ThaiPublica > เกาะกระแส > “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เปิดใจ “ซื้อ AIS – ลงทุน Binance” -มองเศรษฐกิจไทยถอยหลัง วันนี้ถูกแซงแล้ว

“สารัชถ์ รัตนาวะดี” เปิดใจ “ซื้อ AIS – ลงทุน Binance” -มองเศรษฐกิจไทยถอยหลัง วันนี้ถูกแซงแล้ว

5 กุมภาพันธ์ 2025


นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ Gulf

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ขึ้นเวที “Chula Thailand Presidents Summit 2025” เสวนาหัวข้อ “Future Thailand: Energizing Society” โดยมี ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ที่ปรึกษาด้านแบรนด์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ

เล่าอุตสาหกรรมพลังงาน

นายสารัชถ์ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมพลังงานในอดีตว่า ประมาณ 30 ปีก่อน โรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลค่อนข้างดี จากนั้นเจอแรงต่อต้านจากประชาชนและสังคมค่อนข้างมาก เนื่องจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ จ.ลำปาง จากนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ก๊าซธรรมชาติ และในยุคนั้นมี ปตท. เป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้

“ก๊าซธรรมชาติเป็นตัวสำคัญ ต่อมามีการพัฒนาให้สามารถนำก๊าซธรรมชาติมาจากท่อได้ จากก๊าซเป็นของเหลวมาขึ้นท่าและเป็นก๊าซใหม่ ทำให้บทบาทของก๊าซธรรมชาติมีบทบาทมาผลิตไฟในประเทศมากขึ้น บังเอิญประเทศไทยโชคร้าย เพราะเราไม่ค่อยมีทรัพยากรอื่นๆ ในการผลิตพลังงาน เวลาทำเขื่อนทีก็โดนต่อต้านที อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาตินับเป็นบทบาทสำคัญที่เพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเมืองไทย”

ถัดจากยุคก๊าซธรรมชาติ นายสารัชถ์เล่าต่อว่าในสมัยหนึ่งมีคนชวนไปทำพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ต้นทุนสูงมากที่ 10 – 20 บาท ซึ่งไม่คุ้ม แต่ทุกวันนี้ต้นทุนเหลือ 2-3 บาท สะท้อนให้เห็นว่า โลกนี้ต้องการความมั่นคงทางพลังงานที่ราคาถูก และสะอาด

ถามว่าอนาคตอุตสาหกรรมพลังงานจะเป็นอย่างไร นายสารัชถ์ตอบด้วยการพูดถึงการลงทุนของกัลฟ์ว่า “เราลงทุนในประเทศไทยพอสมควร ช่วงที่ผ่านมาลงทุนต่างประเทศค่อนข้างเยอะ โควิดที่เดินทางไม่ได้เราก็ซื้อโรงงานลม offshore wind ประมาณ 400-500 เมกะวัตต์ มีลงทุนที่อเมริกา-ชิคาโก โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และมีที่อังกฤษ 1,500 เมกะวัตต์”

“เราไปลงต่างประเทศเยอะเพื่อดูว่า development ของเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างไร จะเห็นว่าในอดีตเราไม่สามารถทำพลังงานลมในทะเลที่แรงได้ แต่ตอนนี้ทำได้และราคาถูกลง พยายามเอาความรู้พวกนั้นมาพัฒนาให้เห็นตลาดว่าเป็นอย่างไร”

ซื้อ AIS เป็นธุรกิจอนาคต-หุ้นถูกช่วงโควิด

ผศ.ดร.เอกก์ ถามว่า ในฐานะนักการตลาดจะจับแพะชนแกะไม่ถูกว่า สิ่งกัลฟ์ทำ เช่น วันดีคืนดีธุรกิจพลังงานไปซื้อเอไอเอส หรือจู่ๆ มาพูดเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ โดย นายสารัชถ์ ตอบว่า “ทุกเรื่องเราพยายามตามเทรนด์ของโลก ผมก็หาธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองกับอนาคต อดีตเป็นแค่ประสบการณ์ที่สอนเรา ปัจจุบันที่เราเห็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้ธุรกิจหลายอย่างต้องปรับตัว

“เราไปลงทุนทำท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่แหลมฉบัง สมัยก่อนจะมีคนขับ เครน ใช้คนเยอะ มีรถวิ่ง ปัจจุบันเป็น fully automation คนนั่งในห้องเล็กๆ บริหารเครนได้ เพิ่มประสิทธิภาพขึ้น ต้นทุนถูกลง ขณะทีี่ท่าเรือคลองเตยหรือแหลมฉบังเฟสเก่ายังใช้คนอยู่ แต่ในโลกใหม่ไม่ใช้คนแล้ว” นายสารัชถ์ กล่าว

“เรามองว่าในอนาคต ธุรกิจที่เกี่ยวกับ data จะมีมากขึ้นและ digitalization จะมีบทบาทเข้ามาในชีวิตคนมากขึ้น เราเคยคิดอยากทำ data center มานาน แต่ยังหาพาร์ทเนอร์ที่ดีไม่ได้” นายสารัชถ์ กล่าว

“บังเอิญช่วงโควิด-19 ราคาหุ้นในตลาดมค่อนข้าง discount จาก fundamental เลยคิดว่าในช่วงนั้นน่าจะหาธุรกิจที่ลงทุนใหม่ ดูอยู่หลายบริษัท บางบริษัทซื้อไปก็ต้องเหนื่อย บางบริษัทดีอยู่แล้วและตอบโจทย์ระยะยาว ก็เข้าไปลงทุนใน INTUCH หรือ AIS ทางอ้อม เป็นบริษัทที่ผู้บริหารดี ผู้ถือหุ้นดี นำไปสู่โลกอนาคต”

“ในอดีตทุกคนอาจมองว่าเทเลคอมเป็นเรื่องความล้าสมัยแค่มือถือ แต่ปัจจุบันเป็น digital infrastructure เพราะมันมี data มันพูดถึง 5G และได้ผลตอบแทนที่ดี และราคาต่ำกว่าตลาดค่อนข้างมาก” นายสารัชถ์ตอบ

กระโดดหากระแส ‘คริปโต’

ส่วนเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ นายสารัชถ์ อธิบายว่า “บิดคอย-คริปโต มีคนพูดถึง ผมก็ไม่ได้สนใจมากมายเพราะคนมาชวนซื้อตั้งนาน ถึงจุดหนึ่งผมคิดว่า ถ้ามันมีคนพูดมากและคนสนใจ ถ้าเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเลยมันจะลำบาก เลยพยายามหาพาร์ทเนอร์ที่ดีที่เข้ามาลงทุน เพราะผมไม่คิดว่าตัวเองจะมีความสามารถในการ global scale หรือมีความมั่นใจในสิ่งที่ทำได้ เผอิญไปรู้จักกับเจ้าของ Binance เพราะเป็นเพื่อนกัน เลยชวนมาเปิด exchange ที่เมืองไทย”

นายสารัชถ์ กล่าวต่อว่า “บิดคอยมันใหญ่มาก ถ้าเราไม่สนใจไม่เกี่ยวข้องเลย วันหนึ่งมันจะทำให้เราขาดความรู้ไป ผมก็ถามผู้เชี่ยวชาญว่าเขามองอย่างไร หลายประเทศก็พูดถึง และถ้าอเมริกาทำจริงจังเงินทุนก็จะไหลกลับไปที่อเมริกา และ talent จะกลับไปด้วย ประเทศอื่นจะช้าไป หลายประเทศก็เริ่มเข้ามา”

แนะนิสิตจุฬาฯ ใช้มหา’ลัยให้คุ้มค่า

ผศ.ดร.เอกก์ ถามว่า ในฐานะศิษย์เก่าจุฬาฯ จะแนะนำอะไรให้ผู้ฟังและนิสิตรุ่นหลัง โดย นายสารัชถ์ บอกว่า “เรียนให้จบก็พอ ไม่ต้องถึงเกียรตินิยม เอาให้จบก็พอ (หัวเราะ) อย่ารีบรีไทร์ ผมผ่านคณะวิศวะมาที่มีรุ่นพี่รีไทร์เยอะ เขาบอกว่าอย่าเรียนเลย เดี๋ยวก็สอบได้ ผมไม่เห็นว่าได้สักคน แต่เรียนให้จบ”

“ใช้มหา’ลัยให้เยอะ กิจกรรมมันเยอะ มีเพื่อนเยอะๆ มันก็เป็นการเรียนรู้ชีวิตอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าพอผ่านมาแล้วก็เป็นส่วน critical thinking และเป็น learner ที่ออกไปแล้วก็เอาประสบการณ์มหาวิทยาลัยออกไปใช้งานได้…ใช้ชีวิตมหา’ลัยให้คุ้มค่า และเรียนรู้ไป เรียนให้จบ ไม่ต้องถึงกับเกียรตินิยม ถ้าได้มาก็ดี ไม่ได้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับชีวิต”

ติงไทยถ้าไม่ปรับตัวจะถูกลืม-วันนี้ถูกแซงแล้ว

นายสารัชถ์ กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยว่า ปัจจุบันมี Trade War เกิดขึ้นในโลก แต่ประเทศไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ยกเว้นภาคการส่งออก

“ธุรกิจท่องเที่ยวยิ่งไม่เกี่ยวกัน บาทอ่อนคนยิ่งอยากมากเที่ยว หรือเกษตรกรรมที่เป็นห่วงโซ่อาหารเราก็ไม่ได้เกี่ยวมาก กระทั่ง healthcare โรงพยาบาลก็ไม่เกี่ยวทีเดียว เมืองไทยยังมีความหวัง มีอนาคตที่ดี” นายสารัชถ์กล่าว

นายสารัชถ์ กล่าวต่อว่าขณะเดียวกันปัญหาในอนาคตก็ต้องแก้กันไป ไม่ว่าจะเป็น หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน รถยนต์ที่ผลิตน้อยลงขายไม่ได้ ทั้งหมดเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งรัฐบาลให้เข้ามาแก้ไข

“จุดหนึ่งเราจะเป็นประเทศที่ถูกลืมในเอเชีย ถ้าไม่ปรับตัว ขณะที่ประเทศอื่นเริ่มมีกิจกรรมหลายอย่างมากขึ้น เราเคยเป็น benchmark ให้คนอื่นแข่งกับเรา แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มจะเท่าเราหรือแซงเราไปแล้ว ผมคิดว่ามันอยู่ในเรื่องปัญหาพื้นฐานของประเทศ” นายสารัชถ์ กล่าว

นายสารัชถ์ กล่าวต่อว่า ไม่ว่าจะเป็น ฝุ่น PM2.5 หรือคนจีนโดนจับ ล้วนกระทบกับการท่องเที่ยว ดังนั้น ต้องแก้ปัญหากันต่อไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งมีทั้งคนสนับสนุนและคนคัดค้าน แต่ต้องดูว่าตอนจบแล้วอะไรที่มันดีกับสังคมและเศรษฐกิจมากกว่ากัน

เศรษฐกิจไทยถอยหลัง หวังทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ

สุดท้ายถามว่า อะไรคือมอตโตหรือวิธีคิดของนายสารัชถ์ ในฐานะคนวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้กับประเทศไทย โดย นายสารัชถ์ ตอบว่า “ไม่มีอะไรมาก อย่าไปเครียดเยอะ มันมีปัญหาทุกวัน เดี๋ยวรถก็ติด เดี๋ยวก็ฝุ่นเยอะ อย่าเครียดกับทุกอย่าง เดี๋ยวมันก็ผ่านไป มีปัญหาก็แก้กันไป ก็คิดบวกไว้ก่อน และเชื่อว่าปัญหามันคงแก้ได้ และถ้าเราแก้ปัญหาส่วนตัวได้ เศรษฐกิจได้ สังคมมันคงจะดี”

“ที่ห่วงคือเรามีปัญหาในประเทศเยอะ ที่รัฐบาลต้องช่วยกันแก้ ขณะเดียวกันประเทศก็ต้องเดินหน้าด้วย อะไรช่วยกันคนละไม้คนละมือได้ มันคงทำให้ประเทศกลับมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยไม่ใช่ในโลกก็ในภูมิภาค วันนี้ผมว่าเราเริ่มค่อนข้าง stable เราเคยนำเขามาก่อน การอยู่กับที่คือการถอยหลัง เพราะวันหนึ่งเราจะกลายเป็นคนที่คนอื่นลืม”

“ผมคิดว่ามันคือการปรับประเทศ และวาง position ประเทศว่าอยากให้ประเทศเป็นอย่างไรต่อไป”