ThaiPublica > คนในข่าว > เปิดเรื่องเล่า “ภารกิจ” ช่วยคนไทยตกทุกข์ในต่างแดน หลากปัญหาร้อยเรื่องราว

เปิดเรื่องเล่า “ภารกิจ” ช่วยคนไทยตกทุกข์ในต่างแดน หลากปัญหาร้อยเรื่องราว

9 มีนาคม 2025


เปิดเรื่องเล่า “ภารกิจ” ช่วยคนไทยตกทุกข์ในต่างแดน หลากเรื่องราว ร้อยปัญหา เผยคนไทยบางส่วนอ้างถูกแก๊งมิจฉาชีพประเทศเพื่อนบ้านหลอก ความจริงตั้งใจไปทำงาน แต่ทำรายได้ตามเป้าไม่ได้/บางรายทำรายได้เก็บเงินได้มากพอแล้ว ร้องขอกลับไทย ขณะที่ปัญหาค้าประเวณีในตะวันออกกลางและยุโรปเพิ่มขึ้นจนภาพลักษณ์หญิงไทยตกต่ำอีกครั้ง แนะคนไทยศึกษาข้อมูลก่อนเดินทาง ‘ไปแล้วต้องรอด’

นายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ

ขณะสังคมกำลังสนใจการให้ความช่วยเหลือ “เหยื่อค้ามนุษย์” หรือเหยื่อมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ความช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนมาจากหน่วยงานไหน หรือมีเบื้องหลังเรื่องเล่าอย่างไร

“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้พูดคุยกับ “อำนาจ พละพลีวัลย์” ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ถึงเรื่องเล่าเบื้องหลังภารกิจช่วยคนไทยในต่างประเทศว่า งานช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนเป็นไปตามตามอนุสัญญาเจนีวาของสหประชาชาติ ซึ่งเดิมงานช่วยเหลือเป็นงานภายใต้กงสุลใหญ่ แต่เมื่อมีคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศมากกว่า 1 ล้านคน และคนไทยเริ่มเดินทางไปทั่วโลกมากขึ้น ทำให้งานช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ แยกออกมาตั้งเป็นกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ

“งานช่วยเหลือคนไทยเกิดขึ้นภายใต้อนุสัญญาเจนีวาในการให้การคุ้มครองคนไทย ซึ่งคนไทยอาจจะไม่คุ้นเคย แต่เป็นหลักข้อตกลงระหว่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการตั้งสหประชาชาติ เป็นส่วนหนึ่งเรื่องของงานกงสุล นอกจากออกวีซ่าแล้ว ก็มีเรื่องให้การคุ้มครองคนในชาติ”

การดำเนินการช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนจึงเกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะเข้าไปช่วยเหลือทุกเรื่องที่คนไทยในต่างประเทศร้องขอมา ตั้งแต่การถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงาน ไปทำงานแล้วไม่ตรงปก ตามหาคนหาย หรือแต่งงานกับชาวต่างชาติแล้วถูกรังแก และถูกใช้ความรุนแรง หรือแม้กระทั่งแรงงานที่เดินทางเข้าประทศผิดกฎหมาย โดยจะเข้าไปดูแลหลังจากที่กฎหมายประเทศนั้นดำเนินคดีแล้วเสร็จ

“ความช่วยเหลือเกิดขึ้นทุกเรื่อง ตั้งแต่เดินทางไปต่างประเทศกระเป๋าตังค์หาย ถูกโจรกรรมเอกสาร ถูกทำร้าย เหยื่อค้ามนุษย์ แรงงานผิดกฎหมาย เช่น ที่เกาหลีใต้มีแรงงานที่ผิดกฎหมายมากถึง 3 เท่า โดยจะเข้าช่วยเหลือภายใต้กรอบกฎหมายของประเทศนั้นๆ ก่อน”

อ้างว่าถูก “แก๊งมิจฉาชีพ” หลอก

เรื่องเล่าความช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนจึงมีหลากหลาย โดย “อำนาจ” บอกว่า ปัญหาของคนไทยในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน เช่น ปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านตลอดชายแดนไทย กัมพูชา เมียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องมิจฉาชีพ สแกมเมอร์ และร้องขอมาเพื่อให้กงสุลช่วยเหลือ

“เราพบว่าส่วนใหญ่ที่บอกว่าเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ โดยอ้างว่าถูกหลอกหรือไม่เพราะทุกคนที่เดินทางไปทำงานรู้ว่าจะไปทำอะไร แต่พอไปถึงอาจจะทำงานได้ไม่ถึงเป้าหรือทำยอดให้ไม่ได้ต้องการกลับเมืองไทย หรือบางรายอาจจะสร้างรายได้เพียงพอแล้ว ไม่ต้องการทำงานต่อ และต้องการกลับเมืองไทย ก็จะร้องขอมาที่เราเพื่อขอให้เข้าไปช่วยเหลือ”

ปัญหาในเพื่อนบ้านจะเป็นวงจรซ้ำๆ เช่น ย้ายจากเมียนมามาที่กัมพูชา เมื่อมีปัญหาการกวาดล้างจับกุม แก๊งมิจฉาชีพจะย้ายสลับการดำเนินการ ขณะที่ในฝั่งของคนไทยเองก็จะเป็นปัญหาที่เป็นวงจรเช่นกัน โดยในช่วงใกล้ปิดเทอม เราจะพบว่ามีน้องเยาวชนเดินข้ามไปทำงานปอยเปต แล้วสถานทูตของเราก็ต้องไปช่วยเหลือออกมา และเป็นวงจรซ้ำแล้วซ้ำอีก

สำหรับประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ จะมีปัญหาเรื่องของลักลอบทำงาน ฟิลิปปินส์มีปัญหาสแกมเมอร์ ขณะที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีปัญหาเรื่องทำงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเกาหลีใต้มีปัญหาแรงงานผิดกฎหมายมากกว่าถูกกฎหมายถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ ในช่วงหลังทั้ง 3 ประเทศเริ่มมีประเด็นเรื่องยาเสพติดและการค้าประเวณีมากขึ้น โดยในช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี มีรายงานเรื่องคนไทยถูกจับเรื่องยาเสพติดมากขึ้น โดยมีการลักลอบนำเข้ากัญชากับแอมเฟตามีน ทำให้ถ้าญี่ปุ่นจับคนไทยได้อันดับแรก จะตรวจปัสสาวะทันที เพราะเริ่มมีปัญหาเรื่องการขนยาเสพติด ขณะที่ปัญหาเรื่องค้าประเวณีผิดกฎหมายทั้ง 3 ประเทศ ทำได้ง่าย เนื่องจากฟรีวีซ่าทำให้สามารถวิ่งเข้าออกได้ทุก 15 วัน

ปัญหาค้าประเวณีพุ่ง ภาพลักษณ์ไทยตกต่ำ

ส่วนปัญหาในประเทศอินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกายังเป็นปัญหาเรื่องของการค้าประเวณีทั้งหญิงและชาย เพราะในแอฟริกานิยมผู้ชายไทย แต่ปัญหาในตะวันออกกลาง คนไทยที่ตกทุกข์ต้องแจ้งขอความช่วยเหลือด้วยด้วยตัวเอง ทำให้ขั้นตอนความช่วยเหลือล่าช้าเพราะคนไทยพูดภาษาเหล่านั้นไม่ได้ ทำให้แจ้งขอความช่วยเหลือไม่ได้

“ที่ผ่านมามีข่าวว่าสถานทูตไม่ช่วย ซึ่งความจริงเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย เพราะเจ้าตัวต้องแจ้งเอง แม้ว่าสถานทูตจะพยายามทำภาษาคาราโอเกะ เวลาโทรไปให้พูดแบบนี้ แต่บางคนก็ยังไม่ถูกใจว่าทำไมสถานทูตไม่สามารถแจ้งได้ ซึ่งเราก็พยามอธิบายว่าตามกฎหมายของเขาคนไทยต้องแจ้งเอง”

อย่างไรก็ตาม การค้าประเวณีทั้งชายและหญิงของไทยมีมากขึ้นทั้งในอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป รวมไปถึงแอฟริกา ทำให้ภาพพจน์ของผู้หญิงไทยกลับมาตกต่ำอีกครั้ง

“ถ้าเป็นโซนยุโรป ลักษณะการค้าประเวณีจะเป็นผู้หญิงที่เคยแต่งงานกับฝรั่งแล้วหย่า และได้สถานะเรียบร้อยแล้ว ไม่ค่อยมีการรายงานมายังสถานทูต โดยลักษณะการค้าจะเป็นแบบทัวร์ประเทศต่างๆ ทั้งยุโรป ทัวร์ไปเรื่อยๆ”

ปัญหาการค้าประเวณีของผู้หญิงไทยเริ่มกลับมาอีกครั้ง จนทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงไทยตกต่ำลงในรอบหลายปี โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากประเทศสแกนดิเนเวีย เรื่องร้านนวดไทย โดยเปิดเผยข้อมูลเรื่องค้าประเวณี จนเป็นข่าวใหญ่ในยุโรป

“ปัจจุบันต้องบอกว่าชื่อเสียงของผู้หญิงไทยในต่างประเทศกลับมาตกต่ำเหมือนในอดีต ขณะนี้มีผู้หญิงไทยออกไปค้าประเวณีมากขึ้นในทั่วโลก ทำให้ผู้หญิงไทยในต่างประเทศค่อนข้างตกต่ำมาก”

เผยหญิงไทยในยุโรป โรคซึมเศร้าสูง

ส่วนปัญหาคนไทยในยุโรป เป็นเรื่องผู้หญิงไทยที่ไปแต่งงานกับฝรั่งแล้วมีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าจำนวนมาก เนื่องจากไปแต่งงานแล้วไปอยู่ชนบท ขณะที่สื่อสารไม่ได้เพราะไม่สามารถพูดภาษาเขาได้ ทำให้สถานทูตต้องจัดงบประมาณเพื่อจัดโครงการให้พูดคุยกับจิตแพทย์

“เรื่องการปรับตัวโดยเฉพาะเรื่องภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ ถ้าสามีดีก็จะช่วยพยุงกันไปได้ แต่ถึงสามีจะดี แต่การที่อยู่ห่างไกลอยู่ในชนบท ในวันธรรมดาสามีต้องไปทำงานแต่ตัวเองก็ต้องอยู่กับบ้าน ซึ่งในเมืองที่มีคนไทยเยอะเราทำโครงการพบจิตแพทย์เพื่อให้ได้พูดคุยกับหมอ จะได้แนะนำเรื่องการขอความช่วยเหลือหรือการดูแลตัวเอง เพราะเวลาไม่สบายแล้วต้องไปหาหมอ ถ้าไม่ได้ภาษาก็จะลำบากมาก”

ปัญหาผู้หญิงไทยถูกหลอกในยุโรปมีน้อยมาก แตกต่างจากแถบแอฟริกา ไนจีเรีย ซึ่งพาผู้หญิงไทยไปอยู่ด้วย และให้ผู้หญิงไทยขนยาเสพติด โดยในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงไทยถูกจับเพราะขนยาเสพติดให้สามีและคนรู้จักจำนวนมากขึ้น

ในมุมกลับกัน ผู้หญิงไทยไปหลอกชาวต่างชาติก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศจีนที่ต้องการแต่งงานกับผู้หญิงไทยเพื่อหาผู้สืบสกุล โดยแต่งงานผ่านนายหน้าทั้งในไทยและจีน แต่ภายหลังพบว่า ผู้หญิงไทยไม่สามารถมีลูกให้ได้ และเคยแต่งงานแล้ว

“ผู้ชายจีนส่วนใหญ่ที่ต้องการผู้สืบสกุลจะอยู่ในชนบท จ่ายเงินหลายแสนหยวนเพื่อให้ได้แต่งงานกับผู้หญิงไทย เพื่อให้ผู้หญิงไทยมีลูกให้ แต่พบว่าไม่สามารถมีลูกได้และเคยแต่งงานมาก่อน อันนี้เป็นปัญหาที่ผู้หญิงไทยต้องคืนค่าสินสอด ซึ่งผู้หญิงไทยบางคนก็หนีเลย แต่สถานทูตเราก็ให้ความช่วยเหลือ เพราะถ้าหนีโดยไม่ได้หย่า ผู้ชายจีนคนนั้นก็ไม่สามารถแต่งงานใหม่ได้”

ปัญหา “ผีน้อย” ในเกาหลีใต้ยังสูง

ส่วนในเรื่องการลักลอบทำงานหรือแรงงานผิดกฎหมาย ยังคงมีในหลายประเทศทั้งในมาเลเซีย สิงค์โปร์ แต่ที่ยังเป็นปัญหามากในเกาหลีใต้ เนื่องจากมีแรงงานไทยที่ไปทำงานเกาหลีใต้ 2 แสนคน แต่ผิดกฎหมายมากถึง 1.5 แสนคน

ความช่วยเหลือคนไทยในเกาหลีใต้ จึงเป็นเรื่องของความช่วยเหลือแรงงานที่เดินทางไปทำงานผิดกฎหมาย แม้ว่าจะมีสำนักงานแรงงานไทยในเกาหลี แต่ก็จะดูแลแรงงานที่ถูกกฎหมายเท่านั้น ทำให้กองคุ้มครองแรงงานเข้าไปดูแลแรงงานที่ผิดกฎหมาย และทำหน้าที่ไม่ต่างจากกระทรวงแรงงาน ด้วยการให้ความช่วยเหลือแรงงานเหล่านั้น

“สมมติว่ามีแรงงานผิดกฎหมายแอบหลบหนีเข้าเมืองไป ร้องขอมาว่าอยากจะกลับเมืองไทย เราจะให้ความช่วยเหลือ แต่จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในประเทศนั้นก่อน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะต้องดำเนินคดีในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ยกเว้นว่าถ้าถูกหลอกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราจะไม่ทำอะไรที่ขัดต่อกฎหมายของประเทศนั้น ถ้าเขาทำทุกอย่างเสร็จภายในกรอบกฎหมายของเขา แล้วเราจะทำหน้าที่ส่งตัวกลับมาเมืองไทย

ส่วนถ้าคนไทยทำผิด และติดคุกอยู่ในต่างประเทศ “อำนาจ” บอกว่าจะเข้าไปเยี่ยมถามสารทุกข์สุกดิบ หรือถ้าคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมทางคดีจะให้คำแนะนำทางคดี และถ้าศาลตัดสินเรียบร้อยแล้วถูกจำคุกไปบางส่วนแล้ว หากอยากกลับมารับโทษในเมืองไทย สถานทูตจะให้ความช่วยเหลือ แต่เจ้าตัวต้องร้องขอและต้องดำเนินเรื่องในคุกเอง โดยเราจะคอยช่วยติดตามเรื่องให้

“การให้ความช่วยเหลือต้องขึ้นอยู่กับว่า ประเทศไทยกับประเทศนั้นนั้นมีความร่วมมือระหว่างกันหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเราจะเข้าไปช่วยเหลือได้ทุกประเทศ เช่น ในกรณีแรงงานที่เดินทางกลับมาแล้ว ทั้งแรงงานที่ไปแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง ถ้าต้องการจะติดตามสิทธิประโยชน์เงินค้างจ่ายของนายจ้างในต่างประเทศ เราก็ช่วยตามให้”

ยึดเป็นแนวปฏิบัติช่วยเหลือคนไทยทุกคน

แม้ความช่วยเหลืออาจจะดูเป็นเรื่องจิปาถะเพราะให้ความช่วยเหลือทุกเรื่อง แต่ถือเป็นแนวปฏิบัติของประเทศไทยที่ต้องการดูแลคนไทย ถ้าคนไทยตกทุกข์ได้ยากก็สามารถร้องขอมาที่กระทรวงฯ ได้ และจะเข้าไปช่วยดูแลติดตาม

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการช่วยเหลือ ทั้งเรื่องเจ็บป่วยในต่างประเทศ หรือเสียชีวิตในต่างประเทศ หากไม่มีค่าใช้จ่าย สถานทูตก็เข้าไปช่วยดูแลค่าใช้จ่าย แต่จะต้องลงนามในสัญญารับสภาพหนี้ที่สถานทูตกงสุลใหญ่ โดยสามารถผ่อนจ่ายไม่มีดอกเบี้ย

“เรามีงบประมาณช่วยเหลือ โดยตั้งงบประมาณปีละ 25 ล้านบาท ซึ่งใช้ในการช่วยเหลือคนไทย เช่น ค่าเดินทางหากเจ็บป่วยในต่างประเทศ เสียชีวิต โดยช่วยค่าใช้จ่ายแบบไม่มีดอกเบี้ย สามารถผ่อนจ่ายภายหลังได้”

อย่างไรก็ตาม แนวปฏิบัติดังกล่าว ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้ยึดถือแบบประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องเงินกู้ยืม ประเทศพัฒนาแล้วไม่มีกองทุนให้กู้ยืม เพราะเขาถือว่าคุณเลือกที่จะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องดูแลตัวเองให้รอด หรือบางประเทศจะให้กู้ยืมในกรณีที่เรียกว่าเดือดร้อนจำเป็นจริงๆ แต่ประเทศไทยถือว่าดูแลคนไทยด้วยกัน

ความช่วยเหลือต้องอยู่ในกรอบกฎหมายของประเทศนั้นๆ และเจ้าตัวต้องร้องขอความช่วยเหลือมาด้วยตัวเอง ทำให้การดำเนินการช่วยเหลือในหลายกรณี หากถูกดำเนินคดี ประเทศต้นทางก็ต้องดำเนินคดีให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะสามารถพากลับไทยได้ ทำให้ความช่วยเหลืออาจจะล่าช้าจนถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อโซเชียลและกลายเป็นประเด็น แต่ยืนยันว่ามีความพยายามช่วยเหลือ ซึ่งขั้นตอนขึ้นอยู่กับกรอบกฎหมายของประเทศต้นทาง

“การขอความช่วยเหลือต้องเป็นเจ้าตัวร้องขอเข้ามาไม่ใช่ญาติ กรณีถูกจับในต่างประเทศ ญาติแจ้งมาที่กระทรวงการต่างประเทศ แต่เจ้าตัวไม่ร้องขอเราก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ทำได้แค่สอบถามรายละเอียดเท่านั้น ซึ่งในแถบตะวันออกกลาง กระทรวงต่างประเทศทำภาษาคาราโอเกะให้เจ้าตัวพูดตามในการร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อให้กระทรวงเข้าไปช่วยเหลือได้”

ส่วนการเข้าไปช่วยเหลือในแต่ละประเทศก็มีความยากง่ายแตกต่างกัน “อำนาจ” บอกว่า กรณีประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา ในช่วงปลายปี2566 ได้เข้าช่วยเหลือคนไทย 151 คนที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ที่เมืองเล่าก์ก่าย ชายแดนเมียนมา และจีน ซึ่งจะมีความซับซ้อนเนื่องจากเป็นเขตชนกลุ่มน้อยกลุ่มว้าแดงของเมียนมา รัฐบาลเมียนมาเองก็ยังเข้าไปไม่ถึงพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน เช่นเดียวกับกรณีล่าสุด แก๊งมิจฉาชีพเมืองชเวก๊กโก ซึ่งเป็นของชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงของเมียนมา จะมีหลายขั้นตอนทำให้ความช่วยเหลือล่าช้า

“กรณีเมียนมา การเข้าไปช่วยเหลือจะซับซ้อนมากกว่า เพราะมีความหลากหลายของชนกลุ่มน้อย ถ้าเป็นพื้นที่ชนกลุ่มน้อยรัฐบาลเมียนมาก็ไม่สามารถเข้าไปได้ทันที เขาต้องประสานกับชนกลุ่มน้อยของเขา ทำให้มีหลายชั้นมากกว่า ทำให้กรณีของเมียนมาอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า”

ขณะที่คนไทยที่ไปเป็นสแกมเมอร์ในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เมียนมา ก็ใช้กระบวนการขอความช่วยเหลือกับสถานทูตเป็นช่องทางในการกลับประเทศ ซึ่งพบว่ามีคนที่ถูกหลอกไปทำงานมิจฉาชีพจริง ขณะที่คนที่รับรู้ว่าไปทำงานมิจฉาชีพแต่เดินทางไปก็มีจำนวนมาก

“คนที่ถูกหลอกเขาพยายามหนี แต่ก็มีบางคนที่บอกว่าฉันถูกหลอก แต่อยู่มาประมาณ 6 เดือนแล้วเพิ่งมาขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะพวกสแกมเมอร์ที่มีรายได้ มาทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งเรียบร้อยแล้ว อยากกลับมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็ติดต่อผ่านมาทางสถานทูต เราก็ต้องช่วย แตกต่างจากกฎหมายจีน สแกมเมอร์ทุกคนผิดกฎหมาย จะหลอกไม่หลอกทุกคนถือเป็นคนผิดหมดแล้วแล้วค่อยมาพิสูจน์ทีหลัง”

แอปพลิเคชัน Thai Consular

คนไทยไปต่างประเทศต้องอยู่ให้รอด

“อำนาจ” บอกว่า อยากให้คนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศมีข้อมูล และสามารถอยู่รอดได้ เพราะอาชญากรรมมีทุกรูปแบบ ขณะที่คนไทยอาจจะเชื่อง่าย บางครั้งอาจจะได้ข้อมูลจาก TikTok, Facebook ก็เชื่อและไม่สนใจข้อมูลอีกด้านหนึ่ง

“ปัญหางานไม่ตรงปกในตะวันออกกลางมีเยอะขึ้น แล้วต้องบอกว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง ฝั่งโน้นเขาก็ไม่ได้เข้มงวดกับวีซ่า เข้าออกง่ายทำให้ปัญหาไม่จบ ขณะที่เกาหลีเรื่องผีน้อย แม้จะมีโครงการว่าให้แรงงานผิดกฎหมายมารายงานตัวแล้วไม่ผิดกฎหมายและไม่เสียค่าปรับ มีคนไทยออกมาเยอะมาก แต่ก็ยังเหลือแรงงานผิดกฎหมายประมาณ 1.3 แสนคน”

ส่วนคำแนะนำสำหรับคนไทยที่ไปต่างประเทศ “อำนาจ” บอกว่าอยากให้ติดตามข้อมูลรอบด้าน และที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศพยายามให้ข้อมูลผ่านโซเชียลทั้ง TikTok, Facebook มีอินโฟกราฟิก เพราะอยากเห็นคนไทยเดินทางต่างประเทศแล้วสามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือเอาตัวให้รอดได้

“กงสุลในแต่ละประเทศจะมีทั้งเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน SOS ขอความช่วยเหลือ แจ้งพิกัดว่าคนไทยตกอยู่ตรงไหน เพราะถ้าแจ้งตำแหน่งว่าอยู่ตรงไหนเราจะสามารถช่วยได้”

อยากแนะนำให้ลงทะเบียนแอปพลิเคชัน Thai Consular ก่อนเดินทาง เพื่อใช้ในการติดตามข้อมูลข่าวด่วน เตือนภัย สายด่วนสถานทูตทั่วโลก และข้อมูลบริการงานของกรมการกงสุล หรือขอความช่วยเหลือหากมีปัญหาในต่างประเทศ

“ผมอยากให้โหลด Thai Consular เอาไว้เผื่อไปทำงานตกทุกข์ได้ยากจะได้ติดต่อสถานทูตได้ แต่ถ้าไม่มีปัญหาแอปก็อยู่ในมือถือ ไม่ได้เสียหายอะไรถ้าโหลดทิ้งเอาไว้ นอกจากนี้ สามารถติดตามข้อมูลหรือติดต่อสถานทูตผ่าน Facebook เพราะทุกสถานทูตในแต่ละประเทศจะมี Facebook อยู่แล้วเพื่อแจ้งเตือนและติดต่อกับคนไทย จึงอยากให้คนไทยมีข้อมูลก่อนเดินทาง เพื่อจะช่วยเหลือตัวเองได้ “