ปิดงบฯ ปี ’67 เศรษฐกิจไทยโต 2.7% คลังเก็บรายได้หลุดเป้า 4,000 ล้านบาท “จุลพันธ์” แจงผลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าเนื่องจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้การจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้าลดลง การเบิกจ่ายงบประจำปีนี้เกินวงเงิน โดย รมว.คลังไฟเขียว ควัก “เงินคงคลัง” 7.7 หมื่นล้าน จ่ายบำเหน็จบำนาญ ค่ายา ปรับวุฒิเลื่อนขั้น ขรก.
ปิดงบประมาณปี 2567 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้สุทธิต่ำกว่าเป้าหมายไป 4,000 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ทำให้กระทรวงการคลังเก็บรายได้หลุดเป้า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ถึงผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามีแนวโนน้มที่ดีมาก และคาดว่าปีนี้กระทรวงการคลังจะสามารถจัดเป็นรายได้สุทธิได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน แต่ในช่วงเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 บังเอิญมาเกิดปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าได้น้อยลง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายไปเล็กน้อย”
ปี ’66 GDP โต 1.9% คลังเก็บรายได้ทะลุเป้า 1.76 แสนล้าน
หากย้อนกลับไปดูผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 เป็นช่วงที่ไวรัส โควิด-19 ระบาด เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรง GDP ปี 2563 ติดลบลงไป 6.1% ต่อปี ส่งผลทำให้กระทรวงการคลังเก็บรายได้สุทธิต่ำกว่าเป้าไปประมาณ 342,724 ล้านบาท ต่อมาในปีงบประมาณ 2564 สถานการณ์โควิดฯ เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัว 1.6% ต่อปี แต่ผลพวงของโควิดฯ ยังทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลหลุดเป้าไปอีก 301,377 ล้านบาท ปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5% ปีนี้เป็นปีแรกที่กระทรวงการคลังเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมาย 131,656 ล้านบาท ปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ต่อปี แม้ตัวเลขจะปรับตัวลดลง แต่ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปรากฏว่าสูงกว่าเป้าหมายถึง 176,808 ล้านบาท
ปี ’67 ศก. ไทยโต 2.7% คลังเก็บรายได้หลุดเป้า 4,000 ล้าน?
พอมาถึงปี 2567 ตามเอกสารงบประมาณ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.7% ต่อปี จึงประมาณการรายได้สุทธิของรัฐบาลเอาไว้ที่ 2,757,000 ล้านบาท แต่หลังจากที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาบริหารประเทศ ที่ประชุม ครม. วันที่ 18 กันยายน 2566 ก็มีมติเห็นชอบให้ขยายวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ขึ้นไป จากวงเงิน 3,350,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3,480,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมเงินไว้ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงมีการปรับเพิ่มประมาณการรายได้ขึ้นไปจาก 2,757,000 ล้านบาทเป็น 2,787,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท โดยมีกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลการคลังอยู่ที่ 693,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.63% ของ GDP
ล่าสุด สภาพัฒน์ฯ (สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ปรับลด GDP ปี 2567 จากประมาณการเดิมขยายตัว 2.7% ลดเหลือ 2.5% ต่อปี ซึ่งก็ยังสูงกว่าปีก่อน แต่ผลปรากฏว่าปีนี้กระทรวงการคลังเก็บรายได้หลุดเป้าไป 4,000 ล้านบาท เหตุเพราะเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 เงินบาทแข็งค่าตามคำชี้แจงของ รมช.คลังจริงหรือ
และถ้าย้อนกลับไปดูผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลรายไตรมาส เริ่มจากไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 (1 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2566) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสนี้ขยายตัวที่ 1.7% อันเป็นผลมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกสินค้า และบริการยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แต่การใช้จ่ายเงินและการลงทุนภาครัฐติดลบ 4.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกระบวนการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 เกิดความล่าช้ากว่าปกติ การเบิกจ่ายงบประมาณใช้กรอบของ พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายปี 2566 ไปพลางๆ ก่อน ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 623,384 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,621 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 0.3% หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บรายได้ส่วนใหญ่เก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ ยกเว้นกรมสรรพสามิตเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนชิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน
ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2567 (1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2567) ไตรมาสนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.7% โดยมีปัจจัยลบมาจากการลงทุนภาครัฐที่ปรับตัวลดลง หรือติดลบ 27.7% เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้า แม้การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว แต่ก็ไปฉุดให้การลงทุนโดยรวมปรับตัวลดลง รวมทั้งการส่งออกสินค้าก็ปรับตัวลดลง แต่การส่งออกบริการและการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี สภาพัฒน์ฯ จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จากขยายตัวเฉลี่ย 2.7% เหลือขยายตัว 2.5% ต่อปี
จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนปีแรกของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 1,168,900 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายไป 27,819 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 2.3% ทุกหน่วยงานจัดเก็บภาษีเกินเป้า ยกเว้นกรมสรรพสามิตเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย 37,795 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากผลของมาตรการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซิน เพื่อลดภาระค่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน รวมทั้งนโยบายส่งเสริมยายนต์ไฟฟ้า
แต่หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567 เป็นต้นมา เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐ เริ่มกลับมาทำงาน โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้น จากที่เคยติดลบ 27.7% ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2567 เหลือติดลบแค่ 4.3% แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง จากไตรมาสที่แล้วขยายตัว 4.6% ไตรมาสนี้ติดลบ 6.8% ฉุดให้การลงทุนโดยรวมติดลบ 6.2% ส่วนการใช้จ่ายเงินภาครัฐ และการส่งออกสินค้าทั้งด้านปริมาณและมูลค่าจากที่เคยติดลบ ก็กลับมาเป็นบวกเล็กน้อย เฉพาะไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2567 สภาพัฒน์ฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสนี้ขยายตัว 2.3% ส่วนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังคงไว้ที่อัตราเดิม คือ ขยายตัวเฉลี่ย 2.5% ต่อปี (ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567)
จากภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2567 ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลทำให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 9 แรกของปีงบประมาณ 2567 ต่ำกว่าเป้าหมายลดลง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 2,010,163 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 26,169 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 1.3% ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลและเบนชิน และมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้กรมสรรพสามิตหน่วยงานเดียวเก็บภาษีหลุดเป้าไปประมาณ 58,528 ล้านบาท
ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ล่าสุดในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,452,726 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 17,500 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 0.7% โดยกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ 1,963,205 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 8,482 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 0.4% ส่วนสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ 482,026 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 5,100 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 1.06% และกรมศุลกากรจัดเก็บ 109,010 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 3,749 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 3.28% โดยนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แสดงความมั่นใจว่า “ปีนี้กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ให้รัฐบาลได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน” ปรากฏว่าเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณมีปัญหาเงินบาทแข็ง จนทำให้การจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้าลดต่ำลง รวม 12 เดือนกระทรวงการคลังจึงเก็บรายได้พลาดเป้าไป 4,000 ล้านบาท
ควัก “เงินคงคลัง” 7.7 ล้าน จ่ายบำเหน็จบำนาญ ค่ายา ปรับวุฒิเลื่อนขั้น ขรก.
ส่วนทางด้านการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2567 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 3,273,967 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 94.08% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คงเหลืองบฯ ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย 206,033 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.92% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในปีนี้
แต่ถ้าไปดูรายละเอียดของการเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้ พบว่ามีการเบิกจ่ายงบประจำเกินกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ โดยงบประจำมีวงเงิน 2,797,564 ล้านบาท ได้มีเบิกจ่ายออกไป 2,829,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 101.14% ของวงเงินงบประจำในปีนี้ และเกินกรอบวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ไป 31,765 ล้านบาท หรือทะลุเป้าไป 1.14% โดยงบกลางส่วนที่เบิกจ่ายเกินวงเงินที่ตั้งไว้ในงบกลาง ได้แก่ รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เบิกจ่ายเกินวงเงินไป 40,256 ล้านบาท รายการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของรัฐ เบิกจ่ายเกินวงเงินไป 24,335 ล้านบาท และรายการเงินเลื่อนเงินเดือนและปรับวุฒิข้าราชการ 12,723ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 77,314 ล้านบาท ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ทำเรื่องเสนอนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาเห็นชอบให้กรมบัญชีกลางเบิกจ่ายงบฯ ส่วนเกินดังกล่าวจากเงินคงคลังไปแล้ว
ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนวงเงิน 682,436 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายแล้ว 444,638 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 65.15% ของวงเงินงบลงทุน คงเหลืองบลงทุนที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย 237,798 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.85% ของวงเงินงบลงทุน โดยงบลงทุนที่ยังไม่เบิกจ่ายส่วนใหญ่ได้กันเงินไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีแล้ว