รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

วันที่ 20 มกราคม 2568 หลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา เป็นสมัยที่ 2 โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ลงนามใน “คำสั่งประธานาธิบดี” (executive order) ทันที โดยสั่งการหัวหน้าหน่วยงานรัฐบาลกลาง ให้ดำเนินการในสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายการค้าอเมริกามาก่อน” (America First Trade Policy)
รัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2 ต้องการสร้างนโยบายการค้าที่ส่งเสริมการลงทุนและผลิตภาพ เพิ่มความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติและทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างประโยชน์แก่คนงาน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เกษตรกร และธุรกิจอเมริกา
คำสั่งของทรัมป์กำหนดเส้นตายวันที่ 1 เมษายน 2568 ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ สอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้น และให้เสนอแนวทางแก้ ที่รวมถึงมาตรการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นกับสินค้าที่มาจากทั่วโลก
“นโยบายการค้าอเมริกามาก่อน”
คำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์ครั้งนี้ ยังไม่ได้เริ่มต้นสงครามการค้าครั้งใหม่ด้วยการประกาศเก็บภาษีสินค้าจากต่างประเทศสูงขึ้นทันที เหมือนที่ทรัมป์เคยหาเสียงว่า วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง จะเก็บภาษีสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% แต่การสอบสวนหาสาเหตุการขาดดุลการค้า จะเป็นการเปิดประตูไปสู่การที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการเก็บภาษีนำสูงขึ้นเข้าจากทั่วโลก ทรัมป์กล่าวกับนักข่าวว่า อาจเก็บภาษีแบบครอบคลุมการนำเข้าจากทุกประเทศ เพราะ “ประเทศทั่วโลกล้วนเอาประโยชน์จากสหรัฐฯ”
ในไม่กี่เดือนข้างหน้า คำสั่งของทรัมป์จะช่วยเตรียมความพร้อม ที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการการค้าต่างๆ เพราะมอบหมายให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินวิธีปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของต่างประเทศ เช่น การใช้วิธีการค้าไม่เป็นธรรมต่างๆ การควบคุมค่าเงิน และการเก็บภาษีต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมต่อบริษัทอเมริกัน

4 เสาหลักของลัทธิทรัมป์
หนังสือชื่อ What Trump’s Second Term Means for Australia (2025) เขียนถึงแนวคิดของ “ลัทธิทรัมป์” (Trumpism) ว่า นโยบายของทรัมป์ประกอบด้วย 4 เสาหลักด้วยกัน
-
1) นโยบายสนับสนุนคนท้องถิ่นอเมริกันที่อาศัยอยู่มานาน (nativism) มากกว่าผู้อพยพ และการปกป้องพรมแดนสหรัฐฯ
2) การปกป้องการค้า (protectionism) โดยการใช้การเก็บภาษีป้องกันไม่ให้สินค้านำเข้ามาท่วมตลาดสหรัฐฯ การสร้างอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิตขึ้นมาใหม่ในสหรัฐฯ
3) การแยกตัวโดดเดี่ยว (isolationism) การถอนตัวจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับนานาประเทศ การถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากสงครามในต่างประเทศ จากองค์การระหว่างประเทศ ที่จำกัดอำนาจความเป็นอิสระของสหรัฐฯ
4) แนวคิดชาตินิยม (nationalism) คำขวัญ “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make America Great Again) โดยการเกี่ยวพันกับโลก จะต้องทำให้อเมริกาได้ประโยชน์ก่อนและมากที่สุด
ส่วนท่าทีของทรัมป์จะไม่เปลี่ยน คือ ใช้วิธีการเผชิญหน้า ไม่มีแบบแผน คาดหมายไม่ได้ ไม่มีความสำนึกในประวัติศาสตร์ และเป็นเรื่อง “ธุรกรรม” ล้วนๆ ทรัมป์จะท้าท้ายต่อโครงสร้างและองค์การนานาชาติ ที่เกิดขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมความมั่นคง สันติภาพ และความรุ่งเรื่องให้เกิดขึ้นทั่วโลก ทรัมป์ต้องการรื้อถอนระเบียบโลกดังกล่าว
แนวคิดของทรัมป์จะส่งผลต่ออนาคตขององค์กรต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย เช่น ทรัมป์ยังต้องการสนับสนุนหรือมองไม่เห็นความสำคัญกับการที่สหรัฐฯ เป็นภาคีใน ASEAN Regional Forum เป็นสมาชิก APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) และกลุ่ม Quad ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย

สงครามโลกเรื่องภาษีนำเข้า
เมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2017 โลกอยู่ในสภาพที่เป็นไปตามแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) คือนับจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เป็นที่ยอมรับกันว่าโลกาภิวัตน์ทางการค้าคือเป้าหมายของนานาประเทศ องค์การการค้าโลก (WTO) มีบทบาทสำคัญที่ส่งเสริมการค้าไร้พรมแดน มีข้อตกลงที่ลดภาษีนำเข้า และส่งเสริมการลงทุน
แต่ทรัมป์ปิดประตูต่อการค้าที่เปิดกว้าง โจมตีสถาบันระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นมาหลังสงคราม ไม่ว่าจะเป็น UN, NATO, G20, G7, EU, APEC หรือ ASEAN ถ้าไม่วิจารณ์ก็โจมตีหรือไม่ให้ความสำคัญ เพราะเหตุนี้ นโยบายทรัมป์ที่ให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์การระหว่างประเทศ การต่อต้านผู้อพยพ และการกีดกันการค้า อาจเป็นตัวเร่งทำให้โลกเราเดินมาถึงจุดจบของยุคโลกาภิวัตน์
การค้าคือแนวรบสำคัญที่ทรัมป์ดำเนินการ เพื่อบั่นทอนอำนาจขององค์การระหว่างประเทศ ทรัมป์โจมตีข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยนโยบาย “อเมริกามาก่อน” การนำเข้าจากต่างประเทศถูกมองว่าเป็นสิ่งที่คุกคามความมั่นคงสหรัฐฯ ไม่มีประเทศไหนที่จะต้องได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อุตสาหกรรมต่างประเทศจะต้องไม่มาคุกคามการจ้างงานในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นแผงพลังงานแสงอาทิตย์ รถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ หรือเครื่องจักรกล ทรัมป์เคยกล่าวว่า “รถยนต์ EV จากจีนคือตัวทำลายการจ้างงาน”
จีนเป็นเป้าหมายการค้าใหญ่สุดที่ทรัมป์โจมตี รัฐบาลทรัมป์สมัยแรกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มสินค้าจากจีน ที่มีมูลค่านำเข้ามา 360 พันล้านดอลลาร์ สงครามการค้าช่วงแรกทำให้สหรัฐฯ กับจีนเกือบจะแยกตัวเศรษฐกิจออกจากกัน ข้อตกลงชั่วคราวมีขึ้นก่อนโควิด-19 สหรัฐฯ ยังคงเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจากจีน โดยจีนจะนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 200 พันล้านดอลลาร์ในเวลา 2 ปี
เมื่อทรัมป์เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ในวันแรกการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ลงนามให้สหรัฐฯ ถอนตัวทันทีจากข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ทรัมป์กล่าวว่า “เราจะเลิกข้อตกลงการค้าที่ไร้สาระ ที่เอาคนออกไปจากประเทศเรา เอาบริษัทออกไปจากประเทศเรา และสิ่งนี้จะต้องกลับกัน ผมคิดว่าจะมีบริษัทจำนวนมากย้ายกลับมาประเทศเรา”
นอกจากการพังทลายของระเบียบการค้าโลกแล้ว การเป็นพันธมิตรระหว่างชาติตะวันตกกับสหรัฐฯ ก็อาจจะไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อีก เพราะพันธมิตรดังกล่าวของตะวันตกตั้งบนการมีค่านิยมร่วมกันในเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม หากสหรัฐฯ ไม่ได้ถือสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ การเป็นพันธมิตรก็หมดความหมาย
ทรัมป์เป็นผู้นำแบบ “สร้างการเปลี่ยนแปลง” (transformational leader) ผู้นำแบบทรัมป์สร้างแรงสะเทือนไปทั่วโลก เพราะโลกไม่เคยคิดว่าระบอบประชาธิปไตยอเมริกาจะทำให้มีประธานาธิบดีแบบทรัมป์ขึ้นมา แต่เฮนรี คิสซิงเจอร์ เคยกล่าวว่า ในประวัติศาสตร์โลก นานๆ จะมีผู้นำแบบนี้เกิดขึ้นมา
เอกสารประกอบ
Trump Promises Tariffs on Canada and Mexico, and Paves the Way for Further Trade Action, January 20, 2025, nytimes.com
What Trump’s Second Term Means for Australia, Bruce Wolpe, 2025, Allen & Unwin.