สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (Thaipublica.org) โดยความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการ Building Network with Border Reporters /Regional Media Workshop ขึ้นสำหรับผู้สื่อข่าวใน 3 จังหวัดชายภาคใต้เมื่อ วันที่ 9-10 มกราคม 2568 ที่ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี จังหวัดปัตตานี
โครงการ Building Network with Border Reporters /Regional Media Workshop เป็นโครงการสำหรับนักข่าวชายแดนในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ Reskill Upskill และสร้างเครือข่ายพันธมิตรสื่อในพื้นที่ ที่มีศักยภาพในพื้นที่ชายแดนของประเทศ สู่ความร่วมมือในการรายงานข่าว ข้อมูลเชิงลึก สถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในมิติต่างๆ ให้เกิดรับรู้ในวงกว้าง ด้วยรูปแบบ Data Journalism เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าในทุกช่องทาง
ไนลส์ โคล รองโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวเปิดงานผ่านวิดีโอว่า “ขอต้อนรับทุกท่านสู่เวิร์กชอปสำหรับสื่อในภูมิภาคและชายแดน เสียดายที่ผมไม่สามารถไปร่วมงานที่ปัตตานีในวันนี้ได้ เพราะผมได้ยินมาว่าปัตตานีสวยมากผมเองเคยไปที่ปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่สวยมาก”
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับไทยพับลิก้า Thaipublica พันธมิตรสื่อของเราในโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพสื่อ ขอขอบคุณ Thaipublica ไทยพับลิก้า ที่ทำให้โครงการสำคัญนี้เกิดขึ้นได้ ความทุ่มเทของทุกท่านนำเรามาที่นี่ด้วยภารกิจที่มีร่วมกัน
มีเรื่องราวมากมายทั่วประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการบอกเล่า โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่นักข่าวต้องเผชิญกับความท้าทายเนื่องจากทรัพยากรมีจำกัดและสื่อหลักในกรุงเทพฯ ไม่ให้ความสนใจ
ข้อจำกัดทางการเงินทำให้งบประมาณลดลงสำหรับการฝึกอบรมและการพัฒนาวิชาชีพ ทำให้การรายงานประเด็นสำคัญในท้องถิ่น เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและประเด็นทางสังคม ทำได้ยากขึ้น โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ท่านมีเครื่องมือและทักษะในการระบุประเด็นข่าว ค้นคว้าและรายงานข่าวในเชิงลึก เพื่อให้ผู้บริโภคข่าวได้ยินเสียงของชุมชนท้องถิ่น และเพื่อนำเสนอปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างถูกต้องได้รับการนำเสนออย่างถูกต้อง
“เวิร์กชอปนี้จะช่วยให้ท่านหาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และรายงานข่าวโดยมีจรรยาบรรณและความถูกต้อง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกัน โดยเป็นโอกาสในการทำความรู้จักกับเพื่อนนักข่าวที่มีเป้าหมายและความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน เครือข่ายที่สร้างขึ้นที่นี่ช่วยให้เกิดการสนับสนุนที่ยั่งยืนและสร้างโอกาสในการร่วมมือกันในอนาคต”
สื่อมวลชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลและข้ามพรมแดน ท่านเสนอเรื่องราวที่มักถูกมองข้ามโดยสื่อหลัก นำเสนอประเด็นสำคัญต่าง ๆ งานของทุกท่านสำคัญอย่างยิ่งยวด
ในสภาพแวดล้อมสื่อในปัจจุบัน ข้อมูลเท็จแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว การรายงานที่ถูกต้องจากข้อเท็จจริงจึงมีความสำคัญมาก ท่านคือผู้พิพักษ์ความจริง ซึ่งส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย
ขอให้ทุกท่านมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการฝึกอบรม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับทราบข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในเวิร์กชอปนี้ เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำข่าวและส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนของสื่อ เพื่อการรายงานข่าวของท่าน เพราะท่านจะไม่เพียงแต่รับใช้ชุมชนท้องถิ่นของตนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้วิชาชีพสื่อมวลชนเติบโตและน่าเชื่อถือ
“สถานทูตสหรัฐฯ เชื่อในพลังของสื่อมวลชน เราสามารถสร้างสังคมที่โปร่งใสและได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ในประเทศไทย สหรัฐฯ และทั่วโลก โดยการให้เครื่องมือและความรู้ที่ถูกต้องแก่สื่อมวลชนอย่างท่านทั้งหลาย ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและได้รับแรงบันดาลใจจากเวิร์กชอปนี้ เราสามารถสร้างพลังสื่อที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจากการร่วมมือกัน”

การประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้สื่อข่าวใน 3 จังหวัดชายภาคใต้ เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกที่จัดขึ้น ภายใต้โครงการ Building Network with Border Reporters /Regional Media Workshop ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยงานที่มาร่วมถ่ายทอดแบ่งปันข้อมูลในหลากหลายด้านให้กับสื่อ
โดยนายทัดลาภ เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เป็นวิทยากรบรรยา ในหัวข้อ “เป็น อยู่ คือ ของสามจังหวัดชายแดนใต้” เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ และพัฒนาการของเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายหลายด้านทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งจะช่วยให้สื่อในพื้นที่รายงานข่าวเศรษฐกิจของภูมิภาคภายใต้บริบทท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น และเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
รศ.ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะ ประธานเครือข่ายบริหารการวิจัยภาคใต้ตอนล่าง โดยโครงการพัฒนาเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก และ ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมนำเสนอ กระบวนการยกระดับแพลตฟอร์มแก้ปัญหาความยากจน สู่ แพลตฟอร์มสู้ภัยพิบัติ

ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ บรรยาย ในหัวข้อ “บริบทโลก บริบทไทย ความยั่งยืนที่เข้าถึงได้” เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นกระแสหลักของโลกในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้สื่อในพื้นที่ขยายการรายงานข่าวไปยังข่าวที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่มีความสำคัญสำหรับอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่นักข่าวจะต้องเข้าใจวิธีนำแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนไปใช้ในการรายงานข่าว
นอกจากนี้นางสาวอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือต่าง ๆ สื่อใหม่ๆ เนื่องจากปัจจุบัน โซเชียลมีเดีย (Social Media) และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ถูกนำไปใช้งานอย่างหลากหลายโดยเฉพาะการสื่อสาร ของสื่อมวลชน (Mass Media) แต่ยังมีสื่อมวลชนอีกมากที่ยังไม่สามารถใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการรายงานข่าวได้มากนัก เพราะยังไม่มีความเข้าใจเครื่องมือต่าง ๆ มากนัก และยังไม่ได้เรียนรู้มากพอ ตลอดจนขาดความชำนาญในการใช้งานสื่อใหม่ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างมากในการปฏิบัติงานสื่อภายใต้กระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
นายกมล ชวาลวิทย์ บรรณาธิการข่าวข้อมูล สำนักข่าวไทยพับลิกาได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการค้นหาข้อมูล แหล่งข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการรายงานข่าวในช่วงกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ด้วยเครื่องมือ ฟังก์ชันในโปรแกรมต่างๆ ใที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น ฟังก์ชันการค้นหาข้อมูลจากไฟล์ที่จัดเก็บในรูปExcel หรือ pdf ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI ในการค้นหาข้อมูล การสร้างรูปประกอบข่าวด้วย AI
การลงพื้นที่จริงจะช่วยให้สื่อในพื้นที่ได้รับข้อมูลตรงจากผู้ประกอบการ ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะส่งผลให้มีการรายงานข่าวได้อย่างถูกต้องไม่ผิดพลาด ในวันที่สองของการประชุมเชิงปฏิบัติการจึงได้นำสื่อเข้าเยี่ยมชมสะพานปลาปัตตานี ซึ่งเป็นสะพานปลาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของประเทศไทย พร้อมรับฟังสถานการณ์ของอุตสาหกรรมประมงปัตตานีจากที่เคยเฟื่องฟู กับวันนี้ด้วยคำถามว่าอุตสากรรมประมงปัตตานีจะล่มสลายจริงหรือ โดยนางอันน์เกตุ ลีลาไพบูลย์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี
Regional Media Workshop ปิดลงด้วยการแลกเปลี่ยนการเล่าเรื่อง Story Telling จาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ การจับประเด็น ในพื้นที่ โดยนายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค นักการสื่อสาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) อดีตผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์การทำข่าวมาอย่างเข้มข้นหลายทศวรรษ