มองกีฬาแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าจะดีแค่ไหนถ้าประเทศไทยสามารถสร้างแบรนด์ระดับโลกที่สามารถจะช่วยสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม และยกระดับเศรษฐกิจในประเทศได้ในลักษณะเดียวกัน
เพราะการผลักดันให้ประเทศมีแบรนด์ระดับโลก นอกจากจะสร้างเม็ดเงินกลับมาสู่ประเทศแล้วยังช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจในวงกว้าง (Spillover Effect) เช่น SEA Group, Grab, หรือ Lazada บริษัทเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทและช่วยพัฒนาระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ของผู้ประกอบการอย่างเห็นได้ชัด ศิษย์เก่าขององค์กรเหล่านี้กลายมาเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพอีกกว่าพันรายในปัจจุบัน
คำถามสำคัญคือ ทำไมไทยไม่มีแบรนด์ระดับโลกใหม่ๆ ขึ้นมาบ้างในช่วงที่ผ่านมา
ประการแรก ไทยมีผู้เล่นใหม่ไม่มากพอด้วยข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเงินทุนและด้านวัฒนธรรม
เมื่อพิจารณาพลวัตรของตลาดในประเทศที่มีแบรนด์ระดับโลกจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา บริษัทเกิดขึ้นใหม่ที่มีอายุไม่ถึง 5 ปี มีสัดส่วนถึงกว่า 30% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด และบริษัทกลุ่มดังกล่าวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และการต่อยอดของไอเดียอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ไทยมีสัดส่วนบริษัทใหม่ดังกล่าวเพียงไม่ถึง 10%
การระดมทุนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีไอเดียแต่มีต้นทุนทางการเงินที่จำกัดก็เป็นไปได้ยาก ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมี Venture Capital (VC) จำนวนไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ 90% เป็น VC ที่จัดตั้งโดยองค์กรขนาดใหญ่ (Corporate VC) ซึ่งลงทุนเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของตนเองหรือกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตและสร้างรายได้แล้วในระดับหนึ่ง และมีจำนวนน้อยมากที่ลงทุนในธุรกิจระยะเริ่มแรก (Seed Stage) หากประเมินจากปัจจัยหลายๆ ด้านก็คงไม่แปลกเพราะบ้านเรามีบริษัทที่ผลิตเทคโนโลยีได้จำนวนไม่มาก อีกทั้งการเติบโตและขนาดของเศรษฐกิจก็มีความน่าสนใจน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ ที่ GDP เติบโดสูงประมาณ 5-6% ต่อปี นักลงทุนส่วนมากสนใจธุรกิจที่มีขนาดตลาดใหญ่กว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป สตาร์ทอัพไทยหลายบริษัทที่อาจจะเริ่มจากการพัฒนาซอฟแวร์เพื่อกลุ่มลูกค้าในประเทศจึงมักเผชิญกับข้อจำกัดเมื่อผลิตภัณฑ์ไม่สามารถนำไปขายต่างประเทศได้
ข้อสังเกตสำคัญอีกประการคือการขาดแรงบันดาลใจ หรือตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาด้วยตัวเอง (Self-made Role Model) ถ้าถามนักเรียนในห้องว่าใครอยากเป็นเจ้าของกิจการ เกือบร้อยละ 80 ยกมือ แต่มีเพียงไม่กี่คนที่พร้อมที่จะเสี่ยงและเริ่มลงมือทำ งานศึกษาบางส่วนชี้ไปถึงวัฒนธรรมที่ให้ค่ากับงานที่มีความมั่นคงและระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ต่างจากประเทศที่มีสตาร์ทอัพเยอะที่สุดต่อประชากร อย่างสวีเดนที่มีโครงข่ายรองรับความปลอดภัยทางสังคมที่สูง (Social Safety Net) ส่งเสริมให้คนกล้าเทคความเสี่ยง หรือสหรัฐเอมริกากับจีนซึ่งมีค่านิยมยกย่องความสำเร็จที่สร้างด้วยตนเอง
โจทย์สำคัญ คือ การขับเคลื่อนให้เกิดผู้เล่นใหม่ๆ เร่งผลิตผู้ประกอบการผ่านการลงทุนระยะ Seed Stage ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเครือข่ายนักลงทุนอิสระ (Angel Investors) หรือกลุ่มธุรกิจได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือการหาโค้ชต่างชาติที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยพัฒนาทีม ดึงดูดให้โครงการส่งเสริมธุรกิจเพื่อเร่งให้เติบโต (Accelerator Program) เข้ามาดำเนินการในประเทศมากขึ้น เช่น สิงค์โปร์มี Accelerator มากกว่า 300 แห่งที่ผลิตสตาร์ทอัพออกมากว่า 7 พันราย แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบริษัทจะสร้างอัตราการเติบโตในระดับสูง แต่การมีผู้เล่นใหม่จำนวนมากก็เพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศมากขึ้นเช่นกัน
ประการที่สอง ผู้เล่นเดิมส่วนมากไม่เคยออกไปต่างประเทศและมีผลิตภาพแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ
พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยกลับมีลักษณะกระจุกตัวและถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุด 10 อันดับในตลาดหลักทรัพย์ก็แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกล่างและขนาดย่อม (SME) กว่า 3 ล้านราย กลับสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเพียง 35% ของ GDP มีจำนวนน้อยมากที่สามารถขยับจากธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางเป็นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่ายังกระจุกอยู่แค่ในบางธุรกิจบริการ การขายผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตยังไม่สูงนัก การขยายตลาดไปยังต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนที่จำกัด เนื่องจาก 70% ยังพึ่งพาเงินฝากและเงินสนับสนุนจากครอบครัวในการดำเนินงานเป็นหลัก ทำให้การขยายธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
หากเราเปรียบเทียบวิวัฒนาการข้างต้นกับวงการกีฬา ก็คงเหมือนกับการรอเชียร์นักกีฬากลุ่มเดิมๆ ไปแข่งทุกรอบ โดยไม่มีนักกีฬาหน้าใหม่ขึ้นมาทดแทนหรือแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้เลย
การหาเวทีให้นักกีฬาที่มีศักยภาพได้ออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเร่งยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ให้เกิดเป็นแบรนด์แนวหน้าในภูมิภาคหต่อรือในระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในจุดแข็งของไทยที่ทั่วโลกยอมรับคงหนีไม่พ้นอาหาร ทั้งจำนวนร้านอาหารที่มีสัดส่วนต่อประชากรมากเป็นอันดับต้นในหลายประเทศ และรสชาติที่มีเอกลัษณ์แตกต่างจากชาติอื่นๆ รัฐบาลจึงอาจพิจารณาส่งเสริมผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานให้คุ้นเคยกับตลาดภายนอก ไม่ว่าจะผ่านการเป็นตัวกลางในการจับคู่ธุรกิจ หรือการออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันและมีศักยภาพทัดเทียมกับบริษัทแนวหน้าของโลก
ประการสุดท้าย ผู้เล่นรายย่อยจำนวนมากกำลังแก่ตัวลง
หลายธุรกิจใช้เวลากว่าช่วงชีวิตคนในการพัฒนาจนเริ่มมีความมั่นคง แต่กว่า 30% ของกิจการในปัจจุบันบริหารโดยคนที่มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งผลสำรวจพบว่ากว่าหนึ่งในสามขาดผู้ที่จะรับช่วงต่อ ศูนย์วิจัยกสิกรก็เปิดเผยว่าปีนี้มีโรงงานในไทยปิดตัวไปกว่า 2,000 โรง นั่นแปลว่าผู้เล่นจำนวนมากหยุดการพัฒนา และหากเราไม่ทำอะไร ธุรกิจดีๆ หลายแห่งก็คงทยอยหายตัวไปในที่สุด
หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจกับโมเดลการสร้างผู้ประกอบการทดแทน (Entrepreneurship through Acquisition) เพื่อสานต่อโอกาสของการพัฒนาธุรกิจ หรือพูดง่ายๆคือการให้คนที่มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจระดมทุนซื้อธุรกิจที่มีอยู่เดิมแล้วเข้าไปพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น (Buy and Build) โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญปัญหาสังคมสูงอายุและมีธุรกิจที่มีศักยภาพจำนวนมากทยอยปิดตัว รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ต้องการซื้อและผู้ที่สนใจจะขายธุรกิจเดิมเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น การให้เงินทุนสนับสนุนในระยะเริ่มแรก รวมถึงนโยบายการปล่อยเงินกู้ที่ยืดหยุ่น เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาที่ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะยเวลาผ่อนชำระนานถึง 10 ปี เพื่อซื้อกิจการได้มากถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐในรูปแบบของสินเชื่อ Small Business Administration (SBA Loan)
ถ้าเรามองผู้ก่อตั้งหลายบริษัทที่มีมูลค่ามหาศาลทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น Howard Schultz ที่สร้าง Starbucks เป็นบริษัทหมื่นล้านทั้งที่ร้านขายกาแฟก็มีมาก่อนหลายทศวรรษ Jeff Besoz ที่เริ่มเอาหนังสือมาขายออนไลน์จนพัฒนาเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ หลายบริษัทไม่ได้เริ่มจากไอเดียธุรกิจสุดแปลกใหม่ เพียงแต่ผู้ก่อตั้งมีมุมมองต่อธุรกิจเดิมๆ และกระบวนการเดิมๆ ในรูปแบบใหม่ๆ แล้วมีความเชื่อมั่นในการทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง ประเทศไทยมีพื้นฐานธุรกิจเดิมที่ดีหลายอย่าง มีคนที่มีความสามารถจำนวนมาก หากเชื่อมต่อสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันได้ ผนวกกับการส่งเสริมเงินทุนที่ตรงจุด คงได้เห็นการเพิ่มมูลค่าธุรกิจเดิมๆ ได้อีกมหาศาล
การสร้างแบรนด์ระดับโลกก็คงไม่ต่างจากการพัฒนานักกีฬาไปโอลิมปิค ต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรในการ (1) ผลิตผู้เล่นใหม่ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนระยะเริ่มต้นและดึงดูด Accelerators เข้ามาช่วยพัฒนา (2) ส่งออกผู้เล่นเดิมๆ ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และ (3) สร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดการส่งต่อโอกาสจากรุ่นสู่รุ่นผ่านกลไกการออกสินเชื่อเพื่อการซื้อกิจการ เพื่อหวังว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะทำให้ชาวโลกได้รู้จักกับแบรนด์ไทยมากขึ้นในที่สุด