Hesse004

ช่วงเดือนที่ผ่านมา เวลาเข้าร้านหนังสือ ผมมักแวะไปดูหนังสือแนว self improvement ที่แม้ว่าจะอ่านผ่านตามาหลายเล่มแล้ว
แต่ท้ายสุด ผมมาถูกจริตกับปรัชญา Stoic และปรัชญาต่างๆ ของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเรื่องอิคิไก (ikigai) หรือ วาบิ ซาบิ (wabi-sabi)
ล่าสุดผมสะดุดตากับหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “คินสึงิ” Kintsugi (金継ぎ) ของ Celine Santini
ว่ากันว่า คินสึงิคือศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนเศษซากของภาชนะที่แตกสลาย ให้กลายเป็นงานศิลป์ที่มีคุณค่ามากกว่าเดิม
คินสึงิไม่ได้เป็นแค่ศิลปะการซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผา แต่ยังเป็น “ปรัชญาชีวิต” ที่สอนให้เรายอมรับความไม่สมบูรณ์ (wabi-sabi) และเปลี่ยนความบอบช้ำให้กลายเป็นพลังแห่งการเติบโต

เมื่อประวัติศาสตร์เล่าถึงการแตกสลาย… ย่อมมีเรื่องราวของการซ่อมแซมตามมา
ภาษาสมัยนี้ เค้าเรียก resilence บ้าง recovery บ้าง
คินสึงิเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เมื่ออาชิคางะ โยชิมาสะ โชกุนแห่งญี่ปุ่นส่งถ้วยชาอันทรงคุณค่าไปที่ประเทศจีนเพื่อซ่อมแซม
แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เมื่อมันถูกส่งกลับมาท่านโชกุนถึงกับ “อึ้ง” เพราะช่างจีนดันซ่อมด้วยวิธีเย็บโลหะที่หยาบกระด้างจนไม่เหลือเค้าความงาม
แปลง่ายๆ คือ ซ่อมแบบขอไปที
เหตุการณ์นี้ทำให้โชกุนหันกลับมาบอกช่างฝีมือญี่ปุ่นให้ช่วยคิดค้นวิธีการซ่อมแซมใหม่
ช่างญี่ปุ่นใช้ยางไม้แลกเกอร์ (urushi) ผสมกับผงทอง (kin) เงิน หรือแพลทินัม กลายเป็นคินสึงิ ซึ่งแปลว่า “ทองที่เชื่อมต่อรอยร้าว”
ไม่เพียงแค่ซ่อมแซมเครื่องปั้นดินเผา แต่ยังสร้างคุณค่าใหม่ขึ้นใหม่ให้กับถ้วยที่แตกไปแล้วอีกด้วย
“รอยแตก” เหล่านั้นกลายเป็น “เส้นทอง” แห่งความทรงจำและประวัติศาสตร์ ที่ยิ่งแตกลายงามากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงถึงเรื่องราวแห่งการอยู่รอดและความแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น
…เขียนมาถึงตรงนี้ นึกถึงคำที่ว่า “อะไรที่มันไม่ได้ทำให้เราตาย มันจะทำให้เราเติบโตขึ้น”

คินสึงิเป็นกระบวนการเยียวยาที่มากกว่าการซ่อมแซม ซึ่งสามเรื่องที่สาวกคินสึงิยึดถือไว้ คือ
หนึ่ง…ยอมรับความบกพร่อง (Acceptance of Imperfection)
คินสึงิสะท้อนแนวคิดวาบิ-ซาบิ ที่ให้ความสำคัญกับความไม่สมบูรณ์และความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่ง
ชีวิตเราก็เช่นเดียวกัน… เราทุกคนต่างมีรอยร้าวจากความผิดหวัง ความสูญเสีย และความเจ็บปวด… แต่จะมีสักกี่คนที่ยอมรับและเห็นคุณค่าในรอยร้าวนั้น
สอง… รอยร้าว คือ ร่องรอยแห่งความเข้มแข็ง (Scars as Strength)
เส้นทองที่เชื่อมต่อรอยแตกไม่ได้แค่ปกปิดร่องรอยของความเสียหาย แต่กลับย้ำให้เห็นชัดเจน
… เช่นเดียวกับชีวิตที่ผ่านพ้นความทุกข์ยากมา เราไม่จำเป็นต้องซ่อนบาดแผลทางใจ แต่ควรภูมิใจในความสามารถที่จะเยียวยาและเติบโต
สาม… ความเสียหายไม่ได้ทำลายคุณค่า (Damage Does Not Diminish Value)
“อะไรที่ไม่ทำให้เราตาย มันจะทำให้เราโตขึ้น”
คินสึงิสอนให้เราเห็นว่าการแตกสลาย ไม่ใช่จุดจบ กลับกัน มันคือโอกาสสร้างสรรค์ แสวงหาคุณค่าใหม่ ในชีวิต
…เมื่อเราเรียนรู้จากความผิดหวัง เราจะกลายเป็นคนอีกคนหนึ่ง
“งดงามขึ้นเพราะเคยแตกสลาย”
ชีวิตเราเปราะบางไม่ต่างจากเครื่องปั้นดินเผา ความผิดหวังจากความรัก ความล้มเหลวในความฝัน ความผิดพลาดในการทำงาน หรือแม้แต่ความสูญเสียจากการพลัดพราก ล้วนเป็นรอยร้าวที่ทิ้งร่องรอยไว้ในใจ
คินสึงิสอนเราว่า:
“อย่าซ่อนรอยร้าวเหล่านั้น”
“เปลี่ยนมันเป็นเส้นทางสู่การเติบโต” และ
“เติมเต็มความเจ็บปวดด้วยประสบการณ์และยอมรับ”
โลกที่เราถูกคาดหวังให้สมบูรณ์แบบ แต่คินสึงิกลับบอกเราว่า ความไม่สมบูรณ์นี่แหละที่ทำให้เรามี “เอกลักษณ์”
เมื่อมองในเชิงจิตวิญญาณ คินสึงิเปรียบเสมือนกระบวนการฝึกใจ
เมื่อใจสึกหรอจากความเจ็บปวด สิ่งแรกที่ต้องทำ คือยอมรับความจริง
…จากนั้นจึงค่อยๆ ซ่อมแซม ด้วยความเข้าใจ
สุดท้าย รอยร้าวในใจนั้นจะพาเราไปสู่ความสงบ
“ทุกบาดแผลที่เยียวยา คือ เส้นทางแห่งความแข็งแกร่ง
ทุกความเสียหายที่ซ่อมแซมได้ คือ บทเรียนชีวิตที่ทำให้เราเติบโต”
… อะไรที่ไม่ทำให้เราตาย มันจะทำให้เราโตขึ้น
ผู้สนใจโปรดอ่านบทความเรื่อง Kintsugi ของ Terushi Jo ใน https://www.bbc.com/travel/article/20210107-kintsugi-japans-ancient-art-of-embracing-imperfection