ประเทศไทยในสายตาโลกเป็นอย่างไร และอะไรคือ “ของดี” ที่ควรนำเสนอให้ดังเปรี้ยงปร้าง
อาหารไทย ขนมไทย มวยไทย ผ้าไหม ดนตรี หรือแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงาม สิ่งเหล่านี้คือซอฟต์พาวเวอร์แบบกว้างๆ ตามนิยามของรัฐบาลไทย ทว่าสำหรับนักการตลาดหรือคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์จำเป็นต้องมองให้ลึกลงไปให้เห็นรายละเอียด จุดขาย และจุดที่โลกต้องว้าว
“ของไทยมีดีเยอะมาก แต่เรารู้กันเอง ต่างชาติที่มาก็รู้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้ก่อนมา เป็นเหตุผลว่าทําไมเขาถึงว้าวกับเมืองไทย ทุกคนเซอร์ไพรส์เหมือนไม่คิดว่าประเทศไทยจะพัฒนาขนาดนี้… ส่วนซอฟต์พาวเวอร์ก็ไม่ใช่แค่ขนมครก ผ้าไหม มวยไทย แต่คือทุกอย่างที่ทําให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น อาจจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ได้” นางสาวพิชชาพร อรุณรัตน์ (มะปราง) ผู้ก่อตั้ง Universal Admedia และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์กลยุทธ์ (Creative Strategy Director) กล่าว
ชื่อของ Universal Admedia อาจไม่คุ้นชินเมื่อเทียบกับเอเจนซีโฆษณาเจ้าอื่นๆ ในประเทศ ผิดกับประเทศฝั่งตะวันตกที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ Universal Admedia ด้วยผลงานการสร้างแบรนด์ (branding) ระดับโลก ยิ่งกว่านั้นคือ การสร้างแบบรนด์ให้กับชุมชนต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น Clinton Hill BKLYN, FiDiWest, South Cove NYC และ EI Poblado MDE ในเมเดยิน โคลอมเบีย และ Cannes Connect ฝรั่งเศส
ทั้งนี้ Universal Admedia คือเอเจนซีด้านการสร้างแบรนด์ การออกแบบและ activation ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งวงการอสังหาริมทรัพย์, โรงแรม, อาหารและเครื่องดื่ม, corporation, health&wellness รวมถึงการสร้างแบรนด์ส่วนบุคคล (personal branding) และแบรนด์ให้กับชุมชนหรือย่านต่างๆ
“โอกาส” และ “ของดี” คือเหตุผลที่มะปรางตัดสินใจเปิดเอเจนซีระดับโลกที่ประเทศไทย และเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการที่อาคาร One City Center ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 เพื่อสร้างแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกผ่านการสร้างแบรนด์
หัวใจหลักของ Universal Admedia คือการสร้างแบรนด์ โดยสโลแกนของบริษัทคือ “Branding is a Marathon not a Sprint” เพราะต้องลงมือ ลงแรง ทุ่มเทเวลา และสร้างคอนเทนต์ที่ไม่ฝืนไวรัล ไม่ยัดเยียดขายของ แต่ต้องเป็นคอนเทนต์ที่เป็นธรรมชาติ จริงใจและมีคุณค่า คงอยู่ได้ระยะยาว
Unseen Community ปั้นแบรนด์ให้ซื้อใจ
ขาหนึ่งที่ Universal Admedia ต่างจากเอเจนซีอื่นๆ คือ การสร้างแบรนด์ให้ชุมชนและย่านต่างๆ ที่ไปตั้งสำนักงาน อย่างในกรุงเทพฯ พื้นที่แรกคือ ‘สาทร’ (Sathorn BKK) เพราะเป็นย่านดังที่ได้รับการสนใจจากรัฐบาลและนักท่องเที่ยวนอกจากสยาม เยาวราช หรือทองหล่อ อีกทั้งมะปรางยังเกิดและเติบโตที่สาทร จึงเข้าใจย่านนี้เป็นอย่างดี
มะปรางบอกว่า สาทรในสายตาคนไทยคือพื้นที่รถติด คนพลุกพล่าน ขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้จักย่านนี้ บริษัทจึงคิดแท็กไลน์ให้สาทรว่า “More than a Business District”
“คนไทยด้วยกันมองสาทรรถติด สถานทูต ตึกสูง แต่ความจริงสาทรมีซอยที่มีร้านรวงน่ารักเต็มไปหมด แกลเลอรีเล็กๆ น้อยๆ ในตรอกซอกซอย มีชุมชน ตลาด ตอนแรกเรามองหาชุมชนที่ไม่ได้รับความนิยม ไม่ได้บูมมาก… สาทรเป็นที่แรกเพราะเราเป็นน้องใหม่ในเมืองไทย เลยทําความรู้จักหรือแนะนำตัวเองกับ CBD (central business district) บ้านเราอยู่ตรงนี้ โตมากับสีลม-สาทร เรารู้ว่าการเติบโตในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร”
Universal Admedia พัฒนาย่านสาทรกับ TCDC โดยร่วมกันจัดงาน Bangkok Design Week เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของย่าน เช่น พื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ คอนโด และพื้นที่พักอาศัย
มะปรางย้ำว่า ชุมชน เขต หรือย่านที่มีคุณค่า คือ unseen communitites ที่ควรให้การส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน และสร้างอัตลักษณ์พื้นที่สู่สายตาชาวโลก ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ความปลอดภัย หรือน้ำท่วม เพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
“แต่ไม่ใช่ทุกชุมชนต้องการให้คนเข้ามา หรือไม่อยากให้บูมขนาดนั้น อย่างไรก็ตามการที่มีคนเข้ามา นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คนไทยไปมากขึ้น ทําให้รัฐบาลมองเห็นความสําคัญในการพัฒนา”
นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำคอนเทนต์จากย่านต่างๆ ใส่เข้าไป เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีกําลังในการสร้างคอนเทนต์หรือแบรนด์ในโลกออนไลน์ หรือสู้แบรนด์อื่นไม่ได้ สามารถมีตัวตนมากขึ้น ที่สำคัญ คอนเทนต์ไม่ได้กระจายแค่ในประเทศเท่านั้น แต่เป็นคอนเทนต์ที่กระจายไปทั่วโลก
“ทุกย่านที่เราไปทำ เพราะเรามีออฟฟิศอยู่ในประเทศนั้น ไม่ใช่เราเป็นคนไทยที่พยายามจะไปทำแบรนด์ในที่ที่เราไม่ได้รู้จัก แต่เราคุย ศึกษา รีเสิร์ช ทําเวิร์กชอปกับคนในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ พยายามจะใช้สกิลของบริษัท ของคนในทีม ผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปช่วยสนับสนุนสิ่งที่คนในชุมชนทํากัน”
อย่างไรก็ตาม มะปราง กล่าวต่อว่า brand community เป็นแพสชันของบริษัทที่ไม่ได้เงินจากการทำ แต่เป็นสิ่งที่ทีมงานทุกคนทำด้วยใจ
“แรกๆ คนจะตั้งแง่ เพราะเราไม่ใช่คนของเขา ก็เป็นความท้าทาย แต่พอผ่านไปได้ เขาจะสนใจเรา”
“การทําชุมชนที่ไทยยากกว่าเมืองอื่นในต่างประเทศ คนไทยโอบอ้อมอารี ใช่ แต่การรับสิ่งใหม่ๆ สร้างฟีดแบ็กยากมาก คนไทยไม่คอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย เมืองอื่นจะเยอะกว่า หรือแค่สนับสนุน กดแชร์ ไลก์ คอมเมนต์แท็กเพื่อนให้มาดู เมืองไทยไม่ค่อยมีเท่า นี่คือปัจจัยที่ทำให้ไม่มีการส่งเสียงแสดงความคิดเห็น เหมือนไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมที่ทำให้เรากล้าคิดกล้าแสดงออก วัฒนธรรมบ้านเราต้องสํารวม มีมารยาท ไม่ตั้งคําถาม แต่เด็กรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่อาจจะช้าไปหน่อย ”
นอกจากนี้ มะปรางยังเล่าประสบการณ์การสร้างแบรนด์ในประเทศต่างๆ โดยเริ่มจากการสร้างพื้นที่ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่การลงพื้นที่คุยกับผู้คน สร้างคอนเทนต์ ช่วยผลักดันเทศกาลและกิจกรรมต่างๆ โดยไฮไลต์คือการรีแบรนด์ให้ร้านอาหารที่เปิดมา 71 ปีและโรงแรมเก่าแก่หลักร้อยปี จนทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในจุดเช็กอินของโลก
ตัวอย่างถัดมาคือ ร้านอาหารไทยในนิวยอร์ก ที่กําลังจะเปิดต้นปี 2568 ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยที่จะส่งเสริมอาหารเหนือกับอาหารอีสานแถวลุ่มแม่น้ําโขง ผ่านการเล่าเรื่อง ประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำโขง
“เรายังคิดโอกาสให้ลูกค้า คิดคอนเซปต์ cooking club เหมือนต้องการทำให้ลูกค้ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องอาหาร เช่น แกงกระด้าง เริ่มจากดึงคนเข้ามาก่อน ไม่ใช่หาเม็ดเงินอย่างเดียว”
นอกจากนี้ ในโคลอมเบีย ประเทศที่มีภาพลักษณ์เรื่องยาเสพติดและค้าบริการ บริษัทได้เข้าไปทำเทศกาลในชื่อ Magic Series ร่วมกับพื้นที่ และดึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งชาวโคลอมเบียและต่างชาติเข้าไปช่วยด้านที่ดี โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมและการศึกษา
ส่วน personal braninding มะปรางอธิบายว่า บริษัทได้ทำแบรนด์ให้คนหลากหลายกลุ่มอาชีพ ตั้งแต่ผู้บริหาร หมอ ศิลปินด้านหัตถกรรม แต่โดยรวมตลาดในไทยยังไม่โตมาก อาจเพราะคนไทยยังเขินๆ แต่คนรุ่นใหม่เริ่มเข้าใจมากขึ้น จากที่เห็นการใช้ LinkedIn มากขึ้น
เห็นจุดอ่อนล่วงหน้า และ Connect the Dots
แม้การสร้างแบรนด์จะเป็นการทำเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่ทุกการตัดสินใจต้องคล้อยตามลูกค้าทุกเรื่อง หากสิ่งสำคัญคือหนทางแก้ปัญหาที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย และได้ผลลัพธ์ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วม การตระหนักรู้ การตลาด หรือยอดขาย
“You can not say you like it ถ้าถามว่าทำไมทำงานนี้ออกมา บอกว่าชอบไม่ได้เด็ดขาด ต้องบอกเหตุผลเพราะอะไร มันมาจากไหน คุณอาจจะไม่ชอบงานที่คุณทำก็ได้ แต่มันเหมาะกับลูกค้าที่สุด นั่นคือทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า งานดีไซน์เป็นเรื่องนามธรรมมาก ความสวยขึ้นกับคนล้วนๆ แต่ทุกอย่างต้องว่าไปตามแผนกลยุทธ์”
แล้วอะไรคือจุดที่ทำให้ Universal Admedia ปิดดีลและซื้อใจลูกค้าได้ มะปรางนิ่งคิดก่อนจะตอบว่า ความเข้าใจและความรู้รอบตัว ทั้งของตัวเองและพาร์ตเนอร์
มะปรางกล่าวต่อว่า ด้วยความที่ Universal Admedia ตั้งอยู่หลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ทีมมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเรื่องความรู้รอบตัวที่ทุกคนนำมาปรับใช้กับงานได้
“เราชอบอ่าน ชอบดู ชอบคุย แต่มันจะมีบางมุมที่ต้อง ‘connect the dots’ (เชื่อมโยงความเกี่ยวข้อง) เฮ้ย อันนี้สร้างโอกาสให้ลูกค้าได้หรือโอกาสให้กลุ่มคนกลุ่มนี้ได้ ครีเอทีฟต้องมองตรงนี้ แต่ต้องมีความรู้รอบตัว ซึ่งบางอย่างมันลึกมาก ไม่ได้บอกว่า เราต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ แค่ต้องเข้าใจว่าคนคิดยังไง… บริษัทลูกค้าในไทยบางที่เพิ่งเริ่ม ยังไม่รู้จะไปอย่างไร นั่นคือจุดอ่อนที่เราช่วยแก้”
“การสร้างแบรนด์เหมือนคุณทําผลิตภัณฑ์ให้คน กฎสําคัญคือเข้าใจคนว่าต้องการอะไร และเข้าใจก่อนที่เขาจะรู้ด้วยซ้ำว่าเขาต้องการสิ่งนั้น และเป็นสิ่งที่เราทําให้ลูกค้าด้วย”
“เวลาคิดแคมเปญหรือแบรนด์ ไม่ใช่หาข้อมูลแล้วได้เลย มันต้องต่างจากในตลาด ตอบโจทย์ลูกค้าของลูกค้า เป็นอะไรที่อยู่ได้อย่างน้อย 10 ปี โฆษณาเข้าถึงคนตามเทรนด์ ลูกค้าไม่สามารถลงเงิน 10 หรือ 20 ล้านกับโฆษณาไม่กี่ตัวได้แล้ว เพราะว่าทุกคนเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มีมือถืออยู่ในมือ แต่แบรนด์ต้องอยู่เป็นเจเนอเรชัน”
“สิ่งที่เราต้องสู้คือ เฟสที่ลูกค้ายังไม่มีเงิน ยังไม่เริ่มธุรกิจ ยังไม่มีลูกค้าของลูกค้าเลย ทำอย่างไรให้ลูกค้าสำเร็จ แล้วทำอย่างไรให้เขาอยู่กับเราได้นาน พอเขาสำเร็จแล้วจะสนองกลับมาให้เราได้ ไม่ใช่แค่เราลดราคาหรือคิดถูกๆ แต่ทำอย่างไรให้แลกเปลี่ยนคุณค่ากันได้ด้วย”
และเนื่องจาก Universal Admedia ตั้งอยู่หลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ทีมมีความหลากหลาย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเรื่องความรู้รอบตัวที่ทุกคนนำมาปรับใช้กับงานได้ด้วย
“เวิร์กชอป” ดีเอ็นเอเด็กกิจกรรม และ Design Thinking
วิธีการที่มะปรางนำมาใช้เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกที่แท้จริงคือ การทำเวิร์กชอปกับลูกค้า ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 2–3 ชั่วโมง โดยมะปรางบอกว่า กิจกรรมนี้เหมือนเป็นการละลายน้ำแข็ง และลดกำแพงระหว่างกัน
“ลูกค้าบอกว่าเหมือนคุยกับนักจิตวิทยา บางคนร้องไห้เลย เพราะเราจะถามเจาะไปเรื่อยๆ บทสนทนาเหล่านี้เหมือนเป็นข้อมูลเชิงลึก ทำให้เราวางกลยุทธ์แบรนด์ได้ดีก่อนที่จะสร้างแบรนด์ให้เขา”
“บางครั้งเราได้ยินสิ่งที่คุณพูด แต่บางทีคุณไม่ได้พูด เราจะอ่านภาษากายดูว่าเขานั่งแบบไหน บางคําถามตอบเร็ว–ตอบช้า ตอบยาว–ตอบสั้น บางคําถามมีแบบ อืม (นิ่งคิด) เขาไม่แน่ใจอะไร เราก็จะถามว่า what are you not sure about บางทีเป็นดีเทลที่เราช่วยเขาคิด และกลายเป็นทางแก้ปัญหาด้านโอกาส”
“ลูกค้าบางคนตอบสวยหรูในเวิร์กชอป อยากทำให้คนมีความสุข ฟุ้งๆ หรืออยากเป็นแรงบันดาลใจให้คน มีไม่กี่คำตอบในเลเยอร์แรก แต่เราต้องถามให้ได้ว่าเขาหมายถึงอะไร จริงหรือเปล่า หรือคุณต้องการแค่เงิน การจะได้เงินคุณทำอะไรแล้วมีความสุข เป็นแพสชันของคุณ อะไรที่คุณยังไม่ได้บอก ต้องดูดออกมาให้ได้”
วิธีการนำเวิร์กชอปมาใช้หาข้อมูลเชิงลึก มะปรางบอกว่าส่วนหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัย เมื่อตอนเป็นประธานรุ่นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ หลักสูตรนานาชาติ INDA (International Program in Design and Architecture) และมาจากหลักการ design thinking จากวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการออกแบบเชิงกลยุทธ์และการจัดการ (Strategic Design and Management) พาร์สันส์สคูลออฟดีไซน์ มหาวิทยาลัยเดอะนิวสคูล
มะปรางเล่าว่า เวิร์กชอปที่บริษัททำมี 2 รูปแบบ คือ (1) แบบตัวต่อตัว (in person) ซึ่งมีโพสต์-อิทให้ลูกค้าเขียน เพราะต้องการให้ลูกค้าออกจากเก้าอี้ และอยากให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่วนคำถามก็เช่น ให้บอกคีย์เวิร์ดของแบรนด์ 10 คำแบบคิดเร็วๆ ให้ใช้สัญชาตญาณ และในกรณีที่เป็น personal branding อาจให้เพื่อนสนิทของลูกค้ามาเข้าเวิร์กชอปด้วย และ (2) เวิร์กชอปแบบกิจกรรมกลุ่ม บริษัทอาจจัดหลายรอบ แบ่งเวิร์กชอปสำหรับหลายกลุ่ม ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเก็บทุกอย่างความลับ
“เคยทำกับบริษัททนายในอเมริกา เขาชอบมากจนขอให้ทำเวิร์กชอปกับทุกคนในทีม แล้วเขาขนทนายในอเมริกา 40 คน เวลาทำกิจกรรมก็คละตำแหน่งหรือคนในทีม ทุกกิจกรรมต้องเปลี่ยนโต๊ะ ผลคือ คำตอบลึกสนุกมาก ตลกมาก มันไม่เหมือนกันเลย เราก็เรียนรู้จากเขาอีกที”
ส่วนการรับพนักงานที่ตรงกับดีเอ็นเอองค์กร ‘Do More’ จึงต้องมองหาคนที่ต้องการความท้าทาย เปิดกว้าง มีความสนใจเป็นของตนเองที่ต่อยอดกับงาน เพื่อให้หาความเชื่อมโยงได้
“Do More ไม่ได้หมายความว่าต้องทํางานเยอะหามรุ่งหามค่ำ แต่หมายถึง Do More for Yourself, for the Company, for Client, for Community… เราไม่อยากจ้างคนมาแค่เพราะเขาต้องทำตามสั่งและทำไปวันๆ มันจะไปสนุกอะไร อยากให้รู้สึกว่าแต่ละวันไม่เหมือนกัน และมองโอกาสของงานอย่างไร ต่อยอดตัวเอง บริษัทและลูกค้าอย่างไร มันคือการสร้างโอกาสให้กันและกัน”
“ในทีมทุกคนน่ารักมาก จนบางทีน่ารักเกินไป บางทีอยากให้พูดหน่อยว่าต้องการอะไร อย่าปล่อยไหลตามน้ํา พาร์ตเนอร์ว่ายังไงก็ตามนั้น ตรงไหนไม่ถูกก็บอก อยากจะให้เป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนช่วยกันทําให้งานดีกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ให้มากที่สุด”
ความหวังประเทศไทย
เมื่อมองภาพใหญ่ระดับเอเชีย มะปรางกล่าวว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วมาก แต่ก่อนจะมีไอเดียต้องใช้เวลา ถ้าเทียบกับฝั่งอเมริกา-ยุโรปจะคิดอะไรมาก่อนแล้วเอเชียค่อยตามมา แต่ปัจจุบันเอเชียโตแบบก้าวกระโดด อาจเพราะฝั่งตะวันตกมองว่าเอเชียคือโลกที่สามและผยองตัวเอง จนสุดท้ายความเร็วในการเจริญเติบโตจึงช้ากว่าฝั่งเอเชีย
แต่ความท้าทายของเอเชียคือการโตอย่างยั่งยืน ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ และต้องไม่โตแบบหวือหวาเท่านั้น
ส่วนประเทศไทย มะปรางมองว่า “ประเทศไทยยังมีความหวัง”
“ปีนี้กลับไทยรอบที่ 3 ทุกครั้งที่กลับมาก็พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นตลอด ความคิดความอ่านของคนดีขึ้นมาก เด็กรุ่นใหม่เก่งมาก แต่แค่ความอดทนต่ำ เป็นวัฒนธรรมที่ต้องปรับ เหมือนทุกคนอยากมีธุรกิจของตัวเอง รวยทางลัด บางทีเป็นเรื่องจิตอาสา จิตส่วนรวม ที่ยังขาดในคนรุ่นใหม่”
“เหมือนคุณจะทําอะไรหรือเปล่าเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เป็นนักเลงคีย์บอร์ดอย่างเดียว เพราะคนรุ่นใหม่มีความคิดริเริ่ม ต้องการที่จะเรียกร้อง แต่คุณมีอะไรแลกเพื่อสิ่งที่ดีหรือเปล่า ไม่ใช่แค่ที่ไทยด้วย มันเป็น culture generation”
ด้านเศรษฐกิจ มะปรางมองว่า เศรษฐกิจไทยพอไปได้ และเศรษฐกิจหลายประเทศก็ไม่ได้ดี ดังนั้น สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องไม่พึ่งรัฐบาล ถ้าอยากทำอะไรให้ลงมือทำทันที
“ถ้าอยากทําอะไรให้มันรวดเร็วขึ้น ทําเลย พยายามไปสร้างเครือข่ายกับคนมากๆ เจอคนต่างแขนงที่มีวิสัยทัศน์ร่วม ไม่งั้นไม่เกิด ไอเดียเยอะมาก แต่ไม่ได้ลงมือทำ คนทำน้อย คนคิดเยอะ”
“ทุกวันนี้ชื่อเสียงไทยต่อโลก คนไม่ได้รู้เยอะเลยว่าเราพัฒนาไปไกลมาก และมีหลายพื้นที่และจังหวัดที่ต้องได้รับการพัฒนามากกว่านี้ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศ การท่องเที่ยว การพัฒนา… เมืองไทยยังไปได้อีกมาก”