สุนิสา กาญจนกุล
โครงการกำแพงต้นไม้ยักษ์ (Great Green Wall) คือความพยายามที่จะปลูกต้นไม้ให้แน่นขนัดจนกลายเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติขนาดใหญ่ซึ่งทอดยาวขวางกลางทวีปแอฟริกา เพื่อช่วยหยุดยั้งการขยายตัวของทะเลทรายซาฮาราที่คุกคามความเป็นอยู่ของผู้คน
โครงการที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2007 โครงการนี้ วาดหวังเอาไว้ว่าเมื่อถึงปี 2030 จะสามารถสร้างกำแพงสีเขียวขนาดมหึมาที่ยาวกว่า 8,000 กิโลเมตร อีกทั้งยังช่วยสร้างงานและลดคาร์บอนไปพร้อมๆ กัน
องค์กรที่เป็นเจ้าภาพของโครงการล้วนแต่เป็นหน่วยงานระดับโลกและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ โดยกำหนดงบประมาณไว้หลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ถึงปัจจุบัน โครงการนี้ดำเนินการมา 17 ปีแล้ว เหลือเวลาอีกเพียง 6 ปี ก็จะจบโครงการ แต่กลับเผชิญปัญหาต่างๆ นานา จนดูเหมือนว่ากำแพงยักษ์เขียวขจีน่าจะไม่ใช่ความหวังที่เจิดจรัสตามที่ฝันกันเอาไว้ในตอนแรก แต่ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ภาพลวงตาในทะเลทรายเท่านั้นเอง

ที่มาภาพ: https://docs.wfp.org/api/documents/WFP-0000143430
ครอบคลุม 11 ประเทศ
โครงการกำแพงต้นไม้ยักษ์เป็นหนึ่งในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีเป้าหมายหลักในการต่อสู้กับการขยายตัวของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคซาเฮล ซึ่งเป็นภูมิภาคกึ่งแห้งแล้งที่พาดผ่านทวีปแอฟริกาจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปถึงฝั่งทะเลแดง
กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) ของสหประชาชาติระบุว่า โครงการกำแพงต้นไม้ยักษ์มีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม 100 ล้านเฮกตาร์ กักเก็บคาร์บอน 250 ล้านตัน และสร้างงานสีเขียว 10 ล้านตำแหน่งในพื้นที่ชนบททั่วภูมิภาคซาเฮลภายในปี 2030
โครงการนี้ครอบคลุมระยะทาง 8,000 กิโลเมตร กว้าง 15 กิโลเมตร กินอาณาเขตของ 11 ประเทศ ได้แก่ บูร์กินาฟาโซ ชาด จิบูตี เอริเทรีย เอธิโอเปีย มาลี มอริเตเนีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย เซเนกัล และซูดาน โดยในพื้นที่จะดำเนินการด้วยระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืนที่ปลูกพืชพันธุ์หลากหลาย คาดกันว่าจะต้องใช้เงินดำเนินการมากถึง 36,000-49,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนั้นยังเป็นการประสานพลังของหลายฝ่าย ตั้งแต่องค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ ธนาคารโลก สหภาพแอฟริกัน องค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรพัฒนาของเอกชน เช่น องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และกรีนพีซ
บริษัทธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมก็มีส่วนสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีแก่โครงการนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทพลังงาน บริษัทปิโตรเคมี และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร
ประชาชนคือหัวใจสำคัญ
เริ่มต้นจากแนวคิดเรียบง่ายที่จะปลูกต้นไม้จำนวนมากให้กลายเป็นเป็นกำแพงยาวเหยียด โครงการกำแพงยักษ์เขียวขจีได้พัฒนาไปเป็นโครงการที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ต่อเนื่องและสร้างภูมิทัศน์ที่อุดมสมบูรณ์เพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาค
แม้ว่าการปลูกป่าจะเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ แต่ต้นไม้หลายล้านต้นถูกคัดเลือกสายพันธุ์อย่างรอบคอบโดยเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจริญเติบโตและการอยู่รอด ต้นไม้ที่นิยมปลูกได้แก่ อะเคเซีย เบาบับ และมะรุม ซึ่งไม่เพียงทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดีแต่ยังมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย
การที่โครงการนี้จะดำรงอยู่ได้ การเลือกปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคือปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง หากคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวและปลูกต้นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อย ต้นไม้เหล่านั้นอาจถูกคนในท้องถิ่นตัดไปทำฟืน แต่การเลือกสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ในระยะยาวจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นช่วยบำรุงรักษาและสนับสนุนการปลูกต้นไม้เหล่านั้น
เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกสามารถเติบโตขึ้นมาได้ในบริเวณแห้งแล้ง บางชุมชนเลือกวิธีการแบบพื้นบ้านมาใช้ในการปลูกต้นไม้ เช่น ในประเทศมอริเตเนีย ประชาชนจะขุดดินบริเวณโคนต้นไม้เป็นรูปครึ่งวงกลมเพราะน้ำมักจะไหลผ่านพื้นดินที่แน่นแข็งไปอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ทันซึมลงไปในพื้นดิน แต่โครงสร้างรูปจันทร์ครึ่งดวงแบบนี้จะกักเก็บน้ำเอาไว้ โดยมีขอบดินที่ยกสูงเป็นแนวกันน้ำ นี่เป็นวิธีพื้นบ้านที่ใช้ต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แห้งแล้งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ความที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ปัญหาและอุปสรรคจึงมากมายเป็นเงาตามตัว ความล่าช้าส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกลไกในการติดตามความก้าวหน้า ขาดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งมีความท้าทายต่างๆ เช่น ความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมือง ตลอดจนปัญหาความยากจนในบางพื้นที่ ส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก
เมื่อผนวกกับการขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น เช่น เงินทุนระยะยาวหรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และการขาดการประสานร่วมมือระหว่างภาคเศรษฐกิจหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลและจัดการ การทำทำงานเหมือนไม่ได้ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน การบรรลุเป้าหมายจึงเป็นไปได้ยาก
แม้ว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการยังไม่ละความพยายามที่จะกระตุ้นความคืบหน้าของโครงการนี้ ในปี 2021 จึงมีการเปิดตัวโครงการเร่งรัดกำแพงต้นไม้ยักษ์ (Great Green Wall Accelerator) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้บริจาคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถประสานงาน ติดตาม และวัดผลกระทบจากการดำเนินงานของตนได้ดียิ่งขึ้น
ถึงจะเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อถึงปี 2023 ผลการประเมินกลับแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้สามารถดำเนินการไปได้เพียง 18 % โดยประมาณ ฟื้นฟูพื้นที่ได้ราวๆ 49 ล้านเอเคอร์และสร้างงานเพียง 350,000 ตำแหน่ง ซึ่งไม่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ในตอนต้นเลย
ถึงตอนนี้ นับถอยหลังอีกเพียง 6 ปี ก็จะถึงจุดหมายปลายทางของโครงการ และไม่อาจคาดเดาได้ว่าภายในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อีกมากน้อยเพียงใด ท้ายที่สุด จากเป้าหมายที่จะดลบันดาลแนวต้นไม้ขนาดยักษ์จึงอาจจะลดลงเหลือแค่แปลงต้นไม้ที่กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ เท่านั้น
แม้หลายคนจะวิจารณ์ว่านี่เป็นเพียงความฝันที่กลายเป็นภาพลวงตา แต่อย่างน้อยความพยายามครั้งนี้ก็จะกลายเป็นตำนานบทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับทวีปแอฟริกา
และยิ่งวิกฤติสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้นเท่าใด การริเริ่มภารกิจในรูปแบบเดียวกับโครงการกำแพงต้นไม้ยักษ์แห่งแอฟริกานี้ก็ดูจะยิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้มากขึ้นเท่านั้น แม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องที่ยากจะทำสำเร็จก็ตาม
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.ifad.org/en/w/news/ifad-launches-new-great-green-wall-initiatives-to-build-resilience-to-the-impacts-of-climate-change-across-the-sahel
https://www.unccd.int/news-stories/statements/new-observatory-track-progress-africas-great-green-wall
https://earth.org/the-great-green-wall-a-wall-of-hope-or-a-mirage/
https://internationalbanker.com/finance/the-great-green-wall-an-african-sustainable-development-powerhouse-that-is-raising-the-economic-hopes-of-hundreds-of-millions/
https://www.dw.com/en/africas-great-green-wall-initiative-struggles-to-halt-desertification/video-69459434
https://www.ifad.org/en/w/news/ifad-launches-new-great-green-wall-initiatives-to-build-resilience-to-the-impacts-of-climate-change-across-the-sahel
https://hackaday.com/2024/05/09/the-great-green-wall-africas-ambitious-attempt-to-fight-desertification/