ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > แมสคอม มช. จัดเสวนาเจาะลึกโอกาส-ความท้าทายในยุคปัญญาประดิษฐ์

แมสคอม มช. จัดเสวนาเจาะลึกโอกาส-ความท้าทายในยุคปัญญาประดิษฐ์

22 พฤศจิกายน 2024


แมสคอม มช. จัดเสวนาเจาะลึกโอกาส-ความท้าทายในยุคปัญญาประดิษฐ์ นักวิชาการ-กูรู แนะคนไทยเร่งปรับตัวเรียนรู้ เพื่อควบคุมและใช้ประโยชน์ AIสูงสุด ชี้ 4 ประเด็นต้องระวัง “ความถูกต้อง-จริยธรรม-ลิขสิทธิ์ และความเป็นส่วนตัว”

นายชลวิทย์ สุขอุดม นายกสมาคมศิษย์เก่าสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นายชลวิทย์ สุขอุดม นายกสมาคมศิษย์เก่าสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของการทำงานในทุกวงการ สมาคมศิษย์เก่าสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตระหนักถึงความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงร่วมกับ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนา หัวข้อ “CONFRONTING AI : THE NEXT ERA OF MASS COMMUNICATION สื่อยุคเทคโนโลยีใหม่ ความท้าทายแห่งอนาคตสื่อสารมวลชน”

ไฮไลท์ของการเสวนาครั้งนี้ คือ เป็นการมัดรวมประเด็นที่เกี่ยวข้อง มุมมองประสบการณ์ และกรณีศึกษา จากกูรูและผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าในวงการสื่อหลากหลาย ทั้งวงการภาพยนตร์ วงการโฆษณา Content creator คนทำEvent ตลอดจนนักวิชาการ โดยมุ่งหวังสร้างความตระหนักรู้ให้คนสื่อทุกเจนเนอเรชั่นได้ตื่นตัว เตรียมพร้อม รับมือ และปรับตัว ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ คุณภาพ และประสิทธิภาพมากที่สุด

ผศ.ดร.ศุภฤกษ์ โพธิไพรัตนา คณบดี คณะการสื่อสารมวลชน มช. กล่าวว่าการเสวนาครั้งนี้ หรือ AI ได้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี AI ในวงการสื่อสารมวลชนอย่างหลากหลาย ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ไม่ได้เพียงตอบโจทย์ในแง่ความรู้ แต่ยังช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในสามกลุ่มหลัก คือ 1. นักศึกษา ทำให้ได้มองเห็นแนวโน้มอาชีพและการปรับตัวในอนาคต 2. นักวิชาการ ซึ่งจะได้แนวทางการบูรณาการ AI ในการเรียนการสอน 3. นักวิชาชีพสื่อสารมวลชน จะได้รับข้อคิดและแนวทางใหม่ๆ สำหรับการพัฒนางาน การเสวนาครั้งนี้ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างมาตรฐานและอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับสื่อสารมวลชนในยุคปัญญาประดิษฐ์

ดร.อภิภู กิติกำธร อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่าปัจจุบันคณะการสื่อสารมวลชนมีการปรับเนื้อหาการเรียนการสอน ให้ทันสมัย โดยนำเรื่อง Generative AI ซึ่งมีหลากหลายแพลตฟอร์ม มาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เข้าใจที่มา กระบวนการทำงานร่วมกับ AI การป้อนคำสั่ง รวมถึงเห็นข้อจำกัดต่างๆ ที่จะต้องมีการตรจสอบข้อมูล ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวที่ AI ได้สร้างขึ้น โดยใช้ความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ พัฒนาชิ้นงานต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง

ในการเสวนาครั้งนี้ นักวิชาการ-กูรูและผู้เชี่ยวชาญ จากหลากหลายแขนงสื่อสารมวลชน ต่างสะท้อนว่า แม้ AI จะมีประโยชน์มากมายและมีความชาญฉลาดล้ำเลิศ ช่วยทำให้ลดขั้นตอนกระบวนการทำงานต่างๆได้อย่างอัศจรรย์ รวมถึงทำให้การออกแบบ หรืองการสร้างสรรค์งานและเนื้อหา ทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า การใช้ AI ยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง โดยเฉพาะความถูกต้อง และมีประเด็นความท้าทายในเรื่องจริยธรรม ความเป็นส่วนตัว และด้านลิขสิทธิ์ ซึ่งนักการสื่อสารจะต้องมีมาตรฐานการทำงานที่เข้มข้นขึ้น และมีการตรวจสอบความถูกต้องและประเด็นต่าง ๆ อย่างละเอียด ก่อนนำเสนอข้อมูล นำไปใช้ หรือทำการสื่อสารเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง

สำหรับประเด็นที่ว่า AI จะเข้ามาแย่งงาน หรือทำมนุษย์ตกงานหรือเปล่า คณบดีคณะการสื่อสารมวลชนกล่าวว่า เชื่อว่ามนุษย์จะยังสามารถรักษางานด้านการสื่อสารมวลชนต่างๆ ไว้ได้ หากเข้าใจหัวใจหรือแก่นของการสื่อสาร ที่มุ่งสื่อสารให้มนุษย์มีความเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน AI ยังไม่สามารถสื่อสารให้ใจถึงใจ นอกจากนี้ AI ยังเป็นเปลือกที่อยู่วงนอกของแก่นการสื่อสาร เพราะในวงการสื่อสารมวลชน ถึงจะมีการวิเคราะห์ ว่าเขาใช้แพลตฟอร์มไหน หรือใช้คนไหนจึงจะสื่อสารได้ตรงเป้า แต่การมีเครือข่ายทำงาน ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ AI ยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ ดังนั้นอย่าไปกลัว แต่จงเรียนรู้ ปรับตัว เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงาน โดยมนุษย์จะเป็นผู้ควบคุม การทำงาน AI

สำหรับแนวทางการทำงานของนักสื่อสารมวลชนในยุค AI คณบดีคณะการสื่อสารมวลชนชี้ว่าในยุคปัญญาประดิษฐ์ รูปแบบการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ในอนาคตซึ่งเข้าไปมีบทบาทกับทุกศาสตร์ ทุกอาชีพจะมีการเปลี่ยนแปลงจากยุคข้าเก่งคนเดียว หรือการทำงานเดี่ยว เป็นการทำงานร่วมกัน

“ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถจะโตเดี่ยวได้อีกต่อไป เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยี และสามารถใช้ประโยชน์เทคโนโลยีในการทำงานมากขึ้น มนุษย์จะต้องมีการทำงานแบบ “โตไปด้วยกัน” โดยเฉพาะวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อกับทุกศาสตร์สาขา จึงมีความสำคัญที่จะต้องมีการทำงานร่วมกับเพื่อนหรือเครือข่ายชุมชน ที่เก่งด้านเนื้อหา เก่งการเข้าสังคม ถึงเราจะใช้ออนไลน์อย่างไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำอย่างไรให้เกิดผลกับชีวิตจริงกับชีวิต สุดท้ายก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องHuman Touch ซึ่งนักการสื่อสารมวลชนจะต้องศึกษาว่า อะไรที่จะทำให้เข้าถึงจิตใจคนได้ สื่อแบบไหน จึงจะถึงใจ ได้ใจคน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ในที่สุด”

การจัดเสวนา ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมศิษย์เก่าสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนทุนจากหลายภาคส่วน โดยในช่วงท้ายของการเสวนา มีการมอบรายได้จากการสนับสนุนให้ทุน รศ. สดศรี เผ่าอินจันทร์ ซี่งเป็นทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ รวมถึงส่งเสริมโอกาสของนักศึกษาที่มีความสามารถ
ผู้สนใจสามารถดูการเสวนาย้อนหลังได้ที่ Face Book เพจ :คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่