ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลท.เปิดแผนพัฒนาตลาดทุน ชู 3 โครงการเรือธง สร้างโอกาสเพื่อส่วนรวม-เข้าถึงการลงทุน-ระดมทุนเท่าเทียม

ตลท.เปิดแผนพัฒนาตลาดทุน ชู 3 โครงการเรือธง สร้างโอกาสเพื่อส่วนรวม-เข้าถึงการลงทุน-ระดมทุนเท่าเทียม

28 พฤศจิกายน 2024


นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ (ซ้าย)ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ (ขวา)ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูแผน 3 ปี (ปี 68-70) สร้างโอกาสเพื่อส่วนรวมในการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง โดยชู 3 โครงการ flagship ในการขับเคลื่อนตลาดทุน ได้แก่ สนับสนุนการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ผ่าน Jump+ เพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลและประชาชนทั่วไปเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐได้ง่ายขึ้นและขยายธุรกิจของผู้ร่วมตลาด ด้วย Bond Connect Platform และพัฒนาระบบนิเวศคาร์บอนผ่านตลาดคาร์บอนเครดิต ด้วย Carbon Market Platform

ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงแผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2568–2570 โดย นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนและหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร นายณัฐพล สุวรรณสิริ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจ และนายตรีวิทย์ วังวรวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาธุรกิจ – IT Solutions กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล แอคเซส แพลตฟอร์ม จำกัด และ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2568-2570) จัดทำภายใต้แนวคิด “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม” (Fair & Inclusive Growth) มุ่งสร้างความแข็งแกร่งเข้าถึงได้ง่ายและสร้างประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน พร้อมปรับตัวท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและตลาดทุนโลก ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก

สำหรับความท้าทายที่คำนึงถึงในการจัดทำแผนได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงทางประชากร ที่มีประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น 2)ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศ 3) การขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม 4)พัฒนาการด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ AI

นอกจากนี้ยังคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน เรื่องแรกคือ ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา 2-3 ปีที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์หรือล่าสุดใน 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา 3 อาทิตย์ ก็ต้องมีการสื่อสารและให้ความรู้ รวมทั้งช่วยในการกำกับให้ดีขึ้น เรื่องที่สองปริมาณการซื้อขายที่ปรับลดลงที่ต้องเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยี เรื่องที่สามโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ และเรื่องที่สี่การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านประชากรสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี วางแผนยอมรับเพื่ออนาคตของตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายอัสสเดชกล่าวว่า 3 กลยุทธ์หลัก ของตลาดหลักทรัพย์ฯได้แก่ 1) มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต Enable Growth Ambitiously 2) ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง Grow Together & Inclusively และ 3) สรรสร้างคนและอนาคตGroom People & Our Future

“จะเห็นว่ากลยุทธ์เราในภาษาอังกฤษย่อได้ว่า EGG ต้องวางไข่เพื่ออนาคตของตลาดทุนเรา มุ่งมั่นจะมีโอกาสการเติบโต ต้องกลับมาที่พื้นฐาน เศรษฐกิจธุรกิจ บจ.ของเราจะเติบโตยังไง ต่อไปถึงการร่วมพัฒนาเพื่อความทั่วถึง ในเมื่อเรามี supply ที่ดีเราก็อยากมี demand ที่ดีเหมือนกัน demand ที่ทั่วถึงให้โอกาสคนเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น การสร้างสรรค์สร้างคนเพื่ออนาคต ทั้งคนในองค์กรตลาดตลาดหลักทรัพย์ฯเองและคนในระบบนิเวศ(ecosystem) ของตลาดทุน” นาย อัสสเดชกล่าว

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

กลยุทธ์แรก มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously)

จะดำเนินการใน 3 ด้าน คือ
1)เพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียน

  • ริเริ่มโครงการ “Jump+” เพื่อสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นบริษัทที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าของบริษัท โดยบริษัทจดทะเบียนสามารถเข้าร่วมตามความสมัครใจ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการด้านการดำเนินงาน การขับเคลื่อนความยั่งยืนตามหลัก ESG การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริการให้คำปรึกษา และเพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้ลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และการรับรู้ให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตร

    นายอัสสเดชกล่าวว่า การเพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียนด้วยโครงการ Jump+ มีที่มาหลักคือ มาจากพื้นฐาน ของการผลักดันให้มูลค่าของธุรกิจสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน การเพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียนนั้น ผลิตภัณฑ์ต้องน่าสนใจต้องมีมูลค่า มีความแรงจูงใจให้กับนักลงทุนสนใจมากขึ้น เพราะทั่วโลกการแข่งขันในเชิงตลาดหลักทรัพย์ ก็คือการดึงดูดนักลงทุน ถ้าไม่มีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจน่าลงทุน เทียบกับตลาดอื่น ๆ นักลงทุนก็ไม่มา และหากมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในตลาดอื่น ก็ไม่ไปตลาดอื่น

    “นอกจากนี้ยังต้องการผลักดัน Listing Hub อันนี้จะเป็นแผนระยะยาว ผมคิดว่าน่าจะในการวางพื้นฐานให้ใน 3 ปีข้างหน้า เราจะต้องหาจุดแข็งของตลาดทุนของเรา เพื่อดึงนักลงทุนมา เพื่อดึงบจ.จากต่างประเทศให้หันมามองว่าเราควรจะเป็นที่ที่เขามาระดมทุน” นายอัสสเดชกล่าว

  • ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเตรียมพัฒนาดัชนีใหม่ที่จะช่วยสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ Jump+ และร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดทำบทวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุน

    2)สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น
    ด้วยการนำ AI มาใช้ในงานด้านกำกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง ดำเนินมาตรการ และแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนอย่างทันท่วงที พร้อมขยายองค์ความรู้ด้านบรรษัทภิบาล (corporate governance) สร้างความเข้าใจกลไกตลาดทุนแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประเมินประสิทธิผล และทบทวนมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

    “การสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น trust and confidence เป็นประเด็นสําคัญที่ทุกคนพูดถึงตลอดเวลา การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกํากับดูแลทั้งบจทั้งนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พัฒนามาตลอด แต่ข้อมูลปัจจุบันมีจำนวนมากแต่ละวันมีธุรกรรมการซื้อขายเกิดขึ้น 500,000 รายการ การที่จะใช้คนตรวจสอบเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้” นายอัสสเดชกล่าว

    ปัจจุบัน ในแต่ละวันฝ่ายกำกับของตลาดหลักทรัพย์ฯต้องตรวจธุรกรรม 520,000 รายการ ในรอบ 11 เดือนของปีนี้มีจำนวนธุรกรรมถึง 106 ล้านรายการ และต้องตรวจว่าวันละ 260 ข่าวหรือประมาณ 53,000 ข่าวต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนนักลงทุนก็เพิ่มขึ้น จาก 5 ปีที่แล้ว 3 ล้านบัญชี ปัจจุบัน 26 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นเช่นกัน

    นอกจากนี้จะเพิ่มความรู้ด้าน CG ให้กับบอร์ดและผู้ตรวจสอบ (IA, Auditor) เพื่อสร้างบรรษัทภิบาลให้กับ บจ. โดยนายอัสสเดชกล่าวว่า ความรู้ด้าน CG คือต้นน้ำที่จะช่วยบรรษัทภิบาลที่ดีขึ้นให้กับบจ. การเผยแพร่ข้อมูลให้ง่ายขึ้นให้สะดวกขึ้นลดต้นทุน ลด pain point ทั้งฝั่งบจ.และฝั่งนักลงทุน ที่เข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียมกัน รวมทั้งยังจะ ประเมินประสิทธิผล พร้อมทบทวนมาตรการให้สอดคล้องบริบทปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านๆมาตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับฟังความเห็นตลอดเวลา จากบจ.ถึงผลกระทบของมาตรการต่าง ๆที่นำมาใช้ในปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น รวมไปถึงจุดที่ต้องปรับปรุง และทบทวนความจำเป็นของมาตรการตลอดเวลา

    3)ส่งเสริมและขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุน
    นำเสนอข้อมูลและบริการที่ตอบโจทย์รองรับผู้ลงทุนที่หลากหลายและแตกต่าง พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการบริหารพอร์ตและการลงทุนทุกสถานการณ์ และขยายเวลาซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ควบคู่กับการดึงดูดผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ผ่านการนำเสนอข้อมูล (roadshow) ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

    “การขยายการใช้ตลาดทุน เราอยากจะให้มีคนพูดถึงตลาดทุนได้มากขึ้นได้ง่ายขึ้นสะดวกขึ้น ในทางกลับกันต้องทำให้บล.ที่เป็นตัวกลางระหว่างตลาดทุนกับนักลงทุนสนับสนุนตรงนี้ได้ ด้านผลิตภัณฑ์ก็เช่นกัน วันนี้เราเทียบตัวเองกับตลาดอื่นทั่วโลกดูว่าโครงสร้างตลาดเขาเหมาะสมเมื่อเทียบกับตลาดเรามากน้อยแค่ไหนผลิตภัณฑ์ที่นักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศสนใจมาก เราควรจะพัฒนาและจูงใจ สร้างขึ้นมาในในตลาดทุนของเรา ส่วน roadshow เรามองเป็นตัวเองเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นสถาบัน หรือรายย่อยกับบจ.ที่ต้องการลงทุนเพื่อไปเสริมสร้างพัฒนาตัวเอง การทําโรดโชว์ที่จะไปหาทุนใหม่เช่น จีน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง”นายอัสสเดชกล่าว

    กลยุทธ์ที่สอง ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively)

  • สนับสนุนการทำงานของผู้ร่วมตลาด พัฒนา Bond Connect Platform เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกและตลาดรองได้ง่ายขึ้น โดยผู้ลงทุนบุคคลสามารถจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกในลักษณะเดียวกับการจองซื้อหุ้น IPO และยังสามารถซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองผ่าน Platform พร้อมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้

  • มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใหม่ (SET Clear) กำหนดเริ่มให้บริการในปี 2570 และขยายความร่วมมือในรูปแบบ IT service partnership อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาด

    “การพัฒนา SET Clear โลกเปลี่ยนไปก็ต้องทําให้ผู้ประกอบการตลาดทุนของเราสะดวกขึ้นง่ายขึ้น ส่วนเรื่องIT service partnership ก็เช่นเดียวกัน ซึ่ง 50 ปีที่ผ่านมาผมเชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ฯก็เป็นผู้นําทางด้านไอทีในประเทศมาตลอด แต่เราต้องขยาย ร่วมมือกับผู้ประกอบการในแต่ละส่วนของเรามากขึ้น” นายอัสสเดชกล่าว

  • ขยายการสื่อสารแก่ผู้ลงทุนและประชาชน เน้นการสื่อสารที่เข้าถึง ทั่วถึง สร้างความเข้าใจในประเด็นที่ผู้ลงทุนควรรู้แบบเข้าใจง่ายและทันการณ์ ผ่านช่องทางใหม่ๆ ด้วยสื่อ และกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน พร้อมเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพหลอกลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ

    กลยุทธ์ที่สาม สรรสร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future)

  • พัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน สร้างคนรุ่นใหม่ (Next Gen) ประกอบด้วย ผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพ ภาคการศึกษา และ Influencer ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุน พร้อมทั้งนำเสนอ SET Learn Scape Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับกระบวนการการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลเพื่อพัฒนาบุคลากรบริษัทจดทะเบียน ช่วยสร้างศักยภาพพนักงาน เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 2 โครงการจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอเนื้อหาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้นกันด้านการเงินและการลงทุน

    นายอัสสเดชกล่าวว่า การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงินมีความสําคัญมาก และเป็นด้านหนึ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีบทบาทมาตลอด 20 กว่าปี แต่ก็ต้องทําต่อเนื่อง แล้วปรับปรุงตัวเองให้ความรู้กับนักลงทุนทั้งรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าให้มากขึ้น

    “การสร้างNext Gen ของตลาดทุนเป็นสิ่งที่เรามุ่งมั่น แล้วก็มีโปรแกรมที่ได้พัฒนามาและมีความสําเร็จค่อนข้างมาก เราจะขยายตรงนั้น ในทางกลับกันเราก็เห็นเรื่องคดีฉ้อโกง มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อหลอกลวงคนมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ มีภูมิคุ้มกัน ตั้งแต่ก่อนเข้ามาเป็นประชากรในการทํางาน” นายอัสสเดชกล่าว

  • สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ low carbon economy ร่วมกับพันธมิตร ด้วยการออกแบบรูปแบบ Carbon Market Platform ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในตลาดภาคบังคับ (Compliance market) และภาคสมัครใจ (Voluntary market) พัฒนาเครื่องมือในการคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon) พร้อมสนับสนุนการสร้างหลักสูตรและจัดสอบผู้ทวนสอบ (Verifier) เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ Low Carbon Economy และ Net Zero ในปี 2593

  • เตรียมพร้อมคน ปรับวิถีงาน ตอบโจทย์อนาคต เสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ AI แก่พนักงาน เตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรทุกระดับ ขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต

    “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 6 ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยการมุ่งสร้างโอกาสการเติบโตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่านนวัตกรรมและบริการที่ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนและเศรษฐกิจไทย สอดรับกับเป้าหมาย ‘To Make the Capital Market Work for Everyone’” นายอัสสเดช กล่าว

    นายณัฐพล สุวรรณสิริ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจ

    Jump+ โครงการมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้บจ.

    ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพยฯ อธิบายเพิ่มเติมถึงการเพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการ Jump+ ว่า จากการศึกษาพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียน มี อัตราส่วนราคาตลาดต่อมูลค่าตามบัญชี (Price to Book value-P/BV) ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี(Book value) ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากงบดุลเท่าที่ควร ต้องมีแผนทําให้บจ.มีแผนที่ชัดในการที่จะเพิ่มผลการดำเนินงานดีขึ้น สำหรับผู้ลงทุน ต้องทําในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาลมากขึ้น และก็ต้องสื่อสารกับนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯได้ศึกษาจากหลายตลาด

    นายณัฐพล สุวรรณสิริ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจ กล่าวว่า โครงการในลักษณะมีในตลาดต่างประเทศเรียกว่า ทั้งในฮ่องกง ญี่ปุ่น หรือ มาเลเซีย ซึ่งของไทยใช้ชื่อโครงการว่า Jump+ ซึ่งได้ปรับบริบทให้สอดคล้องกับบริษัทจดทะเบียนไทย Jump+ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้บจ. สามารถที่จะใช้ แพลตฟอร์ม การสนับสนุนจากตลาดในการสร้างมูลค่าขึ้น โดยเน้นบริษัทที่มีศักยภาพ และมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าของบริษัท ส่งเสริมผลการดำเนินงาน ขับเคลื่อนความยั่งยืน และเพิ่มการรับรู้ให้ บจ.

    “ในบริษัทจดทะเบียน 900 บริษัทยังมีช่องที่จะให้เราสามารถที่จะใช้เทคโนโลยี มาช่วยให้บจ.สร้างมูลค่าขึ้นได้ กลไกหลักของโครงการ ทุกบริษัทจดทะเบียนสามารถเข้าร่วมได้ ด้วยความสมัครใจไม่ได้เป็นภาคบังคับที่ทุกบริษัทต้องเข้า” นายณัฐพลกล่าว

    ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ทําการวิเคราะห์ เพื่อประเมินกลุ่มตัวอย่างเป้าหมาย เช่นบจ.ที่ price to book อาจจะยังไม่ได้สะท้อนมูลค่าแท้จริง หรือ บริษัทที่อาจจะมีประเด็นด้านการซื้อขาย เช่นในเรื่อง free float ยังมีการวิเคราะห์ไม่ครอบคลุมหรือไม่ลงรายละเอียด รวมไปถึงบริษัทที่อาจจะมีประเด็นด้านผลการดำเนินงาน หรือ ROI (Return on Investment) ผลตอบแทนหรือกำไรจากการลงทุน และการให้ผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้นยังไม่ได้สะท้อนกับผลตอบแทนของบริษัท

    ส่วนขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ ขั้นที่หนึ่งบริษัทต้องวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน ขั้นที่สอง จัดืทำแผนและกำหนดเป้าหมายการเติบโต ขั้นที่สาม สื่อสารความคืบหน้าของแผน ซึ่งทั้งกระบวนการ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้แพลตฟอร์มไอที โดยใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ทั้งในเชิงของแนวโน้ม เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนได้รู้ ปัจจุบันในแต่ละมิติ ไม่ว่า ผลการดำเนินงาน EDG หรือ การรับรู้ บริษัทอยู่ตรงจุดไหน หลังจากได้รู้แล้วก็เข้าสู่ขั้นที่สอง การทําแผนมีการกําหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เช่น ต้องการเติบโตอย่างไร อยากจะตอบโจทย์ด้านไหน ในขั้นสองนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะจัดให้เข้าร่วมทั้งเวิร์คช็อป การเทรนนิ่ง มีที่ปรึกษามาช่วย สุดท้ายก็จะเข้าสู่ขั้นที่สาม คือต้องมีการสื่อสารจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง และมีสิทธิประโยชน์ (Incentive scheme) ทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตร สำหรับบริษัทที่ทำได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯจะจัดให้พบปะกับทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน เพื่อชี้แจงถึงความคืบหน้า

    “โครงการนี้อาจจะลด pain-point โดยเฉพาะบจ.เล็ก ที่อาจจะไม่มีนักวิเคราะห์เข้าไปถึงหรือไม่คุ้มทุนที่นักวิเคราะห์ที่จะให้การสื่อสารหรือการวิเคราะห์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการที่สนับสนุน ที่ผ่านมามีบจ.ที่โยกออกตลาด mai ขึ้นไปอยู่ที่ SET ประมาณ 57 บริษัทแล้ว และกําลังมีแผนที่จะเพิ่มขึ้นอีก บริษัทพวกนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่เข้ามาในตลาดทุนของเราแล้วก็เดินหน้าลงทุนเพื่อเสริมสร้างธุรกิจของตัวเอง ให้เจริญเติบโตให้มีมูลค่ามากขึ้นเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็จะดึงบริษัทที่ประสบความสําเร็จในลักษณะนี้เข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ด้วย ในที่สุดแล้วหลาย ๆ ธุรกิจ ขนาด(scale)สําคัญ เพราะไม่ใช่แข่งขันในประเทศอย่างเดียว แต่ถ้าจะไปแข่งขันข้ามชายแดนของเรา scale สําคัญ” นายอัสสเดชกล่าว

    Bond Connect Platform เพิ่มโอกาสเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาล

    นายตรีวิทย์ วังวรวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาธุรกิจ – IT Solutions อธิบายโครงการเรือธง Bond Connect Platform ว่า เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการ ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง

    ในตลาดแรก ผู้ลงทุนจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในลักษณะเดียวกับการจองซื้อหุ้น IPO ผ่านแพลตฟอร์มกลาง โดยที่มีบัญชีหลักทรัพย์หรือที่เรียกว่า cash balance สามารถเข้ามาจองซื้อได้เลย ผ่านทางด้านบริษัทหลักทรัพย์(บล.) ส่วนในตลาดรอง ผู้ลงทุนบุคคลซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มและสามารถนำพันธบัตรรัฐบาลไปเป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์อื่นได้

    นายตรีวิทย์กล่าวว่า ในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันมีสินทรัพย์ค่อนข้างหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้น DR, DRx หรือ ETF แม้กระทั่งตราสารอนุพันธ์ ที่ซื้อขายในตลาดTFEX แต่สินทรัพย์ปลอดภัยยังมีทางเลือกค่อนข้างน้อย พันธบัตรรัฐบาลก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เรียกว่า safe asset ส่วนในด้านนักลงทุน นักลงทุนที่เริ่มต้นจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงไม่มาก หรือนักลงทุนที่ลงทุนในพันธบัตรอยู่แล้ว สามารถนําพันธบัตรรัฐบาลมากระจายความเสี่ยงในแพลตฟอร์มได้ ซึ่ง Bond Connect Platform ก็จะตอบโจทย์ เรื่องการเปิดโอกาสให้กับทางด้านฝั่งนักลงทุนบุคคลสามารถเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น รวมถึงตลาดรองเองก็จะเปิดกว้างมากขึ้นให้นักลงทุนบุคคลสามารถเข้ามาลงทุนเข้ามาซื้อขาย โดยที่ไม่ต้องใช้บริการหลายแพลตฟอร์ม เพราะการซื้อขายข้ามแพลตฟอร์มมีกระบวนการหลายขั้นตอน

    ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์

    สร้างCarbon Ecosystem ของประเทศร่วมกับพันธมิตร

    ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ กล่าวถึงแผนการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ low carbon economy ว่า มุ่งสร้าง Carbon Ecosystem ของประเทศร่วมกับพันธมิตร โดยมี Carbon Market Platform พร้อมพัฒนา “Carbon Professional ” กลุ่มผู้ทวนสอบ ( และพัฒนาเครื่องมือคำนวน carbon footprint ขององค์กร SET Carbon ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าสู่ Net Zero ปี 2593

    ดร.ศรพลกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพยฯมุ่งสร้าง Carbon Ecosystem แม้มีการพูดถึง Carbon Market แต่ไม่ใช่เพียงอย่างเดียวที่จะทําให้ทั้งระบบเกิดขึ้น ก่อนที่จะสามารถไปซื้อขายได้ สิ่งแรกที่แต่ละบริษัทต้องรู้ก่อน ก็คือว่า บริษัทปล่อยคาร์บอนเท่าไหร สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีจำนวน 800-900 บริษัท ในปีที่แล้วมีข้อมูลว่ามี 400 บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยคาร์บอน แต่มี 200 บริษัทที่เปิดข้อมูลที่ผ่านการรับรองจากองค์กรภายนอกแล้ว และใน 200 บริษัทมีเพียง 64 บริษัทที่เป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบ(audit) และเป็นการเปิดเผยเป้าที่จะลดเป็น netzero เพราะฉะนั้นในตลาดหลักทรัพย์เองก็ต่ำกว่า 10% ของจํานวนบริษัททั้งหมด

    ในระยะต่อไปบริษัทจดทะเบียนจะต้องเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน IFRS S1 เป็นมาตรฐานที่วางกรอบความคิดในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหรือ ESG โดยทั่วไป และมาตรฐาน IFRS2 เป็นเรื่องของคาร์บอน ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงได้พัฒนากลไกขึ้นเพื่อให้บจ.ลดต้นทุนในการปฏิบัติตามมาตรฐานนี้ คือ หนึ่ง พัฒนาเครื่องมือนะครับในการคํานวณคาร์บอน หรือ SET Carbon Calculator บริษัทที่ใช้เครื่องคิดเลขนี้สามารถคํานวณได้ปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร ด้วยการใช้ข้อมูลน้ํามัน การใช้ไฟฟ้า มาคำนวณเป็นScope 1 (Scope 1: Direct emissions from sources คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่องค์กร/เจ้าของเป็นผู้ควบคุม) และ Scope 2 ( Scope 2: Indirect emissions from energy or utilities การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมเช่นการนำเข้าหรือซื้อพลังงานต่าง ๆ ซึ่งมักจะเกิดจากการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก)

    “ปีนี้เราได้ทดลองกับบริษัทจดทะเบียน 20 บริษัท และได้ปรับเครื่องคิดเลขให้ customize ในระดับหนึ่งกับแต่ละสาขา ปีหน้าเราก็จะขยายให้มีบจ.จํานวนมากขึ้น และครอบคลุมไปบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด(non-listed) เพราะถ้าจะคํานวณ Scope 3(Scope 3: Indirect การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ ) ด้วย ต้องรวมถึงห่วงโซ่อุปทานของบจ.ด้วย และจะปรับปรุงเครื่องคิดเลขให้ใช้ได้เหมาะกับแต่ละบริษัทมากขึ้นแล้วก็อาจจะขยายไป Scope 3 ในส่วนของ ซัพพลายเชนรวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ” ดร.ศรพลกล่าว

    นอกจากนี้จะดำเนินการสร้างและพัฒนาผู้ทวนสอบ (Verifier) ที่จะเป็นผู้รับรอง ที่ผ่านมาบริษัทที่ได้รับการรับรอง เนื่องจากมีราคาสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ผู้ทวนสอบมีน้อย ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านหลักสูตรของอบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก)มี 155 คน เพราะฉะนั้นก็ต้องการที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการศึกษาเพื่อลดข้อจำกัด และจัดให้มีการฝึกอบรม ซึ่งหากทําได้ก็จะช่วยให้ไปสู่เป้าหมายซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนสามารถพร้อมรับความท้าทาย รวมถึงส่งเสริมตลาดคาร์บอนที่จะเกิดขึ้นในลําดับต่อไป