) รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก ในอดีตมีการเลื่อนตัวหลายครั้ง ทำให้ธรณีสัณฐานเด่นชัดในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง คือ ทางน้ำแบบหุบเขารูปแก้วไวน์ และทำให้แผ่นดินไหวขนาดเล็กและขนาดปานกลางบ่อยหลายครั้งในพื้นที่รอยต่อ แค่ครั้งสำคัญคือ เมื่อปี 2556 ที่เมียนมา ขนาด 5.1 ประชนชนหลายจังหวัดในภาคเหนือรับรู้ถึงแรงสั่น

(13) รอยเลื่อนระนอง พาดผ่าน จ. ระนอง จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.พังงา ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ปี 2549 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 5.0 ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนพื้นดิน

(14) รอยเลื่อนเวียงแหง มีลักษณะการเลื่อนแบบรอยเลื่อนปกติ พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ที่ จ.เชียงใหม่ ขนาด 6.8

(15) รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.อุทัยธานี และ จ.ตาก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2526 ที่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ขนาด 5.9 สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพฯ

(16) รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อปี 2541 บริเวณอำเภอท่าปลา ขนาด 3.2 ประชาชนรู้สึกได้ในหลายอำเภอ

  • นักธรณีชี้แผ่นดินไหว เตือนล่วงหน้าได้แค่ 4 วินาที – ข้อมูล 16 รอยเลื่อนที่มีพลังของไทย
  • อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงตั้งแต่ 1 – 3.9 โดยส่วนใหญ่เกิดในประเทศไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี กรุงเทพฯ ฯลฯ ขณะที่ระดับ 5 ขึ้นไป มีศูนย์กลางที่เมียนมาและเกาะสุมาตรา

    เมื่อแบ่งตามความรุนแรง (หน่วยริกเตอร์) จำนวนครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย