ThaiPublica > เกาะกระแส > ปตท. ปรับกลยุทธ์ใหม่ ยึดธุรกิจหลัก-ทบทวนเป้า Net Zero ปี 2050

ปตท. ปรับกลยุทธ์ใหม่ ยึดธุรกิจหลัก-ทบทวนเป้า Net Zero ปี 2050

22 มีนาคม 2025


ปตท. ปรับกลยุทธ์ใหม่ โฟกัสธุรกิจหลัก Hydrocarbon ลดความเสี่ยง สร้างเสถียรภาพการลงทุน เล็งไฮโดรเจนและ SMR เป็นพลังงานในอนาคต  พร้อมปรับ Net Zero ปี 2050 เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

การปรับกลยุทธ์ใหม่ปี 2025 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ถือเป็นความท้าทาย จากการหันกลับมาเน้นธุรกิจที่มีความถนัดเชี่ยวชาญ คือ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน  ขณะที่ทั่วโลกต้องการการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนผ่านธุรกิจพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้ยืนยันผ่านการบรรยายการปรับวิสัยทัศน์ใหม่ ภายใต้สโลแกน “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” ว่ากลุ่มปตท.จะเดินหน้าธุรกิจไปคู่กับการสร้างความยั่งยืนและการเดินไปสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ตามที่ประกาศไว้ได้ตามเป้าหมาย

สำหรับเหตุผลการปรับกลยุทธ์ใหม่ของกลุ่ม ปตท.ดร.คงกระพัน บอกว่า มาจากสถานการณ์โลกที่มีความเปลี่ยนแปลง ผันผวน และมีปัญหา ทำให้เราต้องใช้เงินอย่างชาญฉลาด ขณะที่ปัจจัยภายในก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ปตท. จึงต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สมดุล จึงปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป โดยจะเน้นสร้างความมั่นคงเติบโตด้วยการลงทุนที่ดี ลดความเสี่ยง ไปพร้อมกับการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

“จะเน้นสร้างความมั่นคงเติบโตด้วยการลงทุนที่ดี ลดความเสี่ยงกับสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะปตท.เห็นแล้วว่าทั้งปัจจัยภายนอกภายในที่มันวุ่นวายไปหมด ความผันผวนทั้งเรื่องพลังงาน เศรษฐกิจ ความสำเร็จกับความเสี่ยงในการลงทุนมันไม่เท่าเทียมกัน  เราจะลงทุน แต่ไม่ต้องลงเยอะ แต่ลงทุนให้ดี เพราะโอกาสในการลงทุนที่ดี เติบโตแบบก้าวกระโดด มันมีน้อย โอกาสที่การลงทุนแล้วจะชนะมีน้อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือการสร้างเสถียรภาพ เพราะ ปตท.เป็นบริษัทที่มั่นคง มีหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือประเทศ เราต้องแข็งแรง ร่วมกับสังคมไทย แล้วเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน โดยการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ”

ดร.คงกระพัน ย้ำว่า ปตท.จะโฟกัสความแข็งแรงในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจพลังงานฟอสซิล/Hydrocarbon ไปพร้อมการเติบโตเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนา Carbon Capture and Storage (CCS) หรือการกักเก็บคาร์บอน  และโครงการพลังงานไฮโดรเจน โดยจะใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทนในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม เพราะการสร้างความยั่งยืนถือเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจอยู่แล้ว

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของปตท. แบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้  

ระยะสั้น จะเน้นการลงทุนเพื่อสร้าง Synergy ในกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น ที่เรียกว่าโครงการ D1-Domestic Products Mgmt โดยตั้งเป้าจะสามารถทำกำไรเพิ่มกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปี และจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุน ภายใต้โครงการที่เรียกว่า MissionX – Operational Excellence เพื่อเพิ่ม EBITDA ตั้งเป้าทั้งกลุ่ม ปตท. ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ระยะกลาง ต้องมองหาพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งด้านการตลาด  หรือด้านเทคโนโลยี เข้ามาร่วมถือหุ้นกับ ปตท. ที่ถืออยู่ใน PTTGC IRPC และไทยออยล์ โดยที่ ปตท. ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลัก รวมถึงการเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ในภูมิภาค หรือ LNG Hub

ระยะยาว คือการเข้าไปลงทุนในธุรกิจกักเก็บคาร์บอน ที่จะดำเนินการผ่าน ปตท.สผ. และพลังงานไฮโดรเจน เพื่ออุตสาหกรรมที่เริ่มต้นด้วยการนำเข้าไฮเดรเจนจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนที่ต่ำเช่นจากอินเดียหรือกลุ่มตะวันออกกลาง และมองหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR อยู่ระหว่างศึกษาโดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

สำหรับธุรกิจ Non-Hydrocarbon จะมีการปรับลดความเสี่ยงในธุรกิจ เช่น การเลิกกิจการธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน การลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะยังเน้นการลงทุนเฉพาะ EV Charging ผ่านทางโออาร์ ส่วนที่เป็นธุรกิจ Life & Science ที่ยังทำกำไร จะเปิดทางให้พันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเข้ามาร่วมถือหุ้นและการจัดหาแหล่งเงินทุนให้ทำธุรกิจอยู่รอดได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทแม่

ดร.คงกระพัน กล่าวด้วยว่า ทั้ง 3 กลยุทธ์คือธุรกิจหลักที่เป็นหน้าที่ของปตท.และเป็นสิ่งที่ปตท.ถนัดและทำให้ประเทศมีพลังงานที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นในปีนี้ยังไม่ไปลงทุนเยอะ ถ้าเรายังไม่มั่นใจ อาจมีความเสี่ยง”

ทบทวนเป้าหมายNet Zero ปี 2050

ส่วนในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันที่มีเรื่องโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท.ยังคงให้ความสำคัญโดยมีแผนดำเนินการควบคู่กันไป

“ธุรกิจหลักของ ปตท.มีการปล่อยคาร์บอน แต่ด้วยสถานการณ์ที่ทั่วโลกเห็นตรงกันว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต ทั้ง แก๊สธรรมชาติและน้ำมัน ยังเป็นพลังงานสำคัญของทั่วโลกอย่างน้อยในอีก 30 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นแก๊ส ยังต้องมีการใช้ไปอีกนาน เราจึงยังคงต้องเน้นการทำธุรกิจเรื่องแก๊สเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะปตท.ถนัด ทำมาตั้งแต่ ยุคโชติช่วงชัชวาล เราต้องทำให้ดีและไม่แพ้ใครในโลก ขณะเดียวกันเราต้องสร้างสมดุลเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน”

การสร้างความสมดุลระหว่างการทำธุรกิจหลักคือ แก๊สธรรมชาติและน้ำมัน จึงถือเป็นความท้าทายของ ปตท. แต่ด้วยระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน และเพื่อทำให้เกิดการลงทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภค ปตท.จึงอยู่ระหว่างการทบทวนกรอบระยะเวลา (Time Line) ของการดำเนินการที่ยังมุ่งไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ปี 2050

“เรากำลังทบทวนว่าเป้าหมายปี 2050 จะมีรายละเอียดดำเนินการอย่างไร ถึงจะเหมาะสม อาจจะเร็วหรืออาจจะช้าด้วยต้นทุน และอาจจะเร็วบ้างนิดหน่อยกับบางบริษัทในกลุ่ม ซึ่งเรากำลังทบทวนเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในกลุ่มบริษัทของเรา”

ดร.คงกระพันบอกว่ากำลังปรับ Portfolio องธุรกิจหลักในกลุ่มปตท. ทั้งแก๊สธรรมชาติ น้ำมัน และ ปิโตรเคมี  โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)ให้ต่ำลงเรื่อยๆ คาดว่าจะลดคาร์บอนฯได้ประมาณ 30% ในปี 2030

“แม้วิธีเก็บคาร์บอนที่ดีที่สุดคือการปลูกป่า และเราได้ปลูกไปแล้ว 2 ล้านไร่ แต่ขณะนี้ไม่มีพื้นที่ปลูกป่าเพิ่ม และต้องปปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานด้วยการนำพลังงานสะอาดมาใช้  ขณะที่กลุ่ม GPSC ต้องลดการปล่อยคาร์บอนลง ไม่ใช้ถ่านหินและใช้พลังงานทดแทน/ไฮโดรเจนมากขึ้น รวมถึงการไฟฟ้าจากปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR ”

นอกจากนี้กลุ่มปตท.ตั้งเป้าหมายเดินไปสู่ Net Zero ปี 2050 ด้วยการลงทุนใน 2 โครงการหลักคือ 1.พัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 2.โครงการพัฒนาไฮโดรเจน ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีและต้นทุนที่สูง ทำให้ในเบื้องต้นจะนำเข้าไฮโดรเจน โดยคาดว่าจะนำเข้ามาใช้ได้หลังจากที่รัฐกำหนดสัดส่วนไฮโดรเจนในแผนพลังงานแห่งชาติในปี 2030

ดร.คงกระพันกล่าวว่าเรื่อง CCSไม่ได้ตั้งเป้าหมายแค่การลดคาร์บอนในกลุ่ม ปตท. แต่ยังหมายถึงภาพรวมของเป้าหมายประเทศ ซึ่งปตท.จะเป็นตัวหลักในการเริ่มต้น โดยจะให้บริการกับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้งหมด ที่ต้องการจัดเก็บคาร์บอน

“ความเป็นไปได้ในการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ตามเป้าหมาย ต้องมีโครงการ CCS  ดังนั้น ปตท.จะเป็นคนเก็บและทำ CO2 ให้เป็นของเหลว ใส่ท่อวิ่งไปที่มีหลุมแก๊สที่เอาแก๊สมาใช้หมดแล้ว เพื่อเอา CO2 ไปเก็บไว้ โดยขณะนี้เรื่องเทคโนโลยีในต่างประเทศทำได้แล้วเหลือเพียงแค่กฎหมายที่ต้องรอภาครัฐมากำหนด”

นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

เดินหน้า 3 กลยุทธ์สร้างความยั่งยืน

นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของ ปตท.คือ “แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย” และ “เติบโตในระดับโลก” อย่างยั่งยืน ดังนั้น กุญแจสำคัญคือ ความยั่งยืน ปตท.จึงต้องเดินหน้าทำธุรกิจคู่กับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์คือ

  1. ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Reilience Business โดยปรับ portfolio ลดการใช้ฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และบริหารจัดการด้านต้นทุน
  2. ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business รวมถึงผนึกพันธมิตรธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีในการลดคาร์บอน เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าให้เป็น Green Energy
  3. การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All การพัฒนาโครงการการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรม ตามแผน PDP ฉบับใหม่ สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า

นายรัฐกรกล่าวว่าโครงการ CCS จะดำเนินการทั้งซัพพลายเชน ซึ่งกลุ่ม ปตท.มีการปล่อยคาร์บอนประมาณ 50 ล้านตันต่อปี จึงต้องหาเทคโนโลยีในการเก็บคาร์บอน เบื้องต้นมองว่าจะสามารถกักเก็บประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ส่วนจะเชิงพาณิชย์จะต้องใช้เวลามาก โดยคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นหลังปี 2035

สำหรับปัญหาของการทำ CCS ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายในการสนับสนุนการวิจัยและศึกษาเพื่อสำรวจพื้นที่ใต้ทะเลจากรัฐบาล ดังนั้นรัฐจะต้องออกกฎระเบียบให้ชัดเจนรวมถึงงบประมาณ เพื่อให้เอกชนได้เดินหน้าศึกษาและลงทุน และหลังจากนั้นเมื่อดูโมเดลเสร็จ จึงสามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือทั้งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่บ้างแล้ว

ส่วนโครงการไฮโดรเจนเพื่อภาคอุตสาหกรรมอาจจะยังไกล โดยวันนี้กลุ่ม ปตท.จะยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ในปริมาณหลัก แต่วันที่ไฮโดรเจนมีราคาต่ำลงและเทียบเท่ากับ Natural Gas วันนั้นจะมีการใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น เพราะไฮโดรเจนเผาไหม้โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลย โดยต้นทุนเบื้องต้นต่อหน่วยของไฮโดรเจนเมื่อเทียบกับการใช้ Natural Gas อยู่ที่ 4-5 เท่า

นายรัฐกร กล่าวว่า ในระยะสั้นเรายังผลิตไม่ได้เพราะต้นทุนยังสูง จะนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับ Natural Gas 5% ตามแผน PDP ซึ่งมองว่าการส่งมาจากอินเดียจะคุ้มกว่า โดย PTT trading การนำเข้ามาในรูปแบบแอมโมเนีย สามารถนำไปบริหารจัดการที่โรงไฟฟ้าถ่านหินได้ทันที ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจน คือ การส่งแอมโมเนียไปที่โรงไฟฟ้าถ่านหินโดยตรง หรือนำเข้าแอมโมเนียมาเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนและส่งไปให้โรงไฟฟ้า ซึ่ง ปตท. อยู่ระหว่างศึกษาทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อทำให้ไทยเป็น International Gas

อย่างไรก็ตาม นายรัฐกร กล่าวว่าทั้ง CCS และ ไฮโดรเจน เป็นหนทางทำให้กลุ่ม ปตท. และประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยรัฐบาลต้องสนับสนุน ออกนโยบายต่างๆ เพื่อเปิดทางให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดข้อกฎหมาย เช่น การดำเนินการเรื่อง CCS ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำการสำรวจพื้นที่ใต้ทะเล ดังนั้น จึงจะต้องออกกฎระเบียบให้ชัดเจน รวมถึงงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้เอกชนได้เดินหน้าศึกษาและลงทุนได้