สุนิสา กาญจนกุล รายงาน
นิวยอร์กเป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่น การเงิน และธุรกิจ ถนนหลายสายมีร้านค้าหรูหราน่าตื่นตาตื่นใจ แต่นักท่องเที่ยวผู้ไม่คุ้นเคยกับนิวยอร์กที่ออกมาเดินชมเมืองอาจนึกฉงนอยู่ในใจว่าทำไมหน้าอาคารสูงมากมายหลายแห่งที่ควรจะตกแต่งอย่างโดดเด่นดึงดูดใจกลับถูกปิดบังด้วยนั่งร้านก่อสร้างแบบมีหลังคายาวเหยียดตลอดแนวถนน
ว่ากันว่าถ้านำนั่งร้านก่อสร้างแบบมีหลังคาทั้งหมดในนิวยอร์กซึ่งมีอยู่มากกว่า 9,000 แห่ง มาเรียงต่อกันจะได้ระยะทางยาวกว่า 600 กิโลเมตร ซึ่งสามารถใช้เป็นเส้นทางขี่จักรยานจากใจกลางมหานครนิวยอร์กไปถึงน้ำตกไนแอการาได้อย่างสะดวกเลยทีเดียว
กำเนิดของนั่งร้านก่อสร้างแบบมีหลังคาที่เกือบจะถาวรเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องจากกฎหมายควบคุมอาคารอันเข้มงวด ที่ระบุให้เจ้าของอาคารต้องตรวจสอบปรับปรุงผนังด้านหน้าอาคารทุก 5 ปี หากผู้ตรวจสอบพบว่ามีข้อบกพร่องแม้จะเล็กน้อยเพียงใด เจ้าของอาคารก็จะต้องติดตั้งนั่งร้านก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมพร้อมกับสร้างซุ้มทางเดินพร้อมหลังคาเพื่อป้องกันไม่ให้มีวัสดุร่วงหล่นใส่ผู้สัญจรไปมา
เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารและความรับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุ เจ้าของอาคารจำนวนมากจึงลักไก่ด้วยการทิ้งนั่งร้านค้างคาเอาไว้แบบนั้นแบบผิดกฎหมาย โดยไม่สนใจว่าจะก่อปัญหาด้านทัศนียภาพให้กับนิวยอร์กมากแค่ไหน จนนั่งร้านเหล่านั้นแทบจะกลายเป็นซุ้มทางเดินถาวรเพื่อบังแดดบังฝนสำหรับคนเดินเท้าและกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของนิวยอร์กไปแล้ว
ปัญหานี้ยืดเยื้อยาวนานและกลายเป็นภาระที่ทางเทศบาลนครนิวยอร์กต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อหาทางแก้ไข นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันถึงขั้นกำหนดแผนรณรงค์ ชื่อ “รื้อซุ้มหลังคาลงมา” (Get Sheds Down) ซึ่งล่าสุดสามารถรื้อโครงนั่งร้านที่มีอายุมากกว่าสิบปีได้หลายแห่ง

เริ่มต้นจากกระเบื้องแผ่นเดียว
นิวยอร์กได้ชื่อว่าเป็นมหานครที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เต็มไปด้วยพลังงานและกิจกรรมตลอด 24 ชั่วโมง เมืองนี้เปรียบเสมือนศูนย์รวมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีประชากรมากกว่า 8 ล้านคน เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในสหรัฐฯ เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ทั้งตึกระฟ้าสูงตระหง่าน ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์และประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง
แต่ทั้งเมืองกลับเต็มไปด้วยแนวนั่งร้านพร้อมหลังคายาวเหยียดจนบดบังหน้าอาคารร้านค้าที่ควรจะสวยงามสะดุดตา เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหา จำเป็นต้องย้อนกลับไปดูที่ประวัติศาสตร์การขยายตัวของเมืองนี้
นิวยอร์กมีการขยายตัวในแนวสูงมาโดยตลอด มีการก่อสร้างตึกสูงจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง การเสื่อมสภาพอาจเกิดขึ้นได้ รอยแตกร้าวอาจก่อตัวขึ้นบนผนังก่ออิฐ ซึ่งอาจทำให้ชิ้นส่วนของผนังอาคารร่วงหล่นลงมาบนทางเท้า
และปัญหานี้ก็เกิดขึ้นจริง โดยในปี 1979 กระเบื้องแผ่นหนึ่งหลุดออกจากผนังหน้าอาคารและตกลงมาจากชั้นแปด ส่งผลให้เกรซ โกลด์ นักศึกษาวัย 17 ปี ของวิทยาลัยบาร์นาร์ดต้องเสียชีวิต สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว นิวยอร์กจึงผ่านกฎหมายท้องถิ่นฉบับที่ 10 เพื่อป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้
ต่อมายังเกิดอุบัติเหตุชิ้นส่วนอาคารร่วงหล่นอีกหลายครั้ง บางครั้งเป็นเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น อิฐเป็นตันถล่มลงมาจากด้านหน้าอาคาร นิวยอร์กจึงออกกฎหมายท้องถิ่นฉบับที่ 11 ซึ่งเข้มงวดกว่าเดิมในปี 1998 โดยกำหนดให้อาคารที่มีความสูงเกิน 6 ชั้น ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบทุกๆ 5 ปี
สถาปนิกหรือวิศวกรต้องตรวจสอบอาคารและส่งรายงานไปยังกรมอาคารเพื่อระบุสถานะความปลอดภัย โดยสถาปนิกและวิศวกรที่จะทำงานนี้ได้จะต้องอยู่ในรายชื่อลงทะเบียนเท่านั้น หากผู้ตรวจสอบเห็นว่าไม่ปลอดภัย เจ้าของทรัพย์สินจะต้องติดตั้งโครงนั่งร้านก่อสร้างพร้อมหลังคาเหนือทางเท้าเพื่อป้องกันวัสดุก่อสร้างที่อาจตกลงมา
ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด
ความเข้มงวดของกฎหมายท้องถิ่นฉบับที่ 11 ส่งผลให้ธุรกิจนั่งร้านก่อสร้างในนิวยอร์กเบ่งบานจนมีมูลค่าราวปีละ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน
แม้จะถือกำเนิดเพื่อคุ้มครองคนเดินถนน แต่กฎหมายนี้กลับสร้างผลกระทบต่อเจ้าของทรัพย์สิน มีผลกระตุ้นให้เจ้าของอาคารหลายรายตัดสินใจสร้างโครงนั่งร้านพร้อมหลังคาเอาไว้อย่างถาวรแทนที่จะซ่อมแซมด้านหน้าอาคาร เนื่องจากการทำเช่นนี้เสียค่าใช้จ่ายถูกกว่า
ข้อมูลของกรมอาคาร (DOB) ระบุว่ามีโครงนั่งร้านบนทางเท้าในนิวยอร์กถึง 9,172 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตแมนฮัตตัน โครงนั่งร้านเหล่านี้มีความยาวรวมกันมากกว่า 600 กิโลเมตร ซึ่งหากนำมาต่อกันจะเพียงพอสำหรับสร้างทางจักรยานแบบมีหลังคาจากใจกลางเมืองนิวยอร์กไปจนถึงน้ำตกไนแอการาเลยทีเดียว
โครงนั่งร้านบนทางเท้าจำนวนมากเหล่านี้ปิดบังโฉมหน้าของสถานที่สวยงามโดดเด่นของนิวยอร์กเอาไว้และสร้างความรำคาญใจให้กับผู้คน แม้จะไม่งดงามและชวนให้หงุดหงิด แต่หากมองในมุมของเจ้าของอาคาร ก็อาจจะเข้าใจได้ในเรื่องความกังวลด้านกฎหมายและการลดความเสี่ยง
สำหรับเจ้าของอาคาร การตัดสินใจติดตั้งโครงนั่งร้านไม่ได้เป็นเพียงแค่การปฏิบัติตามข้อบังคับเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการป้องกันการต้องรับผิดชอบทางกฎหมายและการบรรเทาความเสี่ยงหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องและผลกระทบทางการเงิน
เพราะในความเป็นจริง การติดตั้งและบำรุงรักษาโครงนั่งร้านในระยะยาวมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งในด้านการเงินและด้านสุนทรียภาพเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อผลกำไรของเจ้าของอาคารโดยตรง ขณะที่ในทางอ้อม การมีโครงนั่งร้านเป็นแนวยาวหน้าอาคารอาจลดทอนทัศนียภาพของย่านนั้น และส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินลดลงอีกด้วย
รณรงค์รื้อนั่งร้าน
ความแพร่หลายของโครงนั่งร้านแบบมีหลังคาในนิวยอร์กส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรวมอย่างชัดเจนในแง่ของสุนทรียภาพเพราะทั้งเมืองดูเหมือนตกอยู่ในสภาวะกำลังก่อสร้างตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม นิวยอร์กมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเอริก อดัมส์ นายกเทศมนตรีนิวยอร์กคนปัจจุบันพยายามกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยโครงการรณณงค์ที่ใช้ชื่อว่า “รื้อซุ้มหลังคาลงมา” (Get Sheds Down) โดยมุ่งหวังที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวนิวยอร์กและคืนพื้นที่ทางเท้าอันมีค่าให้กับประชาชน
โครงการนี้ใช้หลากหลายวิธีเพื่อเร่งรัดให้เจ้าของอาคารซ่อมแซมอาคารให้เสร็จเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ปรับปรุงรูปแบบของโครงหลังคาเหล็กและนั่งร้านให้ดูดีขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดกว่าเดิมสำหรับการก่อสร้างที่ล่าช้า และส่งเสริมการใช้วิธีการอื่น เช่น การใช้ตาข่ายป้องกันแทนโครงนั่งร้านมีหลังคาในกรณีที่เป็นไปได้
นับตั้งแต่มีการเปิดตัวแผนดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2023 โครงนั่งร้านริมทางเท้าจำนวน 500 แห่งในนิวยอร์กก็ถูกรื้อถอนออกไป โดยคิดเป็นระยะทางรวมกันราว 17 กิโลเมตร
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา นิวยอร์กสามารถรื้อถอนโครงนั่งร้านในย่านฮาร์เล็มซึ่งติดตั้งมายาวนานกว่า 21 ปีได้เป็นผลสำเร็จ โดยยื่นฟ้องคดีอาญาต่อผู้จัดการทรัพย์สินที่ละเลยไม่ยอมซ่อมแซมอาคารดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวโครงนั่งร้านหน้าอาคารสูงในนิวยอร์กเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนและมองได้หลากหลายมิติ การต่อสู้ระหว่างเทศบาลเมืองนิวยอร์กและแนวโครงนั่งร้านจึงมีทีท่าว่าจะต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน เมื่อใดก็ตามที่ค้นพบทางออกที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างความกังวลด้านความปลอดภัยและความต้องการที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ของนิวยอร์กได้เท่านั้น สงครามนี้จึงจะสิ้นสุดลง
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2024/04/24/nyregion/nyc-scaffolding.html
https://abc7ny.com/post/15-year-old-sidwalk-shed-finally-removed-new-new-york-city-program-get-sheds-down/15238897/
https://www.cbsnews.com/newyork/news/scaffolding-costs-nyc-businesses-thousands-each-month/
https://www.nyc.gov/content/getstuffdone/pages/sidewalk-sheds
https://www.cbsnews.com/newyork/news/scaffolding-costs-nyc-businesses-thousands-each-month/