ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.ผนึก 5 หน่วยงาน ยกระดับจัดการบัญชีม้านิติบุคคลเข้มข้น

ธปท.ผนึก 5 หน่วยงาน ยกระดับจัดการบัญชีม้านิติบุคคลเข้มข้น

14 มีนาคม 2025


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ร่วมกันผลักดันมาตรการจัดการบัญชีม้านิติบุคคล เพื่อบูรณาการการทำงานอย่างครบวงจร

วันที่ 14 มีนาคม 2568 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จัดงานแถลงข่าว เรื่อง ความร่วมมือจัดการบัญชีม้านิติบุคคล ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดย ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภัยทุจริตทางการเงินเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การออก พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้ธนาคารสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและระงับบัญชีม้าตามเส้นทางเงิน รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า การพัฒนาระบบ Central Fraud Registry (CFR) สำหรับแลกเปลี่ยนเส้นทางเงินเมื่อเกิดเหตุและสนับสนุนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าระดับบุคคล ซึ่งช่วยให้บัญชีม้าถูกระงับเป็นจำนวนมากและเปิดใหม่ได้ยากขึ้น ส่งผลให้มิจฉาชีพเปลี่ยนไปใช้บัญชีนิติบุคคลเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดมากขึ้น

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ร่วมกันผลักดันมาตรการจัดการบัญชีม้านิติบุคคล เพื่อบูรณาการการทำงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเพิ่มความเข้มข้นในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล การติดตามพฤติกรรมและตรวจจับนิติบุคคลที่มีความเสี่ยงเพื่อดำเนินการอย่างเข้มข้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขยายผลการสืบสวนสอบสวนและนำนิติบุคคลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่กระทำความผิดมาลงโทษ

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปราบปรามบัญชีม้าได้มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่รูปแบบของภัยเปลี่ยนไปจากที่เป็นบัญชีบุคคลไปเป็นบัญชีม้านิติบุคคล ทําให้มีความจําเป็นที่จะต้องขยายผล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมการทำงานอย่างครบวงจร

  • ธปท.ยกระดับคุมบัญชีม้า บล็อกเงินโอนเข้า เริ่ม 31 มกราคม 2568
  • ตํารวจไซเบอร์ตัวกลางแชร์ข้อมูล

    พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
    พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า “บช.สอท. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งในระยะหลังพบว่า มิจฉาชีพมีแนวโน้มที่จะนำบัญชีนิติบุคคลมาก่อเหตุหลอกลวงผู้เสียหายมากขึ้น บช.สอท. จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธปท. สำนักงาน ปปง. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาบัญชีม้านิติบุคคล รวมทั้ง ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อขยายผลการสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้”

    การก่ออาชญากรรมของกลุ่มอาชญากรในทางออนไลน์ สิ่งสําคัญที่สุดคือประสงค์ต่อเงิน สมัยก่อนอาชญากรรมออนไลน์มักจะประกอบโดยกลุ่มผู้มีความรู้เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ระบบการสื่อสารสารสนเทศ แล้วมักจะทําเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่ามีความรู้ความสามารถ ดังเห็นได้จาก แฮกเกอร์ hacker มีการแฮกข้อมูลแล้วนำข้อมูลไปปล่อยแล้วประกาศว่าตนเองเป็นคนทํา หรือกลุ่มเป็นคนทํา จากนั้นเมื่อมีความเจริญในการติดต่อสื่อสาร การก่ออาชญากรรมในโลกออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นมาก

    ในประเทศไทยเริ่มมีการเก็บสถิติปี 2565 จนถึงปัจจุบันยังมีกว่า 800,000 คดี ความเสียหายกว่า 70,000-80,000 ล้านบาท เฉลี่ย 10,000 ล้านบาทต่อปี ความเสียหายสูงมาก อาชญากรต้องหาวิธีการในการหลอกลวง และการจะได้มาซึ่งทรัพย์สินก็ต้องใช้การโอนเงินทําธุรกรรมทางการเงิน สมัยก่อนมีการว่าจ้างบุคคลให้มาเปิดบัญชี เพื่อที่จะรับโอนเงินจากเหยื่อหรือผู้เสียหายในคดีอาญา หลังจากที่ภาครัฐ ไม่ว่ากระทรวงดีอี ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน และส่วนของผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น ปปง. ตลอดจนทางสํานักงานตํารวจแห่งชาติได้มีความร่วมมือกัน และมีการออกพ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีการดําเนินการกับกลุ่มบัญชีม้า คือ กลุ่มที่รับจ้างเปิดบัญชีโดยหวังแค่เงินค่าจ้างเพียงเล็กน้อย แต่ก่อภัยมหันต์ให้กับเหยื่อ หลังจากที่ออกพ.ร.ก.แล้ว มีการจัดตั้งคณะกรรมการตามพ.ร.ก. โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเป็นประธาน รวมทั้งมีการออกมาตรการเพื่อระงับการทําธุรกรรมต้องสงสัย ปัจจุบันกระทรวงดีอีประกาศทั้งหมด 21 ข้อ เป็นการระงับทําให้ผู้ที่จะรับจ้างเปิดบัญชีม้าไม่สามารถทําได้โดยง่าย ประกอบกับมีโทษทางอาญาเป็นข้อหาเฉพาะว่าการรับจ้างเปิดบัญชีม้า การขายข่าวโฆษณาจัดหาบัญชีม้า มีความผิดเฉพาะตาม พ.ร.ก.นี้ ทําให้มีการดําเนินคดีได้โดยง่าย

    บุคคลที่จะไปรับจ้างเปิดบัญชีม้านอกเหนือจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว จากมาตรการความร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน ภาคเอกชนยังมีมาตรการขึ้นทะเบียนบุคคลที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับบัญชีม้า หรือเรียกว่า HR-03 มาตรการอย่างนี้ทําให้มิจฉาชีพกลุ่มอาชญากรออนไลน์พบว่าการจะหาบัญชีม้าหาได้ยาก ประกอบกับธนาคารเข้มงวดในการโอนเงิน 50,000 บาทต้องสแกนใบหน้ามีระบบป้องกัน ก็หาวิธีการหลบเลี่ยงการติดตามจับกุมของภาครัฐไปเปิดบริษัทนิติบุคคล จึงมีบัญชีม้านิติบุคคล มีกรรมการม้า แทนที่จะจ้างเปิดบัญชีม้าอย่างเดียว จ้างจดทะเบียนบริษัทด้วย มีการลงนามแบบฟอร์มยินยอม ด้วยความสะดวกในปัจจุบันที่มีการจดทะเบียน การสมัครเปิดบัญชี รวมทั้งบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดี ในระบบดิจิทัลทางออนไลน์ มิจฉาชีพก็เลยใช้ช่องทางบัญชีม้าผ่านบริษัทนิติบุคคลเพื่อหลบหลีกการตรวจสอบจากภาครัฐ หลบเลี่ยงการจะถูกขึ้นทะเบียน HR-03

    ภาครัฐทั้งหมด โดยมี ปปง. เป็นหลัก ในการขึ้นบัญชี HR-03 กับบริษัทนิติบุคคลม้า จึงมีการปฏิบัติการร่วมกัน จะมีการเชื่อมโยงระบบ โดยตํารวจไซเบอร์หรือ บช.สอท. ทําหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลประสานงานกับปปง. และจะส่งข้อมูลผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์เกี่ยวกับบัญชีม้า เกี่ยวกับนิติบุคคลม้าให้ปปง. เพื่อประกาศเป็น HR-03 ปปง. ก็จะส่งข้อมูลต่อให้กับศูนย์ AOC จากนั้นจะส่งต่อข้อมูลให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับข้อมูลแล้วก็จะส่งรายชื่อนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องตาม HR-03 กลับมาให้ AOC ซึ่ง AOC จะส่งกลับมาให้ตํารวจไซเบอร์ เพื่อกระจายข้อมูลไปยังส่วนราชการอื่น ๆ โดยเฉพาะในส่วนของสํานักงานตํารวจแห่งชาติทุกหน่วย เพื่อตรวจสอบ แล้วก็จะส่งข้อมูลกลับไปที่ ปปง. เพื่อที่จะประกาศ HR-03 ของนิติบุคคลม้า

    พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า “ฉะนั้นหน้าที่หลักของ บช.สอท. นอกเหนือจากการทําหน้าที่ในการสืบสวนปราบปรามยังทําหน้าที่เป็น data center ในการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ครอบคลุมบัญชีม้านิติบุคคด้วย และยืนยันว่าหน่วยงานทั้งหมด จะทําให้สังคมออนไลน์ของคนไทยเป็นสังคมที่ปลอดอาชญากรรม เรามุ่งมั่นที่จะทําให้สังคมออนไลน์ไทยปลอดภัยจากอาชญากรรมออนไลน์ให้ได้”

    พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่าหลังจากที่มีมาตรการและมีการปราบปรามอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะมีการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งการปราบปรามทางชายแดนด้านตะวันตกและตะวันออก สถิติการรับแจ้งความในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ จากเฉลี่ยของ ปี 2567 วันละกว่า 1,200 คดี ปัจจุบันลดลงเหลืออยู่วันละ 900 คดี ลดลงวันละ 200-300 กว่าคดี ถือว่าลดลงโดยเฉพาะคดีประเภทการหลอกลวงของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ให้โอนเงิน หลอกให้รักแล้วลงทุน หลอกให้ทํากิจกรรมหารายได้เสริม แต่ประเภทที่เริ่มพุ่งขึ้นคือการหลอกขายสินค้าและบริการยังมีอยู่แล้วก็เพิ่มขึ้น

    พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า “ที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้บัญชีนิติบุคคลในการกระทำความผิดเป็นจำนวนมาก โดยแต่ละคดีมีมูลค่าความเสียหายค่อนข้างสูง เนื่องจากบัญชีนิติบุคคลใช้โอนเงินได้ครั้งละจำนวนมากโดยไม่ต้องสแกนใบหน้า CIB จึงร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า และขยายผลการจับกุมไปถึงผู้ว่าจ้างให้จดทะเบียนบริษัทและเปิดบัญชีม้านิติบุคคลด้วย”

    บช.ก.ตรวจลึกม้านิติจ้างนายหน้า

    พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
    พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง บช.ก.ให้ความสําคัญกับการเปิดและการป้องกันหรือปราบปรามบัญชีม้านิติบุคคล และเป็นหน่วยหลักในการนํานโยบายของสำนักงานตำรวจมาสู่การป้องกันปราบปราม ด้วยการจัดตั้งคณะทํางานเพื่อพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธปท. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงดีอี ปปง. ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงิน รวมทั้งข้อมูลในส่วนตำรวจไซเบอร์ที่ส่งมายัง บช.ก. มีการตั้งคณะทํางานเพื่อทําการแยกแยะ สรุป ถอดแผนประทุษกรรมเพราะจุดมุ่งหมายหลัก คือ ต้องการแยกแยะบัญชีม้านิติบุคคลออกจากบัญชีที่นิติบุคคลทั่วไปใช้ในการประกอบธุรกิจตามปกติ

    นอกจากยังแจ้งข้อมูลที่ถอดแผนประทุษกรรมได้ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยปัจจุบันแจ้งข้อมูลทั้งหมดไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทําให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเริ่มดำเนินการ เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล เดิมที่เป็นแบบเอกสารกระดาษแล้วไปสู่ออนไลน์ แต่ปัจจุบันบางส่วนต้องกลับไปสู่ระบบกระดาษ อย่างเช่น บันทึกความยินยอมของเจ้าของสถานที่ที่ใช้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล รวมทั้งส่งข้อมูลที่ผ่านการแยกแยะ ผ่านการสังเคราะห์แล้วไปยังสถาบันการเงินเพื่อทําการระงับหรือปิดบัญชีม้านิติบุคคล เพื่อป้องกันและปราบปรามให้ความเสียหายลดลงให้น้อยที่สุด

    พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิอธิบายถึงการถอดแผนประทุษกรรมของบัญชีม้าว่า เริ่มจ้างผู้ว่าจ้างหรือนายทุนที่ต้องการจัดหาบัญชีม้าไปติดต่อกับนายหน้า ซึ่งเดิมเป็นบุคคลธรรมดา ปัจจุบันยกระดับขึ้นเป็น สํานักงานทนายความขออนุญาต สํานักงานทนายความ บริษัทรับจัดทําบัญชี แล้วก็ว่าจ้างให้บุคคลเหล่านี้ไปหาตัวละครต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจัดตั้งบริษัท กรรมการ หลังจากนั้นก็ยื่นขอจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และนําข้อมูลการจดทะเบียนไปขอเปิดบัญชีกับธนาคาร และก็นําบัญชีม้านิติบุคคลมาใช้

    “เมื่อเราถอดพฤติกรรมทั้งหมด เราก็พบว่าข้อสังเกตบัญชีนิติบุคคลที่มีแนวโน้มที่จะเป็นบัญชีม้า ก็พบว่ามีอยู่ 4-5 สาเหตุสําคัญ อันดับแรก เรื่องการก่อการจัดตั้งนิติบุคคล กรรมการ พบว่าส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ซ้ำๆ กัน และเมื่อลงลึกไปถึงความสามารถของบุคคล ก็พบว่าส่วนใหญ่ ตัวกรรมการและผู้ก่อการจัดตั้งไม่มีความสามารถในการประกอบกิจการ บางรายอาจจะมีข้อมูลอาชญากรรม บางรายอาจจะมีสถานะเป็นเพียงแค่ลูกจ้างบริษัท อีกทั้งการจัดตั้งนิติบุคคลไม่ได้ทําตามขั้นตอน ที่นายทะเบียนกําหนดไว้ อย่างเช่น ไม่มีการเรียกประชุมเพื่อก่อการจัดตั้งบริษัท จากนั้นก็พบว่าที่ตั้งของนิติบุคคลที่เป็นบัญชีม้าจะมีลักษณะซ้ำๆ กัน อย่างในภูเก็ตมีบริษัทรับทำบัญชีจัดตั้งนิติบุคคลถึง 100 กว่าบริษัท โดยใช้บุคคลชุดเดียวกัน ใช้สถานที่ตั้งบริษัทชุดเดียวกัน” พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิกล่าว

    นอกจากนั้นยังพบว่าผู้รับจ้างในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ซึ่งเป็นบริษัทที่รับทําบัญชีก็จะเป็นผู้รับจ้างที่เป็นหน้าเดิมๆ เพราะทุนจดทะเบียนส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาที่ทํางานจดทะเบียนพบว่า นิติบุคคลที่ใช้บัญชีม้ามีระยะเวลาการจัดตั้งมีผลไม่เกิน 1 ปี ด้านรายละเอียดของค่าจ้างพบว่าอยู่ในอัตราประมาณ 100,000-150,000 บาทโดยประมาณ โดยมีเงื่อนไข คือ ทั้งหมด ตั้งแต่การรับจ้างจดทะเบียนนิติบุคคล รับจ้างเปิดบัญชี หาบุคคลที่มาเป็นกรรมการ หาบุคคลที่มาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท รวมทั้งลงลึกถึงให้บริการเกี่ยวกับการโอนเงินในระหว่างคริปโทเคอร์เรนซี

    สำหรับผลการจับกุมในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา บช.ก.ได้มีการทําการตรวจค้นและการจับกุมบัญชีม้านิติบุคคลทั้งหมดรวม 23 จุด กระจายไปทั่วประเทศ ไม่ได้เน้นในจังหวัดที่เป็นหัวเมือง ใน 23 จุดมีข้อมูลบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 190 บริษัท ซึ่งบางส่วนก็มีการแยกดําเนินคดีไปแล้ว บางส่วนก็อยู่ระหว่างการนําข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อทําการแยกแยะว่าทั้ง 190 บริษัทเป็นบัญชีม้า หรือเป็นนิติบุคคลที่ใช้ทําธุรกรรมตามปกติ สำหรับความผิดจัดเป็นความผิดตามพ.ร.ก. ว่าด้วยความผิดทางเทคโนโลยีครับ ซึ่งผู้รับจ้างธรรมดามีโทษ 3 ปีถึง 300,000 บาท ส่วนผู้รวบรวมผู้จัดหามีโทษสูงสุดถึงจําคุกไม่เกิน 5 ปีแล้วก็ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

    “กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน และจุดมุ่งหมายสําคัญที่สุด คือต้องการแยกแยะให้ได้ว่าบัญชีที่จดทะเบียนในลักษณะนิติบุคคลเป็นบัญชีของบัญชีม้า หรือว่า เป็นบัญชีของบุคคลทั่วไปหรือคนทั่วไปที่ใช้ในการประกอบธุรกิจการค้าตามปกติ” พล.ต.ต.ทัศน์ภูมิ กล่าว

    ปปง.แชร์รายชื่อม้านิติดำให้กับธนาคาร

    นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
    นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวว่า “สำนักงาน ปปง. มีบทบาทหลักในการประกาศรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานซึ่งรวมถึงความผิดกรณีบัญชีม้า ทั้งกรณีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และให้หน่วยงานต่าง ๆ นำข้อมูลไปใช้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน อยู่ระหว่างพิจารณากำหนดแนวทางจัดการกับนิติบุคคลเสี่ยงให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการบัญชีม้าได้อย่างเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและนิติบุคคลที่สุจริต รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ”

    บทบาทของสํานักงาน ปปง.ในมาตรการเกี่ยวกับจัดการกับบัญชีม้า มีทั้งในส่วนของพ.ร.ก.อาชญากรรมทางเทคโนโลยี และพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยได้มีการกําหนดเกณฑ์ขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงต่อบัญชีที่ถูกไปใช้ในการกระทําความผิดและบัญชีที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการกําหนดเกณฑ์บัญชีที่เข้าขายเป็นบัญชีม้า เพื่อบริหารความเสี่ยง ซึ่งได้กําหนดคํานิยาม เป็น HR มีตั้งแต่ HR ธรรมดา HR-03 ซึ่งเดิมจะเห็นของปปง. HR เริ่มต้นคือคนที่ถูกยึด ถูกดําเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ถูกยึดอายัด บุคคลพวกนี้จะต้องถูกขึ้นบัญชีให้ธนาคารบริหารความเสี่ยงในการทําธุรกรรมของลูกค้า เดิมถูกยึดและอายัด แล้วไม่สามารที่จะทําธุรกรรมกับสถาบันเงินต่าง ๆได้จนกว่าจะมีพฤติกรรมไม่มีความเสี่ยงต่อการกู้เงิน

  • พ.ร.ก.ปราบโกงออนไลน์มีผลบังคับแล้ว “ซิมผี – บัญชีม้า” จำคุก 2-5 ปี
  • สำหรับบัญชีม้าก็ได้มีกําหนดเกณฑ์ บริหารจัดการความเสี่ยงของเจ้าของบัญชี คือ HR-03 ซึ่งมี HR-03-1, HR-03-2 โดยการกําหนดตรงนี้มาจากการได้รับ รายงานจากเจ้าหน้าที่ตํารวจ ส่วนใหญ่ก็จะเป็น สอท. บช.ก.ที่รายงานบัญชีที่ถูกแจ้งความถูกดําเนินคดี ปปง.ก็จะนำเข้าคณะกรรมการเพื่อกําหนดเป็นบัญชีผู้มีความเสี่ยงสูง ลงเข้าสู่ระบบส่งต่อไปยังสถาบันเงินเพื่อไปใช้ในการบริหารความเสี่ยง ตามประกาศของปปง.ในหลักเริ่มต้นจะจํากัดช่องทางการทําธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีการกําหนดรายชื่อ แต่ส่วนที่ 2 คือ HR-03-2 จะเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับผู้กระทําความผิด ไม่ว่าจะเป็นถูกรายงานธุรกรรมที่มีเหตุควรสงสัยจากสถาบันการเงินเข้ามาที่สํานักงาน ปปง. และข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตํารวจที่รายงานเข้ามาว่าบัญชีไปเกี่ยวข้องไปใช้ในการอาจจะเกี่ยวข้องกับการ กระทําผิด ก็จะถูกรายงานเข้าสู่คณะกรรมการเพื่อจะกําหนดเป็นบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง หรือบัญชีม้า

    นายกมลสิษฐ์กล่าวว่า ปัจจุบันได้ใช้เกณฑ์นี้ในการกําหนดรายชื่อผู้มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีจำนวนกว่า 700,000 รายชื่อ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบุคคลธรรมดาแล้วก็มีนิติบุคคลบ้างบางส่วน 44-45 ราย บัญชีธนาคารที่ถูกขึ้นบัญชีบริหารความเสี่ยง โดยกํากับช่องทางการทําธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มี 7 ล้านกว่าบัญชี ซึ่งจากมาตรการตรงนี้ก็จะทําให้ม้าก็จะเริ่มไม่ค่อยมี ม้าบุคคลก็จะลดน้อยแล้ว เพราะบัญชีถูกขึ้นบัญชีแล้วถูกจํากัดถูกระงับ ก็จะหันมาใช้นิติบุคคลเข้ามาแทน

    “เราก็ได้มีการประชุมหรือหารือร่วมกันกับหน่วยบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากนิติบุคคลถูกนำมาใช้จํานวนมากในปัจจุบัน เราก็กําลังหารือร่วมกันอยู่ว่าจะมีเกณฑ์หรือมาตรการในเชิงเข้มข้นเพื่อที่จะมีมาตรการบริหารความเสี่ยงกับนิติบุคคลเพิ่มขึ้น ในส่วนของปปง. ด้วยบทบาทด้วยภาระตามกฎหมาย เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนแล้วกําหนดเกณฑ์ตามกรอบกฎหมายเพื่อที่จะตัดวงจรอาชญากรรม หรือบัญชีม้า ทั้งนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ถูกนําไปใช้ ต่อไปอีก” นายกมลสิษฐ์กล่าว

    AOC มีอำนาจอายัด-มีกลไกทุกช่องทาง

    ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
    ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (ศูนย์ AOC) มีหน้าที่หลักในการให้บริการสายด่วนหมายเลข 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง แบบ One Stop Service ให้กับผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ โดยข้อมูลล่าสุดพบว่าบัญชีม้าบุคคลธรรมดามีจำนวนลดลง ขณะที่มีการนำบัญชีนิติบุคคลมาใช้หลอกลวงประชาชนมากขึ้น จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยใช้ศูนย์ AOC เป็นศูนย์รวม และในระยะต่อไปจะนำเทคโนโลยีมาใช้ประมวลผลอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อปรับปรุงการทำงานตามนโยบายให้สอดคล้องและรวดเร็ว สร้างความปลอดภัยยิ่งขึ้นให้กับประชาชน”

    การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถจะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทําได้ต้องเป็นความร่วมมือกันในทุกหน่วยงาน ดังนั้นรัฐบาลก็ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ขึ้น หรือ AOC มีสายด่วน 1441 เป็นศูนย์ที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย มีสายด่วนร้อยคู่สายตลอด 24 ชั่วโมง เปิดมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ทั้งการรับสายร้องเรียน การรวบรวมข้อมูลบูรณาการ จากนั้นก็ส่งให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้มีการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังธนาคาร ตํารวจ กสทช. ปปง.

    ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ อธิบายขั้นตอนว่า เมื่อผู้เสียหายโทรติดต่อมาที่ AOC 1441 เจ้าหน้าที่จะทําการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน จากนั้นก็จะต่อสายโทรศัพท์ในทันทีไปยังธนาคารที่ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนไป ธนาคารก็จะทําการอายัดบัญชีทันที โดยอํานาจของศูนย์ AOC มีระยะเวลา 7 วัน ขั้นตอนต่อไปที่ธนาคารดำเนินการ คือ นําชื่อบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพส่งเข้าในระบบ Central Fraud Registry (CFR) เมื่อชื่อบุคคลเหล่านั้นที่เป็นมิจฉาชีพ หรือคาดว่าจะเป็นมิจฉาชีพถูกส่งเข้าไปใน CFR ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ก็จะอายัดบัญชีระงับการกระทําธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที ข้อมูลตรงนี้เป็นสิ่งที่ทําให้บัญชีม้าบุคคลธรรมดาลดลง

  • ภาคธนาคารร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามแบงก์ เดินหน้ามาตรการจัดการบัญชีม้าเข้มข้น
  • หลังจากธนาคารดําเนินการในลักษณะนั้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปของศูนย์ AOC คือ สอบถามผู้เสียหายถึงความสะดวกในการที่จะไปแจ้งความเพื่อให้ครบตาม ป.วิอาญา ซึ่งผู้เสียหายสามารถเลือกสถานีตํารวจที่สะดวกได้ แต่ต้องไปแจ้งความภายใน 7 วัน ในระหว่างนี้ศูนย์ AOC ก็จะสรุปข้อมูลบันทึกแผนประทุษกรรม แล้วก็ส่งมาให้กับเจ้าหน้าที่ตํารวจในสถานีตำรวจที่ผู้เสียหายเลือก เมื่อผู้เสียหายเดินทางไปถึงสถานีตำรวจ เจ้าหน้าตํารวจก็จะมีความสะดวกในการที่จะบันทึกกรณีได้เร็วขึ้นอย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการหารือกับสอท. ว่า 7 วันอาจจะไม่พอ ก็อาจจะขยายให้มีระยะเวลานาน ซึ่งกําลังอยู่ในขั้นตอนการดําเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

    สิ่งที่ศูนย์ AOC ดำเนินการต่อ คือ สอบถามถึงหมายเลขที่ติดต่อไปยังผู้เสียหาย เพื่อที่จะส่งเบอร์โทรศัพท์ที่ได้นั้นเข้าไประงับเข้าไปตรวจสอบ แล้วก็ให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือดูแลการลงทะเบียนให้ถูกต้อง หากไม่ถูกต้องก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขต่อไป ซึ่งจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ดำเนินการผ่านช่องทาง กสทช. ปัจจุบันที่ข้อมูลทางเรื่องของธนาคารถูกส่งไปที่เจ้าหน้าที่ตํารวจแล้ว ต่อไปนี้ข้อมูลของค่ายมือถือซิมมือถือก็จะใช้อํานาจทางเจ้าหน้าที่ตํารวจไปตรวจสอบว่า เปิดบริการที่ไหนลูกตู้อยู่ที่ไหน จังหวัดอะไร

    “ตรงนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นขั้นตอนต่อไปซึ่งเราพยายามจะกําจัดแล้วก็บีบมิจฉาชีพให้เคลื่อนไหวได้ลําบากยิ่งขึ้น ก็มีการพูดคุยกัน แล้วเร็วๆนี้เราจะทํา นอกจากโทรศัพท์มือถือเราทำได้แล้ว เราทำได้ทางแบงก์แล้ว จากนั้นเราก็รวบรวมแผนพฤติกรรมต่างๆไว้ ศูนย์ AOC มีแผนประทุษกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น การหลอกลวงประชาชนมิจฉาชีพเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่ใช่หลอกซ้ำ มีการเปลี่ยนตามสถานการณ์ของประเทศ รัฐบาลมีนโยบาย แบงก์ชาติมีนโยบายอะไร ตํารวจมีนโยบายอะไร มิจฉาชีพ ก็ใช้นโยบายนั้น หลอกลวงให้ประชาชนเชื่อ” ดร.เอกพงษ์กล่าวและว่า ส่วนการเปิดปลอมแปลงบุคคล เปิดเพจเถื่อนก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

    ดร.เอกพงษ์กล่าวว่า การร่วมมือกันในภายใต้กรอบของศูนย์ AOC ทุกคนทําหน้าที่ และตอนนี้ศูนย์ขยายไปถึงการตัดสายไฟฟ้า ตัดเสาสัญญาน จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ไปดําเนินการตามแนวชายแดนนั้น สถิติการได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์น้อยลง นับว่าเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ นอกจากนี้ศูนย์ AOC ได้เริ่มไปหารือกับทางกองทัพเพื่อจะต้องดําเนินการอย่างชัดเจนในการดูแลคนเข้าเมือง รวมไปถึงการกดเงินตามตู้เอทีเอ็มบริเวณแนวชายแดน ซึ่งก็พบว่ามีการกดเงินแล้วก็ข้ามแนวชายแดนไปอย่างนี้เป็นต้น ศูนย์ AOC ยังรับแจ้งเบาะแส ให้บริการสอบถามข้อมูล และให้ความรู้ทางด้านกฎหมายได้

    ดร.เอกพงษ์กล่าวว่า ศูนย์ AOC ได้เห็นการเปิดบัญชีม้านิติบุคคลเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา และเห็นว่ามีนัยยะสำคัญ เนื่องจากการเปิดบัญชีม้าบุคคลธรรมดาทำได้ยากขึ้นจากการที่มีมาตรการออกมา และธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งมีการควบคุมการเปิดเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบุคคลธรรมดาไว้ไม่เกิน 6 หมายเลขต่อคน แต่การใช้ซิมเปิดใช้บริการในนามนิติบุคคล สิทธิ์การถือครองมีไม่จํากัด “ศูนย์ได้รับอนุมัติจากประธานคณะกรรมการป้องคณะปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ประสานงานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเพิ่มมาตรการ และเห็นกฎหมายก็ต้องขยับตามให้ทัน”

    ดร.เอกพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ AOC ยังอีกหนึ่งมาตรการหนึ่งที่ทําร่วมกันระหว่างภาคธนาคารกับภาคโทรคม คือการกำหนดให้ผู้ที่เปิดใช้บริการ mobile banking หลังวันที่ 1 มกราคม 2565 จะต้องมีชื่อที่ถือครองมือถือกับชื่อบัญชีเป็นชื่อเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับข้อความผ่านทางแอปพลิเคชั่นธนาคาร ไม่ใช่ผ่านทาง SMS ให้ไปดําเนินการแก้ไขให้ถูกต้องถ้าไม่แก้ไขภายในเวลา 31 มีนาคมนี้ จะไม่สามารถใช้งาน mobile banking ได้ ปัจจุบันมีประมาณ 3.3-3.5 ล้านคนที่เปิดใช้บริการ mobile banking

    กรมพัฒนาธุรกิจการค้าออก 6 มาตรการเพิ่ม

    นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
    นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานซึ่งมีภารกิจในการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งก็รับทราบถึง ปัญหาที่ประชาชนได้ประสบจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะในช่วงหลังมีบัญชีม้านิติบุคคล กรมฯพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานพันธมิตร ในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อที่จะได้ติดตามแล้วก็สามารถที่จะขยายผลกับผู้กระทําผิด โดยปัจจุบันกรมฯได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ AOC เพื่อที่จะรับข้อมูลผู้กระทําความผิด ตามความผิดมูลฐานของปปง. ที่มีรายชื่ออยู่ใน HR-03

    “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ความสำคัญและเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามบัญชีม้านิติบุคคล โดยกรมOได้เชื่อมข้อมูลกับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) และกำหนดมาตรการเข้มในการจัดการบัญชีม้านิติบุคคล ดังนี้

      (1) ออกคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ที่ 3/2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดของบุคคล โดยเมื่อมีบุคคลตามรายชื่อในบัญชี HR-03 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานของ ปปง. มาขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและแจ้งชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือกรรมการบริษัท จะให้บุคคลดังกล่าวมาแสดงตัวยืนยันตัวตนต่อหน้านายทะเบียนก่อนรับจดทะเบียน และส่งชื่อนิติบุคคลดังกล่าวให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) เพื่อการติดตามขยายผลต่อไป
      (2) ทุกครั้งที่ AOC แจ้งการอัปเดตบัญชีรายชื่อ HR-03 กรมฯจะตรวจสอบ และหากพบนิติบุคคลที่มีกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ในบัญชี HR-03 จะแจ้งกลับ AOC เพื่อขยายผลต่อไป”

    “ข้อมูลล่าสุดที่เราได้ัปเดต จาก AOC ที่ส่งมาจะมีประมาณ 78,000 คน จากการตรวจสอบพบว่ามีประมาณ 1,043 ราย ที่ชื่อคนเหล่านี้อยู่ในนิติบุคคลที่อยู่ในถังข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และได้ส่งข้อมูลกลับไปแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการที่เราทําร่วมกัน กับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้เหตุผลหลักที่การที่มิจฉาชีพมาจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อหลอกลวงประชาชน ฉะนั้นเราก็เลยประเมินว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะประกอบธุรกิจ สิ่งที่เราดําเนินการ เรามีอีก 6 มาตรการที่ดําเนินการ” นางอรมนกล่าวว่า

    มาตรการแรกคือจัดทําระบบ ซึ่งตอนนี้เปิดใช้แล้ว สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประชาชนที่สนใจสามารถตรวจสอบที่ตั้งของนิติบุคคลได้ว่าถูกนำที่อยู่มาใช้เป็นที่ตั้งนิติบุคคลหรือไม่ โดยเปิดให้บริการไปตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ สถิติล่าสุดถึงวันที่ 12 มีนาคมปีนี้มีผู้เข้ามาตรวจสอบที่อยู่ในเว็บไซต์ที่เราเปิดไว้นะคะ 4,835 ครั้ง แล้วก็มีจํานวนคําร้องขอให้ตรวจสอบ กรณีสงสัยว่าที่อยู่ไม่ถูกต้องที่ยื่นมา 6 ราย ให้ตรวจสอบ 19 นิติบุคคล ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อขยายผลต่อไป

    มาตรการที่ 2 เมื่อพบว่านิติบุคคลไม่มีที่ตั้ง สิ่งที่กรมฯดําเนินการก็คือทุกครั้งที่มีการจดจัดตั้งนิติบุคคล จะเก็บข้อมูลนิติบุคคลเหล่านี้ไว้ในฐานข้อมูลของกรมฯสามารถสืบค้นได้ ที่เรียกว่าหนังสือรับรองนิติบุคคล ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งกรมฯก็จะหมายเหตุไว้ด้วยว่า เป็นนิติบุคคลที่ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อยู่จริง

    มาตรการที่ 3 ตอนนี้อยู่ระหว่างร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย เพื่อดําเนินการปักหมุดในอนาคต เมื่อเข้ามาตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล ก็สามารถคลิกตรงที่อยู่ได้ว่าสถานที่อยู่ที่ไหน แล้วปักหมุดความตั้งใจ เป็นระบบคล้ายกับ Google สามารถขยายดูเห็นเรียลไทม์ของจริงได้ว่าที่ตั้งที่ปรากฏน่าเชื่อถือหรือไม่สําหรับการทําธุรกิจประเภทที่ระบุไว้

    มาตรการที่ 4 อยู่ระหว่างดําเนินการและคาดว่าจะเสร็จภายในกลางปีนี้ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อจัดทําระบบวิเคราะห์พฤติกรรมของนิติบุคคล เพื่อที่จะติดตามได้ว่านิติบุคคลมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้น งบการเงิน มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ผิดปกติหรือไม่ ระบบเหล่านี้หลังจากเสร็จก็พร้อมที่จะแบ่งปันหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะได้เข้าไปกํากับดูแลแล้วก็ตรวจจับคนที่เป็นมิจฉาชีพและกระทําความผิด

    มาตรการที่ 5 จะคงเน้นเรื่องความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ยินดีที่จะเชื่อมโยงข้อมูล แชร์ข้อมูล หรือมาตรการแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมฯมีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นในการที่จะตรวจติดตามผู้ที่เป็นมิจฉาชีพ

    มาตรการที่ 6 สิ่งที่ให้ความสําคัญคือ พยายามที่จะประชาสัมพันธ์ แล้วก็สร้างความรู้กับประชาชน เพราะเห็นว่าการตัดวงจรมิจฉาชีพที่สําคัญที่สุดคือประชาชน ควรจะต้องมีองค์ความรู้ในการประเมินเบื้องต้น สิ่งที่กําลังจะทํากับคนที่มาติดต่อ โดยเฉพาะนิติบุคคลอาจจะสามารถประเมินได้เบื้องต้น โดยวิธีประเมินเบื้องต้นในการตรวจสอบนิติบุคคล อย่างเช่น ดูเรื่องที่ตั้งดูว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ในการประกอบธุรกิจ ดูว่านิติบุคคลโดยปกติมีภาระต้องส่งงบการเงินปีละครั้ง นิติบุคคลที่ติดต่อกับประชาชนขาดส่งงบหรือไม่ มีพฤติกรรมน่าสงสัยหรือไม่

    ธปท.ผสานความร่วมมือพันธมิตร

    ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
    ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำบัญชีนิติบุคคลไปใช้หลอกลวงประชาชน ธปท. กำหนดให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มข้น ในการจัดการกับบัญชีนิติบุคคล ทั้งกรณีนิติบุคคลที่มีรายชื่อเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานของสำนักงาน ปปง. ที่สถาบันการเงินจะดำเนินการเข้มข้นเทียบเท่ากรณีบุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายกระทำผิด และกรณีที่นิติบุคคลมีผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลสำนักงาน ปปง. โดยหากสถาบันการเงินประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นบัญชีม้า สถาบันการเงินจะดำเนินการระงับการใช้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ให้เปิดบัญชีใหม่”

    เมื่อธนาคารพาณิชย์ได้รับข้อมูลชื่อบัญชีม้านิติบุคคลมาแล้วก็มีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปจัดการ โดยเป็นนิติบุคคลที่จัดเป็นม้าดําอยู่ ก็มีการกันไม่ให้ทำธุรกรรมอยู่แล้วคือการกันเงินเข้าการเงินออกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ตอนนี้จะยกระดับขึ้นไปเป็นการกันทุกช่องทางไม่ให้สามารถที่จะดําเนินธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งไม่เสนอขาย ผลิตภัณฑ์ หรือบริการอื่นๆ จากเดิมที่อาจจะแค่ห้ามเปิดบัญชีใหม่ เพราะฉะนั้นทําให้บัญชีที่เป็นบัญชีนิติบุคคลที่ได้รับการระบุเป็นม้าดําหมดสภาพไป ส่วนบัญชีกรรมการหรือกรรมการผู้จัดการที่เป็นผู้ต้องสงสัยเป็นม้าดํา ก็จะมีการยกระดับการดูแลและการบริหารจัดการด้วย

    “เรารับข้อมูลมาแล้วก็จะดําเนินการในขั้นสุดท้ายเพื่อไม่ให้นิติบุคคลสามารถที่จะไปหลอกประชาชนได้โดยง่าย” ดร.รุ่งกล่าว

  • ธปท. ยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้า ตรวจลึกบัญชีเดิม-เข้มเปิดบัญชีใหม่ ระงับรายบุคคล
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ และ ธปท. มุ่งหวังว่าความร่วมมือในการยกระดับการจัดการกับบัญชีม้านิติบุคคลในครั้งนี้ จะป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำบัญชีนิติบุคคลไปใช้กระทำความผิดและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยทุกหน่วยงานพร้อมร่วมมือกันเพิ่มเติม เช่น ขยายการจัดการไปถึงบัญชีนิติบุคคลที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นบุคคลที่ถูกแจ้งความ แม้จะยังไม่อยู่ในรายชื่อเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานของสำนักงาน ปปง. รวมถึงการกำหนดมาตรการจัดการการถ่ายโอนเงินผ่านช่องทางสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อแก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงินให้ได้อย่างครบวงจรและยั่งยืนต่อไป

    ประชาชนที่มีข้อสงสัยสามารถติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีหรือศูนย์ AOC 1441 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย