ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนได้เปรียบดุลการค้าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ผลกระทบ “กำลังการผลิตล้นเกิน” ต่อชาติกำลังพัฒนา

จีนได้เปรียบดุลการค้าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ผลกระทบ “กำลังการผลิตล้นเกิน” ต่อชาติกำลังพัฒนา

19 มกราคม 2025


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://carnewschina.com/2024/09/24/china-exported-4-09-million-vehicles-from-january-august-2024-up-39-yoy/#google_vignette

เมื่อวันจันทร์ 13 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานศุลกากรของจีนเปิดเผยว่า ปี 2024 จีนส่งออกสินค้าและบริการเป็นมูลค่า 3.58 ล้านล้านดอลลาร์ และนำเข้าเป็นมูลค่า 2.59 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ปี 2024 จีนได้เปรียบดุลการค้า 990 พันล้านดอลลาร์ มากสุดเป็นประวัติการณ์ เท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ เทียบกับที่เคยได้เปรียบดุลการค้าสูงสุด 838 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022

ตัวเลขการได้เปรียบดุลการค้าของจีน มีมูลค่าสูงกว่าอย่างมาก เทียบกับประเทศที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่การส่งออกมาก่อน เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมัน การได้เปรียบดุลการค้าจีนในสินค้าอุตสาหกรรมการผลิต มีสัดส่วนถึง 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจรวมของจีน สหรัฐฯเคยทำได้ 6% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อโรงงานในยุโรปเลิกการผลิตเพื่อส่งออก และหันไปผลิตยุทธปัจจัยแทน

และวันศุกร์ 17 มกราคม 2568 สำนักสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า ปี 2023 เศรษฐกิจจีนเติบโต 5% โดยมาจากการส่งออกที่พุ่งขึ้นมา การลงทุนอย่างมากด้านโรงงานการผลิตอุตสาหกรรม ช่วยชดเชยการตกต่ำด้านภาคการก่อสร้าง เมื่อปี 2023 เศรษฐกิจจีนโต 5.2% เฉพาะช่วงตุลาคม-ธันวาคม 2024 เศรษฐกิจจีนเติบโตอัราที่สูง เฉพาะเดือนธันวาคม ได้เปรียบดุลการค้าถึง 104 พันล้านดอลลาร์ หากทั้งปีสามารถขยายตัวสูงเท่ากับ 3 เดือนสุดท้ายของปี เศรษฐกิจจีนจะโตมากถึง 6.6%

ความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของทรัมป์

หลายประเทศต้องการให้ตัวเอง ได้เปรียบดุลการค้าสินค้าอุตสาหกรรมการผลิต เพราะโรงงานอุตสาหกรรมสร้างงานมหาศาล และมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ แต่จีนสามารถส่งออกสินค้า ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงแผงพลังงานแสงแดด นอกจากการจ้างงานหลายล้านคนแล้ว การส่งออกทำให้คนงานจีนมีรายได้เพิ่มเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมของจีนก็ลดลง เพราะจีนใช้นโยบาย Made in China 2025 เพื่อพึ่งตัวเองด้านอุตสาหกรรมการผลิต จีนเปลี่ยนจากประเทศนำเข้ารถยนต์ กลายมาเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่สุดของโลก ล้ำหน้าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมัน ล่าสุด บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนเริ่มผลิตเครื่องบินพาณิชย์ลำตัวแคบ เพื่อวันหนึ่งจะเข้ามาแทนที่เครื่องบินของโบอิ้งและแอร์บัส

BYD คือบริษัทที่เป็นหัวหอกการส่งออกของจีน ปี 2024 ยอดขายในตลาดโลกรถยนต์ EV ของ BYD เพิ่ม 72% เป็น 420,000 คัน สมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีนเปิดเผยว่า ปี 2024 จีนส่งออกรถยนต์ EV ทั้งหมด 1.29 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 24.3% สร้างความกังวลแก่ประเทศตะวันตก ทำให้ EU เก็บภาษีนำเข้า 45% กับรถยนต์ EV ผลิตในจีน ส่วนรัฐบาลไบเดนเก็บภาษีรถยนต์ EV จีนที่ 100%

การที่เศรษฐกิจจีนอาศัยการส่งออกมากขึ้น และการได้เปรียบดุลการค้ามหาศาล ทำให้จีนเสี่ยงมากขึ้นต่อมาตรการภาษี ที่รัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2 จะนำมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าที่เรื้อรังของสหรัฐฯ ทรัมป์ประกาศในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีว่า จะเพิ่มภาษีกับสินค้าจีนทุกชนิดเป็น 60% สิ่งที่จีนกังวลอยู่ที่ว่า การเผชิญหน้าที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯครั้งนี้ จะกลายเป็นความขัดแย้งทางการค้า ที่ขยายวงกว้างออกไปกับประเทศอื่นๆ เช่น EU บราซิล และอินเดีย

ที่มาภาพ : https://carnewschina.com/2024/09/24/china-exported-4-09-million-vehicles-from-january-august-2024-up-39-yoy/#google_vignette

ผลกระทบ “กำลังผลิตจีนล้นเกิน”

บทความชื่อ How China’s Overcapacity Holds Back Emerging Economies ของสถาบันวิจัย Rhodium group กล่าวว่า นับจาก 2019 อุปสงค์ (demand) ภายในของจีนที่อ่อนตัว บวกกับความสามารถในการผลิตที่ขยายตัวมากขึ้น ทำให้การได้เปรียบดุลการค้าด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีนพุ่งสูงขึ้น

เคยเป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อการผลิตของจีนยกระดับสูงขึ้น ด้านห่วงโซ่คุณค่า (value chain) จะช่วยโรงงานประกอบการผลิตของประเทศกำลังพัฒนา ที่อาศัยชิ้นส่วนจากจีน ให้มีโอกาสเติบโตขึ้นมา แต่หากจีนไม่เริ่มติดเครื่องยนต์การเติบโตภายในขึ้นมา สินค้าจีนคงจะไหลบ่ามาประเทศกำลังพัฒนา จนทำให้ชาติเหล่านี้ขาดโอกาสการส่งออก

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา ประสบปัญหาการการส่งออกจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จีนได้เปรียบดุลการค้าด้านสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตกับอาเซียน เพิ่มขึ้นเท่าตัว ในช่วง 2019-2023 การได้เปรียบดุลการค้าของจีนจากสัดส่วน 3% เป็น 6% ของเศรษฐกิจอาเซียน เทียบการได้เปรียบดุลการค้าของจีนกับเศรษฐกิจ EU เพิ่มแค่ 0.5% การได้เปรียบกับสหรัฐฯ สัดส่วนคงที่ราวๆ 1% ของ GDP สหรัฐฯ

ประเทศกำลังพัฒนานำเข้าสินค้าจากจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าระดับกลาง หรือชิ้นส่วนการผลิตสินค้าสำเร็จรูป จุดนี้แสดงว่าการนำเข้าจากจีนมีส่วนทำให้เกิดการเติบโตภาคอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนา ความต้องการที่มีมากขึ้นต่อสินค้าอุตสาหกรรม ที่ผลิตจากประเทศกำลังพัฒนา ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามของกลุ่ม G-7 ที่จะลดความเสี่ยงจากจีน โดยกระจายการผลิตออกจากจีน จุดนี้ทำให้โรงงานการผลิตของประเทศกำลังพัฒนานำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมากขึ้น เพื่อมาประกอบการผลิต และส่งออกต่อไปทั่วโลก

บทความของ Rhodium Group กล่าวว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อาเซียนบูรณาการสูงมากขึ้นกับ “ห่วงโซ่คุณค่า” ของจีน โดยนำเข้าชิ้นส่วนการผลิตของจีน มากกว่านำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากจีน ในช่วงเวลากัน ประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้สูญเสียตลาดส่งออกให้กับจีน สัดส่วนการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา เทียบการส่งออกโดยรวมของโลก เพิ่มจาก 19.8% ในปี 2019 เป็น 20.4% ในปี 2022 แต่ช่วงเดียวกันนี้ ส่วนแบ่งตลาดส่งออกของประเทศตะวันตกหายไป 2.7% จุดนี้อธิบายว่า จีนช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยฝ่ายที่เสียเปรียบคือประเทศตะวันตก

ความเสี่ยงต่อชาติกำลังพัฒนา

แม้จะมีด้านที่เป็นประโยชน์ แต่การส่งออกที่พุ่งขึ้นของจีน ทำให้บริษัทจีนมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยงต่อพฤติกรรมการผูกขาด เช่น ปฏิเสธการจัดส่งชิ้นส่วน การรวมหัวกันขึ้นราคา รวมทั้งการเกิดการหยุดชะงักของตลาด เนื่องจากปัญหาโรคระบาดเป็นต้น

บทความของ Rhodium Group กล่าวว่า จากการที่จีนครองตลาดสินค้ามานาน ความเสี่ยงนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ การเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าระดับกลาง ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องพึ่งพาการสนองชิ้นส่วนต่างๆจากจีน

แต่สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ก็คือว่า ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ความไม่สอดคล้องกันระหว่างกำลังการผลิตในจีน กับอุปสงค์ความต้องการภายในของจีน ขยายตัวห่างออกไปอีก ทำให้บริษัทจีนที่ผลิตสินค้าเช่น รถยนต์ เคมีภัณฑ์และเหล็ก หาทางออกโดยมองหาตลาดต่างประเทศมาแทน

วิกฤติอสังหาริมทรัพย์จีน ทำให้การผลิตเหล็กจีนเกินความต้องการภายใน ที่มาภาพ : China Daily

จุดนี้ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา นำเข้าจากจีนมากขึ้น แต่ประเทศกำลังพัฒนาพึ่งพานำเข้าจากจีนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งนี้สะท้อน “ฐานะพิเศษ” จีนในเศรษฐกิจโลก คือไม่มีประเทศไหนที่สามารถครองตลาดสินค้าอย่างกว้างขวางและหลายประเภทในตลาดโลกเท่ากับจีน

การมีฐานะที่ครองตลาดสินค้าหลายประเภทในตลาดโลกของจีน ทำให้เกิดความเสี่ยงจาก “แรงกดดันเศรษฐกิจ” ต่อประเทศพึ่งพาการนำเข้าจากจีน เช่น ทางการจีนอาจจำกัดการเข้าถึงวัตถุดิบสำคัญของจีน ด้วยเหตุผลทางการเมือง

รายงาน Rhodium Group กล่าวว่า ความเสี่ยงอีกอย่างคือพฤติกรรมการผูกขาด ในปี 2022 มีการเปิดเผยว่า 70% บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นของจีน มีหน่วยพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ในบริษัท ทำให้ทางการจีนสามารถประสานงานในหมู่บริษัทจีน เรื่องส่วนแบ่งตลาด การเพิ่มราคา และการจำกัดการขายสินค้า เป็นต้น

การครองตลาดส่งออกสินค้าของจีน ยังทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีจุดอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจภายในจีน เมื่อความต้องการภายในของจีนอ่อนตัวลง บวกกับสินค้าส่งออกที่จีนครองตลาดอยู่ ทำให้ราคาสินค้านั้นตกต่ำทั่วโลก และทำให้ผู้ผลิตภายในของประเทศอื่นๆล้มละลายลง

ตัวอย่างเช่นเหล็กกล้า จีนมีสัดส่วน 50% การผลิตของโลก เมื่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จีนเผชิญวิกฤตินับจากปี 2021 ทำให้การผลิตเหล็กกล้าจีนล้นตลาด ส่งผลให้ราคาเหล็กกล้าโลกตกต่ำลง ปี 2023 จีนส่งออกเหล็กกล้าเพิ่ม 35% และปี 2024 กว่า 27% และสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตเหล็กในเวียดนาม บราซิล และอินเดีย

การรับมือของประเทศกำลังพัฒนากับปัญหาการผลิตล้นเกินของจีน แตกต่างกันออกไป ชิลีและอินเดียใช้มาตรการกีดกันสินค้าจากจีน เช่นมาตรการเก็บภาษีทุ่มตลาด และหันไปทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศตะวันตก อีกมาตรการหนึ่งคือตัวอย่างของไทย ที่ดึงการลงทุนจากผู้ผลิตแบตเตอร์รี่ของจีน และแผงพลังงานแสงแดด ปัจจุบัน การลงทุนต่างประเทศในจีนลดลง แต่การลงทุนจีนในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างมาก

เอกสารประกอบ

China’s Trade Surplus Reaches a Record of Nearly $1 Trillion, Jan 12, 2025, nytimes.com
How China’s Overcapacity holds Back Emerging Economies, June 13, 2024, Rhodium Group.
Brazil, India and Mexico are taking on China’s export, 23 May 2024, theeconomist.com