ThaiPublica > คนในข่าว > กรมการข้าวปรับตัวรับมือโลกร้อน มั่นใจอีก 2 ปีได้พันธุ์ข้าว “ทนแล้ง-น้ำท่วม”-เริ่มแล้วปลูกเปียกสลับแห้ง

กรมการข้าวปรับตัวรับมือโลกร้อน มั่นใจอีก 2 ปีได้พันธุ์ข้าว “ทนแล้ง-น้ำท่วม”-เริ่มแล้วปลูกเปียกสลับแห้ง

28 ตุลาคม 2024


กรมการข้าวเร่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวรับกับภาวะโลกร้อน-โลกรวน ทุ่มงบประมาณส่งนักวิจัยร่วมเรียนรู้เทคโนโลยี Gene breeding กับประเทศจีนคาด 2 ปีเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่พันธุกรรมข้าวไทย เตรียมพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ระยะเวลาปลูกสั้น 95-100 วันแข่งขันกับข้าวเวียดนาม – อินเดีย เพื่อเป็นครัวของโลก

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อชาวนาโดยเฉพาะการปลูกข้าวที่ต้องเผชิญทั้งฝนแล้ง น้ำท่วม ส่งผลให้เกิดความเสียหายและผลผลิตลดลง  การปรับตัวของชาวนาต่อวิถีการทำนาแบบใหม่ และการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อรองรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นความท้าทายของภาคเกษตรกรจะเป็นครัวของโลกได้หรือไม่

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งกรมการข้าวถือเป็นหน่วยงานที่เป็นหัวใจในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“เราเตรียมความพร้อมมานานมากแล้ว เพราะเราเชื่อว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อน โลกรวนกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรง ทั้งการปลูกข้าว พืชไร่ ข้าวโพด และไม้ผล มีผลกระทบแน่นอน”

สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นเพิ่มมากขึ้น ทั้งฝนตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาล อากาศที่ร้อนขึ้น อุทกภัย น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่มาถี่และคาดการณ์ยาก ล้วนส่งผลทำให้การทำเกษตรกรรมแบบเดิมอาจจะไม่สามารถได้ผลผลิตเท่าเดิม ดังนั้นหากภาคเกษตรกรต้องปรับตัวไม่ปรับตัวทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิตจะส่งผลภาคเกษตรไทยไปไม่รอด แข่งขันไม่ได้ ต้องปรับทำการเกษตรกรแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“อากาศเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน ฝนตกน้ำท่วม ชาวนาต้องปรับตัวเพราะการทำเกษตรบ้านเราเป็นแบบเปิดทำในที่โล่งแจ้ง ไม่ใช่การทำเกษตรในโรงปิดที่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้อย่างเช่น ประเทศอิสราเอล เราต้องหาวิธีปลูกที่เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพืชตระกูลหญ้า หรือ ข้าว  ข้าวโพด ไม้ผล”

นอกจากการทำเกษตรบนพื้นที่โล่งแจ้งแล้ว ปัญหาใหญ่ของภาคเกษตรไทย คือระบบชลประทานมีน้อย มีพื้นที่นอกเขตชลประทานจำนวนมาก ทำให้การทำเกษตรต้องพึ่งฟ้าฝนและธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เช่น การปลูกข้าว แม้จะสามารถปลูกได้ทั้งปี แต่น้ำไม่มี ต้องรอฤดูฝนทำให้เกษตรกรเสียโอกาส

“ระบบชลประทานของเรามีน้อยเกินไป เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เกษตรกรที่อยู่นอกระบบชลประทานใช้ระบบน้ำธรรมชาติจะเดือดร้อนมาก เพราะฉะนั้นในอนาคตรัฐต้องมาดูระบบกระจายน้ำให้ดีเพียงพอเพราะน้ำในบ้านเรามีเยอะมาก แต่การบริหารจัดการมันยังไม่ดีเราไม่สามารถกระจายไปสู่พี่น้องเกษตรกรได้”

เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคเกษตร

นายณัฏฐกิตติ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางจำนวนมาก แต่ถามว่าาถนนที่สร้างขึ้นจำนวนมาก ถ้าไม่มีสินค้าทางการเกษตรให้ขนส่ง จะมีประโยชน์หรือไม่ ดังนั้นถึงเวลาที่ต้องมาสร้างถนนน้ำ สร้างทางน้ำเพื่อให้ไปสู่ไร่นาอย่างสมบูรณ์แบบ แล้วใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องมาตระหนักถึงการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร ระบบชลประทานให้ดีเพื่อพี่น้องเกษตรกร

“มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันกลับมาลงทุนสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร  เราต้องทำความร่วมมือในหลายภาคส่วนที่จะต้องมุ่งมั่นในเรื่องนี้ เพราะในบางพื้นที่สามารถทำฝายการชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก แต่ทำไม่ได้ บางพื้นที่เราไม่สามารถจะทำเขื่อน  หรือสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ได้ เพราะมีเสียงคัดค้าน จนทำให้ภาคเกษตรไทยไปไม่ถึงไหน ถ้าเทียบกับประเทศจีนที่ใช้เวลา30-40 ปีเขามีระบบชลประทานไปในเขตทะเลทรายได้ แต่ประเทศไทยพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ได้เลย”

อธิบดีกรมการข้าว บอกอีกว่า ปัญหาของเราไม่ใช่ไม่มีเงิน เรามีเงินจำนวนมาก แต่ปัญหาคือเราไม่ให้ความสำคัญ และติดปัญหาการคัดค้านจากหลายส่วน ทั้งองค์กรอิสระ เอ็นจีโอ ทำให้การพัฒนาบางอย่างเดินไปข้างหน้าไม่ได้  เช่น การสร้างเขื่อนในแต่ละครั้งจะมีเสียงคัดค้านและดำเนินการยากมาก แต่ถ้าเทียบกับให้เงินเยียวยาเมื่อได้รับผลกระทบทั้ง น้ำท่วม ฝนแล้ง ใช้งบประมาณจำนวนมากจนสามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารจัดการน้ำได้ แต่เราไม่ได้มองตรงนั้น และไม่ได้ให้ความสำคัญว่า น้ำ คือ หัวใจของการเพราะปลูก โดยเฉพาะในภาวะที่อากาศเปลี่ยนแปลง การลงทุนเรื่องบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก

เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวรับมือ “โลกร้อน”

การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวถือเป็นอีกหัวใจในการปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง นายณัฏฐกิตติ์  บอกว่า ได้เตรียมการณ์เรื่องการปรับปรุงพันธ์ข้าวเอาไว้นานแล้ว โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งนักวิจัยไปเรียนรู้เทคโนโลยี Gene breeding  กับประเทศจีนจำนวน 7 คน จนปัจจุบันนักวิจัยดังกล่าวได้พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ และเชื่อว่าภายใน 2 ปี 2569-2570  เราสามารถใช้ Gene breeding  พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมทนแล้ง ทนท่วม และสามารถทำพันธุ์ใหม่ ๆ ที่แก้ปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้

“เราส่งคนไปประเทศจีนและแลกเปลี่ยนความรู้จากจีนที่มีฐานทรัพยากรใหญ่มาก จนขณะนี้เราสามารถที่จะทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อข้าวหอมมะลิ จนดึงให้เป็นต้นกล้าข้าวได้แล้ว ซึ่งที่อื่นยังทำไม่ได้ เราไปไกลมากแล้วในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พยายามหาเครื่องมือ และเทคโนโลยีมาให้นักวิจัย เพราะว่าเรามีนักวิจัยจำนวนมาก แต่เครื่องมือเรายังไม่มี ตอนนี้เรามีเครื่องไม้เครื่องมือมีเทคโนโลยี ที่จะทำในเรื่องนี้แล้ว จากเดิมที่เราใช้เวลาหลายปีกว่าจะพัฒนาพันธุ์ข้าวได้ ตอนนี้ใช้เวลา 7-8 เดือนเราจะได้พัฒนาข้าวใหม่ๆ”

การพัฒนาพันธุ์ข้าวต้องให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถแข่งขันได้ ซึ่งที่หลายคนบอกว่า ข้าวไทยแพ้เวียดนามนั้นไม่เป็นความจริง เราไม่เคยแพ้เวียดนามทั้งในเรื่องของ คุณภาพ และ ผลผลิตต่อไร่ แต่สิ่งที่เรายังสู้เวียดนามไม่ได้คือ ระยะเวลาในการปลูกข้าวเรายากว่าเวียดนาม

“ผลผลิตต่อไร่เราไม่เคยต่ำกว่าเวียดนาม คุณเข้าใจผิดกันไปแล้ว ผลผลิตข้าวไทยไม่เคยต่ำ เราสามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 1,000 กก ต่อไร่ ไม่แพ้เวียดนาม แต่ยอมรับว่าเรายังสู้ไม่ได้เรื่องระยะเวลาในการผลิต เพราะข้าวเวียดนามปลูกประมาณ 90-95 วันเก็บเกี่ยวได้ แต่ของเราปลูกประมาณ110-120 วันถึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทำให้เราต้นทุนปลูกข้าวของเราสูงกว่า”

ปัญหาเรื่องต้นทุนปลูกข้าวสูง ไม่ได้มาจากพันธุ์ข้าวที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวนานแต่เพียงอย่างเดียว หากรวมถึงปัญหาชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินต้องเช่าที่ดินทำนา และใช้ปัจจัยการผลิตจากผู้ประกอบการ เช่น พันธุ์ข้าว  ปุ๋ย  ยาฆ่าแมลง ทำให้ระยะเวลาการปลูกข้าวที่นานกว่าข้าวเวียดนาม 10 วันคือต้นทุนที่ชาวนาต้องจ่ายเพิ่ม

“ถ้าชาวนาเช่าที่ดินทำนาไร่ละ 2,000 บาท เขาต้องปลูกข้าวให้ได้มากที่สุด โดยต้องปลูกข้าวหลายรอบ นั่นคือต้นทุนของเขา ชาวนาจึงต้องการข้าวที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น เพราะพันธุ์ข้าวของเราเวลามันเกินไป 10 วันปลูก 3 ครั้งก็ 30 วันก็เดือนหนึ่งแล้ว วันนี้เราจึงต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีระยะเวลาปลูกสั้นลง ทำให้รอบการปลูกข้าวของชาวนาได้ผลผลิตเร็วขึ้น”

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว

พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิปลูกได้ทั้งปี

นอกจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้นแล้ว กรมการข้าวได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อตอบโจทย์ภาวะโลกร้อน ในเรื่องของคุณภาพ  และพันธุ์ข้าวที่ทนกับสภาพอากาศ ทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ซึ่งการส่งนักวิจัยไปร่วมแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับประเทศจีน ทำให้มีฐานพันธุกรรมข้าวที่หลากหลายมากขึ้น

“นอกจากพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สามารถสู้กับเวียดนามได้ในเรื่องของระยะเวลาเก็บเกี่ยวแล้วเราจะพัฒนาพันธุ์ข้าวทนแล้ง  ทนน้ำท่วม และที่มีผลลผลิตต่อไร่มากขึ้น”

นายณัฏฐกิตติ์บอกว่างานวิจัยพันธุ์ข้าวหลายตัวเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เช่น พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีระยะเวลการปลูกสั้นลง ปลูกได้ทั้งปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ตอนนี้ยังไม่กล้าประกาศตอนนี้ แต่อยากยืนยันว่ากรมการข้าวไม่ได้นิ่งนอนใจเราเตรียมความพร้อมเรื่องนี้มานานแล้ว และเชื่อว่าพัฒนาพันธุ์ได้สอดรับกับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป

“โลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วและเร็วมาก เราจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราต้องให้ความสำคัญกับการรับมือ เราอย่าลืมว่าข้าวเป็นวัฒนธรรม คนไทย กินข้าวคือวัฒนธรรมในสายเลือดของเรา ไม่เกิน 2 ปี เราอาจจะได้ข้าวหอมมะลิที่สามารถเป็นปลูกได้ทั้งปี ปลูกนาปรังได้ ระยะเวลาการผลิตจาก 110-120 วัน เหลือประมาณ 100 วัน แต่เป็นข้าวหอมมะลิ ผมคิดว่าเราทำได้ เพราะตอนนี้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้เป็นต้นกล้าได้แล้ว”

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว

เร่งแก้ลักลอบพันธุ์ข้าวเวียดนามปลูกไทย

ส่วนปัญหาการลักลอบนำพันธุ์ข้าวเวียดนาม มาปลูกในไทย นายณัฏฐกิตติ์  กล่าวว่าการแก้ปัญหาหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องร่วมมือกัน เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรถือ พ.ร.บ.พันธุ์พืช ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนและตรวจสอบพันธุ์ข้าว ต้องช่วยกันตรวจสอบว่ามีการนำพันธุ์ข้าวต่างประเทศมาปลูกในไทยหรือไม่ เพราะจะกระทบต่อการส่งออกข้าวเพราะคุณภาพข้าวแตกต่างจากพันธุ์ข้าวไทย

“ต้องย้อนกลับไปถามว่ากรมส่งเสริมการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนได้ตรวจสอบพันธุ์ข้าวหรือไม่ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่าเป็นข้าวพันธุ์อย่างจริงจังหรือไม่ เพราะการขึ้นทะเบียนพันธุ์ ต้องอาศัยประชาคม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าร่วม ทำให้ผมสงสัยว่าทำไมยังมีการปลูกข้าวเวียดนามเต็มบ้านเต็มเมือง แสดงว่าที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนไม่ตรงข้อเท็จจริง ในกรณีรัฐบาลช่วยไร่ละ1,000 บาท เพราะในคู่มือการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าว ไม่สามารถปลูกข้าวพันธุ์ของต่างประเทศได้”

นายณัฏฐกิตติ์กล่าวว่ากรมการข้าวมีหน้าที่ในการรับรองพันธุ์ข้าว ซึ่งที่ผ่านมาหากยื่นของรับรองพันธุ์และสามารถตรวจสอบที่มาของพันธุ์ข้าวได้ก็จะรับรองพันธุ์ให้ แต่ข้าวต่างประเทศที่นำมาปลูกในพื้นที่ภาคกลางได้เสนอขอรับรองพันธุ์ แต่ที่มาของพันธุ์ข้าวไม่ชัดเจนทำให้กรมการข้าวไม่สามารถรับรองให้ได้

“ผมพร้อมรับรองพันธุ์ข้าวให้แต่ต้องบอกว่า ที่มาของสายพันธุ์ได้ว่ามาจากไหน ถ้าเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่นไทยมีความร่วมมือกับจีนแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกัน และมีที่มาที่ชัดเจนเราสามารถรับรองพันธุ์ได้ แต่ถ้านำพันธุ์ข้าวมาโดยไม่ได้รับอนุญาติก็ไม่สามารถรับรองได้เช่นกัน”

นายณัฏฐกิตติ์ บอกด้วยว่าขณะนี้เมียนมาประสานมาขอซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยผ่านกรมวิชาการเกษตรประมาณ 5-6 สายพันธุ์ แต่อยู่ระหว่างหารือเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะขายให้หรือไม่ เพราะพันธุ์ข้าวเป็นผลประโยชน์ระดับชาติ เนื่องจากข้าวสร้างรายได้ในการส่งออกให้กับประเทศมานาน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กรมการข้าวสามารถรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ได้อย่างน้อยปีละ 10 สายพันธุ์ และทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนต่าง ๆ ให้รับรองสายพันธุ์เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการใช้พันธุ์ข้าวที่หลากหลายมากขึ้น

“กรมการข้าวพร้อมจะรับรองพันธุ์ข้าว แต่ต้องมีที่มาชัดเจน และกรมการข้าวไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อรับกกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และหลังจากนี้เราจะพัฒนาพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ข้าวเพื่อสุขภาพที่มีคาร์โบไฮเดตต่ำและมีไฟเบอร์สูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาพันธุ์”

ปรับวิธีการปลูกข้าว “เปียกสลับแห้ง” ลดโลกร้อน

ส่วนการปรับด้วยในเรื่องของวิธีการปลูกข้าว กรมการข้าวได้ทดลองปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นเทคนิคการจัดการน้ำในแปลงนาให้มีทั้งสภาพเปียกและสภาพแห้งที่เหมาะสม กับความต้องการน้ำของข้าวในแต่ระยะการเจริญเติบโต โดยปล่อยให้น้ำแห้งตามธรรมชาติเพื่อให้ดิน มีการระบายน้ำและอากาศที่ดี กระตุ้นให้รากและลำต้นข้าวมีความแข็งแรง โดยช่วงที่เหมาะสม

เทคนิคการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งดังกล่าวสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวได้ ซึ่งขณะนี้กรมการข้าวได้เริ่มทดลองกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนในพื้นที่ 22 จังหวัดมีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 3,300 คน

“ผลทดลองการปลูกข้าเปียกสลับแห้ง ประหยัดน้ำและลดการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวมีผลผลิตที่สูงกว่าการปลูกวิธีการเดิม ขณะนี้เรารณรงค์ในกลุ่มชาวบ้านที่กรมการข้าวภายใต้ศูนย์ข้าวชุมชนใน 22 จังหวัดรวมพื้นที่ 40,000 ไร่ และในปี 2569 เราจะขยายพื้นที่ปลูกเป็น 50,000 ไร่ โดยขณะนี้มีบริษัทเอกชนติดต่อซื้อคาร์บอนเครดิตไร่ละประมาณ 200-300 บาท”

นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวย้ำว่า กรมการข้าวทำงานเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนมาโดยตลอดโดยได้เตรียมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในอีก 2 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในเรื่องของพันธุ์ข้าว นอกจากนี้กรมการข้าวได้ผลิตจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการสลายซังข้าวในการลดก๊าซมีเทน ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรนำไปใช้และได้ผลดี

“ข้าวไทยสู้ข้าวต่างประเทศได้แน่นอน วันนี้เราขยับขึ้นมาเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศอินเดีย เราไม่น้อยหน้าใคร เราไม่ได้แพ้เวียดนาม แต่เราต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเราไปได้ เพราะตอนนี้รัฐบาลให้ความสำคัญจัดงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มมาประมาณ 4 พันล้านบาท เพื่อให้พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเม็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร”

กรมการข้าวได้พัฒนาเทคโนโลยี นำ AI และระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ ทำให้แต่ละปีกรมการข้าวสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อเป็นต้นน้ำให้กับเกษตรกรถึง 1.2 แสนตัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งในอนาคตเราจะพัฒนาให้ได้มากขึ้น

“โรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ของเราถือเป็นเบอร์ 1 ที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ เดินทางมาดูงานที่เรา เพราะเรานำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ลดการใช้คน  ทำให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวนมาก  ทำให้เชื่อว่าในอนาคตเราสามารถเป็นครัวของโลกได้”

นายณัฏฐกิตติ์กล่าวย้ำว่า ไทยเป็นครัวของโลกได้ ถ้าทุกฝ่ายปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้น พัฒนาเทคโนโลยี และวิธีการผลิตเพื่อรับมือกับความแปรปรวนที่เกิดขึ้น