รฟท.คัดที่ดินทำเลทอง 25 แปลง สร้าง “บ้านเพื่อคนไทย” ทั่วประเทศ – ไม่มีดาวน์ – ผ่อนเริ่มต้นเดือนละ 4,000 บาท ไม่เกิน 30 ปี จ่ายครบได้สิทธิเช่าอยู่อาศัย 99 ปี นำร่องปี’68 ผุดคอนโดมิเนียมคุณภาพสูง บริเวณสถานีรถไฟเชียงราก – บางซื่อ กม. 11 – เชียงใหม่ และบ้านพักอาศัยบริเวณสถานีรถไฟเชียงใหม่ – กาญจนบุรี – นครราชสีมา ด้าน ธอส.ขานรับนโยบาย-ใช้โมเดล ‘บ้านคนไทยประชารัฐ’ กรมธนารักษ์ จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 4% ต่อปี ลุยปล่อยกู้
สืบเนื่องมาจากงานแถลงผลงาน 90 วัน และนโยบายของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตรเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 มีนโยบายที่สำคัญ ๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้าอยู่หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ ‘คุณสู้ เราช่วย’ ปลดหนี้ภาคครัวเรือน , โครงการ ‘หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน’ โดยใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจัดเป็นทุนการศึกษา ส่งเด็กไปศึกษาต่อต่างประเทศ , โครงการ SML ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และ โครงการแจก ‘เงินหมื่น’ ให้ผู้สูงอายุไม่เกินตรุษจีน แต่ที่โดนใจ ‘เด็กจบใหม่’ หรือ ผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้นทำงาน มากที่สุดดห็นจะเป็นโครงการ ‘บ้านเพื่อคนไทย’ โครงการนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปคัดที่ดินทำเลทอง ตั้งอยู่บริเวณริมทางรถไฟ หรือ สถานีรถไฟ แต่ถ้าในกรุงเทพมหานคร ขอให้อยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า นำมาสร้างคอนโดมิเนียมคุณภาพสูง พร้อมเฟอร์นิเจอร์ในพื้นที่เริ่มต้น 30 ตารางเมตร โดยให้สิทธิ์เฉพาะคนไทยที่ยังไม่เคยมีบ้านมาก่อนได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในรูปแบบของการเช่า โดยไม่ต้องวางเงินดาวน์ ผ่อนเริ่มต้นเดือนละ 4,000 บาท ไม่เกิน 30 ปี จ่ายครบได้สิทธิอยู่อาศัยนานถึง 99 ปี
มาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า โครงการบ้านเพื่อคนไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้มีทำเลตั้งอยู่ในบริเวณไหนกันบ้าง จากผลการสำรวจที่ดินที่มีศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการบ้านเพื่อคนไทย จัดทำโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานต่อที่ประชุม ครม.เพื่อทราบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 พบว่า ที่ดินรอบพื้นที่สถานีรถไฟ หรือ มีทำเลที่ตั้งใกล้กับระบบรางที่ รฟท.ไม่ได้ใช้ เพื่อการเดินรถทั้งประเทศมีประมาณ 38,000 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างทั่วประเทศนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะนำมาสร้าง ‘บ้านเพื่อคนไทย’ ดังนี้
-
1. พื้นที่มีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสถานีรถไฟของ รฟท.
2. พื้นที่อยู่ในจังหวัดหลักที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจหรือศูนย์กลางภูมิภาค
3. พื้นที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางชุมชน
4. ความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่
5. ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
6. ความเป็นไปได้ในการจองสิทธิ์โครงการ
7. พื้นที่มีตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับมหาวิทยาลัยภูมิภาค
8. อัตราความหนาแน่นของประชากรรอบพื้นที่
9. ราคาประเมินที่ดิน
จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวในข้างต้น พบว่า มีพื้นที่มีศักยภาพ 112 พื้นที่ และในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงพอที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการนี้ได้มี 25 พื้นที่ คิดเป็นพื้นที่ที่รวม 700.14 ไร่ มีรายละเอียดดังนี้
1.ภาคกลาง ประกอบด้วย
-
• กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟมีทั้งหมด 5 แปลง ได้แก่ บริเวณสถานีรถไฟ กม.11 ถึงตึก Enco ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พื้นที่ 8.93 ไร่ , บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี (ศิริราช) พื้นที่ 23 ไร่ ,บริเวณสถานีรถไฟแม่น้ำ (คลองเตย) พื้นที่ 20 ไร่ , บริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน (ราชปรารภ) พื้นที่ 18.75 ไร่ , บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ กม.11 พื้นที่ 20 ไร่
• นครปฐม ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟศาลายา พื้นที่ 4 ไร่
• ปทุมธานี ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟเชียงราก พื้นที่ 18.05 ไร่
• นครสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟนครสวรรค์ พื้นที่ 15 ไร่
• อยุธยา ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย พื้นที่ 133 ไร่
• ลพบุรี ตั้งอยู่บริเวณบริเวณสถานีรถไฟลำนารายณ์ พื้นที่ 31.13 ไร่
2. ภาคเหนือ ประกอบด้วย
-
• เชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟเชียงใหม่ พื้นที่ 7.32 ไร่ และบริเวณสถานีรถไฟสวนสุขภาพ พื้นที่ 17.75 ไร่
• อุตรดิตถ์ ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟศิลาอาสน์ พื้นที่ 6.69 ไร่
• พิษณุโลก ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟพิษณุโลก พื้นที่ 12.81 ไร่
3. ภาคใต้ ประกอบด้วย
-
• สงขลา ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟหาดใหญ่-1 พื้นที่ 23.44 ไร่
4. ภาคตะวันออก ประกอบด้วย
-
• ระยอง ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟบ้านฉาง เฟส 1 พื้นที่ 9 ไร่
• ปราจีนบุรี ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟกบินทร์บุรี เฟส 1 พื้นที่ 200 ไร่
5. ภาคตะวันตก ประกอบด้วย
-
• กาญจนบุรี ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟกาญจนบุรี พื้นที่ 30.63 ไร่
6. ภาคอีสาน ประกอบด้วย
-
• นครราชสีมา ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา พื้นที่ 21 ไร่ , บริเวณสถานีรถไฟปากช่อง พื้นที่ 27 ไร่ และบริเวณสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ พื้นที่ 5 ไร่
• หนองคาย ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย พื้นที่ 10 ไร่
• อุบลราชธานี ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟอุบลราชธานี พื้นที่ 7.81 ไร่
• ขอนแก่น ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟขอนแก่น พื้นที่ 20 ไร่
• อุดรธานี ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟอุดรธานี พื้นที่ 7.81 ไร่
และจากการศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้น ทาง รฟท.จะใช้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (บริษัทลูกของ รฟท.) เข้ามาเช่าที่ดินของการรถไฟ เพื่อนำไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยแบ่งการพัฒนาโครงการบ้านเพื่อคนไทย ออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
-
1) ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2567 – 2568) โครงการบ้านเพื่อคนไทย สำหรับโครงการนำร่อง จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
-
• ระยะที่ 1 การดำเนินการโครงการอาคารชุด 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เชียงใหม่ พื้นที่เชียงราก พื้นที่บางซื่อ กม. 11
• ระยะที่ 2 การดำเนินการโครงการบ้านพัก 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เชียงใหม่ พื้นที่กาญจนบุรี และพื้นที่นครราชสีมา
2) ระยะสั้น (พ.ศ. 2569-2571) โครงการบ้านเพื่อคนไทย สำหรับโครงการตามแผนงานเบื้องต้น จำนวน 22 โครงการ
3) ระยะกลาง (พ.ศ. 2572-2576) โครงการบ้านเพื่อคนไทย สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพ จำนวน 87 โครงการ
โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานแถลงผลงาน 90 วันของรัฐบาลว่า “ในปีหน้านี้รัฐบาลจะทำห้องตัวอย่าง หรือ บ้านตัวอย่าง มาให้ดูว่าจะเป็นรูปแบบไหน มีอะไรบ้าง ขอให้อดใจรอนิดนึง ปีหน้านี้ก็อีกไม่นาน เราจะมีเรื่องหลายอย่างที่ต้องทำกันอีกเยอะ ตลอดปีหน้านี้รับรองว่าจะเป็นปีแห่งโอกาส และเป็นปีแห่งความสุขของคนไทนแน่นอน…”

ด้านนายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำประมาณ 3-4% ต่อปี หลังจากที่ รฟท.เริ่มดำเนินโครงการ และส่งรายชื่อลูกค้ามาให้ธนาคารพิจารณา ถึงแม้รัฐบาลจะยังไม่ได้แก้ไขกฎหมายเพื่อขยายสัญญาเช่าจาก 30 ปี เป็น 99 ปี ทางธนาคารก็สามารถสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้กู้ได้โดยที่ไม่ต้องวางเงินดาวน์ โดยธนาคารจะใช้โมเดลการปล่อยสินเชื่อเช่นเดียวกับโครงการบ้านคนไทยประชารัฐของกรมธนารักษ์ ที่มีการนำที่ดินราชพัสดุมาผู้มีรายได้น้อยเช่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 30 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้อีก 30 ปี