จิตเกษม พรประพันธ์ ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

แบงก์ชาติจัดสัมนา BOT Stat Network 2024 มีวัตถุประสงค์เพื่ออัพเดทแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมในปีนี้จัดขี้นที่เชียงใหม่ เมื่อ 29 พ.ย.-1 ธ.ค. 2567 ในหัวข้อ “จับสถิติมาเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่คนในภาค PROVINCIAL DATA FOR SUSTAINABLE WELL-BEING” มีภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ซึ่งได้หารือถึงการพัฒนาข้อมูลและสถิติในระดับจังหวัดและภูมิภาคในทริปเดียวกันนี้ผู้เขียนได้ตระเวนสำรวจกิจกรรมเศรษฐกิจของเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของงานแบงก์ชาติ BLP หรือ Business Laison Program ที่ได้รับข้อมูลจากทั้งผู้ประกอบการและการสุ่มลงพื้นที่ด้วย
บทความนี้นำเสนอการใช้ข้อมูลสถิติด้านประชากรและแรงงาน ประกอบการทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงภาวะการจ้างงานในยุคสังคมสูงวัย (aged society) ของเชียงใหม่ เปรียบเทียบกับการมองถึงผลกระทบจากการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนที่เข้ามาอยู่เชียงใหม่จากความเจริญและการขยายตัวของเมือง (urbanization) ที่การใช้ข้อมูลที่เป็นทางการ (formal data) มีข้อจำกัด แต่ใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากพูดคุยกับคนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเชียงใหม่สะท้อนกับภาพส่วนขยายของประเทศได้เช่นกัน
คงกล่าวได้ว่าเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจาก megatrends แทบจะทุกด้านแล้ว การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ที่ฝนตกต่อเนื่องจนป่าและดินอุ้มน้ำอิ่มตัวรับไม่ไหวแล้วจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ พร้อมกับที่เมืองเชียงใหม่ขยายตัว (urbanization) ก่อสร้างถนนหนทางที่กลายเป็นขวางทางน้ำ (รวมทั้งแม่ปิงก็ตื้นเขิน) เพื่อรองรับจำนวนประชากรมากขึ้นรวมทั้งจากการย้ายถิ่น และนักท่องเที่ยวที่ไม่กลับถิ่น แบบพวก digital nomads ที่สามารถทำงานที่ใดก็ได้จากพัฒนาการเทคโนโลยี (technology change)
นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจีนที่มาแล้วติดใจเชียงใหม่เลยมาบ่อย แล้วก็หาบ้านช่องตั้งรกรากเลย ประกอบกับมีชุมชนชาวจีนยูนนานมุสลิมที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานกว่า 100 ปีมาแล้ว ซึ่งเห็นจากการลงพื้นที่กาดจีนยูนนาน บ้านฮ่อ ซึ่งมีวัฒนธรรมการกินอยู่คล้ายคลึงกัน รวมถึงคนไทใหญ่ย้ายถิ่นฐานหนีความไม่สงบจากความขัดแย้งภายในเมียนมาและจากอิทธิพลภายนอกของประเทศที่สาม (geopolitics) มาเป็นแรงงานอพยพ
เชียงใหม่เข้าสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (complete aged society) มีจำนวนผู้สูงวัยสูงที่สุดเป็นลำดับสามของไทยรองจากกรุงเทพฯ และโคราช ตามลำดับ จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญ จากข้อมูลสถิติพบว่าเชียงใหม่มีสัดส่วนผู้สูงวัย (60 ปี ขึ้นไป) เพิ่มขึ้นมากถึง 21.3% ในปี 2566 (ประชากร 1.79 ล้านคน) เพิ่มขึ้นจาก 14.8% ในปี 2557 (ประชากร 1.68 ล้านคน) และหากรวมกลุ่มอายุ 51-60 ปี สัดส่วนจะเป็น 35.2% จาก 30.7% ตามลำดับ
การเข้าสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ของเชียงใหม่ส่งผลโดยตรงต่อผลิตภาพแรงงานในภาคการผลิตทั้งเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและบริการ ทั้งในปัจจุบันและโครงสร้างระยะยาว ทั้งนี้ เมื่อมาดูตัวเลขกำลังแรงงานพบว่าผู้มีงานทำอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึง 39% และกว่า 50% ของผู้อยู่นอกกำลังแรงงานก็เป็นผู้สูงวัยเช่นกัน
ยิ่งบ่งบอกถึงศักยภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำในระยะยาว เราอาจเห็นภาพภาวะเศรษฐกิจ การผลิต รายได้ครัวเรือน และการกินอยู่จับจ่ายใช้สอย ไม่เติบโตเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันเชียงใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเกือบ 10 ล้านคน/ปี (เฉลี่ยปี 2565-66) ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว จึงมีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจภาคการค้าและบริการ ร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายของที่ระลึก และการขนส่ง แต่คนไทยไม่ทำเนื่องจากค่าจ้างต่ำและเหตุผลอื่น
การหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มแรงงานข้ามชาติมีส่วนช่วยเติมช่องว่างและตอบโจทย์เศรษฐกิจสูงวัย (silver economy) ของเชียงใหม่ โดยสัดส่วนประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยเพิ่มจาก 6% ในปี 2557 เป็น 9% ในปี 2566 สำหรับมิติของกำลังแรงงานที่สำนักงานสถิติเชียงใหม่สำรวจเมื่อไตรมาส 3 ปีนี้ พบว่าผู้มีงานทำจำนวนประมาณ 1 ล้านคน เป็นต่างชาติ 2.4 หมื่นคน และเกือบทั้งหมดเป็นสัญชาติเมียนมา รองลงมาเป็นญี่ปุ่น อเมริกา จีน และลาว จากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นแรงงานเมียนมาส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่มาจากรัฐฉาน ซึ่งเป็นแรงงานมีคุณภาพตั้งใจทำงาน อดทน ไม่เถลไถล ทำงานหลายกะ ทำงานประจำกลางวันแต่มีงานเสริมช่วงเช้าและกลางคืน มุ่งมั่นเก็บออมเงินเพื่อกลับไปเป็นทุนที่บ้านเกิด จึงใช้จ่ายน้อยมีการกินอยู่อย่างประหยัด เช่าบ้านรวมกันอยู่หลายคน ไทใหญ่บางรายสามารถผันตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจแผงค้าเสื้อผ้าอาหารในกาดหลวงได้ หรือเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยรับต่อเติมซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมก็มี ทั้งนี้ การสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในด้านแรงงานที่ไม่ใช่สัญชาติไทยช่วยให้พอเห็นภาพความเชื่อมโยงของตลาดแรงงานกับเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงข้อมูลการจ้างงานไปสู่เรื่องการประเมินรายได้และการใช้จ่ายอาจทำได้ยากเพราะการเก็บข้อมูลในระดับฐานรากมีข้อจำกัด อาทิ การใช้จ่ายตามตลาดชุมชน และตลาดนัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ถึงผลกระทบด้านลบที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในตัวเมืองเชียงใหม่
อีกด้านหนึ่งผู้เขียนได้สังเกตการณ์ย่านหางดงและสันกำแพงถึงการเข้ามาของกลุ่มชาวจีนผุดมากขึ้นจากป้ายไฟร้านรวงภาษาจีน จากแต่ก่อนที่เคยเห็นเข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยว แต่ชื่นชอบเชียงใหม่จึงย้ายถิ่นเข้ามาปักหลักทำธุรกิจหรืออยู่ถาวร ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากเป็นกลุ่มที่มีถิ่นฐานทางตอนใต้โดยเฉพาะมณฑลยูนนานและอื่นๆที่ใกล้กับไทยเดินทางได้โดยสะดวกบินไม่ไกลหรือขับรถมาก็มี โดยเข้ามาอยู่กันเป็นแบบเหมาหมู่บ้านจัดสรร หรือซื้อคอนโดมิเนียม และมีการส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติซึ่งเปิดกันแพร่หลาย
เรื่องการเข้ามาของชาวจีนนี้เราทราบกันดีและกล่าวถึงประเด็นนี้ต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่เราก็ยังเห็นการขยายตัวของการลงทุนเปิดธุรกิจท่องเที่ยวรองรับคนจีนด้วยกันเอง ทำก่อสร้างขายอสังหาริมทรัพย์ในคนจีนด้วยกันเอง การขยายตัวของชุมชนชาวจีนร้านอาหารจีน ร้านกาแฟ ตัดผม ทำเล็บ และซูเปอร์มาร์เก็ตที่ให้บริการคนจีนด้วยกันเองขึ้นป้ายภาษาจีน ชำระเงินด้วย QR code จีน มีเจ้าของและลูกจ้างเป็นคนจีน ซึ่งเกิดการค้า การลงทุน การจ้างงาน การใช้จ่าย และกระจายอยู่หลายแหล่งรอบเชียงใหม่
ชาวจีนเหล่านี้จะเนียนๆกลืนๆเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปเดินจับจ่ายใช้สอยทั้งแหล่งท่องเที่ยวและตลาดท้องถิ่นจนแยกไม่ออก เช่น ตามกาดนัด และกาดจีนยูนนาน ที่กล่าวถึงแล้ว
ในมิติของเศรษฐกิจเราเห็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเชียงใหม่ แต่การประเมินผลทางบวกและทางลบยังไม่สามารถวิเคราะห์ในเชิงประจักษ์ เนื่องจากข้อมูลจดทะเบียนที่เป็นทางการที่จัดเก็บอาจไม่สะท้อนข้อเท็จจริงเชิงคุณภาพและไม่สามารถจำแนกนิตินัยกับพฤตินัยได้
มาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าการเก็บข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการออกแบบนโยบาย ทั้งข้อมูลบริหารจากการจดทะเบียน (administrative data) และข้อมูลสถิติจากการสำรวจ ตลอดจนข้อมูลเชิงคุณภาพต่างๆ มีความจำเป็นและสำคัญ
ท่านผู้อ่านคงมองเห็นภาพขยายใหญ่ขึ้นจากเชียงใหม่เป็นภาพของประเทศ โดยสังคมสูงวัยเป็นปัจจัยจำกัดผลิตภาพแรงงานและศักยภาพเศรษฐกิจไทย ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานช่วยให้เห็นภาพว่าการอาศัยแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้น แต่ถ้าหากจะติดตามข้อมูลการเข้ามาทำธุรกิจและการมาอยู่อาศัยของชาวจีนเรายังไม่สามารถใช้ข้อมูลจากการจดทะเบียนทางการแยกแยะได้ เราไม่สามารถเปรียบเทียบกิจกรรมความเคลื่อนไหวพัฒนาการของหมู่บ้าน/ชุมชนชาวจีนที่หางดง สันกำแพง และสันทราย ไปจนถึงเชียงราย กับห้วยขวาง พระรามเก้า และสำเพ็ง หรือภูเก็ต และพัทยา ที่มีทั้งชาวจีน และชาวรัสเซีย ที่เติบโตมากว่า 20 ปี
ดังนั้น ความจำเป็นในการเก็บและรวบรวมข้อมูลที่จะใช้สำหรับการวิเคราะห์ต้องเริ่มจากการเข้ามาในประเทศของระดับบุคคล การขอจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อทำธุรกิจ การทำนิติกรรมสัญญาอสังหาริมทรัพย์ (ซื้อ/ขาย/เช่า) การชำระภาษีธุรกิจ ที่มีความเชื่อมโยงกันจึงจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น
ผู้เขียนขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล
1.คุณดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค
2.คุณก้องภพ ภู่สุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ คุณธัญญารัตน์ แพงเกาะ ผู้วิเคราะห์อาวุโส คุณศิรินัดดา ปรีชา ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ และคุณศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
3.คุณชนกนันท์ ตาจันทร์ดี นักวิชาการสถิติชำนาญการ สำนักงานสถิติจังหวัดเชียงใหม่