ThaiPublica > เกาะกระแส > Whoscall เปิดสถิติปี 2567 มิจฉาชีพโทร-ส่ง SMS หลอกคนไทยพุ่ง 168 ล้านครั้ง สูงสุดในรอบ 5 ปี !!!

Whoscall เปิดสถิติปี 2567 มิจฉาชีพโทร-ส่ง SMS หลอกคนไทยพุ่ง 168 ล้านครั้ง สูงสุดในรอบ 5 ปี !!!

24 กุมภาพันธ์ 2025


Whoscall เปิดสถิติปี 2567 จำนวนสายมิจฉาชีพทางโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงในไทยพุ่ง 168 ล้านครั้ง สูงสุดในรอบ 5 ปี  เตือนภัยแอบอ้างองค์กร ลิงก์อันตรายแปลกปลอม และการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568  บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่นชั้นนำ (TrustTech) และผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall เปิดรายงานประจำปี 2567 วิเคราะห์สถานการณ์กลโกงของมิจฉาชีพในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมา ผ่านการรายงานมิจฉาชีพ จากสายโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์ต่าง ๆ และฟีเจอร์ตรวจสอบข้อมูลรั่วไหล พร้อมสำรวจกลลวงมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงประชาชน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงภัยกลโกงและลดความเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่บริษัทเริ่มเผยแพร่รายงานประจำปีตั้งแต่ปี 2563 ก็ได้ติดตามสถานการณ์การหลอกลวงของมิจฉาชีพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุก ๆ ตลาดหลักที่ Whoscall ให้บริการอย่างใกล้ชิด โดยในแถวอาเซียน ไทยและ มาเลเซียยังแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันมีสถานการณ์เริ่มลดลง

สำหรับประเทศไทย ในปี 2567 สามารถระบุสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงได้สูงสุดในรอบ 5 ปี ถึง 168 ล้านครั้ง เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการหลอกลวงอย่างแพร่หลาย ทำให้กลโกงมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แนวโน้มการหลอกลวงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การฉ้อโกงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ่านการโทรศัพท์ ข้อความ SMS ลิงก์อันตราย รวมถึง การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล ส่วนสาเหตุที่มิจฉาชีพใช้ SMS มากขึ้นเพราะว่าอาจจะมีราคาถูกกว่าการใช้โทรศัพท์ ทำให้มิจฉาชีพหันมาใช้มากขึ้น”

นายแมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโกโกลุก ประเทศไทย

พันตำรวจเอก เกรียงไกร  พุทไธสง  ผู้กำกับกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี  กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  กล่าวว่า  มิจฉาชีพมักจะมีเทคนิคในการหลอกหลวง โดยใช้จุดอ่อนโจมตีในเรื่องของคนที่อยากรวย ทำให้คนไทยกว่า 80 % หลงเชื่อและลงทุนกับคนที่ไม่รู้จัก

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการให้ข้อมูลด้านเดียวในการตัดสินใจไม่เปิดโอกาสให้ผู้ตกเป็นเหยื่อมีโอกาสปรึกษาคนรอบข้าง  ด้วยการข่มขู่ ทำให้เกิดความกลัวจนหลงเชื่อ

“ความเสียหายจากการที่ถูกหลอกนับจากปี2565 จนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยในเดือนมกราคม2568 มีเหยื่อนถูกหลอกไปแล้วกว่า 3 หมื่นคน สูญเงินไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท แต่เราสามารถอายัดได้ 73 ล้านบาท ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกหลอกคือ ผู้สูงอายุ”

พันตำรวจเอก เกรียงไกร พุทไธสง ผู้กำกับกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พันตำรวจเอก เกรียงไกร กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหาแนวทางสกัดเงินไหลออกนอกประเทศ เพราะสิ่งสำคัญคือ หากมิจฉาชีพเอาเงินออกไปไม่ได้ก็จะลดความเสียหายลง ซึ่งเรากำลังจะดำเนินการหามาตรการในเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่่ายปฎิบัติการ บริษัทโกโกลุก ประเทศไทย กล่าวว่า  Whoscall เตรียมนำรายงานประจำปี 2567 ส่งไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการติดตามมิจฉลาชีพต่อไป  โดยจะเริ่มจากการนำข้อมูลไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ

สรุปข้อมูลสำคัญจากรายงาน

1. ในปี 2567 ประเทศไทยมีจำนวนการตรวจพบสายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้นประมาณ 168 ล้านครั้ง สูงสุดในรอบ 5 ปี

2. Whoscall สามารถปกป้องผู้ใช้จากการถูกหลอกลวงผ่านการโทรและข้อความ SMS ได้ถึง 460,000 ครั้งใน 1 วัน

3.กลวิธีหลอกลวงใน SMS ที่พบอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การชักชวนเล่นพนัน การปลอมเป็นบริษัทขนส่งพัสดุ การแอบอ้างเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน องค์กร และหน่วยงานรัฐ

4.ระวัง ลิงก์อันตรายอาจนำไปสู่ เว็บไซต์ปลอม, เว็บพนันผิดกฎหมาย, และเว็บที่แอบติดตั้งมัลแวร์เพื่อดักจับข้อมูลส่วนตัว เป็นต้น

5.ฟีเจอร์ ID security ของ Whoscall เตือนภัยข้อมูลส่วนตัวคนไทย 41% รั่วไหลไปบนดาร์กเว็บ

ตรวจพบสายโทรศัพท์และข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้นในประเทศไทย

ในปี 2567 Whoscall ตรวจพบ สายโทรศัพท์และข้อความ SMS หลอกลวงสูงถึง 168 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 112% จาก 79.2 ล้านครั้งในปี 2566 และถือเป็นยอดที่สูงสุดในรอบ 5 ปีของประเทศไทย ในส่วนของจำนวนการโทรหลอกลวงเพิ่มขึ้นเป็น 38 ล้านครั้ง จาก 20.8 ล้านครั้งในปี 2566 ขณะที่จำนวนข้อความ SMS หลอกลวงพุ่งสูงถึงเกือบ 130 ล้านครั้ง จาก 58.3 ล้านครั้งในปี 2566 กลโกงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การหลอกขายบริการและสินค้าปลอม การแอบอ้างตัวเป็นหน่วยงาน และหลอกว่ามีเงินกู้อนุมัติง่าย การหลอกทวงเงิน การหลอกว่าเป็นหนี้

มิจฉาชีพใช้กลลวงเกี่ยวกับการเงิน และแอบอ้างองค์กรเพิ่มสูงขึ้น

ในปีที่ผ่านมา บริการ  Smart SMS Assistant หรือ ผู้ช่วย SMS อัจฉริยะที่ช่วยตรวจสอบข้อความจากหมายเลขที่ไม่รู้จัก พบว่ามีข้อความ SMS ที่เข้าข่ายการหลอกลวงมากถึง 130 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่ากลุ่มมิจฉาชีพยังคงใช้การส่งข้อความเป็นช่องทางหลักในการหลอกลวง

ข้อความ SMS หลอกลวงที่แนบลิงก์ฟิชชิง เช่น  ข้อความ SMS ที่หลอกให้กู้เงิน และโฆษณาการพนันยังคงพบมากที่สุด นอกจากนี้กลุ่มมิจฉาชีพยังเปลี่ยนกลยุทธ์มาแอบอ้างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้น เช่น แอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า รวมไปถึงการปลอมเป็นหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อส่งข้อความชวนเชื่อที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับมาตรการลดค่าไฟฟ้า คืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และดิจิทัล วอลเล็ต

การแพร่กระจายของลิงก์อันตรายแปลกปลอม

Whoscall พัฒนาฟีเจอร์อย่างเช่น Web Checker (ชื่อเดิมที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2566 เรียกว่า URL Scanner) ที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบลิงก์ที่น่าสงสัยและอันตรายบนเว็บบราวเซอร์ในระหว่างการใช้งานโทรศัพท์มือถือ  ในปีที่ผ่านมาฟีเจอร์นี้ช่วยปกป้องผู้ใช้งานจากการคลิกลิงก์อันตราย แปลกปลอมหลากหลายประเภท(พบว่า 1 ลิงก์ มีมากกว่า 1 ประเภทการหลอกลวง) โดยประเภทลิงก์อันตรายที่พบมากที่สุด เป็นลิงก์ฟิชชิงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูดเงิน หรือล้วงข้อมูลส่วนบุคคล 40% ส่วนลิงก์อันตรายที่เหลือเป็นลิงก์ที่เชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์ผิดกฎหมาย 30% และลิงก์อันตรายที่หลอกให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์เพื่อขโมยข้อมูลสำคัญจากอุปกรณ์อีก 30%

ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

ในรายงานประจำปีครั้งนี้ยังได้เปิดเผยถึงปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรวจสอบผ่านฟีเจอร์ “ID Security” ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองได้ ในปีที่ผ่านมา ฟีเจอร์ ID Security กลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความระมัดระวังความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โดยผลการวิเคราะห์พบว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 41% รั่วไหลไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ดาร์กเว็บ และดีพเว็บ ในบรรดาข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลพบว่า 97% เป็น อีเมล และ 88% เป็นเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งอาจมีข้อมูลเช่น วันเดือนปีเกิด ชื่อนามสกุล พาสเวิร์ด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ หลุดร่วมไปด้วย

Whoscall มุ่งพัฒนาแอปพลิเคชัน ปกป้องผู้ใช้งานและธุรกิจอย่างครอบคลุม

รายงานฉบับนี้สะท้อนให้เห็นว่าใน 1 วัน Whoscall ช่วยปกป้องคนไทยจากมิจฉาชีพได้มากกว่า 460,000 ครั้ง  เรามุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้งานในการป้องกันภัยมิจฉาชีพ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของกลโกงออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบ นอกจากนี้ประชาชนควรตื่นตัวและใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อปกป้องตนเอง เช่น :

ดาวน์โหลดแอป Whoscall : ฟีเจอร์ Caller ID จะยังเป็นแนวป้องกันแรกที่สามารถระบุตัวตนของหมายเลขที่ไม่รู้จักแบบเรียลไทม์ ช่วยเตือนภัยสายเรียกเข้าหลอกลวง และสายสแปมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล: ประชาชนควรใช้ความระมัดระวังเมื่อแชร์ข้อมูลส่วนตัวทางออนไลน์ และระวังลิงก์ หรือคำขอที่น่าสงสัย โดยสามารถทดลองใช้ฟีเจอร์ ID Security เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปที่ไหนแล้วหรือไม่ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการติดต่อผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ และข้อความ SMS

ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งทางการ

สำหรับผู้บริโภค: บริการ Auto Web Checker บนแอปพลิเคชัน Whoscall จะช่วยแจ้งเตือน เมื่อผู้ใช้งานคลิกลิงก์จากข้อความ SMS หรือเว็บบราวเซอร์ เข้าไปยังเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย

สำหรับธุรกิจ: Whoscall Verified Business Number หรือ VBN จะช่วยยืนยันเบอร์โทรศัพท์ของธุรกิจ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในความถูกต้องของสายโทรเข้า ธุรกิจสามารถใช้โซลูชันนี้เพื่อเสริมสร้างการสื่อสารกับลูกค้า ปกป้องภาพลักษณ์ของแบรนด์ และป้องกันความเสียหายต่อชื่อเสียงจากการถูกแอบอ้าง

“ด้วยสถานการณ์กลโกงที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง Whoscall ยืนหยัดที่จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ที่มี่ประสิทธิภาพมายกระดับการป้องกันภัยจากการหลอกลวง เพื่อสร้างเครือข่ายป้องกันภัย  จากอาชญกรรมทางไซเบอร์ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคมไทย เราพร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนอย่างใกล้ชิดในการลดอัตราการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงดิจิทัล  รวมถึงออกบริการใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อปกป้องทั้งผู้ใช้และองค์กรในทุกช่องทาง” นายแมนวู จู กล่าว

หลังจากเผยแพร่รายงาน บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย จะส่งรายงานฉบับนี้ไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนมาตรการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และสร้างสรรค์แคมเปญการสื่อสารให้แก่ประชาชนต่อไป

  • โกโกลุก ส่งบริการ Whoscall Verified Business Number หนุนธุรกิจเอสเอมอี ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ