ThaiPublica > Sustainability > Contributor > เมื่อรัฐปิโตรเลียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสมัชชาโลกร้อน COP29 : อาเซอร์ไบจาน

เมื่อรัฐปิโตรเลียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสมัชชาโลกร้อน COP29 : อาเซอร์ไบจาน

23 กันยายน 2024


ประสาท มีแต้ม

ที่มาภาพ : https://cop29.az/en/pages/what-is-cop29

เผลอแป๊บเดียว “ข้อตกลงปารีส” ซึ่งเกิดจากการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หรือ COP21,Conference of Parties) เมื่อปี 2558 กำลังจะครบ 9 ปีเต็ม การประชุมครั้งนั้นได้เรียกร้องให้ทั่วโลกช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิอากาศโลกเฉลี่ยสูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมในปี 2100 และกำลังจะมีการประชุมครั้งถัดไปหรือที่เรียกว่า COP29 ในระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะมีคำถามอยู่ในใจ นอกจากชื่อประเทศเจ้าภาพที่เราไม่ค่อยจะคุ้นเคยแล้ว ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมาข้อตกลงปารีสที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของมนุษยชาตินั้น ได้บรรลุเป้าหมายในสาระสำคัญมากน้อยแค่ไหนกัน และเราในฐานะพลเมืองของโลกใบนี้จะคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการประชุมครั้งที่จะถึงนี้ได้บ้าง

ผมจะค่อยๆนำเสนอเพื่อความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่ชื่อบทความไปจนถึงประวัติของผู้ที่จะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสมัชชาซึ่งเคยทำงานในบริษัทน้ำมันของรัฐมานานถึง 26 ปี

อย่าลืมว่าประมาณ 75% ของก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโลกร้อนนั้นก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งได้แก่ปิโตรเลียม(คือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ)และถ่านหิน ด้วยข้อมูลเพียงเท่าที่ได้กล่าวมานี้ก็พอจะทำให้เราเห็นภาพลางๆของผลการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นได้บ้างแล้ว

คำว่า “รัฐปิโตรเลียม(Petrostate)” เป็นคำที่ไม่เป็นทางการที่ใช้เรียกประเทศที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับการขุดเจาะและส่งออกน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas ความจริงต้องเรียกว่า Fossil Gas) นอกจากนี้ในรัฐปิโตรเลียมจะมีความเข้มข้นในอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กระจุกตัวสูงอยู่ในกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวยกว่าคนอื่น สถาบันทางการเมืองก็อ่อนแอไม่มีธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ยากและมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การคอร์รัปชั่นได้ง่ายและกระจายไปทั่ว

จากเว็บไซต์ของ U.S. Department of State (2023 Investment Climate Statements: Azerbaijan) พบว่าเศรษฐกิจของประเทศอาเซอร์ไบจานร้อยละ 92 ของมูลค่าการส่งออกขึ้นอยู่กับน้ำมันและก๊าซ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณของรัฐบาลก็มาจากกิจการน้ำมันและก๊าซฯ

ในเดือนมิถุนายน 2565 อาเซอร์ไบจานได้ลงนามใน MOU กับสหภาพยุโรปเพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติไปยุโรปเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในปี 2027 โดยในปี 2566 ได้ส่งก๊าซฯไปยุโรปจำนวน 24,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายลดการพึ่งพิงก๊าซจากรัสเซียของสหภาพยุโรปจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน

แหล่งน้ำมันดิบสำรองที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในอาเซอร์ไบจานมีจำนวน 7,000 ล้านบาร์เรลล หรือประมาณ 70 เท่าของความต้องการบริโภคต่อวันของทั้งโลกในปัจจุบัน

อดีตประธานบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอาเซอร์ไบจานได้กล่าวในบทความนี้ว่า “บ่อน้ำมันจะหมดในอีก 20 ปี ในขณะที่ก๊าซจะหมดในอีก 50 ปี” ในขณะที่ประธานาธิบดี Ilham Aliyev (คนที่ 4 ของประเทศ มาจากการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งครั้งแรกในปี 2546 จนถึงปัจจุบัน หลังจากประธานาธิบดีคนที่ 3 ซึ่งเป็นพ่อของตนเสียชีวิต) กล่าวว่า “แหล่งปิโตรเลียมเป็นของขวัญจากพระเจ้า”

ในด้านการคอร์รัปชัน ในปี 2566 อาเซอร์ไบจานมีดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index) อยู่ในอันดับที่ 154 จาก 180 ประเทศ (ได้คะแนน 23 จาก 100) ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 108 (35 คะแนน)

อาเซอร์ไบจานตั้งอยู่ระหว่างยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันตก เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ปัจจุบันมีประชากร 10.3 ล้านคน ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ผ่านมาประเทศนี้ได้เหรียญรางวัลรวม 7 เหรียญ ในจำนวนนี้เป็นเป็นเหรียญทอง 2 เหรียญ ในขณะที่ไทยเราได้รวม 6 เหรียญ เป็นเหรียญทอง 1 เหรียญ

เอาละครับ เราได้ทราบข้อมูลพื้นฐานของประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม COP29 มาพอสมควร คราวนี้เรามาดูประวัติของผู้ที่จะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสมัชชากันบ้าง เพราะประธานเป็นผู้กำหนดวาระการประชุมและควบคุมการประชุมจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าผลการประชุมจะออกมาอย่างไร

นอกจากนี้ผมจะย้อนไปดูความเห็นของนักสังเกตการณ์ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาคือ COP28 โดยเจ้าภาพคือสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์(UAE) ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นรัฐปิโตรเลียมเช่นเดียวกัน เพราะรายได้ของรัฐบาลร้อยละ 52% มาจากกิจการน้ำมันและก๊าซ โดยในปี 2566 UAE สามารถผลิตน้ำมันได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและอีรัก (อ้างถึง Oil Production, Our World In Data)

ดังนั้น ตั้งแต่มีการประชุม COP มาจะครบ 29 ครั้งในปีนี้ เจ้าภาพจัดประชุมเป็นรัฐปิโตรเลียม 2 ครั้งติดต่อกัน น่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ผมได้นำภาพของประธานที่ประชุมทั้ง 2 ครั้งพร้อมข้อมูลสำคัญมาแสดงด้วยครับ

ประธานที่ประชุม COP29 คือ Mukhtar Babayev เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงระบบนิเวศน์และทรัพยากรธรรมชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โดยเคยทำงานในบริษัทน้ำมันแห่งอาเซอร์ไบจาน(SOCAR) ในบทบาทต่างๆจนถึงรองประธานบริษัทรวมกันนานถึง 26 ปี

เว็บไซต์ “Climate Home News” ได้อ้างถึงความเห็นนักเจรจาต่อรองคนหนึ่งว่า “Babayev เป็นคนที่สุภาพ อ่อนโยน แต่ผมไม่รู้สึกว่าเขาเป็นบุคคลที่อิสระที่จะสามารถผลักดันไปสู่การเลิกใช้พลังงานฟอสซิลได้ทั่วโลก”

ขณะนี้เรายังไม่ทราบว่าจะมีเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลอะไรบ้างใน COP29 แต่ใน COP28 ที่เพิ่งผ่านมา เว็บไซต์ Democracy Now รายงานว่า มีลอบบี้ยีสต์ของบริษัทน้ำมันเข้าร่วมประชุมกว่า 2,400 คน จนทำให้นักวิทยาศาสตร์ระดับศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชื่อ Kenvin Anderson โพสต์ในโซเซียลมีเดียว่า “มีกลุ่มคนลึกลับจากบริษัทน้ำมันที่ไม่ใช่ตัวแทนของ COP ดังนั้น ผลลัพธ์ของการประชุมจึงรู้ๆกันอยู่”

นอกจากนี้เว็บไซต์ของบีบีซีรายงานว่ามีเอกสารรั่วออกมาความว่า “UAE วางแผนที่จะใช้บทบาทของเจ้าภาพเพื่อเจรจาเรื่องน้ำมันและก๊าซกับ 15 ประเทศ”

ผมขอจบข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศเจ้าภาพจัดประชุม COP ทั้ง 2 ครั้งไว้เพียงแค่นี้ก่อน แต่จะกล่าวถึงอีก 2 เรื่องที่ต่อเนื่องกัน

เรื่องแรกคือ การลวงให้คนเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงของเจ้าภาพ COP29

จากคลิปวิดีโอที่เจ้าภาพเผยแพร่ที่ชื่อ “COP29 Insight: What Climate Finance Is And Why It Matters” (ยาว 1.47 นาที) ความตอนหนึ่งว่า “ความจริงคือการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนมีราคาแพง”

เราควรตั้งคำถามว่าข้อความที่เจ้าภาพนำมาเสนอนั้นเป็นความจริงหรือไม่

เรื่องต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโซลาร์เซลล์ ผมเชื่อว่าท่านผู้คงทราบแล้วว่าต้นทุนได้ลดลงมากแล้ว ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์ราคาไม่ถึงครึ่งของไฟฟ้าจากสายส่งของการไฟฟ้า

เรื่องนี้ Pual Krugman นักเศรษศาสตร์รางวัลโนเบลได้เขียนบทความตั้งแต่ปี 2014 และ 2018 (โดยอาศัยผลงานวิจัยเรื่อง Revolution Now: The Future Arrives for Five Clean Energy Technologies ของกรมพลังงานของสหรัฐอเมริกาเอง และ 5 เทคโนโลยีนั้น คือ กังหันลม โซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า หลอด LED และแบตเตอรี่) ผมแนบภาพมาให้ดูกันเพลิน ๆ ด้วยครับ

ถึงตอนนี้ก็ต้องถามท่านผู้อ่านว่าจะเชื่อใครดีระหว่างประเทศเจ้าภาพซึ่งเป็นรัฐปิโตรเลียมและนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ความจริงผมมีรายละเอียดดีๆมากกว่านี้ เอาไว้โอกาสต่อไปจะเล่าให้ฟังครับ

เรื่องที่สอง คือความล้มเหลวของข้อตกลงปารีส

ข้อตกปารีสเมื่อปี 2558 มีความมุ่งหวังให้ทั่วโลกช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2593 โดยต้องลงประมาณ 7% ต่อปีติดต่อกันจนถึงปี 2593 แต่พบว่าในช่วง 2520-2565 นอกจากจะไม่ลดแล้วแต่กลับเพิ่มขึ้น 1.56% ต่อปี ถ้าคิดเฉพาะหลังจากมีข้อตกลงปารีสแล้ว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.35% ต่อปี

เมื่อมีการปล่อยก๊าซฯเพิ่มขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.26 องศาเซลเซียสต่อระยะเวลา 10 ปี สอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างชัดเจน ดังแสดงในภาพ

จากภาพดังกล่าวมีข้อสังเกตที่สำคัญคือ ในปี 2519 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเท่ากับลบ 0.05 องศาเซลเซียส(ย้ำว่าติดลบ) นั่นคือยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงพ.ศ. 2443 ถึง 2543 แต่นับจากปี 2520 เป็นต้นมาอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ๆ ติดต่อกัน 48 ปีแล้ว ทั้งนี้เพราะความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่ทำหน้าที่คล้าย “ผ้าห่มโลก” หนาขึ้นจากปริมาณการปล่อยก๊าซที่เพิ่มขึ้น

อนึ่ง สมมุติว่ามนุษย์สามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งหมดจริงในวันพรุ่งนี้ ก็ใช่ว่าอุณหภูมิของโลกจะลดลงได้ในทันที เพราะก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในชั้นบรรยากาศแล้ว จะอยู่ต่อไปได้นานนับ 100 ปีจึงจะสลายตัวไปตามธรรมชาติ

เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนทั้งตัวของระบบในธรรมชาติเองและทั้งในระบบการเมืองที่ยึดเอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ดังนั้น พลเมืองจึงต้องติดตามและรู้เท่าทันเล่ห์เพทุบายของคนบางกลุ่ม ผมเองเชื่อมั่นว่าการลดโลกร้อนเป็นกิจกรรมที่มีราคาถูกมากๆ และทำได้จริงถ้ามีพลเมืองที่ตื่นรู้ช่วยกันผลักดันจำนวนมากพอ รายจ่ายเรื่องพลังงานของเราจะลดลง คุณภาพชีวิตจะดีกว่าเดิม ผู้เสียผลประโยชน์มีเพียงคนกลุ่มเดียวที่หากินกับรับปิโตรเลียม