ThaiPublica > เกาะกระแส > ภาษีของทรัมป์ทำให้เอเชียเปลี่ยนทิศทางการค้าแต่ยุโรปจะเป็น “ตลาดเสรี” แห่งสุดท้ายได้หรือไม่

ภาษีของทรัมป์ทำให้เอเชียเปลี่ยนทิศทางการค้าแต่ยุโรปจะเป็น “ตลาดเสรี” แห่งสุดท้ายได้หรือไม่

28 กุมภาพันธ์ 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : chinadaily.com

ในรายงานของ The New York Times เรื่องภาษีทรัมป์จะจัดระเบียบการค้าของเอเชียขึ้นมาใหม่ โดยกล่าวว่า ในการใช้อัตราภาษีเป็นอาวุธทางการค้ากับประเทศต่างๆในโลก เอเชียกลายเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจีนเท่านั้น แต่เอเชียเป็นพื้นที่ของ 7 ประเทศ ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯมากที่สุด หลักเกณฑ์ที่ทรัมป์ใช้เป็นตัววัดการได้เปรียบเสียเปรียบของสหรัฐฯ

ประเทศในเอเชียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของสินค้า ที่ทรัมป์สัญญาว่าจะเก็บภาษี เช่น รถยนต์ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ คอมพิวเตอร์ชิปของไต้หวัน และผลิตภัณฑ์ยาจากอินเดีย หลายประเทศเป็นปลายทางการส่งออกสินค้าและการลงทุนของจีน ที่ทรัมป์ถือเป็นหลักฐานกล่าวหาจีนว่า ใช้เป็นประตูหลังบ้านเข้ามายังตลาดสหรัฐฯ

เอเชียได้รับผลกระทบมากที่สุด

นโยบายของทรัมป์ที่พลิกคว่ำระเบียบการค้าโลก จะสร้างความเสียหายแก่เอเชีย ภูมิภาคที่พึ่งพิงการค้าโลกอย่างมาก และสร้างปั่นป่วนมากขึ้นแก่ห่วงโซ่อุปทาน และการไหลเวียนทางการค้า ที่ขณะนี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เนื่องจากบริษัทต่างชาติกำลังมองหาแหล่งผลิตสินค้า ที่เป็นทางเลือกแทนจีน

ผู้เชี่ยวชาญการค้ามองว่า นโยบายภาษีของทรัมป์จะเป็นชนวนทำให้เกิดคลื่นกีดกันการค้า เพราะประเทศต่างๆจะใช้นโยบายหันกลับมาภายในประเทศ และขึ้นภาษีตอบโต้การกีดกันการค้าของทรัมป์ ความปั่นป่วนยังจะนำไปสู่การสร้างพันธมิตรการค้าภายในภูมิภาคนี้ และลดความสำคัญของสหรัฐฯ ในการค้าที่มีกับเอเชีย Simon Evenett จาก IMD Business School ในสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่า สหรัฐฯอาจมอง ความได้เปรียบของตัวเองที่เกินจริงไป สหรัฐฯอาจยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ แต่เมื่อมองแบบสัดส่วน ความสำคัญของตลาดสหรัฐฯก็ลดลง เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว

ทรัมป์สัญญาที่จะใช้นโยบาย “ภาษีต่างตอบแทน” ที่หมายถึงอัตราภาษีแบบหนึ่งต่อหนึ่ง เป็นรายประเทศ และอัตราภาษีนี้ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ที่ทรัมป์มองว่าทำความเสียหายแก่สหรัฐฯ เช่น นโยบายของประเทศนั้นในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายภาษี และการอุดหนุนที่ให้กับธุรกิจ

  • ทรัมป์ประกาศนโยบาย “อัตราภาษีต่างตอบแทน” สั่นคลอนครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก
  • ในปี 2024 สหรัฐฯจัดให้จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม เป็นประเทศอยู่ในรายชื่อที่จับตามอง เรื่องการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ทำให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนตัวลง เพื่อความได้เปรียบจากการส่งออก โดยที่สหรัฐฯเป็นฝ่ายที่เสียหาย ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯขาดดุลการค้ามากเป็นประวัติการณ์ที่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์

    ที่มาภาพ Visual Capitalist

    เอเชียบางประเทศพยายามลดผลกระทบ และวางแนวทางเพื่อหาทางทำความตกลงกับสหรัฐฯ เวียดนามมีแนวคิดที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯมากขึ้น อินเดียจะลดภาษีเหล้าเบอร์เบิ้นของสหรัฐฯ รัฐบาลเกาหลีใต้เสนอเงินทุนการค้า 249 พันล้านดอลลาร์ ช่วยผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีของทรัมป์ และจะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯมากขึ้น

    ภาษีของทรัมป์สร้างแรงกดดันต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากผลกระทบจากสงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯที่ดำเนินมาหลายปี ทำให้สินค้าจีนที่เข้าตลาดสหรัฐฯไม่ได้ ต้องหันมาทุ่มตลาดประเทศอื่นแทน จากไทยจนถึงอินโดนีเซีย คู่แข่งจากจีนยังทำให้โรงงานและธุรกิจหลายพันราย ต้องเลิกกิจการ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา Decode ในสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ว่า “ปัจจุบัน เรามีคู่แข่งรายใหญ่สุดอยู่ที่สนามหลังบ้าน เราจึงต้องกังวลว่า อะไรคือมาตรการภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐฯ”

    รายงานของ New York Times กล่าวว่า สินค้าจากจีนที่ราคาถูก อาจช่วยลดต้นทุนของธุรกิจท้องถิ่น เพราะมีทางเลือกที่ชิ้นส่วนการผลิตมีราคาถูกลง เมื่อเทียบกับที่ผลิตในประเทศ โรงงานของจีนยังจะช่วยทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานขึ้นมา รวมทั้งการจ้างงานคนในประเทศ และเสียภาษีให้แก่ท้องถิ่น ความเสี่ยงจะอยู่ที่ว่า บริษัทจีนจะมีฐานะครอบงำอุตสาหกรรม เหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

    เจ้าหน้าที่บริษัทที่ปรึกษา Centennial Group กล่าวว่า ประเทศอย่างมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ อาจได้ประโยชน์จากการที่บริษัทจีนย้ายมาตั้งฐานการผลิต เมื่อมีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการเลี่ยงภาษีนำเข้า

    ส่วน Albert Park หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่า ในเอเชีย ห่วงโซ่อุปทานมีลักษณะเป็นการผลิตภายในภูมิภาคมากขึ้น หากประเทศในภูมิภาคนี้ ยังคงเปิดกว้างต่อการค้าและต่อการลงทุนระหว่างกันและกัน สิ่งนี้จะเป็นมาตรการความปลอดภัย หรือการปกป้องตัวเองของเอเชีย ตลาดเอเชียเติบโตรวดเร็ว และมีสัดส่วนมากขึ้นของเศรษฐกิจโลก ต่อไป เราจึงจะได้เห็นการลงทุนเพื่อสนองตลาดนี้มากขึ้น

    ที่มาภาพ : neta.co.th

    EU สามารถเป็น “ตลาดเสรี” แห่งสุดท้ายได้หรือไม่

    ส่วน The Economist เสนอบทวิเคราะห์เรื่อง EU สามารถเป็นเศรษฐกิจ “ค้าเสรี” รายสุดท้ายของโลกได้หรือไม่ โดยวิเคราะห์ว่า ในยุคที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯชื่นชมเรื่องการใช้ภาษีเป็นอาวุธทางการค้า ส่วนจีน แม้จะมั่งคั่งขึ้นมาจากการส่งออก แต่ก็นิยมอุ้มชูบริษัทที่รัฐให้การอุดหนุนทางการเงิน ในบรรดากลุ่มชาติยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก กลุ่ม EU อาจเป็นกลุ่มเศรษฐกิจเดียว ที่สามารถหลบซ่อนอยู่ในป้อมปราการกีดกันการค้า โดยให้ธุรกิจของยุโรปสนองตลาดความต้องการของผู้บริโภคในยุโรป ที่มีฐานะมั่งคั่งกว่า 400 ล้านคน แต่ว่ายุโรปจะสามารถรักษาฐานะการเป็นตลาดเสรีที่ใหญ่สุดของโลกได้หรือไม่

    ตำตอบคือยุโรปไม่มีทางเลือกอื่น กลุ่ม EU เป็นมหาอำนาจทั้งการส่งออกและการนำเข้า สมาชิก EU 27 ประเทศเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากจีน และนำเข้ารายใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ การส่งออกและนำเข้าของ EU มีสัดส่วน 29% ของ GDP เทียบกับสหรัฐฯอยู่ที่ 19% ของ GDP

    ยุโรปพึ่งพาการส่งออกมากกว่าภูมิภาคอื่นๆของโลก เพราะเหตุนี้ สิ่งที่สร้างความกังวลมีอยู่ 2 อย่าง ประการแรกคือ ความขัดแย้งทางการค้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับทรัมป์ ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่การส่งออกของยุโรป ไปยังตลาดใหญ่สุดของโลก ประการที่ 2 คือการตอบโต้ของจีนต่ออัตราภาษีของทรัมป์ จะทำให้จีนย้ายการส่งออกมายังยุโรป ที่ยังเป็นตลาดเปิดเสรีอยู่ แต่นักการเมืองยุโรปคงไม่ยอม ปีที่แล้ว EU เก็บภาษีรถยนต์ EV ของจีน 35% เพราะการอุดหนุนทางการเงินของรัฐบาลจีน

    ที่มาภาพ : Switzerland Enterprize

    หากยุโรปประสบปัญหาการส่งออกตกต่ำ แต่การนำเข้าพุ่งสูงขึ้น กระแสต่อต้านการค้าเสรีก็จะเพิ่มมากขึ้น กลุ่มคนที่คัดค้านการค้าเสรีไม่ได้มีเพียงเกษตรกรของยุโรปเท่านั้น นักวิเคราะห์บริษัทวิจัยในยุโรปแห่งหนึ่งกล่าวว่า “การค้าเคยเป็นเรื่องทางเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์” ฝรั่งเศสเคยเสนอให้ยุโรป “มีความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์” คือลดการพึ่งพาต่างชาติ เยอรมันหนุนการค้ากับจีน แต่ปัจจุบัน จีนสามารถผลิตรถยนต์ EV มาเป็นคู่แข่งแล้ว

    หากยุโรปไม่มีทางเลือกอื่น แต่ต้องทำการค้ากับต่างประเทศต่อไป อะไรคือทางออกของยุโรป ทางออกทางหนึ่งคือการหาความสมดุลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เช่นสนับสนุนสหรัฐฯในการควบคุม “ปัญหาการท้าทาย” จากการส่งออกของจีน หรืออาจจะขยายการค้ากับจีนมากขึ้น
    อีกทางออกหนึ่งคือการขยายความตกลงทางการค้ากับประเทศเล็กๆอย่างเช่นเม็กซิโก มาเลเซีย และกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกา หากประเทศยักษ์ใหญ่ถอนตัวจากการค้าเสรีของโลก ยุโรปจำเป็นต้องมีประเทศที่เป็นหุ้นส่วนใหม่ๆมาทดแทน

    เอกสารประกอบ

    How Trump’s Tariffs Could Reorder Asia Trade and Exclude the US, Feb 21, 2025, nytimes.com
    Can the EU afford to be the world’s last free-trader? The Economist, February 8, 2025.