ThaiPublica > คอลัมน์ > ไขทุกข้อข้องใจ ชาร์จความมั่นใจกับยานยนต์ไฟฟ้า (3):ความปลอดภัยต้องมาก่อน: รู้ทัน..รับมือ..ความเสี่ยงจากอีวี

ไขทุกข้อข้องใจ ชาร์จความมั่นใจกับยานยนต์ไฟฟ้า (3):ความปลอดภัยต้องมาก่อน: รู้ทัน..รับมือ..ความเสี่ยงจากอีวี

13 กุมภาพันธ์ 2025


รองศาสตราจารย์ ดร.อังคีร์ ศรีภคากร

ต่อจากตอนที่2

…บทนำ

วันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอีวีได้เข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ในตลาดยานยนต์ของบ้านเราแล้วกับยอดขายที่ก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา

ก็คงชัดเจนแล้วว่าอีวีมาพร้อมกับดีเอ็นเอใหม่ของยานยนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคดิจิตอลอย่างเหมาะเจาะ แต่ในความดึงดูดของอีวีนั้น ก็ต้องตระหนักว่า ไม่มีใครเคยคบกับอีวีจริงจังมาก่อน ผู้ใช้รถก็ไม่รู้จักอีวีจริงๆ ผู้ขายรถก็ไม่เคยมีประสบการณ์กับอีวี ทั้งอู่และช่าง หรือประกันและตำรวจ ก็ไม่คุ้นเคยกับอีวี

บทความนี้จะชวนมาดูกับสิ่งที่หลายคนสนใจแต่ก็ห่างๆ หรือได้ยินแล้วก็ปล่อยผ่าน นั่นคือความเสี่ยงและอันตรายที่มีได้จากอีวี ด้วยคงเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องของตำรวจหรือหน่วยกู้ภัย แต่จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของความปลอดภัยสาธารณะที่เมื่ออีวีมาอยู่ทั่วไปบนท้องถนนและลานจอดรถทั่วไป ทุกคนก็มีโอกาสประสบเหตุได้ ไม่ว่าจะในฐานะคนขับ คนนั่ง หรือคนที่เกิดอยู่ใกล้อีวีตอนเกิดเหตุ

ดังนั้นสังคมควรเริ่มตั้งคำถามถึงลักษณะเฉพาะของความเสี่ยงและอันตรายจากอีวี มาตรการรองรับที่มีและความพร้อมในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง

1. รู้ทัน…อันตรายที่มีได้จากอีวี

ด้วยความนิยมของอีวีในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ภาพเหตุเพลิงไหม้ในอีวีคงมีให้เห็นกันบ่อยๆ ซึ่งสื่อไปถึงอันตรายจากเพลิงไหม้ที่มีได้จากอีวี แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่มองไม่เห็นจากภาพหรือวิดีโอแต่เป็นสิ่งที่ผู้ประสบภัยหรือหน่วยกู้ภัยต้องประสบ ยังมีอันตรายจากสารเคมีในรูปของแก๊สพิษได้ด้วยและยังมีอันตรายจากไฟดูดจากแบตเตอรี่แรงดันสูงในอีวีที่จะหมายถึงอันตรายถึงแก่ชีวิตแก่หน่วยกู้ภัยได้หากเกิดความผิดพลาดระหว่างการกู้ภัย

ในส่วนต่อไปจะอธิบายลงลึกไปที่เหตุเพลิงไหม้ที่เป็นอันตรายได้ทั้งจากความร้อนและสารเคมีไปพร้อมกัน โดยเรื่องของแรงดันไฟฟ้าจะเป็นอันตรายที่น่ากังวลเฉพาะกับหน่วยกู้ภัยเป็นหลักและจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ โดยต้องฝากข้อเท็จจริงไว้ก่อน ว่าถึงเพลิงไหม้ในอีวีจะเห็นเป็นข่าวได้มาก ข้อมูลทางสถิติที่เริ่มมีการเก็บสะสมได้ชี้ชัดว่าอีวีไม่ได้เกิดเหตุบ่อยครั้งกว่ารถน้ำมัน เพียงแต่คนให้ความสนใจมากกว่าเมื่ออีวีถูกนำไปเป็นข่าว

สำหรับลำดับการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในอีวี จุดเริ่มต้นของเพลิงเกิดขึ้นที่ระดับเซลล์ ความเสียหายในระดับเซลล์เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ความผิดพลาดจากการผลิตเป็นสาเหตุแรกที่เกิดขึ้นได้ การทำงานนอกช่วงปลอดภัยก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง โดยเซลล์ของแบตเตอรี่ลิเทียมจะทำงานได้อย่างปลอดภัย เมื่อทำงานอยู่ในช่วงของอุณหภูมิและแรงดันที่จำกัด การที่แบตเตอรี่อยู่ภายใต้อุณหภูมิสูงเกินไปเป็นเวลานาน
หรือการรับการชาร์จไฟหรือการจ่ายไฟที่ไม่เหมาะสมหรือแม้แต่การลัดวงจรภายนอกจะสร้างความเสียหายกับแบตเตอรี่ได้ อีกสาเหตุที่พบได้คือความเสียหายบิดงอหรือถูกแทงทะลุจากวัตถุภายนอก จากหลายสาเหตุที่กล่าวมา

เมื่อเซลล์แบตเตอรี่เกิดความเสียหายแทนที่พลังงานเคมีที่เก็บสะสมอยู่จะแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าเมื่อมีการต่อเชื่อมวงจรไฟฟ้า ความเสียหายก็นำมาสู่ปฏิกิริยาเคมีที่ไม่พึงประสงค์ให้ผลเป็นการสร้างความร้อนขึ้นแทน และในเซลล์แบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบหลากหลายก็จะมีผลให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ไม่พึงประสงค์ได้เป็นจำนวนมาก ปฏิกิริยาแรกจากความเสียหายเมื่อเกิดขึ้นก็จะไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องไปเป็นลูกโซ่ที่สร้างความร้อนมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ส่วนประกอบของเซลล์เสียหายมากขึ้นและเกิดปฏิกิริยาคายความร้อนมากขึ้นไปอีก พฤติกรรมที่เร่งเร้าการปล่อยความร้อนจากความเสียหายภายในของแบตเตอรี่ลิเทียมอย่างต่อเนื่องนี้ถูกเรียกว่าปรากฏการณ์ thermal runaway และในลำดับของความเสียหายของเซลล์นี้

นอกจากความร้อนแล้วยังมีการเสื่อมสภาพของส่วนประกอบในเซลล์ที่ยังผลเป็นการปล่อยแก๊ส เช่น ออกซิเจนและรวมถึงแก๊สพิษเช่น Hydrogen Fluoride ด้วย จากจุดเริ่มต้นของความเสียหายในระดับเซลล์ ด้วยความที่แพคแบตเตอรี่ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมากที่ถูกวางชิดกัน ความเสียหายที่เซลล์หนึ่งๆ จะลุกลามไปยังเซลล์ข้างเคียงยังผลเป็นความเสียหายที่กว้างขวางขึ้น ความดันและแก๊สที่ถูกปล่อยออกมาจะนำไปสู่การลุกไหม้ร้ายแรงหรือระเบิดได้

ลำดับของการเกิดเพลิงไหม้ในอีวี(ปรับใช้จากต้นฉบับ ที่มา: www.evfiresafe.com/ev-fire-behaviour)

กับเหตุการณ์เพลิงไหม้ในอีวี ถึงแม้หลายคนจะเห็นภาพหรือวิดีโอที่แสดงการเกิดเหตุอยู่บ่อยครั้งแล้ว แต่ภาพกราฟฟิกนี้จะพยายามอธิบายลักษณะเฉพาะและลำดับของการเกิดเพลิงไหม้จากชุดแบตเตอรี่อีวีที่จะสังเกตได้จากภายนอก อันน่าจะเป็นฐานข้อมูลให้ผู้อ่านสามารถนำไปสังเกตเหตุการณ์จริงและเข้าใจเหตุเพลิงไหม้จากชุดแบตเตอรี่อีวีได้แม่นตรงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น กับความเสียหายในแพคแบตเตอรี่ที่จะนำมาสู่การเกิดเพลิงไหม้

ลำดับแรกของเหตุการณ์จะเริ่มจากมีเสียงดังคล้ายประทัดและเสียงหวีดจากแก๊สแรงดันสูง ในลำดับต่อมาจะเกิดกลุ่มควันสีคล้ำและสีอ่อน ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ควันที่ในความหมายคือเกิดจากการเผาไหม้แต่จะเป็นกลุ่มแก๊สที่มาจากการเสียสภาพของสารประกอบภายในเซลล์ จากนั้นเหตุการณ์จะดำเนินไปได้สองกรณี

กรณีแรกก็คือ การติดไฟโดยเปลวไฟจะโพยพุ่งเป็นลำโดยมีอุณหภูมิได้สูงมาก ซึ่งกรณีโดยมากราว 90% จะเป็นการติดไฟเช่นนี้ โดยระหว่างนั้นอาจจะมีเศษชิ้นส่วนจากในแพคที่ถูกขับด้วยความดันสูงกระเด็นออกมาโดยรอบได้ด้วย ในขณะที่อีก 10% จะมีการระเบิดโดยมีลักษณะแตกปะทุอย่างรุนแรง ซึ่งด้วยความที่เหตุเกิดพร้อมกับกลุ่มแก๊สสีคล้ำจึงมักมีคำเรียกว่า vapour cloud explosion

จากลำดับของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในแพคแบตเตอรี่ สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตคือลักษณะความแตกต่างของเพลิงไหม้ในกรณีอีวีเทียบกับรถน้ำมัน สิ่งแรกที่สังเกตได้คือในขณะที่กรณีรถน้ำมันมักเป็นลักษณะไฟโหมขึ้นไปแนวสูง ลักษณะของเปลวเพลิงจากชุดแบตเตอรี่ของอีวีจะมีลักษณะเป็นเจ็ตพวยพุ่งเป็นรัศมีโดยรอบไปได้ไกล และความดันสูงในแพคแบตเตอรี่ยังสามารถก่อให้เกิดการพุ่งกระจายของชิ้นส่วนจากแพคแบตเตอรี่ออกมารอบตัวรถได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มควันจากรถน้ำมันโดยหลักแล้วเป็นเขม่าคาร์บอนที่ไม่มีความเป็นพิษร้ายแรง แต่กรณีอีวี แก๊สที่ผลิตขึ้นมามีทั้งแก๊สที่วาบไฟได้และแก๊สที่มีความเป็นพิษ

อีกความแตกต่างที่สำคัญมากก็คือแนวปฏิบัติในการดับเพลิง โดยแต่เดิมกับรถน้ำมันการดับเพลิงทำได้โดยการฉีดน้ำหรือโฟมเพื่อไปปกคลุมฐานเพลิงเพื่อปิดกั้นไม่ให้ออกซิเจนเข้าไปได้ ไฟก็จะดับได้โดยเร็วแต่เพลิงไหม้ในอีวีเกิดจากการปลดปล่อยพลังงานจากปฏิกิริยาเคมีภายในแพคเอง ดังนั้นเพลิงไหม้ในอีวีจึงไม่ต้องการออกซิเจนและไม่สามารถดับด้วยน้ำหรือสารเคมีที่เคยใช้กันอยู่

ดังนั้นแนวปฏิบัติในการดับเพลิงในอีวี คือการใช้น้ำจำนวนมากเพื่อพยายามลดอุณหภูมิของตัวเซลล์ให้อัตราปฏิกิริยาลดลงจนนำไปสู่การดับไฟไปเอง โดยในทางปฏิบัติ หน่วยดับเพลิงจะต้องการน้ำในปริมาณที่มากกว่าเดิมเป็นร้อยเท่า

ความแตกต่างของเพลิงไหม้ในกรณีอีวีเทียบกับรถน้ำมันยังมีมากกว่านั้นอีกจากคำสำคัญสองคำ คือคำว่าพลังงานคงค้างและการกลับมาติดไฟ นั่นคือ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้และแบตเตอรี่ถูกฉีดน้ำจนไฟดับลง อย่าได้คิดว่านั่นคือการสิ้นสุดเหตุเพลิงไหม้ ทั้งนี้เพราะนอกจากเซลล์ที่เสียหายที่เป็นเหตุต้นเพลิงยังมีเซลล์อื่นอยู่อีกมากที่เก็บกักพลังงานเคมีไว้ในแพคแบตเตอรี่ นั่นคือแพคแบตเตอรี่ยังสามารถมีพลังงานคงค้างอยู่ภายในได้อีกมาก และในปัจจุบันก็ไม่มีวิธีการที่จะทราบได้ว่าแบตเตอรี่มีพลังงานเหลืออยู่เท่าไหร่และไม่มีวิธีการปลดปล่อยพลังงานคงค้างนั้นออกมา

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่แบตเตอรี่เกิดความเสียหายแล้วนำมาสู่เพลิงไหม้ แบตเตอรี่นั้นต้องถูกมองว่ายังมีพลังงานคงค้างเหลืออยู่ไม่มากก็น้อยและความเสียหายที่ซ่อนอยู่ในแพคไม่ว่าจะมากหรือน้อยเท่าใด จากเหตุเพลิงไหม้ในรอบแรกก็สามารถลุกลามกลับมาติดไฟได้อยู่เสมอ ซึ่งหลายครั้งการกลับมาติดไฟก็เกิดเหตุในทีเผลอเมื่อเวลาผ่านมาเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ที่ผู้ดูแลเหตุการณ์ก็คิดไปว่าไฟดับ
ไปแล้ว

2. ไม่ซื้อ..ไม่ใช้อีวี ก็มีเสี่ยง(จากอีวี)ได้

นอกเหนือจากอันตรายที่มาจากเหตุเพลิงไหม้ อีวีเองยังมีความเสี่ยงจากความเป็นยานยนต์ได้อีก ทั้งนี้แม้ไม่ต้องถึงกับเกิดเหตุเพลิงไหม้ แค่โดยตัวอีวีเองก็คือโครงเหล็กหนัก 1.5 ตันที่จะวิ่งไปในถนนสาธารณะทั่วไปได้ด้วยความเร็ว ดังนั้น ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่ออุบัติเหตุจากอีวีมาได้ไม่ยากเลย

ความเสี่ยงแรกมาได้จากความไม่คุ้นเคย โดยในต่างประเทศเริ่มมีการเก็บข้อมูลที่บ่งชี้ความเสี่ยงของอีวีที่มาจากพฤติกรรมของผู้ใช้ เช่น ในสหรัฐอเมริกาพบว่าตามสถิติการเกิดการชนโดยไม่มีคู่กรณีของอีวี เกิดขึ้นมากกว่ารถปกติถึง 50% ทั้งนี้มาจากลักษณะเฉพาะข้อแรกๆ ที่ดึงดูดให้คนมาใช้อีวี คือการมีอัตราเร่งที่สูงและการเร่งได้แรงตั้งแต่ออกตัว และกว่า 50% ของผู้ใช้อีวีมือใหม่บอกว่าต้องมีการปรับพฤติกรรมการขับขี่เมื่อมาขับอีวี โดยเหตุที่พบบ่อยคือการแตะคันเร่งเผื่อเกินไป ทำให้เกิดการกระชากตัวไปโดยไม่ตั้งใจ

อีกความเสี่ยงมาจากการใช้รถเกินสมรรถนะของผู้ขับขี่และ/หรือช่วงล่างที่มากับตัวรถ โดยในประเทศไทยข้อมูลก็เริ่มเผยให้เห็นว่าอีวีกำลังไปเป็นคำตอบของวัยรุ่นที่มองหาสมรรถนะแบบซูเปอร์คาร์ แต่กับราคารถปริ่มล้าน และคำตอบนี้ก็สะท้อนออกมาเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่พบได้บ่อยครั้ง

ความเสี่ยงอีกส่วนมาจากสมรรถนะรถที่สูงเกินไปเทียบกับสมรรถนะทางกายภาพของผู้ขับขี่สูงอายุ ก็ด้วยอีวีในวันนี้ได้ไปเป็นคำตอบของลูกหลานที่อยากมอบความสะดวกสบายจากอีวีให้กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ แต่ก็ด้วยข้อจำกัดในความคล่องแคล่วและความระมัดระวังในผู้สูงอายุความเสี่ยงในกรณีนี้ก็เริ่มเห็นเป็นอุบัติเหตุในข่าวอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากรถอีวีส่วนบุคคลแล้ว บนท้องถนนเมืองไทย ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าอีวีมีมากกว่าแค่ในรถส่วนบุคคล อีวีถูกนำมาใช้เป็นรถเมล์มากขึ้น ซึ่งก็ให้ความสะดวกสบายและลดการปล่อยมลพิษได้มาก อีวีถูกนำมาใช้กับรถบรรทุกและรถขนส่งเพิ่มมากขึ้น ก็ด้วยเหตุผลเพื่อลดค่าใช้จ่ายในเชื้อเพลิงและลดการปล่อยมลพิษ แต่ในเชิงความเสี่ยง ก็ต้องยอมรับว่าการฝึกฝนและกำกับดูแลพฤติกรรมของคนขับในเซกเมนท์เหล่านี้มีได้จำกัดมาแต่เดิม และเมื่อรถเมล์และรถบรรทุกมาเป็นอีวี ก็มีปัญหาที่ผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนไม่สามารถแยกแยะได้ว่ารถใหญ่คันนี้เป็นอีวีหรือไม่ และคาดการณ์ความเร็วในการเคลื่อนตัวไปว่าจะช้าเหมือนเดิมแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แถมรถเมล์และรถบรรทุกเหล่านี้ก็จะมีน้ำหนักตัวรถที่มากกว่าเดิมไปอีก ทำให้โอกาสที่จะเพิ่มความเสียหายในการเกิดเหตุมีมากขึ้นไปอีก

ลักษณะของลานจอดรถและตัวอย่างกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ (ตัวอย่างอ้างอิงจาก https://metropoliabierta.elespanol.com/sucesos/20220925/arden-dos-coches-electricos-en-un-parking-subterraneo/705929464_0.html)

ในส่วนนี้ตัดกลับมาเรื่องเหตุเพลิงไหม้อีกครั้ง ถึงแม้ภาพข่าวในความเสี่ยงจากอีวีที่เห็นกันโดยมากเป็นเหตุเพลิงไหม้กับอีวีบนถนนที่เปิดโล่งแต่ยังมีอีกความเสี่ยงที่สังคมยังขาดความตระหนักและตื่นตัวเท่าที่ควร คือเพลิงไหม้ของอีวีในลานจอดรถ ทั้งนี้ แม้แต่กรณีเพลิงไหม้กับอีวีบนถนนที่เปิดโล่ง นอกจากการดับไฟทำได้ไม่ง่ายแล้ว การเคลื่อนย้ายรถก็ทำได้ยากและหลายครั้งทิ้งไว้กับสภาพพื้นถนนที่เสียหายรุนแรงจากเปลวเพลิง

ดังนั้นเมื่อเป็นกรณีลานจอดรถ ที่แต่เดิมการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงก็ทำได้อย่างจำกัด พอเป็นกรณีอีวีเพลิงยิ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าเดิมและดับยากกว่าเดิม จึงอาจกล่าวได้ว่าลานจอดรถไม่ได้มีความพร้อมในการดับไฟในลักษณะนี้

ยิ่งเมื่อเป็นกรณีลานจอดรถใต้ดิน ความเป็นที่อับอากาศยิ่งจะเพิ่มโอกาสในการระเบิดต่อเนื่องจากเหตุเพลิงไหม้ได้อีกมาก แล้วถ้าไม่ใช่ลานจอดรถใต้ดินและเป็นกรณีอาคารจอดรถ เพลิงที่มีอุณหภูมิสูงและดับยากก็มีโอกาสสร้างความเสียหายแก่พื้นลานจอดรวมถึงโครงสร้างอาคารจอดรถ และมีโอกาสก่อให้เกิดการยุบตัวหรือถล่มตัวลงมาได้ ทั้งหมดนี้จะเห็นได้เลยว่าเหตุเพลิงไหม้อีวีในลานหรืออาคารจอดรถมีความเสี่ยงในหลายแง่มุมที่จะสร้างความเสียหายที่ขยายวงไปได้กว้างขวางและรุนแรงมากกว่าแค่รถอีวีหนึ่งคันได้มาก

3. รับมือ…ความเสี่ยงจากอีวี

กับอันตรายและความเสี่ยงจากอีวีที่กล่าวถึงข้างต้น ถ้าพูดถึงความพร้อมของหน่วยกู้ภัย จากที่ได้สัมผัสมา ถือว่ามาตรการการดูแลเหตุและการฝึกฝนได้มีการเตรียมพร้อมไปไม่น้อยแล้ว โดยในกรณีเกิดเหตุกับอีวีลำดับขั้นตอนในมาตรการกู้ภัยมีการระบุแล้วอย่างชัดเจน นั่นคือ ในขั้นตอนแรกต้องระบุระบบขับเคลื่อนให้ได้ก่อนเพื่อแยกแยะว่าคันไหนคืออีวี คันไหนคือรถน้ำมัน จากนั้นขั้นที่สองจะเป็นการล็อคตัวรถไม่ให้ขยับเพื่อให้โอกาสเข้าไปกู้ภัยกับผู้ประสบเหตุที่ติดอยู่ในรถอย่างปลอดภัยทั้งแก่พนักงานกู้ภัยและผู้ประสบเหตุ ขั้นตอนต่อไปคือการตัดการการทำงานของระบบขับเคลื่อน และต่อมาขั้นตอนที่สี่ ถ้าจำเป็นก็จะมีการตัดเปิดตัวถังเพื่อพาผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ขั้นตอนที่ห้าคือการดับเพลิง โดยสำหรับอีวีเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป เมื่อดูแลนำผู้ประสบเหตุออกมาจากพื้นที่และดับเพลิงเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเคลื่อนย้ายรถออกจากพื้นที่และเก็บกวาดพื้นที่หลังเกิดเหตุ

เมื่อได้ทราบถึงมาตรการกู้ภัยดังกล่าวแล้ว มาตรการแรกที่แม้แต่การกำหนดรูปแบบรวมถึงการบังคับใช้ยังไม่เกิดขึ้น คือการระบุแยกแยะยานยนต์ ทั้งนี้ เพราะยิ่งในปัจจุบันจะต่างไปจากหลายปีก่อนที่อีวีรุ่นก่อนจะมีหน้าตาแปลกไปอย่างชัดเจนจากรถน้ำมัน แต่มาวันนี้
รถหน้าตาเดียวกันก็มีระบบขับเคลื่อนได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า

ดังนั้นการระบุยานยนต์ให้แยกแยะอีวีได้จากรถน้ำมันมีความสำคัญมากในความเป็นจุดเริ่มต้นของความพร้อมในการรองรับเหตุที่จะเกิดจากอีวี โดยอาจเป็นการกำหนดป้ายทะเบียนเฉพาะเช่นการใช้สีเขียวเป็นพื้นอย่างในประเทศจีน หรือเป็นการกำหนดให้ติดสติกเกอร์เพิ่มเติมกับป้ายทะเบียนรูปแบบเดิมก็ได้โดยล่าสุดมีแนวคิดจากกรมการขนส่งทางบกในการเตรียมแยกประเภทอีวีกับรถน้ำมันโดยใช้ป้ายทะเบียนเฉพาะออกมาเมื่อ 20 มิถุนายน 2567

ตัวอย่างป้ายทะเบียนเฉพาะและการติดสติกเกอร์เพื่อแยกแยะอีวีจากรถน้ำมัน ที่มาภาพ : www.autolifethailand.tv และ www.billrobertsontoyota.com.au

สำหรับการดับเพลิงในกรณีของอีวี มาตรการที่มีก็สะท้อนลักษณะเฉพาะของเพลิงไหม้จากแพคแบตเตอรี่ในอีวีนั่นเอง คือเพลิงจากอีวีไม่ต้องการออกซิเจน แต่เป็นผลมาจากการปลดปล่อยพลังงานจากปฏิกิริยาเคมีภายในของตัวแบตเตอรี่เอง และถึงแม้บางจังหวะไฟจะดับลงแต่แบตเตอรี่ยังมีพลังงานคงค้าง เซลล์ที่ยังเสียหายมากน้อยอยู่ภายในยังคอยที่จะเสื่อมสภาพและปลดปล่อยพลังงานออกมาทำให้กลับมาติดไฟได้อีกครั้งในภายหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สามคำสำคัญสำหรับมาตรการดับเพลิงในอีวีคือ cool, burn และ submerge

มาตรการแรกของการดับเพลิงคือ cool ซึ่งเป็นการฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของตัวเซลล์แบตเตอรี่เพื่อให้พร้อมในการเคลื่อนย้าย ขั้นตอนนี้ไม่ง่าย ทั้งนี้เพราะแพคแบตเตอรี่อยู่ในตำแหน่งใต้ท้องรถ ดังนั้นการต้องงัดให้รถเงยขึ้นเพื่อฉีดน้ำเป็นเรื่องที่พบได้เป็นปกติ และด้วยแบตเตอรี่ก็ถูกออกแบบมาให้ซีลกันน้ำกันฝุ่น การจะลดอุณหภูมิของแบตเตอรี่ได้จึงต้องการน้ำในปริมาณมาก โดยปริมาณน้ำที่ต้องการนี้มากกว่ากรณีดับเพลิงในรถน้ำมันได้เป็นร้อยเท่า แต่ถ้าถามถึงประโยชน์ของข้อนี้อาจบอกในเชิงประชดประชันได้ว่ามีประโยชน์ตรงที่พนักงานกู้ภัยดูเหมือนจริงจังกับการพยายามดับไฟอยู่ ทั้งนี้เพราะถ้าคิดนำไปถึงขั้นตอนอีกสองขั้นตอนต่อไปก็จะเห็นได้ว่าสุดท้าย รถก็จะเสียหายทั้งคันอยู่ดี

มาตรการที่สองคือ burn คือการปล่อยให้แบตเตอรี่ไหม้จนหมดพลังงานและดับลงเอง ขั้นตอนนี้หากฟังครั้งแรก อาจดูไม่ต่อเนื่องมาจากขั้นตอนแรก แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ไฟจากแบตเตอรี่มีอุณหภูมิสูงและสามารถติดไฟได้นาน ซึ่งถ้าปล่อยให้ไหม้ในที่เกิดเหตุจะมีผลเป็นความไม่ปลอดภัยของผู้คนรอบพื้นที่รวมถึงสร้างความเสียหายให้กับพื้นถนนในพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างรุนแรง ขั้นตอนแรกคือ cool จึงจำเป็นเพื่อให้มีโอกาสเคลื่อนย้ายรถออกจากพื้นที่ และที่พบอยู่บ่อยครั้งก็คือรถจะกลับมาติดไฟใหม่ได้เองอย่างไม่ยากเลย มาตรการที่สองจึงมีความจำเป็น แต่ข้อติดขัดของมาตรการนี้ก็มีได้บ่อยครั้งจากความไม่เข้าใจของเจ้าของรถหรือสาธารณะที่จะมองว่าทำไมหน่วยกู้ภัยไม่พยายามดับไฟ

สำหรับมาตรการสุดท้ายคือ submerge มีลักษณะคล้ายมาตรการที่สองที่ปล่อยให้แบตเตอรี่ไหม้จนหมดพลังงาน แต่จะทำด้วยการนำรถไปแช่ในถังน้ำขนาดใหญ่ โดยกรณีนี้มีต้นทุนที่ต้องจัดหาหรือติดตั้งถังน้ำในขนาดที่บรรจุรถทั้งคันลงไปได้ แต่มีข้อดีคือจะใช้เวลาน้อยกว่าในการสงบเหตุและลดโอกาสของของปะทุของชิ้นส่วนที่ออกมาจากตัวรถที่จะมาเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างได้

จากมาตรการกู้ภัยและดับเพลิงในตัวรถอีวี เมื่อกลับมาดูความเสี่ยงของอีวีกับอาคารจอดรถคงเห็นได้ว่ามาตรการรองรับความเสี่ยงสำหรับอีวีในกรณีของอาคารคงยากขึ้นเป็นทวีคูณ แล้วเท่าที่ทราบยังไม่มีมาตรการอย่างเป็นกิจจะลักษณะออกมาจากหน่วยงานใด กฎระเบียบในอาคารที่เริ่มมีแล้วบ้างในต่างประเทศสำหรับอีวี จะเป็นการกำหนดจำนวนช่องจอดให้พอกับการใช้งานพร้อมการเตรียมการรองรับของระบบไฟฟ้า แต่มาตรการในการป้องกัน บรรเทาผลกระทบหรือบริหารความเสี่ยงยังขาดอยู่อย่างน่ากังวล

4. บทส่งท้าย

ในส่วนท้ายของซีรีส์นี้ ผู้เขียนขอปิดท้ายด้วยข้อเสนอบางส่วน ด้วยมุ่งหวังจากข้อมูลและแง่มุมที่ฝากไว้ข้างต้นให้ผู้บริโภคเชื่อใจและมั่นใจไปกับอีวีและให้บ้านเรามีระบบนิเวศที่เอื้อหนุนให้อีวีเติบโตไปอย่างจริงจังและยั่งยืน จริงๆ แล้วถ้าจะถามว่า…ข้อแนะนำในการพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับตลาดอีวีของประเทศ…จะเป็นอย่างไร เมื่ออ่านแล้วผู้อ่านบางท่านอาจนึกถึง prompt สำหรับ AI assistant ได้อย่างเร็ว และถ้าได้ลองถามผู้ช่วย AI ไปคำตอบก็จะมีมาได้ทันใจเช่นกัน แต่ชุดคำตอบเหล่านั้นถึงดูจะไม่ผิดแต่ก็คงไม่ถูก

ทั้งนี้เพราะคำตอบเหล่านี้ได้มาจากพื้นฐานที่ขัดแย้งกับแนวโน้มที่ถาถมเข้ามากับเทคโนโลยีอย่างอีวีแล้วแนวโน้มที่ว่านั้นคืออะไร กับหลายปัญหาในสังคมทุกวันนี้ จำนวนไม่น้อยเลยเกิดจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ อีวีก็เป็นหนึ่งในนั้น ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มที่เหมือนกันอยู่ แนวโน้มแรกคือ ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว และเปลี่ยนได้เร็วมาก แนวโน้มที่สองคือ ปัญหาที่ว่ามักจะเป็นปัญหาที่พัวพันทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจและอื่นๆ เข้ามาในเรื่องเทคโนโลยีเช่นนี้แล้ว บางคนให้นิยามปัญหาแนวนี้ว่าปัญหาพยศหรือ wicked problem ที่เป็นที่รวมของหลายความท้าทายที่ไม่อยู่นิ่ง ดังนั้นกับแนวโน้มเหล่านี้คำตอบถ้าจะมีได้ก็ต้องเป็นคำตอบที่เกาะติดกับหลายความท้าทายเหล่านั้นและมีพลวัตรในตัวคำตอบด้วยเช่นเดียวกัน ในที่นี้ ขอเสนอคำตอบต้นทางที่น่าจะทำให้ผู้อ่านตั้งต้นได้ และนำท่านไปในการเดินทางที่จะไปสู่คำตอบถัดไป คำตอบต้นทางนั้นคือ การต้องเร่งพัฒนาชุดข้อมูลที่จะนำไปสู่การตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเป็นหลัก (data-driven decision)

ถ้าปัญหาหนึ่ง มีการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเป็นหลักเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาแล้วประโยชน์ที่ได้โดยตรงคือวิธีการนี้จะบังคับให้เราตั้งต้นด้วยความรู้พื้นฐาน ทั้งนี้พบได้บ่อยว่าหลายครั้งเมื่อจะต้องแก้ปัญหาที่เรื้อรัง ความเร่งรีบที่ตามมาก็จะนำไปสู่การเร่งรัดหาคำตอบหรือทางออกโดยเร่งด่วน ซึ่งหลายครั้ง แม้เมื่อได้ทางออกแล้ว แต่เจ้าภาพก็ไม่ได้เกิดการเรียนรู้แม้แต่โดยพื้นฐานกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้น ในทางกลับกัน ถ้าเราให้เวลากับตัวเองจนพอนึกออกว่าอยากรู้อะไรจริงๆ จากปัญหานี้ก่อน แม้แต่ก่อนจะหาทางแก้เสียด้วยซ้ำ ก็ถือว่าเรามีพื้นฐานที่ดีกับปัญหานี้พอตัวแล้ว ในลำดับต่อมา เมื่อดำเนินการตามแนวทาง data-driven และได้ชุดข้อมูลตั้งต้นมาแล้ว ประโยชน์ต่อมาก็คือ แม้แต่ยังไม่เริ่มก้าวแรก ความมั่นใจก็จะมาแล้ว เพราะข้อมูลของเราเองในบริบทของเราเองจะทำให้เห็นทั้งข้อเท็จจริงที่ไม่เคยเห็น เห็น impact ที่จะมีได้

หรือแม้แต่คาดการณ์ได้กับ profit ที่จะได้มาถ้าทำสำเร็จและกับชุดข้อมูลตั้งต้นที่ว่ามีแนะนำเพิ่มเติมว่าควรให้ข้อมูลมีลักษณะ glocal ที่เป็นการผสมระหว่าง global และ local ข้อมูลควรมีแบบ local จากบริบทของตัวเอง แต่ก็ควรมีแบบ global โดยให้โอกาสตัวเองไปเรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์ต่างถิ่นในเรื่องนี้ด้วย เพื่อชี้ประเด็นที่น่าค้นคว้าหรือข้อสังเกตที่น่าขบคิดเพิ่มเติม ซึ่งอย่างในกรณีอีวีที่ใหม่สำหรับบ้านเรา สหรัฐหรือจีนก็ใช้อีวีมานับเป็นสิบปีแล้ว

หากจะยกตัวอย่างการคิดแก้ปัญหาในแนวทาง data-driven ผ่านเนื้อหาของบทความชุดนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าการตั้งต้นด้วยความเข้าใจถึงลำดับการพัฒนาแพคแบตเตอรี่ ผู้อ่านก็จะบอกได้ว่าเพราะเหตุใดการพัฒนาการแพคแบตเตอรี่แบบ CTP จึงมาได้เร็ว ในขณะที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบ solid-state ถึงแม้จะมีข่าวมานานแต่ก็มาได้ไม่เร็วอย่างที่คิด หรืออย่างข้อมูลของการคงค่าความจุของรถเทสล่าก็เป็นตัวอย่างของข้อมูลสาธารณะที่เก็บสะสมมาจากผู้บริโภครายย่อยโดยยินยอมและพร้อมใจ ชุดข้อมูลนี้ก็สามารถให้แนวทางในการระบุชุดข้อมูลที่จำเป็นและการเข้าถึงผู้บริโภคในการได้มาของข้อมูล ที่บริษัทรถรายอื่นสามารถเทียบเคียงและพัฒนาชุดข้อมูลลักษณะเดียวกันออกมาเพื่อยืนยันว่ารถของตนก็มีความทนทานเช่นกันแก่ผู้บริโภคได้ หรืออย่างข้อมูลเชิงแนวคิดว่าผู้ผลิตมองความจำเป็นในการเตรียมศูนย์บริการอย่างไร

ถ้าดูเฉพาะบริบทของบ้านเราก็จะมีความคาดหวังแบบหนึ่ง ในขณะที่การเรียนรู้บริบทแบบ globalอย่างสหรัฐหรือจีนในการมองอีวี ที่จะพบได้ว่าเขามองการเตรียมศูนย์บริการและตลาดมือสองต่างจากบ้านเรามากก็จะให้ประเด็นที่ควรนำไปขบคิดว่าแล้วบริษัทผู้ผลิตหน้าใหม่ที่เข้ามาบ้านเราในรอบนี้จะมีมุมมองต่อการเตรียมการรองรับการใช้งานอีวีอย่างไร กับการเปิดกว้างของตลาดอีวีที่มาอย่างรวดเร็วในบ้านเรา อยากให้มองว่าห้าปีแรกของศักราชของอีวีนี้ (ปี พ.ศ.2566-70)เป็นจังหวะที่จะตั้งทรงของทุกอย่าง

หากบทความชุดนี้จะให้กรอบของประเด็นที่ต้องขบคิดและกระตุกให้เกิดการพัฒนาชุดข้อมูลที่จะนำไปสู่การตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเป็นหลักไม่ว่าจะผ่านภาคส่วนใดก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าล้อของการเรียนรู้จะเริ่มหมุนไปข้างหน้า การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในบริบทของเราผ่านข้อมูลของเราก็จะนำไปสู่วิธีการของเราในการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อหนุนให้อีวีเติบโตไปอย่างมั่นคง วิธีการอาจมี(ยัง)ไม่สำเร็จบ้าง แต่ด้วยความใฝ่เรียนรู้ของเราและ impact ที่เรายืนยันได้จากข้อมูลของเรา เชื่อได้ว่าจะมีเพื่อนร่วมทางเข้ามาช่วยกันคิดหาพัฒนาวิธีการใหม่ๆ มากขึ้น และถ้าวิธีการนั้น(ยัง)ไม่เวิร์คอีกก็คงมีแต่คนเห็นในความตั้งใจใฝ่รู้ของเรา และยินดีเป็นเพื่อนร่วมทางที่จะเจ็บปวดไปด้วยกัน