เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แจงปมวินิจฉัย “กิตติรัตน์” ขาดคุณสมบัตินั่งประธาน ธปท. ยังไม่มีข้อสรุปจะประชุมพิจารณาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้

ตามที่มีข่าวนำเสนอว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัตินั่งประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)นั้น ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนายกิตติรัตน์ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมไม่มีอะไรค้างคาใจ ผมได้อาสาทำงานให้ประเทศแล้ว ไม่เคยขลาดกลัวหนีหายเอาตัวรอด กราบขอบพระคุณท่านปลัดกระทรวงการคลังที่เชื่อว่าผมจะทำหน้าที่ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดีจนเสนอชื่อเข้าสู่การคัดเลือก และกราบขอบพระคุณกรรมการคัดเลือกเสียงข้างมากที่มีมติคัดเลือกผม เพื่อนำสู่การพิจารณาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนการพิจารณาใดๆ จากขั้นตอนดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้พิจารณา ผมเคารพการตัดสินใจครับ”
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ชี้แจงผู้สื่อข่าวถึงกรณี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค ) ได้ทำหนังสือถามถึงคุณสมบัติ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในการเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากเป็นประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ แต่ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติ และยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องผ่านการประชุมร่วมของคณะกรรมการ 3 คณะเนื่องจากเป็นปัญหาที่สำคัญ
“ผมเรียนตรงๆ ผมเห็นข่าวเมื่อเช้า ยังแปลกใจว่าไปรู้มาจากไหน รู้ก่อนผมอีก เพราะเมื่อเช้ายังมีการประชุมอยู่เลย และเป็นเรื่องสำคัญต้องมีการประชุมร่วมกัน 3 คณะ โดยประชุมคณะที่ 1 และคณะที่ 2 และต้องส่งเข้าคณะที่ 3 เพราะฉะนั้นข่าวที่หลุดออกไปไม่ได้มาจากการประชุมแน่นอน เพราะผลการประชุมยังไม่แล้วเสร็จ จะมีการประชุมอีกครั้งในพรุ่งนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุป”
ผู้สื่อข่าวถามว่าย้ำ สศค.ทำจดหมายมาหารือในประเด็นอะไรบ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่า “ประเด็นที่ สศค.ส่งจดหมายเข้ามาหารือมี 2 ประเด็นคือ หนึ่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และสองคือประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งทั้งสองประเด็นถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ แต่ขณะนี้กฤษฎีกายังพิจารณาอยู่ จึงยังไม่อยากให้เอาไปวิพากษ์วิจารณ์ เพราะว่าจะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากในช่วงเช้าที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศก็ได้ส่งอีเมลมาถามว่า มีข้อสรุปเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ ซึ่งก็ตอบไปว่ายังพิจารณาอยู่เลย ยังไม่มีข้อสรุป”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นประธานหรือกรรมการก็ถือเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมืองหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามระเบียบข้าราชการการเมือง ส่วนที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่อย่างไรก็ตามในการพิจารณาจะต้องไปดูว่ามีพฤติกรรมหรือการกระทำอะไรที่มีลักษณะไปยุ่งเกี่ยวกับทางนโยบายอะไรหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ตำแหน่งที่ปรึกษาของมีไว้ใช้ในการพิมพ์นามบัตร แต่อาจจะไม่ได้มีอำนาจในการปฏิบัติ จึงไม่สามารถจะพิจารณาเฉพาะถ้อยคำต้องดูพฤติการณ์ด้วย
“สิ่งที่ สศค.ถามมาคือข้าราชการการเมืองกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแตกต่างกัน เพราะข้าราชการการเมืองเป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้าราชการการเมือง ซึ่งตำแหน่งเป็นการเมืองแน่นอน ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเราเคยมีแนวไว้อยู่แล้ว คือผู้ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายอะไรต่างๆ แล้วหน่วยปฏิบัติก็นำเอานโยบายนั้นไปปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นแค่ที่ปรึกษาของทั่วๆไป คือเอาไว้พิมพ์นามบัตรก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ซึ่งต้องพิจารณาในรายละเอียด เพราะเราไม่รู้ข้อเท็จจริงในการทำงานเป็นอย่างไร โดยจะพิจารณาในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง”
ผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมืองแต่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาคำสั่งแต่งตั้ง เพราะปกติก็จะตั้งที่ปรึกษาด้านนั้นด้านนี้ หรือตั้งประธานที่ปรึกษาอยู่แล้ว จึงต้องพิจารณาว่าตัวบทคำสั่งเขียนยังไงและสองต้องพิจารณาว่าเวลาทำงานอย่างไร ต้องดูอย่างละเอียดไม่สามารถดูแค่ถ้อยคำแต่ต้องดูการทำงานจริงๆร่วมด้วย
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีใช้ระเบียบกฎหมายแตกต่างกันอย่างไร นายปกรณ์ กล่าวว่า ผมขอสรุปอีกครั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมายระเบียบข้าราชการการเมือง แต่ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตั้งตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาตรา 11 ซึ่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีก็ใช้นิยามและกฎหมายเดียวกัน จึงต้องพิจารณาอำนาจหน้าที่ และการกระทำว่า สามารถทำอะไรบ้างโดยพิจารณาพฤติกรรมร่วมด้วย
“ การพิจารณาทั้งหมดจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเราพยายามพิจารณาให้เร็วเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาแต่งตั้งประธานบอร์ด ซึ่งจะสรุปในวันพรุ่งนี้ เมื่อประชุมเสร็จก็ส่งผลไปยังสศค. ซึ่งผมทำงานไม่ช้า”