ศึกชิง “กรรมการแพทยสภา” ชุดใหม่วาระ พ.ศ. 2568-2570 เดือด “แพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล” ผู้สมัครกลุ่มเพื่อแพทย์ชี้พิรุธระบบเลือกตั้ง “ออนไลน์-ไปรษณีย์” ส่อไม่โปร่งใส เอื้อกรรมการแพทยสภาชุดเก่า เรียกร้องแก้ระบบเลือกตั้ง ให้ได้ตัวแทนแพทย์เพื่อมาแก้ปัญหารุมเร้าระบบสุขภาพของไทย

ศึกชิง“กรรมการแพทยสภา” ชุดใหม่วาระ พ.ศ. 2568-2570 ที่กำลังจะเริ่มนับคะแนนในวันที่ 15 มกราคม 2568 นี้ ดุเดือดกว่าทุกครั้ง นอกจากมีผู้ลงสมัคร 188 คน จาก 7 กลุ่มเพื่อเลือกกรรมการ 35 คนแล้ว ยังมีกลุ่มแพทย์ที่เห็นต่างและติดตามตรวจสอบการทำงานแพทยสภา ลงสมัครเพื่อชิงกรรมการแพทยสภาร่วมด้วย
ขณะที่สถานการณ์ระบบบริการสุขภาพทั้งเรื่องภาระงานหนัก แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ลาออก และระบบสุขภาพของไทยอาจจะสู่ระบบล่มสลาย กลุ่มแพทย์เรียกร้องให้แพทยสภาแก้ไข ทำให้การเลือกกรรมการแพทยสภาครั้งนี้ ถูกจับตาเป็นพิเศษ เพราะแพทย์ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากเห็นแพทยสภามีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกันระบบสาธารณสุขไทย
แพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ในฐานะแพทย์ที่เชี่ยวชาญ อาชีวเวชศาสตร์ หรือ โรคที่เกิดจากการทำงาน และเป็นหนึ่งในผู้สมัครกรรมการแพทยสภา กลุ่มเพื่อแพทย์บอกถึงเหตุผลที่ลุกขึ้นมาสมัครกรรมการแพทย์สภาชุดใหม่ว่า ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุข เพราะปัจจุบันมีความปั่นป่วนในระบบบริการทางการแพทย์ มีแพทย์ลาออกปีละเป็นพันคนเพราะภาระงานหนัก ขณะที่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีแพทย์เสียชีวิตมากถึง 610 คนซึ่งส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุหลังออกจากเวรทำงานที่ต่อเนื่อง
“เราจะปล่อยแบบนี้ไปเหรอ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต เกิดขึ้นหลังจากเลิกงาน ทำงานหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมง ทำให้แพทย์บางคนออกมาโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า ทำงาน 52 ชั่วโมงไม่ไหวแล้ว ขณะที่มีความพยายามเรียกร้องให้แก้ไข แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ”
ผลจากภาระงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของแต่ละวิชาชีพเพื่อเรียกร้องให้แก้ไข เช่น เทคนิคการแพทย์จัดตั้งเป็นสหภาพเทคนิคการแพทย์กันเอง หรือสหภาพยาบาลที่รวมกันไปจดทะเบียนในต่างประเทศเพื่อให้เข้ากับกฎหมายสากล เนื่องจากกฎหมายไทยไม่สามารถจดทะเบียนได้ เพราะเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (กพ)ทำให้จัดตั้งสหภาพไม่ได้ นอกจากสภาวิชาชีพ แต่ สภาวิชาชีพไม่ได้มีไว้เพื่อสวัสดิการ หรือดูแลความสุข ความทุกข์ ของคนในวิชาชีพ จนทำให้บุคลากรสาธารณสุขต้องออกมารวมกลุ่มกันเอง และบ่อยครั้งเกิดความขัดแย้งกันเองระหว่างวิชาชีพ
“สถานการณ์แบบนี้ระส่ำระสายมาก มันทำให้การบริหารระบบริการสุขภาพปั่นป่วน และทำให้คนลาออกจำนวนมากในแต่ละปี ปัจจุบันมีแพทย์ทั้งระบบแค่ 6-7 หมื่นคน สาเหตุมาจากเรื่องภาระงานหนัก แม้ว่าจะแพทย์ที่ทนได้ แต่ก็มีแพทย์ที่ทนไม่ได้ออกมาบ่น เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง บางคนทนไม่ไหวก็ลาออกเงียบๆ ปัญหาเหล่านี้บีบคั้นบุคลากรทางการแพทย์มาก”
ส่วนเรื่องการฟ้องร้อง แพทย์หญิงอรพรรณ์ บอกว่า ถือเป็นอีกปัญหาที่สถานการณ์หนักหน่วงเช่นกัน ซึ่งสาเหตุมาจากสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ไปกระตุ้น หรือ รณรงค์ให้ประชาชนมาใช้บริการเกินจำเป็น จนสร้างภาระงานให้กับแพทย์ เนื่องจากไปสื่อสารให้ประชาชนให้ตระหนักถึงสิทธิการเข้าถึง แต่ไม่ได้บอกประชาชนว่ามีหน้าที่ดูแลสุขภาพอย่างไร
“สปสช.ให้สิทธิชาวบ้าน ถึงขนาดทำให้แพทย์และพยาบาลเหมือนเป็นคนรับใช้ประชาชน ซึ่งเราก็รับใช้ประชาชนจริง แต่มันมากเกินไป บางคนพูดจาไม่สุภาพกับหมอ พยาบาล ถึงขนาดในกลุ่มแพทย์ออกคลิปเตือนกันว่า ถ้าเจอคนไข้พูดจาไม่สุภาพต้องควบคุมตัวเองอย่างไร รวมทั้งกระบวนการรักษา หลายกรณีนำไปสู่การฟ้องร้อง”
แพทย์หญิงอรพรรณ์ บอกว่า ปัญหาที่รุมเร้าระบบสุขภาพของไทย ทำให้กลุ่มเพื่อแพทย์ มีนโยบายที่จะแก้ปัญหาระบบทั้งหมด โดยตั้งทีมสำรวจและรับฟังปัญหาจากแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นความต้องการว่าแพทย์ เขาต้องการให้แก้ปัญหาการบริหารของสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ หรือ สปสช. จึงเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาโดยใช้ พ.ร.บ.การประเมินผลสัมฤทธิของกฎหมาย 2562 เพื่อประเมินปัญหาและการทำงานของสปสช. หากทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย เสนอให้ยุบ หรือย้ายเข้ามาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปรับระบบบริการสาธารณสุขของไทย ที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้
“ถ้าไม่จัดการเรื่อง สปสช ทุกอย่างไม่จบ เพราะเป็นเรื่อง ‘ระบบและงบประมาณที่มันพันกันไปหมด’ สุดท้ายต้องแก้ที่จุดเริ่มต้นของปัญหา ที่ทีมเพื่อแพทย์กล้าใส่เป็นนโยบายนี้ลงไป เพราะมันเป็นปัญหาจริงและเป็นความต้องการของคนทำงาน และบุคลากรสาธารณสุข ต้องการให้ระบบนิ่ง เป็นธรรม โดยการจัดการกองทุน สปสช. ต้องมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ทั้งนี้ทางทีมแพทย์ไม่เพียงกำหนดไว้เป็นนโยบาย แต่ได้ตั้งเรื่องดังกล่าว เสนอไปยังสำนักงานกฤษฎีกา เพื่อให้ใช้ พ.ร.บ.ประเมินผลสัมฤทธิของกฎหมายกับ สปสช. ซึ่งประชาชน และผู้เกี่ยวข้องมีสิทธิเสนอให้ดำเนินการได้ ตอนนี้เราชวนหมอหลายคนมาร่วมกันลงชื่อ และมีหมอหลายคนเสนอไปแล้ว แต่ถ้าเสนอในนามของแพทยสภา จะมีคนทั้งประเทศเฝ้ามองและติดตามเพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับระบบสุขภาพของไทย”

เสนอรื้อระบบการเลือกตั้ง “กรรมการแพทยสภา” เน้นโปร่งใสเป็นธรรม
ไม่เพียงการเสนอให้ประเมิน สปสช. แพทย์หญิงอรพรรณ์ ยังเสนอให้แก้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแพทยสภา ให้เป็นกลางจริงๆในการจัดการเลือกตั้ง หรือดำเนินการด้วยความยุติธรรม จึงเสนอให้การกำหนดวิธีการเลือกตั้งมาจากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก ซึ่งปัจจุบันการจัดการเลือกตั้ง มาจากข้อบังคับของกรรมการแพทยสภา ให้มีการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการระบุตำแหน่งลายเซ็น และตรวจสอบไม่ได้ว่าเป็นลายเซ็นใคร ทำให้ง่ายต่อการทุจริตเลือกตั้ง และสามารถพิมพ์บัตรใหม่ได้ เพราะคนพิมพ์บัตรเลือกตั้งเป็นเจ้าหน้าที่แพทย์สภาที่อยู่ในกรรมการแพทยสภาเอง
นอกจากนี้ยังพบว่า การส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ยังมีปัญหา บัตรเลือกตั้งถูกส่งกลับมาจำนวนมากเนื่องจากไม่มีผู้รับ โดยในการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดที่ผ่านมา มีบัตรเลือกตั้งที่ส่งไปไม่ถึงแพทย์ ถูกไปรษณีย์ตีกลับมามากหลายพันใบ
ขณะที่การเลือกตั้งในปัจจุบัน คณะอนุกรรมการดำเนินการเลือกตั้ง โดยกรรมการแพทยสภาได้จัดส่งเอกสารและบัตรลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2568 – 2570 ไปยังสมาชิกทางไปรษณีย์ จำนวน 62,571 ฉบับ แต่ข้อมูล ณ วันที่ 2 มกราคม 2568 มีบัตรลงคะแนนเลือกตั้งส่งมายังสำนักงานเลขาธิการแพทยสภาจำนวน 5,900 ฉบับ ซึ่งยังน้อยมาก
“แสดงว่าข้อบังคับการเลือกตั้งมีปัญหา การส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ก็มีปัญหา ข้อแรกการส่งบัตรเลือกตั้งไปไม่ถึง แสดงว่าแพทย์จำนวนมากไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไม บัตรเลือกตั้งส่งไปไม่ถึงและมีบัตรเลือกตั้งตีกลับมาจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุ 1.ไม่ได้อัพเดทที่อยู่ให้เป็นปัจจุบัน 2.พิมพ์ที่อยู่ผิด เพราะมันตีกลับมากเกินไปตั้งหลายพันใบ จากการตรวจสอบพบว่ามีหลายประการที่อาจจะเข้าข่ายไม่โปรงใสและเป็นธรรมเพียงพอ” แพทย์หญิงอรพรรณ์กล่าว
แพทย์หญิงอรพรรณ์กล่าวว่าเคยทักท้วงเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้งโดยให้หยุดนับคะแนน ในการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดที่ผ่านมา เพราะมีบัตรเลือกตั้งตีกลับมากเกินไป โดยขอให้ไปตรวจสอบก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่แพทยสภาไม่รับฟัง จึงยื่นฟ้องศาลอาญาให้นายกแพทยสภาให้ทำหน้าที่ตามประกาศข้อ 4 เรื่องการวินิจฉัยการเลือกตั้ง แต่แพทยสภายังไม่ได้ดำเนินการ ไม่นำข้อทักท้วงดังกล่าวเข้าวาระเพื่อพิจารณา และยังคงใช้ประกาศเลือกตั้งทางไปรษณีย์แบบเดิมมาเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่วาระพ.ศ. 2568-2570
“สิ่งที่ปรากฏสะท้อนว่าทางกรรมการแพทยสภาไม่ใส่ใจและทำเหมือนดิฉันไม่มีตัวตน ซึ่งความจริงแล้วดิฉัน แค่ต้องการสิ่งที่ดี และถูกต้องเท่านั้น แต่เขาบอกว่า ดิฉันเอาแต่ฟ้องอย่างเดียว”
แพทย์หญิงอรพรรณ์ เสนอให้การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาเหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไป โดยใช้โรงพยาบาลหรือสาธารณสุขจังหวัด เป็นหน่วยเลือกตั้งและทำการเลือกตั้ง 3 วัน ไม่ใช่เลือกตั้ง 3 เดือน ซึ่งวิธีนี้ทำให้การยืนยันตัวตนง่าย เนื่องจากอยู่ในจังหวัดเดียวกัน และค่าใช้จ่ายน้อยมาก ไม่มีปัญหาบัตรเลือกตั้งถูกส่งกลับ หรือไปไม่ถึงแพทย์
“ทีมของเราพยายามเสนอมานาน ตั้งแต่ 9 สิงหาคม 2567 และทำถึงหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่แพทยสภาไม่พิจารณา และแพทย์หลายท่านได้รวบรวมรายชื่อ 62 คนยื่นขอให้มีการเลือกตั้งแบบที่เราเสนอ แต่ก็มีหนังสือตอบมาว่า รับทราบจะนำไปพิจารณาต่อไป แต่เมื่อไหรไม่รู้” แพทย์หญิงอรพรรณ์กล่าว
เลือกตั้งออนไลน์ส่อไม่โปร่งใส
แพทย์หญิงอรพรรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงวิธิการเลือกตั้งแบบออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาแพทย์ได้รวมกันมากกว่า 50 คน ตามมาตรา 12 ให้แพทยสภาให้จัดเลือกตั้งออนไลน์ ที่ทำให้แพทย์สามารถยืนยันตัวตนได้ แม้การยืนยันตัวตนออนไลน์มีหลายระบบ แต่แพทยสภาเลือกระบบ PIN Code เพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งสามารถบอก PIN Code กับใครเพื่อไปลงคะแนนก็ได้ ขณะเดียวกันยังไม่มีตำแหน่งลายเซ็นต์ที่ชัดเจนอีกด้วย
การทักท้วงการเลือกตั้งออนไลน์ เกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดที่ผ่านมา เพราะมีปัญหาเรื่องบัตรเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากแพทยสภาว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ (โปรแกรม ) ซึ่งไม่ต่างจากโปแกรมแบบกูเกิลฟอร์ม/ลาซาด้า ลักษณะเป็นโปรแกรมสั่งรายการซื้อสินค้าแล้วรวมรายการ แต่ไม่มีบัตรเลือกตั้ง แบบเดียวกับบัตรเลือกตั้งปกติ
“บัตรเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ ทำโดยแพทยสภาไปจ้างบริษัทดำเนินการ โดยไม่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีการประมูล ไม่มีกำหนดรายละเอียดบัตรเลือกตั้ง แต่ให้บริษัทเอกชนออกแบบจัดทำบัตรเลือกตั้ง ไม่ได้ดำเนินการโดยอนุกรรมการจัดการเลือกตั้ง แต่เป็นคณะกรรมการแพทสภากับบริษัทเอกชนรายนั้น”
การเลือกตั้งออนไลน์และบัตรเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ ถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งกรรมการชุดวาระปี 2566-2568 อีกครั้ง โดยที่ผ่านมาแพทย์หญิงอรพรรณ์ ได้ทักท้วงและยื่นฟ้องต่อศาล และใช้หลักฐานการรับรองจากนายแพทย์สุธี ทุวิรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กองบัญชาการกองทัพไทย ว่า บัตรเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ของแพทยสภา ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ศาลวินิจฉัยว่าแม้ไม่มีบัตรเลือกตั้ง แต่การที่เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ก็ถือเป็นบัตรเลือกตั้งเหมือนกัน
“ตอนนี้เราฟ้องไปอีก แต่อาจจะไม่ทัน แม้กฎหมายให้มีมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว แต่เชื่อว่าอาจจะไม่ทัน เพราะตอนนี้ยังไม่มีการออกคำสั่ง ที่เป็นการกระทำ เช่น การพิมพ์บัตร ทำให้การขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อยุติการเลือกตั้งออนไลน์ เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งศาล แต่เราก็ยื่นฟ้องไปเพื่อศาลได้รับทราบข้อเท็จจริงไปด้วยกัน”
ที่ผ่านมาได้ฟ้องคดีกับแพทยสภามาแล้ว 10 คดี โดยฟ้องคดีทุกวาระมากว่า 10 ปี แม้คดีส่วนใหญ่จะไม่เคยชนะ แต่ก็ทำให้ข้อเท็จจริงปรากฎ เช่น การฟ้องบัตรเลือกตั้งออนไลน์ วาระปี 2563-2564 เราชนะในข้อเท็จจริง เพราะผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเขาไม่มีบัตรเลือกตั้ง แต่ศาลบอกว่าไม่มีบัตรเลือกจริง แต่อะไรก็ถือเป็นบัตรเลือกตั้งได้ ทำให้เราแพ้ในชั้นศาล
“เราอยู่แบบนี้ไม่ได้หรอกค่ะ เพราะถ้าทิ้ง ไม่ทำ ต่อสู้มานานกว่า 10 ปี เพราะอยากเห็นระบบสาธารณสุขดีขึ้น อยากให้ได้ตัวแทนของแพทย์จริง เพราะถ้าได้ตัวแทนที่แท้จริง ก็จะทำการแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา รวมไปถึงยังไม่แก้ปัญหาในระดับชาติด้วย”
แพทย์หญิงอรพรรณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัญหาที่แพทยสภาสร้างขึ้นใหม่และกระทบต่อการทำงานของแพทย์ คือ การออกข้อบังคับเกณฑ์การลงโทษ จริยธรรม แพทย์ กรณีดำเนินการสถานพยาบาล โดยกำหนดการลงโทษ แพทย์ที่ทำผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาล (การเปิดคลินิก) โดยกำหนดความผิดครั้งแรกคือ พักใช้ใบอนุญาตหนึ่งปี ครั้งที่สองพักใบอนุญาตสองปี และถ้าทำผิดครั้งที่สามเพิกถอนใบอนุญาตเลย ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะแพทยสภาไม่มีอำนาจ ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล ไม่มีอำนาจพักใบอนุญาตแพทย์ดำเนินการ
“แพทยสภานอกจากไม่ช่วยเหลือ แล้วยังประกาศข้อบังคับที่ทำให้แพทย์ได้รับผลกระทบ เพราะตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล แพทยสภาไม่มีอำนาจพักใบอนุญาต ขณะที่ อำนาจพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม มาตรา 39 ยังบอกไว้ชัดเจนว่าการลงโทษต้องตามสัดส่วนการกระทำผิด แต่การใช้อำนาจพักใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตเลย ซึ่งแพทย์ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และหลายคนเริ่มร่างคำฟ้องแล้วเพราะมันกระทบการประกอบอาชีพอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทำให้หมอดีๆไม่กล้าทำคลินิก และคลินิกก็จะตาย”
บทบาทแพทยสภาที่ไม่เด่นชัด โดยที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยโดยแพทยสภาศึกษาเอง ว่าทำไมมีแพทย์มาเลือกตั้งแค่ 10% ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่บอกว่าไม่เห็นประโยชน์การทำงานแพทยสภา หรือมีคำถามว่า มีแพทยสภาไว้ทำไม เพราะว่าไม่เคยทำอะไรเพื่อแพทย์เลยแล้วยังมาออกข้อบังคับทำให้แพทย์ดีๆได้รับผลกระทบ แต่แพทย์เถื่อนไม่ไปดำเนินการลงโทษ
“ตอนนี้แพทย์จำนวนมากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับแพทยสภา โดยให้มีบทบาทในการดูแลแพทย์ และเสนอทางออกระบบสุขภาพให้กับประเทศบ้าง”
อนึ่งรายงานจากแพทยสภาระบุว่าสำหรับการลงคะแนนจากสมาชิกแพทยสภา สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 2 วิธี คือ 1.E-vote ( เฉพาะผู้ที่แสดงความจำนงเลือกตั้งไว้แล้วเท่านั้น) เริ่มวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป สิ้นสุดวันที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 16.30 น. โดยลงคะแนน E-Vote ได้ที่ https://evoting.tmc.or.th/vote-open/f5dc46de733c8c9781d30b7718e92fab หรือ Scan QR Code (ด้านล่าง)
ทั้งนี้มีผู้แสดงความจำนงเลือกตั้ง แบบ E-Vote จำนวน 9,985 คน มีสมาชิกลงคะแนน E-Vote แล้ว จำนวน 3,771 คน ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2567
2 .ทางไปรษณีย์ (วิธีเดิม) เริ่มส่งบัตรเลือกตั้งทั่วประเทศพร้อมกัน วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 สมาชิกสามารถส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์และขนส่งเอกชนเท่านั้น กลับมาที่สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ชั้น 12 อาคารมหิตลาธิเบศร ซอยสาธารณสุข 8 กระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 ทั้งนี้ บัตรเลือกตั้งต้องส่งกลับมาถึงสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ภายในวันที่ 14 มกราคม 2568 เวลา 16.30 น. และจะมีการนับคะแนนในวันพุธที่ 15 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 2 มกราคม 2568 คณะอนุกรรมการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาได้จัดส่งเอกสารและบัตรลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2568 – 2570 ไปยังสมาชิกทางไปรษณีย์ จำนวน 62,517 ฉบับ ขณะมีบัตรลงคะแนนเลือกตั้งส่งมายังสำนักงานเลขาธิการแพทยสภาจำนวน 5,900 ฉบับ