หลังวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น สาธารณภัยหรืออุบัติภัย ตั้งแต่เหตุการณ์กราดยิงในสยามพารากอน(3 ต.ค. 2566) อุทกภัยภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ (ตั้งแต่ ส.ค. 2567) กระทั่งแผ่นดินไหว (28 มี.ค. 2568) ล้วนนำไปสู่คำถาม ทำไมประเทศไทยไม่มี ‘ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน’
ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast คือเทคโนโลยีแจ้งเตือนผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจะแจ้งเตือนเป็น SMS ให้ประชาชนรับรู้กรณีเกิดเหตุร้าย เหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติ หรือกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าสำคัญและมีผลกระทบในวงกว้าง
ระบบนี้ต่างกับการส่ง SMS แบบเดิมตรงที่ Cell Broadcast จะส่งข้อความโดยตรงไปยังผู้ใช้ที่อยู่ภายในอาณาเขตเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ในรูปแบบข้อความ Pop UP Notification ทำให้สามารถสื่อสารเจาะจงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ แต่ระบบ SMS จะต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ และส่งแบบหว่านเป็นวงกว้าง หรือกรณีที่ต้องการเจาะจงจะต้องใช้เวลา 15-20 นาทีในการประมวลผล
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ไม่ได้ให้อำนาจ ปภ. ในกรณีเหตุฉุกเฉิน (Emergency) โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ภัยพิบัติ อีกทั้งการแจ้งเตือนภัยหรือส่งข้อความแจ้งเตือนก็ไม่ครอบคลุมเช่นกัน
‘แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน’ ไร้อำนาจ ไร้เจ้าภาพ
เมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ประเทศไทยก็ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพรับเรื่องไปรายงาน และไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องแจ้งเตือน
ยิ่งกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐต่างเกรงกลัวและต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย กรณีสื่อสาร-แจ้งเตือนด้วย wording ที่ผิดเพี้ยน หรือสื่อสารผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือทำให้ประชาชนตื่นตูมโดยใช่เหตุ
การแจ้งเตือนอย่างทันท่วงทีจึงเป็นแค่ทางเลือกและไม่เป็นทางการตามกฎหมาย บางหน่วยงานมีช่องทางแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ขณะที่บางเหตุการณ์ก็มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS แบบวิธีที่ค่ายมือถือส่งข้อความเป็นรายเบอร์ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนผ่านช่องทางของหน่วยงานรัฐนั้นๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ
แม้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ดูเหมือนเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนมากที่สุด แต่ด้วยหน้าที่เทียบเท่า ‘กอง’ ภายใต้สังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องใหญ่ระดับประเทศ
อำนาจของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติก็สามารถเตือนภัยได้เพียง (1) หอเตือนภัย ในลักษณะเสียงไซเรนและคำพูด (2) สถานีถ่ายทอดสัญญาณ CSC โดยติดตั้งที่ อบต. หรือพื้นที่ราชการ เน้นเตือนเรื่องอุทกภัย (3) หอกระจายข่าวในชุมชน 674 แห่ง และ (4) ข้อมูลเครื่องรับสัญญาณ EVAC ติดตั้งที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด และศาลากลางจังหวัด
ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ก็มุ่งเน้นไปที่การให้อำนาจในการป้องกันและบรรเทาเมื่อสาธารณภัยมาถึง มีเพียงการเขียนกว้างๆ ถึงมาตรการป้องกันอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ปภ.ก็มีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชั่น THAI DISASTER ALERT ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
‘เร่งด่วน’ ใช้เวลาเกือบ 3 ปี Cell Broadcast ไม่เสร็จ
กระทั่งวันที่ 25 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีมติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ สาระสำคัญคือให้ ปภ. เป็นหน่วยงานหลักใช้ระบบ Cell Broadcast แจ้งเตือนสาธารณภัย
10 ตุลาคม 2566 (หลังเหตุการณ์กราดยิง) มีรายงานว่า ดีอี หารือกับสำนักงาน กสทช. วางแนวทางทำงานในการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง ทั้งระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือนด้วยระบบ SMS (แบบเดิม) และระยะปานกลางคือใช้ระบบ Cell Broadcast
5 ตุลาคม 2566 กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ร่วมทดสอบ ณ ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และ 26 ธันวาคม 2566 ดีอี ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (AIS TRUE NT) เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการระบบ
ต่อมาที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม ในวันที่ 26 มีนาคม 2567 สาระสำคัญคือมอบอำนาจให้ดีอีจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการแจ้งเตือนประชาชนตามกฎหมาย
25 มิถุนายน 2567 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมาย และเห็นชอบให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะในการพัฒนาระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม
ต่อมา 6 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น ได้แถลงข่าวแจ้งความคืบหน้าและรายละเอียด ผลสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568
13 สิงหาคม 2567 ครม. ได้กล่าวถึงการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชน (Cell Broadcast) กรณีที่มีการเกิดปัญหาต่างๆ เช่น การขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือแม่น้ำสายหลัก การกำจัดผักตบชวา การซ่อมแชมพื้นผิวถนนและสะพานที่ขาดหรือชำรุด ฯลฯ
14 สิงหาคม 2567 กสทช. อนุมัติงบให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการในส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE) และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รับผิดชอบด้านการเชื่อมต่อและระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง Cell Broadcast Entity (CBE) และ Cell Broadcast Center (CBC) รวมถึงการจัดการอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งเตือนภัยนี้
ตลอดจนอนุมัติกว่า 1 พันล้าน สำหรับการจัดทำและบำรุงรักษาระบบแจ้งเตือนภัยดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที
24 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งรัดระบบ Cell Broadcast Service (CBS) และมีรายงานว่าในไตรมาส 1/2568 จะทดสอบระบบ จะมีการวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถส่งเข้าไปได้ทุกหมายเลขที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ และพร้อมใช้งานจริงในไตรมาส 2/2568 แต่ในบางพื้นที่เท่านั้น
27 กันยายน 2567 ครม. เร่งรัดการดำเนินการใช้ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมและดินโคลมถล่มภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(ต้อง) พึ่งเอกชน
การทำงานของระบบ Cell Broadcast แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งภาครัฐและเอกชน
- ภาครัฐ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานหลักกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ส่งข้อความ และยืนยันความถูกต้อง โดยคณะทำงานส่วนนี้เรียกว่า ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ หรือ Cell Broadcast Entity (CBE) ส่วนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการระบบ Cloud Server ส่วนกสทช. เป็นผู้ออกกฎระเบียบ
- ภาคเอกชน โดย ผู้ให้บริการโครงข่ายผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนด ทำให้ประชาชนได้รับข้อความ
เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุด่วนเหตุร้ายในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องส่งข้อมูลให้ CBE ตัวอย่างเช่น เรื่องดินโคลนถล่มของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องฟ้าฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ และ CBE จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะแจ้งเตือนอย่างไร ด้วยข้อความใด รายละเอียดอย่างไร เมื่ออนุมัติแล้วจึงส่งให้กับค่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ทั้งสองค่ายใช้สถานีฐานกระจายข้อความแจ้งเตือนไปยังลูกค้าของตนเอง
AIS – True มูฟ โชว์ระบบ
อาจกล่าวได้ว่า Cell Broadcast คือโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและแจ้งเตือนภัยพิบัติของประเทศ แต่ระหว่างการผลักดัน Cell Broadcast ที่มีดีอีเป็นเจ้าภาพ ภาคเอกชนอย่าง AIS และ True ต่างรายงานและแถลงข่าวในลักษณะแข่งขันทางการตลาด เช่น ในการแถลงข่าวจะให้ข้อมูลว่าส่งข้อความให้กับลูกค้าในค่ายตัวเองเท่านั้น (พร้อมบอกจำนวนฐานลูกค้า), ทั้งสองรายมีห้องปฏิบัติการ Cell Broadcast Center (CBC), บางฟังก์ชั่นที่รายหนึ่งบอกว่ามี แต่อีกรายไม่ได้ให้ข้อมูลว่ามี นอกจากนี้ในการทดลองส่งข้อความด้วย Cell Broadcast ยังส่งให้เฉพาะลูกค้าค่ายนั้นๆ ทำให้สื่อมวลชนที่ใช้อีกค่ายไม่ได้รับข้อความ
เริ่มที่วันที่ 5 มีนาคม 2567 เป็นครั้งแรกที่ทั้งเอไอเอสและทรูทดสอบระบบ Cell Broadcast ที่สำนักงาน กสทช. โดยมีการยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์ระบบในเหตุการณ์กราดยิง รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วม เป็นต้น ทั้งนี้ในวันเดียวกัน เอไอเอสได้แถลงข่าวเปิดตัวระบบดังกล่าว
ทรู ได้แถลงข่าวเรื่องนี้ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 โดยโชว์ทดสอบ “LIVE – Cell Broadcast Service” พร้อมให้ข้อมูลด้านเทคโนโลยี และมีการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย) พร้อมชูหมัดเด็ดศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ BNIC พร้อมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทรู คอร์ปอเรชั่นใช้เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติ 24 ชั่วโมง
13 พฤศจิกายน 2567 ทรู สาธิตระบบเตือนภัยฉุกเฉิน พร้อมกรรมาธิการการสื่อสารฯ ร่วมทดสอบในพื้นที่จริง โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมคณะอนุกรรมาธิการ ชมศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้บริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ
19 พฤศจิกายน ดีอี ร่วมทดสอบระบบ Cell Broadcast ที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีทั้งเอไอเอส ทรูและเอ็นทีร่วมทดสอบระบบ
Cell Broadcast เตือนอะไรบ้าง
ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast สามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งาน
- การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert): การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
- การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert): การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น
- การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert): ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนหายหรือคนร้าย
- ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety): ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
- การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert): ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ
แผ่นดินไหว มี.ค.68 – ยังใช้ระบบ SMS
28 มีนาคม 2568 ประเทศไทยเผชิญกับแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์ ทำให้ Cell Broadcast ถูกเรียกร้องมากขึ้น และสำนักงาน กสทช. โดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ให้ข้อมูลว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้กำหนดข้อความ และส่งมายังสำนักงาน กสทช. ขอให้ประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือช่วยส่งข้อความสั้น (SMS ) แจ้งเตือนประชาชน
ดังนั้น หาก ปภ. ส่งข้อความมาล่าช้า หรือส่งข้อความหลายครั้งจำนวนมาก ก็จะทำให้การส่ง SMS มีความล่าช้าออกไปมากขึ้น เพราะระบบการส่ง SMS ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีข้อจำกัดจำนวนการส่งต่อครั้งไม่เกินประมาณ 200,000 เลขหมาย
พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ ปภ. ได้ส่งข้อความสั้นที่ต้องการให้ส่งต่อไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจำนวน 4 ครั้ง (1) เวลา 14.30 น. (2 และ 3) เวลา 16.00 น. จำนวน 2 ข้อความ และ (4) เวลา 16.30 น. ซึ่งสำนักงาน กสทช. ก็ได้ส่งข้อความต่อให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในทันที
ส่วนกรณีระบบเตือนภัย (Cell Broadcast) ผู้ที่เป็นหลักในการจัดทำระบบจัดหาผู้ดำเนินการ และผู้กำหนดข้อความ คือ ปภ. ส่วนสำนักงาน กสทช. เป็นเพียงผู้สนับสนุนงบประมาณ ซึ่งขณะนี้ทางด้านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือพร้อมในเรื่องระบบแล้ว เหลือรอระบบจาก ปภ. หากยังดำเนินการไม่ได้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ยังดำเนินการไม่ได้ เพราะระบบจะเชื่อมต่อกัน
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของ Cell Broadcast คืออยู่ระหว่างดำเนินการ
……………………
อนึ่ง ‘ไทยพับลิก้า” เคยสัมภาษณ์ ‘ไมตรี จงไกรจักร์’ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทและเอ็นจีโอ ผู้คร่ำหวอดด้านเครือข่ายองค์กรชุมชน ในช่วงการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมเชียงรายในปี 2567 เพื่อสะท้อนการบริหารจัดการภัยพิบัติใหญ่ๆ อย่างน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และภัยพิบัติอื่นๆที่ไม่เป็นข่าวครึกโครม จนมาถึงภัยพิบัติแผ่นดินไหว 28 มีนาคม 2568 แต่การแจ้งเตือนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไทยพับลิก้าจึงขอหยิบยกจากที่เคยได้พูดคุยมาบอกเล่าอีกครั้ง
นายไมตรีเคยกล่าวว่า ภัยพิบัติเกือบ 100% ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องภัยธรรมชาติ อำนาจ งบประมาณ การเยียวยา ฟื้นฟูและความเสียหาย
ปัญหาสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการ แม้กฎหมายให้อำนาจการบริหารอย่างชัดเจนกับคนที่เกี่ยวข้อง แต่ในทางความเป็นจริง คนของรัฐ (ท้องถิ่น จังหวัด ส่วนกลาง รัฐบาล) มักปฏิบัติแบบ ‘ไม่รู้’ และ ‘ทำงานไม่เป็น’ ทำให้เกิดความเสียหายตามมา และไม่เคยถอดบทเรียนอย่างจริงจัง
อำนาจ ‘สาธารณภัย’ จากท้องถิ่น ถึงนายกฯ
นายไมตรี กล่าวว่า หลายคนคิดว่าปัญหาเรื่องภัยพิบัติในประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุที่ประเทศไทยไม่เคยมีศูนย์บัญชาการบริหารความเสี่ยงในลักษณะ Single Command ที่ดูแลเรื่องภัยพิบัติโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ “ไม่รู้” เพราะใน พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเภาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดอำนาจและขอบเขตไว้ชัดเจนเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะการให้อำนาจการตัดสินใจกับท้องถิ่น
- มาตรา 20 ระบุว่า ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งพื้นที่มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน
- มาตรา 20 วรรคสอง ระบุว่า ให้ผู้อำนาจการท้องถิ่นมีอำนาจสั่งการ ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและอาสาสมัคร
ส่วนอำนาจของท้องถิ่นได้ระบุไว้ใน มาตรา 21 มีอำนาจในสั่งการดังนี้
พร้อมย้ำว่า “ในพ.ร.บ.ระบุงบประมาณให้ในทุกระดับ จังหวัดละ 20 ล้าน ระดับกรม 50 ล้าน และไม่ได้หมายความว่าให้แค่ 20 ล้านแล้วจบ ถ้าไม่พอขอเพิ่มได้ บางจังหวัดใช้ไป 200 ล้านก็มี มีทั้งงบ ทั้งอํานาจ สั่งใช้คนได้ทุกหน่วยในภาวะวิกฤติ เช่น สั่งขอใช้รถแมคโคร สั่งใช้หน่วยงาน อาสาสมัคร สั่งได้หมด ใครขัดคําสั่ง ติดคุก อํานาจเต็มมาก…โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทําหน้าที่ประสานอํานาจทั้งหมดตามกฎหมาย”
“ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องไม่มีอํานาจ แต่บริหารและใช้อํานาจไม่เป็นตามกฎหมาย ไร้ประสิทธิภาพ ทําให้ล้มเหลวทุกภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ขนาดผู้บริหารยังไม่อ่านกฎหมาย ไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร…มันมีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติ ผู้บริหารทุกระดับไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่า “ไม่รู้” ยิ่งผู้บัญชาการ ถ้าไม่รู้ ยิ่งไปกันใหญ่”
นายไมตรี เสริมว่า กฎหมายยังระบุว่า หากภัยพิบัตินั้นเกินกำลังของท้องถิ่น สามารถขอความช่วยเหลือไปเป็นลำดับขั้นได้ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งกรณีที่เป็น ‘สาธารณภัยร้ายแรง’ นายกฯ รองนายกฯ หรือคนที่นายกฯ มอบหมายมีอำนาจในการบริหารสถานการณ์ทันที
แต่เมื่อเกิดอุทกภัยจากภาคเหนือในปีนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำคือ จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ผ่านอำนาจนายกฯ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ทำให้มีอำนาจการบริหารไม่เต็ม
“คุณตั้งด้วยอํานาจบริหาร มันก็จะติดขัด เรียกว่าบริหารอํานาจไม่เป็น ถ้าอำนาจตามกฎหมายของ ปภ. คุณจะดําเนินการตามกฎหมายได้ทุกตัวอักษร”
“การเมืองชอบเอาหน้า คิดว่าตั้งขึ้นมา เพราะความสามารถและศักยภาพฉัน บางคนไม่มีประสบการณ์ด้านภัยพิบัติ แต่คุณมอบหมายให้ดูแลเรื่องใหญ่ขนาดนี้…ที่ผ่านมารัฐมนตรีเปลี่ยนบ่อย ผู้ว่าบางจังหวัดย้ายปีละสองคน มันจะรู้เรื่องไหม เพราะฉะนั้นผู้ที่จัดการได้คือท้องถิ่นและชุมชน”
“ผมเสนอให้รัฐมนตรีเชิญคนที่มีประสบการณ์ทั้งหมดมานั่งประชุม พูดคุย ประชุมหาทางออกกัน รัฐบาลควรใช้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศนี้ให้เป็นประโยชน์ ในต่างประเทศเขาจะค้นหาคนเชี่ยวชาญมาให้ได้ เอาคอปเตอร์ไปรับมาจากในบาร์ก็มี เอาคนพวกนี้มาทํางาน ตั้งวอร์รูม พอได้ผลสรุปก็ตั้งคนสั่งการ เพราะถ้าขาดซึ่งความรู้และข้อมูล จะทําให้ตัดสินใจผิดพลาด”
ปัจจัยพื้นฐานต้องมี “ข้าว 3 มื้อ-น้ำดื่มสะอาด-ถุงยังชีพ”
ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น
- ค่าอาหารเลี้ยง วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน
- ค่าถุงยังชีพ ชุดละไม่เกิน 700 บาทต่อครอบครัว
- ค่าน้ำสำหรับบริโภคและใช้สอย เท่าที่จ่ายจริง
- ค่าน้ำดื่มสำหรับครอบครัวที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ครอบครัวละไม่เกิน 200 บาท
- ค่าเสียหายในการดำรงชีพเบื้องต้น ครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท
- ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ เท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 59,500 บาท กรณีเช่าที่อยู่อาศัย ครอบครัวละไม่เกิน 1,800 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน
- ค่าไฟฟ้า – ประปา รัฐจัดหาและจ่ายตามความเป็นจริง
- จัดสร้างหรือจัดหาห้องน้ำ ห้องส้วม 1 ที่ต่อ 10 คน ไม่เกิน 1,700 บาท
- จัดสร้างที่รองรับ ทำลาย หรือกำจัดขยะมูลฝอย เท่าที่จ่ายจริง
- ค่าเครื่องนุ่งห่ม กรณีที่จำเป็น ไม่เกิน 1,100 บาทต่อคน
- ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
- ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ประกอบอาหาร กรณีเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ ครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท
- ค่าเครื่องนอน กรณีเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ ครอบครัวละไม่เกิน 1,000 บาท
“ในระเบียบฯ เขียนว่าผู้ประสบภัยต้องได้กินอาหารวันละ 3 มื้อ มื้อละไม่ต่ำกว่า 50 บาท ความจริงถามว่ามีใครได้กินข้าว 3 มื้อบ้างในภาวะน้ำท่วม ไม่มี อย่างมากก็สองมื้อ บางทีแจกได้เฉพาะคนพื้นที่ข้างหน้า ด้านหลังอดข้าว มันไม่มีใครเข้าถึง”
“ถ้าผมเป็นนายกฯท้องถิ่น ผมจะรู้ว่าตําบลผมมีกี่ครอบครัว กี่หมู่บ้าน ถนนกี่เส้น รู้ว่าต้องเข้าไปถึงอย่างไร ฉะนั้น ระเบียบฯ หรือจังหวัดต้องอุดหนุนให้ท้องถิ่นจัดการครัวกลาง ดูแลคนให้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ท่วม 3 หมู่บ้าน ก็วิเคราะห์ว่า 3 หมู่บ้านนี้มีคนอดข้าวอยู่กี่คน แล้วตั้งครัวกลางผลิตอาหารให้พอ มีงบ 50 บาทอยู่แล้ว ท้องถิ่นสนับสนุนทรัพยากร หมู เป็ด ไก่ ข้าว แล้วแจกจ่ายกันกิน”
นายไมตรี เสริมว่า “ที่ผมพูด ผมเคยทดลองมาแล้ว เวลาลงไปพื้นที่ ผมจะเริ่มให้ตั้งครัวก่อน สมัยน้ำท่วมภาคใต้ ผมเอาปลาไป 500 กิโลกรัม ชุมชนไหนพร้อมตั้งครัว ผมเอาปลาลงให้ 50 – 100 กิโลกรัม แล้วคุณทํากับข้าวกินกัน ทําแบบนี้ทุกที่ที่ผมลงไป”
“แต่รัฐบาลเขาไม่ทํา เพราะข้าวกล่องมันพิสูจน์ยาก ในอดีตเคยมีบางจังหวัดซื้อข้าวกล่อง 50 ล้าน คุณจะพิสูจน์ตรงไหน ผ่าพุงใครมาดูว่ากินข้าวไปกี่กล่อง แถมข้าวกล่องก็มีใบเสร็จ”
…………