ThaiPublica > เกาะกระแส > Why Nations Fail ของนักเศรษฐศาสตร์โนเบล 2024 ทำไมบางประเทศล้มเหลวสู่ความมั่งคั่ง

Why Nations Fail ของนักเศรษฐศาสตร์โนเบล 2024 ทำไมบางประเทศล้มเหลวสู่ความมั่งคั่ง

26 ตุลาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

หากจะให้ความหมายสั้นๆของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2024 ก็คือ “ทำไมสถาบัน (เศรษฐกิจการเมือง) จึงมีความสำคัญ” ในการอธิบายว่า ทำไมบางประเทศจึงเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และทำไมบางประเทศยังยากจน นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2024 ได้แก่ Daron Acemoglu, Simon Johnson และ James Robinson จากผลงานการศึกษา ที่ทำให้เข้าใจมากขึ้นเรื่อง ความแตกต่างทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศต่างๆ

Daron Acemoglu ที่มาภาพ : printerest.com

Daron Acemoglu และ James Robinson เขียนหนังสือชื่อ Why Nations Fail: The Origin of Power, Prosperity and Poverty (2012) อธิบายว่า ทำไมบางประเทศ เช่นอังกฤษ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น จึงเจริญรุ่งเรือง ขณะที่บางประเทศเช่น เซียร์ร่าลีออน อียิปต์ หรืออุซเบกิสถาน จึงไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา การศึกษาวิจัยพบว่า ความสำเร็จของการพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่ง ไม่ได้มาจากปัจจัยด้านภูมิศาสต์หรือวัฒนธรรม แต่เป็นดอกผลที่มาจาก “สถาบัน” (institution) ด้านเศรษฐกิจการเมือง ที่เกิดขึ้นมาในประเทศเหล่านี้

ภาวะย้อนแย้งของเมืองโนกาเลส (Nogales)

หนังสือ Why Nations Fail กล่าวว่า ในปี 2011 เกิดเหตุการณ์ประท้วงในหลายประเทศอาหรับที่เรียกว่า Arab Spring จุดเริ่มต้นเกิดจากเหตุการณ์ในตูนีเซีย พ่อค้าหาบเร่เผาตัวเองประท้วงจากการกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่ แต่พื้นฐานความไม่พอใจของประชาชนที่ออกมาประท้วง คือความยากจน ประชาชนชาวอาหรับยากจน เพราะปกครองโดยคนมีอำนาจ ที่เป็นคนกลุ่มแคบๆ บริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของพวกตัวเอง โดยที่คนส่วนใหญ่เสียประโยชน์ หรือเป็นฝ่ายต้องแบกรับต้นทุนความสูญเสีย การผูกขาดอำนาจและใช้อำนาจสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง ทำให้อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารักของอียิปต์ ร่ำรวยมากถึง 70 พันล้านดอลลาร์

ส่วนประเทศอย่างอังกฤษและสหรัฐฯกลายเป็นประเทศมั่งคั่งร่ำรวย เนื่องจากประชาชนได้ล้มการปกครอง ที่อำนาจผูกขาดโดยคนชั้นนำ และสร้างสังคมที่ให้สิทธิการเมืองอย่างกว้างขวาง รัฐบาลมีความรับผิดและตอบสนองความต้องการของประชาชน คนส่วนใหญ่ก็สามารถหาประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจ

ที่มาภาพ : amazon.com

Why Nations Fail หยิบยกตัวอย่างภาวะย้อนแย้งของเมือง “โนกาเลส” (Nogales) เป็นตัวอย่าง อธิบายความมั่งคั่งและยากจน ที่มีสาเหตุจากสถาบันเศรษฐกิจการเมือง ที่แตกต่างกัน เมืองโนกาเลสมีกำแพงแบ่งแยกตัวเมืองเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งขึ้นกับเขตซานต้า ครุซ รัฐอาริโซน่า สหรัฐฯ อีกส่วนหนึ่งขึ้นกับขึ้นกับเขตโซโนร่า เม็กซิโก

ฝั่งสหรัฐฯมีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยปีหนึ่ง 30,000 ดอลลาร์ เยาวชนแทบทุกคนเป็นนักเรียน คนมีอายุส่วนใหญ่จบมัธยมปลาย ประชากรมีสุขภาพดี อายุขัยเฉลี่ยสูง ประชาชนอายุ 65 ปีขึ้นไป เข้าถึงการรักษาพยาบาลฟรีตามระบบ Medicare บริการรัฐยังประกอบด้วยไฟฟ้า โทรศัพย์ สาธารณสุข เครือข่ายถนนเชื่อมเมืองอื่นๆในสหรัฐฯ

สิ่งสำคัญเช่นเดียวกันอีกอย่างหนึ่ง คนฝั่งสหรัฐฯยอมรับกฎหมายและระเบียบสังคม (law and order) คนเมืองโนกาเลส รัฐอาริโซน่า สามารถใช้ชีวิตแต่ละวัน โดยไม่มีความหวาดกลัวเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิต ความเสี่ยงจากการลงทุนธุรกิจ ที่จะถูกรีดไถต่างๆ รัฐบาลท้องถิ่นเป็นตัวแทนพวกเขา พวกเขาสามารถลงคะแนนเลือกเทศมนตรี สมาชิกสภาผู้แทน หรือวุฒิสมาชิก ประชาธิปไตยจึงเป็นนิสัยพื้นฐานอย่างหนึ่งของชาวเมืองนี้

ส่วนโนกาเลสที่ขึ้นกับฝั่งเม็กซิโก มีสภาพแตกต่างออกไป แม้จะตั้งอยู่ในส่วนที่มั่งคั่งของเม็กซิโก แต่รายได้ต่อครัวเรือน 1 ใน 3 ของฝั่งอเมริกา คนมีอายุส่วนใหญ่ไม่จบมัธยมปลาย เยาวชนจำนวนมากไม่ได้เข้าโรงเรียน ระบบสาธารณสุขที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้อายุขัยเฉลี่ยไม่สูงเท่าคนฝั่งสหรัฐฯ ประชากรไม่ได้รับบริการรัฐที่หลากหลาย กฎหมายและระเบียบสังคมอยู่ในสภาพเลวร้าย อาชญากรรมสูง การประกอบธุรกิจมีความเสี่ยงมากมาย ประชาชนต้องมีชีวิตอยู่กับนักการเมือง ที่คอร์รัปชันและไร้ความสามารถ

กำแพงแบ่งแยกเมืองโนกาเลสของสหรัฐฯกับเม็กซิโก ที่มาภาพ: wikipedia.org

ทำไมเมืองเดียวกันแต่สภาพต่างกัน

Why Nations Fail ตอบคำถามที่ว่า ทำไมเมืองเดียวกันที่แยกออกเป็นสองส่วน จึงมีสภาพแตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ หรือภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ประชากรสองส่วนก็มีบรรพบุรุษ และวัฒนธรรมเดียวกัน

แน่นอนว่า คำอธิบายที่ง่ายๆและชัดเจน ก็คือว่า ประชากรของโนกาเลสฝั่งสหรัฐฯ เข้าถึงสถาบันเศรษฐกิจการเมืองของสหรัฐฯ ทำให้ประชาชนสามารถเลือกงานอาชีพได้อิสระ ได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมทักษะ นายจ้างได้รับการส่งเสริมให้ลงทุนในเทคโนโลยีดีที่สุด ทำให้คนทำงานมีรายได้สูงขึ้น ประชาชนยังเข้าถึงสถาบันการเมือง ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง นักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งพยายามสนองบริการพื้นฐานที่ประชาชนต้องการ เช่น สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน

แต่ประชาชนโนกาเลสฝั่งเม็กซิโกไม่มีโอกาสดีแบบนี้ พวกเขามีชีวิตที่แตกต่างออกไปอีกโลกหนึ่ง เพราะถูกกำหนดจากสถาบันเศรษฐกิจการเมือง ที่แตกต่างออกไป สถาบันเศรษฐกิจการเมืองแตกต่างกัน จะสร้างแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ต่อประชาชน และต่อผู้ประกอบการนักธุรกิจที่คิดจะลงทุน แรงจูงใจที่เกิดจากสถาบันเศรษฐกิจการเมืองของแต่ละฝั่งเมืองโนกาเลส คือเหตุผลสำคัญที่อธิบายความแตกต่าง ด้านความมั่งคั่งเศรษฐกิจระหว่างฝั่งสหรัฐฯกับฝั่งเม็กซิโก

สถาบันเศรษฐกิจการเมืองคือตัวชี้ขาด

Why Nations Fail อธิบายว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ในระดับที่แตกต่างกัน เช่น แต่ละส่วนของเมืองโนกาเลส หรือเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ ก็เนื่องมาจากความแตกต่างของสถาบันเศรษฐกิจ สถาบันแต่ละแบบจะมีกฎเกณฑ์ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินการของเศรษฐกิจ และต่อแรงจูงใจที่ส่งเสริมการมีธุรกรรมของประชาชน ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐฯ หรือเกาหลีใต้ ล้วนมีสถาบันเศรษฐกิจที่เป็นแบบ inclusive เปิดโอกาสทุกคนอย่างถ้วนหน้า

สถาบันเศรษฐกิจแบบ inclusive จะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในธุรกรรมเศรษฐกิจ โดยการใช้ประโยชน์ทักษะของคนและคนอย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนแต่ละคนสามารถเลือกทางเดินอาชีพตัวเองได้อย่างอิสระ สถาบันเศรษฐกิจจะให้การปกป้องทรัพย์สินส่วนตัว มีระบบกฎหมายที่ไม่ลำเอียง และการบริการสาธารณะ ที่ไม่ทำให้ใครได้เปรียบในธุรกรรมที่มีการแข่งขัน

ความสว่างของเกาหลีใต้กับความมือของเกาหลีเหนือ ที่มาภาพ : printerest.com

ประเทศที่ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ เช่น ลาตินอเมริกา ที่เคยเป็นเมืองขึ้นมาก่อน ประเทศในแอฟริกา เช่น อียิปต์ หรือฟิลิปปินส์ สถาบันเศรษฐกิจจะเป็นแบบ extractive คือถูกออกแบบให้คนชั้นนำส่วนน้อย ที่สามารถรีดเค้นรายได้และความมั่งคั่งจากคนส่วนใหญ่ ส่วนทางการเมือง ก็มีสถาบันการเมืองแบบ extractive คือระบบสืบทอดอำนาจ เพราะสถาบันการเมืองคือสิ่งที่กำหนดสถาบันเศรษฐกิจ

ปัญหาท้าทายของประเทศที่ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ คือการเปลี่ยนผ่าน จากการมีสถาบันแบบ extractive มาสู่แบบ inclusive

หนังสือ Why Nations Fail ให้แนวคิดสำคัญที่ว่า หากเราต้องการอธิบายว่า ทำไมสองประเทศจึงมีมาตรฐานความเป็นอยู่แตกต่างกัน คำตอบคือการมองไปที่สถาบันเศรษฐการเมืองของสองประเทศนั้น มีแตกต่างกันอย่างไร

เอกสารประกอบ
Why Nations Fail: The Origins of Power, Prosperity and Poverty, Daron Acemoglu and James A. Robinson, Profile Books, 2012.