ThaiPublica > คอลัมน์ > เบื้องหลังงานออกแบบ The White Lotus

เบื้องหลังงานออกแบบ The White Lotus

22 กุมภาพันธ์ 2025


1721955

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่น่ามีซีรีส์ไหนจะถูกพูดถึงมากไปกว่า The White Lotus ซีซั่น 3 อีกแล้ว เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า ลลิษา มโนบาล (รับบท มุก พนักงานต้อนรับ) แสดงนำแล้ว ยังมีนักแสดงไทยคนอื่น ๆ ด้วย อาทิ เทม เมธี ทับทิมทอง (เทม AF10-รับบท ไก่ต๊อก รปภ.), ภัทราวดี มีชูธน (รับบท ศรีตลา เมียฝรั่งเจ้าของรีสอร์ท), ดอม เหตระกูล (รับบท พรชัย พนักงานสปา) รวมถึงเซเล็บรับเชิญอย่าง สุทธิชัย หยุ่น (แว่วว่าแสดงเป็นพระ) และบัวขาว บัญชาเมฆ (น่าจะโผล่ในฉากชกมวย)

ไม่เพียงเท่านั้นยังถ่ายทำในเมืองไทย ใช้โลเคชั่นหลักในเกาะสมุย ภูเก็ต และกรุงเทพ โดยได้รับการสนับสนุนงบการผลิต 30% (ราว157 ล้านบาท) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้วยทุนสร้างทั้งสิ้น 8 อีพีราว 1,250 ล้านบาท อันทำให้โปรเจกต์นี้เดิมทีจะไปถ่ายทำในเกียวโตจึงมีอันหันหัวเรือมาลงไทย แล้วเปลี่ยนบริบททั้งหมดเป็นแบบไทย ๆ แล้วทันทีที่ซีซั่นล่าสุดนี้สตรีมมิ่ง การท่องเที่ยวก็เปิดตัวเว็บรวมสถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฎในซีรีส์นี้https://thewhitelotus.thailandinsider.com

The White Lotus เป็นซีรีส์ดราม่าตลกร้ายสไตล์ ไมค์ ไวท์ (มือเขียนบทหนังจาก Chuck & Buck-2000 [เรื่องนี้เขาแสดงเองด้วย], School of Rock-2003 ซีรีส์ Dawson’s Creek-1998, Freaks and Geeks-2000) ผู้สร้าง กำกับ และเขียนบทซีรีส์นี้ ที่ตอนทำซีซั่นแรกเขาตั้งใจให้มันจบแค่ 6 ตอน แต่ดันกลายเป็นเรตติ้งสูงแล้วโกยคำชมไปบาน ทำให้งานงอกออกมาจนถึงซีซั่นสามซึ่งล่าสุดประกาศแล้วว่ายังจะมีซีซั่นสี่อีกแน่นอน เพราะนอกจากจะกระแสดีแล้วยังกวาดรางวัลเอ็มมี่ไปถึง 15 รางวัล แถมพ่วงด้วยลูกโลกทองคำอีก 2 รางวัล

จุดร่วมกันของซีรีส์นี้ที่ต้องมีในทุกซีซั่นคือฉากเปิดที่เริ่มด้วยการตายของใครบางคนที่เรายังไม่มีทางรู้ว่าใครคือเหยื่อ ใครคือคนร้าย แต่ที่แน่ ๆ คือทุกซีซั่นมีหักมุมในตอนจบเสมอ ก่อนจะย้อนกลับไปเล่าหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ หรือก็คือทุกซีซั่นจะเล่าไทม์ไลน์ทั้งเรื่องภายในสัปดาห์เดียว โดยทุกภาคจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นในรีสอร์ทสุดหรูนามว่า “ดอกบัวขาว” ซึ่งมีสาขาทั่วโลก และโลเคชั่นในซีรีส์นี้มักจะเป็นเกาะ อย่างซีซั่นแรก คือเกาะเมาอิ ฮาวาย ซีซั่นสองเกาะซิซิลี อิตาลี ก่อนจะมาเป็นเกาะสมุยในซีซั่นสาม

แล้วเนื้อเรื่องจะค่อย ๆ พาคนดูไปสังเกตพฤติกรรมของบรรดาแขกสุดไฮโซที่มาเข้าพัก กับบรรดาพนักงานสู้ชีวิตที่คอยให้บริการในรีสอร์ท หรือก็คือพนักงานคนพื้นถิ่นหาเช้ากินค่ำที่วาดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า แต่ตอนนี้ดันมาติดแหงกอยู่ที่นี่เพื่อคอยรองมือรองเท้าและรองรับอารมณ์ของบรรดาแขกฝรั่งจอมเรื่องมากประสาทแหลกเหล่านี้ ที่มาเพื่อจะเสพความสำราญอย่างเต็มที่ โดยไม่แคร์ว่าจะทำใครวอดวายบ้าง ในรีสอร์ทสุดหรูหรา บนเกาะแปลกตาที่มีบริบททางวัฒนธรรมต่างไปจากความคุ้นชินของพวกฝรั่งอเมริกันทั้งหลาย กลายเป็นการปะทะกันทางเชื้อชาติ ชนชั้น และความเชื่อที่ต่างคนต่างถือดีว่าฝั่งตนนั้นเลิศเลอเหนือใคร

ปกติแล้วแต่ละซีซั่นแขกใหม่ ๆ ที่โผล่มาสร้างความวายป่วงมักจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคู่รัก ที่คราวนี้เป็นรักต่างวัย, กลุ่มเพื่อน ภาคนี้เป็นเพื่อนหญิงพลังหญิงที่ฉากหน้าชื่นมื่นแต่โชยความท็อกซิกมาตุตุ และกลุ่มครอบครัว ที่มีกลิ่นความได้เสีย incest กันในหมู่พี่น้อง บทพ่อแสดงโดย เจสัน ไอแซ็กส์ ผู้เคยแสดงเป็น ลูเซียส มัลฟอย ในหนัง Harry Potter ส่วนบทลูกชายคนโต คือ แพทริก ชวาร์เซเนเกอร์ ลูกแท้ ๆ ของ อาร์โนลด์-คนเหล็ก ที่ว่ากันว่าแพทริกต้องเลื่อนงานแต่งกับนางแบบสาว แอบบี้ แชมเปี้ยน ไปปีหน้าเพราะตารางการถ่ายทำนานกว่าครึ่งปีในไทย

ส่วนด้านพ่ออาร์โนลด์แอบเหวอเบา ๆ กับฉากเปลือยตูดของลูกชาย เขาโพสต์บนไอจีว่า “ผมกล้าพูดได้เลยว่าประหลาดใจที่รู้ว่าเขามีฉากเปลือย แต่ผมจะพูดอะไรได้ล่ะ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น อย่าพลาดชม The White Lotus เชื่อผมเหอะ” ซึ่งหากใครเคยดูหนังคนเหล็ก The Terminator (1984) ย่อมรู้ดีว่าอาร์โนลด์ปรากฏตัวบนจอใหญ่ด้วยร่างเปลือย แล้วอันที่จริงก่อนเขาจะแจ้งเกิดในแวดวงฮอลลีวูด อาร์โนลด์เคยเป็นนักเพาะกายและนายแบบเปลือยมาก่อน

เรื่องราวจะวายป่วงขนาดไหนยังไม่มีใครรู้ความลับนี้ ส่วนคอลัมน์นี้เราจะเจาะลึกกันแค่ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะไม่ว่าจะแขนงใดก็ตาม ซึ่งคราวนี้จะว่ากันด้วยเครดิตเปิด ที่แต่ละซีซั่นจะใช้จิตรกรรมฝาผนังของประเทศนั้น ๆ ที่ทั้งสวย แอบหยอดปมสำคัญ แล้วคราวนี้ก็ดูเป็นไทยจนน่าทึ่ง

ทว่าก่อนที่เราจะมาเจาะลึกกันถึงเครดิตเปิดซีซั่นล่าสุดนี้ เราจะขอพ่วงพาย้อนกลับไปดูตั้งแต่ซีซั่นแรก และงานอื่น ๆ ของบริษัทออกแบบทีมเดียวกันทั้งหมดในนาม Plains of Yonder พวกเขาอธิบายตัวเองบนเว็บไซต์ว่า “Plains of Yonder เป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมี่ โดยมี แคทรินา ครอว์ฟอร์ด และมาร์ค แบสชอร์ เป็นหัวหน้าผู้กำกับ เราวางแนวคิด สร้างสรรค์ และกำกับโซลูชันการเล่าเรื่องและภาพที่อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ การออกแบบแบรนด์สินค้า ชิ้นงานจัดวาง อินเทอร์แอ็คทีฟอาร์ต การออกแบบภายใน และศิลปะทางเสียง

เราเป็นพวกพูดจาชัดเจน เข้าเป้า แฝงมุขตลก มีองค์ประกอบของวัสดุธรรมชาติ กับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเหมาะกับลูกค้าที่กล้าพอจะทดลองทำอะไรแหวก ๆ ท้าทาย และมีความสวยอาร์ตอย่างยิ่ง” แนวคิดเหล่านี้เห็นได้ชัดในผลงานของพวกเขา อาทิ

The Lord of the Rings: The Rings of Power

“เราสร้างไตเติลชื่อเรื่องนี้ขึ้นมาจากโลกแห่งพลังเสียง” นี่คือสิ่งที่เขาจั่วหัวเอาไว้และเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า “นี่คือฉากเปิดที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมี่ สำหรับซีรีส์ Lord Of The Rings: The Rings Of Power ที่ตอนนี้ดำเนินมาถึงซีซั่นสองแล้ว มันเป็นซีรีส์ที่เล่าเหตุการณ์หลายพันปีก่อนอันอิงมาจากนิยาย The Hobbit อันเป็นยุคที่เซารอนขึ้นครองอำนาจเมื่อมังกรบิน และฮอบบิทรุ่นแรกออกอาละวาด ทีมผู้จัดซีรีส์ท้าทายให้เราสร้างฉากเปิดเรื่องที่เรียบง่าย ชัดเจน และอะไรที่เกินไปกว่าเราจะนึกถึงได้”

“เราตั้งเป้าที่จะถ่ายทอดจักวาลทั้งดั้งเดิมและเหนือกาลเวลา โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก พวกเผ่าไอนัวร์ ในนิยายของโทคีน (เผ่าไอนัวร์ถือกำเนิดจากพระเจ้าสูงสุดแห่งโลกอาร์ดา คือมหาเทพอิลูวาทาร์ เป็นพวกที่ช่วยมหาเทพสร้างพิภพต่าง ๆ ชาวมนุษย์มักเรียกพวกไอนัวร์ว่า “เทพ”) พวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตอมตะ เป็นเสมือนฑูตสวรรค์ที่ร้องเพลงอันไพเราะจนโลกถูกสร้างขึ้นจากเสียงของพวกเขาเอง”

จักรวาลดั้งเดิมและเหนือกาลเวลา

“สัญลักษณ์มากกว่าสิบอันที่อยู่ในซีรีส์นี้ถูกซ่อนเอาไว้ในซีเควนซ์ไตเติลนี้ บางส่วนมองเห็นได้ง่าย บางส่วนก็ถูกซ่อนอย่างแนบเนียน แล้วตอนต่อมาก็จะค่อย ๆ เผยความหมายเพิ่มเติมของแต่ละสัญลักษณ์ กระบวนการนี้เป็นพลังโบราณที่มองไม่เห็น ซึ่งพยายามทำให้คนเห็นสัญลักษณ์ที่ค่อย ๆ ก่อตัว ไหล ดัน และหายไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอาณาจักรแห่งนี้ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเสียงที่ไม่รู้จัก สร้างภาพแห่งความขัดแย้งและความสอดผสานสามัคคีที่เคลื่อนไปพร้อมกับดนตรี”

จากแนวคิดเหล่านี้เขาใช้วิธีที่เรียกว่า ไซมาติกส์ (Cymatics) หรือปรากฎการณ์สั่นสะเทือนที่ทำให้คลื่นเสียงปรากฏแก่สายตา ด้วยการใช้เศษดินหินกรวดวางบนแผ่นโลหะ แล้วส่งผ่านคลื่นเสียงเพื่อให้แผ่นโลหะสะเทือน เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ บนกรวดหินเหล่านั้นแล้วแฝงซ่อนสัญลักษณ์ที่ปรากฏในเรื่อง

Time Bandits

ซีรีส์ทีวีปี 2024 แนวแฟนตาซีผจญภัยที่อิงตัวละครดั้งเดิมมาจากฉบับหนังปี 1981 ของผู้กำกับสุดติสต์ เทอร์รี กิลเลียม อันเป็นการเดินทางข้ามความบิดเบี้ยวของกาลอวกาศที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันกับกลุ่มโจรสลัดแปลกประหลาดและสมาชิกใหม่ที่เป็นเด็กเนิร์ดประวัติศาสตร์
คู่หู Plains of Yonder เล่าแนวคิดให้ฟังว่า “เราใช้วัสดุไม่เหมือนกัน ที่จะปรากฎในแต่ละอีพี เล่าสายสัมพันธ์ด้วยแสงนีออนเลเซอร์แห่งยุค80s ด้วยวัตถุมากมายที่หมุนวนไปในกล้องกระจกเงาหลากสี (คาไลโดสโคป) แห่งยุคสมัยเพื่อสื่อถึงตัวละครที่ผูกโยงอดีตกับอนาคต เป็นเสมือนห้วงเวลาแห่งการประดิษฐ์ การทดลอง ความล้มเหลว และความสนุกสนาน”

The Decameron

มินิซีรีส์ตลกร้ายเล่าโลกยุคกลางอันโหดเหี้ยมอย่างเสียดสีของอิตาลีในช่วงศตวรรษที่ 14 ขณะที่กาฬโรคกำลังระบาดหนักในเมืองฟลอเรนซ์ ทำให้กลุ่มขุนนางสูงศักดิ์และคนรับใช้ทั้งหมดของพวกเขาต้องถอยทัพไปอยู่ในชนบทแสนบ้านนอก เพื่อรอให้โรคระบาดหายไป ด้วยการเมามายดื่มไวน์ชั้นเยี่ยมบนเนินเขาทัสคานี สนุนกสนานอย่างเต็มที่ ทั้งอาหารรสเลิศและเซ็กซ์ แต่ในที่สุดพวกเขาต่างต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด

พวกเขาเล่าไอเดียว่า “เพราะพาหะของโรคนี้คือหนู เราเลยได้ไอเดียสร้างพายุหนูจอมซนที่ลงหมึกด้วยมือบินว่อนไปมาเพื่อเล่าเรื่องราวของความปรารถนา การหลบหนี ความป่วยไข้ ความหวัง ความสิ้นหวัง คำอธิษฐาน และการกำเนิดใหม่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ตัวละครกำลังงเผชิญหน้ากับความตายที่คืบคลานเข้ามา ทุกอย่างบรรจบกันด้วยแอนเมชั่นวาดมืออันเก่าแก่ผสมผสานกับงาน 3D จากเครื่องมือล้ำสมัย เพื่อทดลอง ทำลาย ขีดข่วน ล้มเหลว เข้ารหัส ตะกุย และสุดท้ายก็ผสมผสานปาฏิหาริย์ของงานฝีมือที่ใช้เทคนิคเก่าแก่มาร้อยต่อกัน”

The White Lotus ซีซั่นแรก

“The White Lotus เป็นการมองโลกแบบเสียดสีสังคม เพื่อให้เห็นชีวิตของผู้ที่ได้รับสิทธิพิเศษมากล้นจนเกินไปในช่องว่างระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ แล้วเพื่อจะถ่ายทอดจิตวิญญาณที่แปลกประหลาดของซีรีส์นี้ออกมา เราจึงคิดลวดลายวอลเปเปอร์ที่สวยงามซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากห้องสวีทในรีสอร์ทภายในเรื่อง ต้นปาล์ม ผลไม้ทรงอัณฑะ ดอกชบา สับปะรด และเรือเทรดวินด์ ลวดลายเหล่านี้กลายเป็นโลกเล็ก ๆ ที่ลิงเล่นซุกซนและเสือดาวหลับใหลบนใบไม้ขนาดยักษ์

แต่เมื่อมองเข้าไปใกล้ขึ้น ทุกอย่างก็ไม่ได้ดีเหมือนในสวรรค์ กิ้งก่ากลายร่าง ผลไม้เน่าคาเถาวัลย์ งูแฝงรออยู่ หนอนผีเสื้อที่ไม่รู้จักพอทำลายทิวทัศน์ของตัวมันเอง ปลาพบจุดจบในหนวดพิษที่พันกัน และนักพายเรือแบบดั้งเดิมต่อสู้กับคลื่นลมที่ไม่อาจเอาชนะได้ ฉากต่าง ๆ เต็มไปด้วยเบาะแสที่ซ่อนอยู่เกี่ยวกับธีมและเนื้อเรื่องภายในซีรีส์

ฉากต่างๆ ได้รับการปรับปรุงด้วยเอฟเฟกต์วอลเปเปอร์จริง เช่น แสงสะท้อนจากโลกแห่งความเป็นจริง รอยต่อกระดาษที่ผิดตำแหน่ง การเคลื่อนไหวของกล้องมือถือ การเติบโตของเชื้อรา และแอนิเมชั่นหมึกเลอะ สำหรับเรา ผลงานนี้ถือเป็นการกลับมาสู่ความเหนือกาลเวลาและความเรียบง่ายในการออกแบบชื่อเรื่องอีกครั้ง ซึ่งความลึกทางจิตวิทยาและความงามอันเรียบง่ายบดบังพลังดิจิทัลสมัยใหม่”

The White Lotus ซีซั่นสอง

“การแสดงโอเปร่าที่วาดอย่างวิจิตรบรรจงผ่านจิตวิญญาณของการแสดง เราได้ร่วมงานกับ ไมค์ ไวท์ อีกครั้งเพื่อสร้างฉากเปิดเรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Emmy สำหรับซีซันที่ 2 ของ The White Lotus ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่รายละเอียดมากมายนี้บอกเล่าเรื่องราวความรัก ความใคร่ ความเหงา และจุดจบที่ไม่อาจคาดเดาได้มากมาย กับดักแห่งความรักและความใคร่ถูกวางไว้ทุกที่ภายในกำแพงเหล่านี้ บางครั้งตลก บางครั้งหยาบคาย บางครั้งน่าเศร้า…แต่ก็สวยงามเสมอ”

ความทุกข์ทนในสรวงสวรรค์

“นี่คือธีมไอเดียหลักของไตเติล The White Lotus ซีซั่นสามนี้ ความทุกข์ทนในสรวงสวรรค์ สิทธิพิเศษ ความสุข และความทุกข์ทรมานมาถึงจุดเปลี่ยนและระเบิดขึ้นภายใต้โคมไฟแห่งความอบอุ่นของความหรูหราแบบไทย ๆ เราได้กลับมาร่วมงานกับไมค์ ไวท์อีกครั้งในการเปิดประตูสู่ The White Lotus ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วาดอย่างวิจิตรบรรจงเป็นหัวข้อบทที่บอกเล่าเรื่องราวเมื่อค้นพบอย่างละเอียด ป่าดงดิบ หมู่บ้าน วัด ทะเลสาบที่พวยพุ่งขึ้นสูง การต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ และภัยพิบัติบนท้องทะเลล้วนมีธีมที่ซ่อนอยู่ซึ่งเชื่อมโยงกับเนื้อหาในซีรีส์”

มุกเธอคุยแค่กับไก่ต๊อกคนเดียวหรือ? เหมือนเธอจะหมกมุ่นจะไปจากที่นี่ และชีวิตที่ดีกว่านี้
วิคตอเรีย แม่คนดีตามขนบของสามพี่น้อง แต่เมืองไทยเป็นสวรรค์ของคนเสพกัญชา
แซกซ่อน ลูกคนโตผู้มีพฤติกรรมสุดห่าม
เชลซีแฟนสาวคู่รักต่างวัย ในภาพนี้เธอคือสัตว์ร้ายตัวไหน คือเหยื่อหรือผู้ล่า?
ล็อคแลน ลูกชายคนเล็กในวัยสับสน เอ๊ะ หรือว่าเขาจะ…
ไก่ต๊อกต่อสู้กับเสือ แต่ก็มีวัวซุ่มดูอยู่
ศรีตลา สามีเธอไปรักษาตัวในกรุงเทพ เจ้านกในมือเธอหมายถึงสามี หรือชายใด

หากสังเกตซีเควนซ์ไตเติลของซีรีส์นี้นับตั้งแต่ซีซั่นแรกมันได้ทิ้งร่องรอยเบาะแสบางอย่างเอาไว้ เราจึงลองเอาภาพตัวละครบางตัวมาประกบภาพสำคัญที่ขึ้นชื่อพวกเขาอยู่ อย่างที่บอกว่าซีรีส์นี้เพิ่งออนแอร์ไปแค่อีพีเดียว แล้วยังเหลืออีก 7 ตอน แน่นอนว่ายังไม่มีใครรู้ว่าจุดจบสุดเหวอของซีซั่นนี้จะคืออะไร แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ไม่แน่ว่าเขาอาจจะบอกเอาไว้แล้วตั้งแต่ในไตเติลก็เป็นได้

ภาพส่วนใหญ่ดัดแปลงมาจากจิตรกรรมฝาผนังวิหารหลวงวัดสุทัศน์ และวัดสุวรรณาราม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานของ หลวงวิจิตรเจษฎา หรือ ครูทองอยู่ ช่างฝีมือเอกสมัยรัชกาลที่ 3

รูปนี้น่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะปรากฏคำว่า บัวขาว อันอาจหมายถึง The White Lotus ชื่อรีสอร์ทและชื่อเรื่องของซีรีส์นี้แล้ว มันอาจหมายถึงนักมวยคนดัง บัวขาว บัญชาเมฆ ที่แว่วว่าจะมาโผล่ในซีซั่นนี้ด้วย…รึเปล่า

ส่วนเจ้านกมีนมที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกินรี จริง ๆ แล้วมันมีชื่อว่า นกอรหัน (ออ-ระ-หัน ไม่ใช่ พระอรหันต์ อะ-ระ-หันต์) มันคือสัตว์หิมพานต์ เป็นนกหัวมนุษย์หรือบางทีก็เป็นหัวยักษ์ มีเต้านม กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยวินิจฉัยว่าอาจมีต้นเค้ามาจาก ฑูตสวรรค์เครูบ ดังนี้ “รูปมนุษย์มีปีกที่เรียกกันว่าตัว ‘อรหัน’ นั้น… เคยสังเกตเห็นชอบเขียนในลวดลายและทำรูปภาพตัวเช่นนั้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ก่อนนั้นขึ้นไปไม่เห็นทำ คิดว่าสมัยนั้นเป็นสมัยชอบเปลี่ยนแปลงแผลงลวดลายไปต่าง ๆ และชอบเอาลายฝรั่งมาใช้ น่าจะมาแต่รูปเทวดาเด็ก ๆ ของฝรั่งที่เรียกว่า CHERUB ดอกกระมัง ใคร่จะเดาว่าได้ชื่อมาจากโปรตุเกส เรียกเสียงคล้าย ๆ กันว่า อรหันต์ จึงเลยกลายมาเป็นอรหัน”

อย่างไรก็ตามในวัฒนธรรมฝรั่ง สิ่งที่คล้าย ๆ กันนี้เท่าที่เราค้นเจอ มันเรียกว่า ฮาร์ปี้ (Harpy) สัตว์ครึ่งมนุษย์ครึ่งนกเป็นบุคลาธิษฐานที่ใช้แทนลมพายุ ปรากฎในบทกวีของโฮเมอร์ มักมีหัวเป็นหญิงสาว ใบหน้าซีดเผือดเพราะความหิวโหยและมีกรงเล็บยาว ชื่อของมันมีความหมายว่า “ผู้แย่งชิง” ในตำนานกรีกเชื่อกันว่ามันชอบขโมยอาหารจากเหยื่อที่กำลังกิน และมันชอบลักพาตัวพวกประพฤติชั่ว โดยเฉพาะฆาตกรที่ฆ่าคนในครอบครัว ไปยังอีรินเยส (เทพีแห่งการแก้แค้น) ดังนั้นเมื่อบุคคลหนึ่งหายตัวไปจากโลกโดยกะทันหัน ก็มักจะเชื่อกันว่าถูกฮาร์ปี้ลักตัวไป หลายครั้งมันจึงถูกประดับไว้เป็นตัวแทนแห่งการลงโทษ และทรมานเหยื่อระหว่างพาไปยังนรกทาร์ทารัส พวกมันมีพฤติกรรมโหดร้ายทารุณ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สุนัขล่าเนื้อของเทพซูส” ภายหลังจึงเชื่อกันว่ามันเป็นผู้พิทักษ์ยมโลก

ส่วนในรัสเซีย มันคือนกในตำนานเรียกว่า ซิริน (Sirin) อันดัดแปลงมาจากนางไซเรนในตำนานกรีก ของรัสเซียเชื่อว่ามันคือนกสวรรค์ เป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของโลก เชื่อกันว่าเฉพาะคนที่มีความสุขเท่านั้นจึงจะเห็นพวกมัน อย่างไรก็ตามในตำนานพื้นบ้านมันเคยเป็นนกอันตราย ชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้าได้ยินเสียงของมันจะลืมสิ้นทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ แต่ไปไปมามาในยุคหลังมันกลายเป็นสัญลักษณ์แทนพระวจนะของพระเจ้า

มีเกร็ดข้อมูลชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตถึงช็อตสามพี่น้องบ้านนี้ที่แลจะมีความลับบางอย่างอยู่ รวมถึงซีรีส์นี้อย่างที่เล่าไปว่าเดิมที่จะถ่ายทำในญี่ปุ่น ซึ่งลูกสาวของครอบครัวนี้ตั้งใจจะไปดูวิถีชีวิตพระชินโต (แต่พอซีรีส์เปลี่ยนมาถ่ายทำในเมืองไทยจึงต้องเปลี่ยนไปเป็นพระสงฆ์ในวัดไทยแทน) ทีนี้ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าสามพี่น้องในช็อตนี้ ปิดตา ปิดหู ปิดปาก อันพ้องกับภาษิต “ไม่เห็นความชั่ว ไม่ได้ยินความชั่ว ไม่พูดความชั่ว” ลิงสามตัวนี้คือ มิซารุ (ปิดตา) คิคาซารุ/มิคาซารุ (ปิดหู) อิวาซารุ/มาซารุ (ปิดปาก) มีการตีความภาษิตนี้แตกต่างกันไปสองทาง ในประเพณีพุทธของพระชินโต ภาษิตนี้คือสอนให้หลีกเลี่ยงความคิดและการกระทำที่ชั่วร้าย ทว่าในโลกตะวันตกมันถูกตีความว่าเป็นการจัดการกับสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สมควรกระทำ ด้วยการทำเป็นหลับตาข้างหนึ่ง หรือปิดหูปิดตาไม่รับรู้มัน

ต้นธารของมันเป็นภาพแกะสลักเหนือซุ้มประตูศาลเจ้าโทโชกุ ในเมืองนิกโกะ จังหวัดโทจิงิ ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยฝีมือช่างแกะสลัก ฮิดาริ จิงโกโร อันนำหลักปฏิบัติของขงจื๊อมาใช้ ให้ลิงแทนวงจรชีวิตมนุษย์ ภาพนี้ถูกเรียกรวม ๆ กันว่า ซัมบิกิซารุ (ลิงแห่งปัญญาสามตัว)

คู่หูนักออกแบบ Plains of Yonder ทิ้งท้ายไอเดียของพวกเขาให้ฟังว่า “เหตุผลที่ซ่อนอยู่มากกว่าการที่จะทำให้ฉากเปิดให้โดนใจก็คืออารมณ์และธีมต่าง ๆ มากมายที่ซุ่มซ่อนอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความใคร่ ความขี้เกียจ เซ็กส์ ความหึงหวง ความรุนแรง ความตาย และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนถ่ายทอดออกมาในรูปแบบที่สวยงามและน่ามอง กล่าวคือมันต้องกระทบใจคุณ กระทบหูคุณ และกระแทกตาคุณ…แล้วเมื่อรวมกันมันจะระเบิดออกมาเป็นความรู้สึกที่ทรงพลังกว่าผลรวมของส่วนประกอบทั้งหมดอย่างมีเหตุผล”