
“ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP Group ขึ้นเวที “Chula Thailand Presidents Summit 2025” โชว์วิสัยทัศน์หัวข้อ “Future Thailand: Next Growth” มองอนาคตประเทศไทย ชี้ ‘เกษตร’ คือน้ำมันบนดิน แนะทำระบบน้ำ-ชลประทาน เพิ่มผลผลิตหลายเท่าตัว มั่นใจเศรษฐกิจไทยมีอนาคต ระบุซีพีไม่ได้ผูกขาด แต่เป็นธุรกิจแนวดิ่ง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ฝากรัฐบาลคิดนโยบายให้ตกผลึก
กล่าวขอบคุณจุฬาฯ – ชื่นชม ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ เป็นนักธุรกิจแห่งอนาคต
นายธนินท์ เริ่มจากกล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาว่า ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่เริ่มสร้างโรงพยาบาลจุฬาฯ และเริ่มสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิสัยทัศน์การมอบสถานที่จนวันนี้ทั้งโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย และผลิตคนเก่งๆ ออกมามากมาย
นายธนินท์ กล่าวต่อว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้นิสิตจุฬาฯ ไปหลายคน แต่ที่ทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เจริญรุ่งเรืองอย่างทุกวันนี้ เป็นเพราะทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
“ต่อไปเราต้องสร้างนิสิตที่มีปัญญา…อย่างคุณสารัชถ์ (สารัชถ์ รัตนาวะดี) ก็เป็นคนเก่งที่อายุยังน้อย และเข้าสู่ธุรกิจที่ทันสมัยที่สุดคือพลังงาน หลายเรื่องหนีไม่พ้น ‘ไฟฟ้า’ ทั้ง AI รถ หุ่นยนต์ โดรน”
นายธนินท์ กล่าวต่อว่า ไฟฟ้ามาจากแสงอาทิตย์และน้ำ แต่ที่สำคัญคือโลกกำลังไปสู่ไฟฟ้านิวเคลียร์ และจะเป็นธุรกิจในอนาคตที่ยิ่งใหญ่ เพราะนิวเคลียร์สะอาดและปลอดภัย แต่ประเทศไทยยังขาดไฟฟ้าที่สะอาดและราคาถูก ดังนั้นต้องเสริมด้วยไฟฟ้านิวเคลียร์
เศรษฐกิจไทยแจ่มใส หาโอกาสในวิกฤติ และวิกฤติในโอกาส
ประเด็นถัดมาคือ ‘เศรษฐกิจไทย’ ซึ่งนายธนินท์มองว่า เศรษฐกิจไทยมีอนาคต
“ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยอนาคต อนาคตดีแจ่มใส ผมยืนยัน วิกฤติก็มีโอกาส ผมเจอวิกฤติก็จะคิดถึงโอกาส แต่ตอนมีโอกาส เราได้โอกาสแล้วต้องคิดถึงวิกฤติ ไม่มีว่าจะราบรื่นได้นาน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ชีวิตผมได้รับการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง รู้ว่าวิกฤติแล้วโอกาสก็ตามมา โอกาสก็ตามมาด้วยวิกฤติ มันจะซ้ำกันอยู่อย่างนี้”
ยกตัวอย่างเรื่องการท่องเที่ยว นายธนินท์ อธิบายว่า วันนี้รัฐบาลทำได้ถูกต้องแล้วคือ ไม่ต้องมีวีซ่า เพราะการท่องเที่ยวเป็นวิธีหาเงินเข้าประเทศได้เร็วที่สุด และประเทศไทยก็พร้อมที่สุด
“แต่ถ้าพูดว่าพร้อมจริงหรือเปล่าในยุคนี้…ยังไม่ใช่ เราต้องมีงบประมาณ แต่เรามีงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการท่องเที่ยวหรือเปล่า เราตั้งเป้าหมายหรือเปล่าว่าจะไปถึงลำดับไหน และจะเจาะจงคนมาเที่ยวเมืองไทยกลุ่มไหน ประเทศไหน เรามีเป้าหมายชัดหรือยัง”
นายธนินท์ กล่าวต่อว่า อธิการบดีจุฬาฯ (ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร) อยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเรียนของโลก เพราะคนคิดว่าประเทศไทยน่ามาอยู่ แต่ถ้าเรามีมหาวิทยาลัยก้าวทันกับโลก ความยากคือจะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง ถ้าทำได้คนมาเรียนเมืองไทยแน่นอน และประเทศจะได้ทั้งคนเก่ง สมอง และเงินเข้าประเทศอีกมหาศาล สำคัญไม่แพ้การท่องเที่ยวในระยะยาว
“เรื่องท่องเที่ยว ผมก็ฝากทุกท่าน ต้องมาตั้งงบประมาณ มีเป้าหมายอะไร สุดท้ายเราจะได้อะไรต้องชัด ตรงนี้ยังไม่ชัด แต่เรื่องแรกความปลอดภัยสำคัญยิ่ง เพียงแต่ต้องมีงบประมาณ…วันนี้ผมยังไม่เห็น”
เปลี่ยนงบทำถนนมาสร้างระบบชลประทาน
“อีกเรื่องที่ประเทศไทยได้เปรียบคือ ‘เกษตร’ พอโลกปั่นป่วน ไปดูสิเรามีแผ่นดินไหวไหม ไม่มี เรามีแต่เจอน้ำท่วมกับแล้ง พอพายุไต้ฝุ่นพัดไปพัดมาก็มาฝนตกที่เมืองไทย แต่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน เจอบ่อย ลองดูประวัติศาสตร์ประเทศไทยว่าไม่มีแผ่นดินไหวหรือพายุรุนแรง มีแต่น้ำท่วมกับแล้ง”
“เรื่องน้ำท่วมกับแล้ง ผมอยากแนะนำว่า ปกติเรามีงบประมาณที่ทำถนนทำอะไร น่าจะเอางบประมาณนี้มาทำถนนเข้าไร่นา มาจัดรูปที่ดิน ปรับรูปที่ดิน และทำเรื่องชลประทาน พร้อมกับถนน”
“วันนี้เราทำหรือยัง…ยัง ผมยังไม่เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องชลประทาน ถ้าเรามีชลประทาน ก็ไม่กลัวน้ำท่วมกับแล้ง น้ำท่วมก็ไม่เกิด แล้งก็ไม่เกิด เพราะเราจัดการเรื่องน้ำ ผมว่าเอางบประมาาณที่สร้างถนนมาสร้างเขื่อน สร้างชลประทาน สร้างถนนเข้าไร่นา ถ้าเราทำแบบนี้ ผลผลิตการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า”
นายธนินท์ กล่าวต่อว่า ถ้าประเทศไทยมีน้ำทั้งปี เราจะมีพืชไร่ตลอดปี ผลผลิตเพิ่มสามเท่า นอกจากนั้นยังพืชที่ทนความร้อนก็สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้มากขึ้น ส่วนพื้นที่สูงก็ปลูกผลไม้ได้ ที่ราบหรือที่ต่ำก็ทำเป็นบึง และรอบบึงก็ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักตากอากาศ และที่อยู่อาศัย
ทำธุรกิจ ‘แนวดิ่ง’ ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
อย่างไรก็ตาม นายธนินท์ มองว่า แม้เรื่องการเกษตรจะเต็มไปด้วยโอกาส แต่การใช้ ‘คนเก่ง’ ในเรื่องเกษตรยังไม่มากพอ โดยเฉพาะเรื่องคนเก่งกับการใช้เทคโนโลยีเข้ากับการเกษตร
“ตั้งแต่พันธุ์พืช พันธุ์สวน พันธุ์สัตว์ มันเกี่ยวข้องกัน พอมีพันธุ์แล้ว ต้องตามมาด้วยปุ๋ย เพราะต้องมีอาหาร ถ้าจะให้ผลผลิตสูงต้องมีอาหาร สัตว์ก็เหมือนกัน พอเรามีพันธุ์สัตว์ก็ต้องใช้เทคโนโลยีสูง มีอาหารที่สอดคล้องกับสัตว์ที่โตเร็ว มีคุณภาพ ปลอดภัย ไขมันหมูเป็นโอเมก้าสามมันเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีส่วนมากต้องอาศัยนักวิชาการ ของเรามีไม่พร้อม”
“แทรคเตอร์เป็นหุ่นยนต์ ไม่ต้องมีคนขับ เอาคันเก่าใส่สมองหุ่นยนต์เข้าไป รถแทรคเตอร์คันเก่ากลายเป็นหุ่นยนต์เลย ไร้คนขับ วันนี้บริษัทก็ใช้โดรน ปลูกที่เขมรอยู่สี่หมื่นไร่ จีนแสนกว่าไร่ รัสเซียเจ็ดแสนกว่าไร่ ถ้าไม่ใช้โดรนจะตวจเช็คได้ยังไง พื้นที่หมื่นไร่ก็สุดลูกหูลูกตาแล้ว ต้องใช้โดรนดูว่ามีแมลงเข้ามาหรือยัง ใช้โดรนพ่นฆ่าศัตรูพืช”
อุปกรณ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีเอไอ หรือ IOT ช่วยตรวจวัดความชื้น อุณหภูมิ ออกซิเจน แอมโมเนีย กระทั่งสัตวแพทย์ก็ต้องเข้าใจเทคโนโลยีการเกษตร
ที่สำคัญคือการแปรรูปเป็นอาหารก็ต้องใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไม่ให้คนมาเกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัย แม่นยำ และคุณภาพของอาหาร
นายธนินท์ ย้ำว่า ห่วงโซ่กลางทางและปลายทางคือโลจิสติกส์ ไปจนถึงค้าปลีก ภัตตาคาร โต๊ะอาหาร ล้วนมีเทคโนโลยีมาเกี่ยข้อง
“ซีพีก็ทำตั้งแต่ต้นน้ำ แต่คนอาจจะมองว่าผูกขาด…ไม่ใช่ เราเป็นแนวดิ่งตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เพื่อให้ทุกขั้นตอนสอดคล้องกัน”
“ผมบอกว่าเกษตรเป็นน้ำมันบนดิน ใช้ไม่หมด ครอปนี้เก็บเกี่ยวไปปลูกครอป 2 แล้วไปปลูกครอป 3 น้ำมันบนดินเป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของประเทศไทย อย่างอื่นยังต้องซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนเขามาประกอบ และอาจกำไรส่วนหนึ่ง แต่สินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำส่วนใหญ่เกือบจะ 90% เป็นเงินของประเทศไทย
เตือนธุรกิจค้าปลีก อย่าเอากำไรจากการขึ้นราคา
นายธนินท์ บอกว่า ธุรกิจทุกวันนี้อยู่ได้เพราะมีคนซื้อ แต่ถ้าคนไม่มีเงิน ก็ไม่มีคนซื้อสินค้า ฉะนั้นต้องทำให้คนมีเงิน
“เราต้องมาสร้างประชาชนที่มีรายได้ หนีไม่พ้นการศึกษา ต้องมีความรู้ชาญฉลาด การศึกษาไม่ใช่ปริญญา ต้องปัญญา ต้องเรียนไปทำงานไป พอจบทำงานได้เลย อายุ 18 จบมหาวิทยาลัยได้ไหม ให้เรียนไปทำงานไป จบมาทำงานตามตำแหน่งได้เลย”
นายธนินท์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีนิสิตนักศึกษาที่จบมาในแต่ละปีสามแสนคน แต่ถ้าจะทำให้ประเทศไทยพัฒนาต้องใช้คนเก่ง 5 ล้านคน หรือใช้เวลากว่า 10 ปี ฉะนั้นอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล กฎหมาย และสถาบันการศึกษาว่าจะจัดการอย่างไร
“ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องคิดถึงประชาชน เพราะเราเอากำไรจากประชาชน เราจะขายสินค้าให้ประชาชน ถ้าคนไทยไม่รวยขึ้น เขาเอาเงินที่ไหนมาใช้ ผมต้องคิดถึงลูกค้าเราก่อนว่าทำอย่างไรให้เขามีรายได้ มีกำลังซื้อ ถ้าไม่มีกำลังซื้อแล้วผมผลิตสินค้าออกมาขายให้ใคร มันเป็นหน้าที่ของนักธุรกิจ”
“บริษัทค้าปลีกอย่าไปกำไรจากการขึ้นราคาเลย เพราะวันนี้ถาม ChatGPT ก็รู้ว่า สินค้าตัวนี้ระดับโลกราคาเท่าไร สมัยโบราณจะซื้อของก็ไปหาสามแห่ง แล้วแห่งที่ถูกที่สุดเราซื้อ แต่วันนี้ราคาที่ถูกที่สุดเราดูได้ทั่วโลก”
“เพราะฉะนั้น ซีพีทำธุรกิจต้องคิดอย่างเดียวเท่านั้น ทำอย่างไรให้ต้นทุนมันถูกลง เครื่องจักรของซีพีที่จะลงทุนต่อต้องมีพลังมากกว่าห้าเท่าของเดิม และหุ่นยนต์หรือเอไอทำให้คนฉลาดขึ้น ทำน้อยได้มาก และทำมากได้ยิ่งมาก เราต้องสร้างพนักงานบริษัทให้เก่งเท่ากับโลก และไม่กลัวเงินเดือนสูง เพราะประสิทธิภาพยิ่งสูงต้องรู้จักใช้เอไอ เอาไฮเทคเข้ามาทำให้คนเราเก่งขึ้น การผลิต-การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“สุดท้ายผมมีข้อเสนอแนะว่า ทำอย่างไรให้ประเทศไทยร่ำรวย คนไทยร่ำรวย ถ้าคนไทยร่ำรวย ประเทศไทยถึงจะแข็งแรง…ก็ต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยเป็นหลัก และนักธุรกิจเป็นส่วนสำคัญมาก ทุกอย่างต้องทำเพื่อประชาชนให้ร่ำรวยขึ้น รัฐบาลก็ต้องออกกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติถึงจะมั่นคง”