ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลสำรวจ UNESCO พบ 2 ใน 3 ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ แต่ต้องการเรียนรู้

ผลสำรวจ UNESCO พบ 2 ใน 3 ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ แต่ต้องการเรียนรู้

28 พฤศจิกายน 2024


การสำรวจของยูเนสโก (UNESCO) ระบุ 2 ใน 3 ของดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่ แต่ต้องการเรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไร

ในช่วงเวลาที่ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาดิจิทัล) กลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักสำหรับผู้คน ผลการสำรวจโดยยูเนสโกชิ้นหนึ่งที่ได้ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนเผยให้เห็นว่า ร้อยละ 62 ไม่ได้ลงมือตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบและเป็นระบบก่อนที่จะนำออกเผยแพร่ แต่ร้อยละ 73 แสดงความต้องการได้รับการอบรมเรื่องนี้ ในเดือนนี้ยูเนสโกเปิดตัวคอร์สเรียนออนไลน์ครั้งแรกของโลกเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว และมีผู้ลงทะเบียนเรียนแล้วกว่า 9,000 คนจาก 160 ประเทศ

นางออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ระบุว่าดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้มาอยู่ในจุดสำคัญของระบบนิเวศข้อมูลข่าวสาร ด้วยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนหลายล้านผ่านข่าวสารในด้านวัฒนธรรม สังคม หรือการเมือง แต่หลายคนกำลังตกที่นั่งลำบากเมื่อเผชิญข้อมูลบิดเบือนกับการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง และกำลังเรียกร้องการฝึกอบรมในด้านนี้ ยูเนสโก ซึ่งมีขอบข่ายงานครอบคลุมเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ จะสนับสนุนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ระดับโลกครั้งแรกในด้านนี้

การสำรวจ “เบื้องหลังหน้าจอ – Behind the screens” ของยูเนสโก เป็นการวิเคราะห์ในระดับโลกเป็นครั้งแรกว่าด้วยแรงจูงใจและแนวทางการปฏิบัติของดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ตลอดจนความท้าทายที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์เผชิญอยู่ การสำรวจนี้ทำขึ้นกับอินฟลูเอนเซอร์ (กลุ่มคนที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์) 500 คนใน 45 ประเทศ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของคณะวิจัยเฉพาะจากมหาวิทยาลัย Bowling Green State (สหรัฐ)

นอกจากจะชี้ให้เห็นว่าการตรวจสอบข้อมูลไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ทำโดยทั่วไปแล้ว การสำรวจยังพบว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประสบความยากลำบากในการกำหนดเกณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่พบในโลกออนไลน์ ร้อยละ 42 ของผู้ตอบการสำรวจระบุว่าเคยใช้ ‘ยอด “ไลก์” ยอด “แชร์” ของโพสต์’ บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นตัวชี้วัดหลัก ร้อยละ 21 ระบุว่ายินดีแบ่งปันเนื้อหากับผู้ติดตามหรือผู้ชมถ้าเนื้อหานั้นผ่านการแบ่งปันมาก่อน ‘โดยเพื่อนที่ตนไว้ใจ’ และร้อยละ 19 ระบุว่ายึดถือ ‘ชื่อเสียง’ ของผู้สร้างหรือผู้เผยแพร่ที่เป็นต้นทางของเนื้อหา

ผู้สื่อข่าวอาจเป็นผู้ช่วยที่ดีสำหรับดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในการยืนยันว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้มาน่าเชื่อถือหรือไม่ แต่ทุกวันนี้ยังไม่ค่อยมีช่องทางและความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายเท่าใดนัก ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ใช้สำนักข่าวสื่อกระแสหลักเป็นแหล่งข้อมูลเป็นอันดับสาม (ร้อยละ 36.9) รองจากประสบการณ์ของตนเองและการค้นคว้าสัมภาษณ์ที่ตนเองทำ

การขาดความตระหนักรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่

การสำรวจยังเผยให้เห็นว่าดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ส่วนมาก (ร้อยละ 59) ไม่คุ้นเคยกับหรือเพียงเคยได้ยินเรื่องกรอบการกำกับดูแลและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับการสื่อสารดิจิทัล ผู้ตอบการสำรวจเกินครึ่งมาเล็กน้อย (ร้อยละ 56.4) ทราบถึงโครงการอบรมต่าง ๆ เพื่อคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และมีเพียงร้อยละ 13.9 ของผู้ที่ทราบถึงโครงการอบรมดังกล่าวที่ได้เข้าร่วมจริง

ช่องว่างนี้สามารถทำให้ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ตกอยู่ในความไม่แน่นอนทางกฎหมาย เผชิญการฟ้องร้องและการพิพากษาลงโทษได้ในบางประเทศ อีกทั้งยังกีดกันไม่ให้ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ใช้สิทธิ์ของตนเองเมื่อตกเป็นเหยื่อของการจำกัดเนื้อหาออนไลน์ เช่น ราว 1 ใน 3 (ร้อยละ 32.3) ของดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ระบุว่าตกเป็นเป้าการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง แต่มีเพียงร้อยละ 20.4 ที่รายงานเรื่องนี้ต่อสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ

คอร์สอบรมครั้งแรกของโลกที่จัดทำขึ้นเพื่อและโดยอินฟลูเอนเซอร์

ขณะที่ร้อยละ 73 ของผู้ตอบการสำรวจเรียกร้องการฝึกอบรม ยูเนสโกและ Knight Center for Journalism in the Americas (สหรัฐ) ได้ร่วมมือกันพัฒนาคอร์สอบรมระดับโลกเป็นครั้งแรก ซึ่งใช้เวลาเรียนนาน 1 เดือน คอร์สนี้มุ่งส่งเสริมความสามารถให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์รับมือกับข้อมูลบิดเบือนและการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง อีกทั้งช่วยปูพื้นฐานเรื่องมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลกทั้งประเด็นเสรีภาพการแสดงออกและข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาของคอร์สได้รับการจัดทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อ โดยมีอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำจากทั่วโลกร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อตอบสนองโดยตรงต่อสถานการณ์จริงที่ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์พบเจอ

คอร์สนี้เพิ่งเริ่มต้นและจะดำเนินไปเป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีผู้ลงทะเบียนเรียนแล้วกว่า 9,000 คนจาก 160 ประเทศทั่วโลก ผู้เรียนจะได้รู้วิธีการ:

  • หาข้อมูลโดยใช้แหล่งที่มาให้หลากหลาย
  • ประเมินและตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล
  • สร้างความโปร่งใสเรื่องแหล่งข้อมูลที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเนื้อหา
  • ระบุ หักล้าง และรายงานข้อมูลผิดพลาด ข้อมูลบิดเบือน และการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง
  • ร่วมมือกับผู้สื่อข่าวและสื่อแบบดั้งเดิมเพื่อขยายผลข้อมูลข่าวสารที่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง

    เมื่อคอร์สนี้เสร็จสิ้น ยูเนสโกจะเดินหน้าร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ต่อไปเพื่อสร้างชุมชนที่แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี ส่งเสริมความสมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารในวงกว้าง และสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้ปฏิบัติ

    ในฐานะที่เป็นองค์การของสหประชาชาติในด้านการสื่อสารและสารสนเทศ ยูเนสโกมีบทบาทนำในการจัดการกับข้อมูลบิดเบือนที่เพิ่มมากขึ้นในโลกออนไลน์ เมื่อปี 2566 ยูเนสโกได้เผยแพร่แนวทางเพื่ออภิบาลแพลตฟอร์มดิจิทัล – Guidelines for The Governance of Digital Platforms ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อช่วยให้รัฐบาลและผู้ควบคุมกฎระเบียบรับมือกับมลภาวะในระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารของโลกได้ ยูเนสโกยังดำเนินงานเพื่อสนับสนุนงานสื่อสารมวลชนที่เป็นอิสระและเสริมสร้างทักษะให้ผู้คนรู้เท่าทันสื่อเพื่อให้แยกแยะข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้

    เกี่ยวกับยูเนสโก
    องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีประเทศสมาชิก 194 ประเทศ มีส่วนสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงโดยเป็นผู้นำความร่วมมือพหุภาคีด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การสื่อสารและสารสนเทศ ยูเนสโกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส มีสำนักงานสาขาใน 54 ประเทศ และมีพนักงานมากกว่า 2,300 คน ยูเนสโกกำกับดูแลแหล่งมรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล และอุทยานธรณีโลกมากกว่า 2,000 แห่ง และกำกับดูแลเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ เมืองแห่งการเรียนรู้ และเมืองแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน นอกจากนี้ ยังกำกับดูแลโรงเรียนภายใต้โครงการการศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ เครือข่าย UNESCO Chair ในมหาวิทยาลัย และสถาบันฝึกอบรมและวิจัย รวมกว่า 13,000 แห่ง ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกคือ ออเดรย์ อาซูเลย์
    “สงครามเริ่มที่จิตใจของมนุษย์ฉันใด ความหวงแหนสันติภาพก็ต้องสร้างที่จิตใจของมนุษย์ฉันนั้น” – ธรรมนูญยูเนสโก พ.ศ. 2488
    ข้อมูลเพิ่มเติม : www.unesco.org